บ้านโถงสูง ของนักดำน้ำ ดีไซน์สนุกแบบลอฟต์ผสมผสาน

บ้านโถงสูง สามชั้นกลิ่นอายลอฟต์ แต่ทำหลังคาจั่วให้กลมกลืนกับบริบท แม้ภายนอกจะดูเข้มขรึม แต่ภายในดีไซน์ดีเทลให้มีความขี้เล่นตามบุคลิกเจ้าของบ้าน

Design Directory : Alkhemist Architects

บ้านโถงสูง
บ้าน 3 ชั้นทรงจั่วกลิ่นอายลอฟต์ผสมเรโทร ที่ออกแบบช่องเปิดขนาดใหญ่ให้ดูคว้านเข้าไปในตัวอาคาร โดยใช้โครงเหล็กและกรอบประตูหน้าต่างโทนสีแดงตัดกับผนังบ้านสีเทา ชั้นล่างเป็นโรงจอดรถและพื้นที่ทำงานอดิเรก และทำบันไดขึ้นชั้น 2 จากหน้าบ้านได้
บ้านโถงสูง
ออกแบบบันไดเหล็กสีแดงที่มีราวกันตกโค้งเป็นจุดเด่น ซึ่งดีไซน์แรกจะมีลูกนอนไม้ แต่เมื่อขึ้นโครงบันไดเหล็กแล้ว สถาปนิกกับเจ้าของบ้านเห็นตรงกันว่าสวยแล้ว จึงปรับให้เป็นบันไดเหล็กทั้งชิ้น
บ้านโถงสูง

“สิ่งที่เรารักไม่ว่าบ้านหรือสัตว์เลี้ยงก็มักมีความเหมือนเจ้าของ” หนึ่งในความคิดที่ผุดขึ้นมาระหว่างพูดคุยกับ คุณเอ้ และ คุณปอ คู่สามีภรรยาเจ้าของบ้านที่เป็นนักดำน้ำ ชื่นชอบการอยู่ท่ามกลางแสงแดดและเกลียวคลื่น สนุกกับการเล่นกีฬา จริงจังกับมุมมองชีวิตที่ไม่ได้มีด้านเดียว หลงใหลกับความเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ และสะท้อนมาเป็น บ้านโถงสูง ดีไซน์ขี้เล่นหลังนี้

ออกแบบช่องทางเดินจากโถงทางเข้าชั้น 2 เป็นซุ้มโค้ง เป็นการดึงองค์ประกอบเส้นโค้งจากดีไซน์ที่เป็นจุดเด่นหนึ่งของสไตล์เรโทรมาใช้เป็นองค์ประกอบของทางเดินและบันไดในบ้าน
บ้านโถงสูง
ออกแบบผนังฝั่งที่ติดบ้านคุณแม่และพี่สาวเป็นหน้าต่างกระจกบานใหญ่ เพื่อให้มองเห็นและคอยดูแลกันได้ เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสายตาแม้จะอยู่บ้านคนละหลัง
เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นของมือสองที่เป็นทั้งของสะสมและเลือกซื้อใหม่นำมาจัดวางผสมกัน อย่างเก้าอี้สีทองสไตล์คลาสสิกเป็นเก้าอี้ที่ลูกพี่ลูกน้องคุณเอ้ทำสำหรับในวันแต่งงาน จึงมีเรื่องราวให้นึกถึง

ความขัดแย้งที่กลมกล่อมและกลมกลืน

บ้านสีเทา 3 ชั้นหลังคาจั่วที่ดูมีเอกลักษณ์ แต่ไม่แปลกแยกจากบ้านอื่นในโครงการจัดสรร เป็นผลงานออกแบบของ Alkhemist Architects โดย คุณดอน – ไกรพล ชัยเนตร ที่เริ่มคุยกับเจ้าของบ้านเมื่อปี 2562ก่อนการระบาดครั้งแรกของโควิด -19 ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งคู่อยู่คอนโดมิเนียมที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เมื่อจะสร้างบ้านจึงอยากทลายความรู้สึกที่เคยอยู่ในพื้นที่จำกัด มาใช้ชีวิตในบ้านสไตล์ลอฟต์ฝ้าเพดานสูงแบบดับเบิลสเปซ มีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดเป็นส่วน มีโรงเก็บรถและพื้นที่ทำกิจกรรม
เมื่อสถาปนิกได้พูดคุยและค่อยๆทำความรู้จักกับเจ้าของบ้าน จึงพบว่าสไตล์ลอฟต์ที่ทั้งคู่อยากได้ไม่ใช่ความดิบแบบลอฟต์จัดๆ อีกทั้งการสร้างบ้านลอฟต์ในโครงการจัดสรรจะดูแตกต่างเกินไป จึงนำเสนอเป็นบ้านทรงจั่วที่เพิ่มองค์ประกอบของความเป็นลอฟต์เข้าไป ซึ่งสถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในดีไซน์ของบ้านช่วงยุค 70’s -80’s เป็นการผสมผสานที่มีทั้งความขัดแย้ง แต่ก็ยังกลมกล่อม และกลมกลืนกับบริบท


“เราศึกษารูปทรงอาคาร ทดลองคว้านและเปิดสเปซแบบต่างๆ โดยคำนึงถึงมุมมองและการเปิดรับแสงรับลม ในระหว่างออกแบบและพูดคุยกันก็เริ่มเข้าใจคาแรกเตอร์ของเจ้าของบ้านที่มีความขี้เล่น จึงหาจุดผสมผสานกัน มีความหลากหลาย และมีความเฉพาะตัวในแบบสไตล์อิเคล็กติก (Eclectic Style) ซึ่งเป็นความหลากหลายที่ไม่ได้หมายถึงการนำทุกอย่างมาสับๆแล้วคลุกเคล้ากัน แต่เป็นการนำของต่างสไตล์มาจับวางด้วยกัน ให้เข้ากันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีเอกลักษณ์ที่เมื่อแยกกันอยู่ก็เป็นสไตล์ตัวเองได้”

บ้านโถงสูง
เจ้าของบ้านชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง มุมนั่งเล่นจึงเป็นมุมโปรดที่สามารถมารับแสงแดดยามเช้าได้แม้จะอยู่ในบ้าน ออกแบบเป็นโถงสูงเปิดรับแสงทางทิศตะวันออก สร้างมิติสวยงามที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา
บ้านโถงสูง
แรกเริ่มไม่ได้คิดว่าจะเลี้ยงสุนัข แต่ได้น้องมาระหว่างก่อสร้างบ้าน จึงปรับดีไซน์บางส่วนให้เหมาะกับการเลี้ยงสุนัขมากขึ้น เช่น การเลือกพื้นไม่ลื่น ทำความสะอาดง่าย และทำที่กั้นขึ้นลงบันไดเวียนให้เข้ากับตัวบ้าน
บ้านโถงสูง

สร้างสเปซเปิดโล่งในบ้านหน้าแคบ

ลักษณะบ้านเป็นทรงหน้าแคบแต่ลึก ออกแบบให้มีระยะถอยร่นจากเพื่อนบ้านมากกว่าปกติ เพื่อให้มีพื้นที่ว่างระหว่างอาคาร เมื่อบ้านมีลักษณะหน้าแคบ สถาปนิกจึงคำนึงถึงตำแหน่งบันไดเป็นพิเศษ โดยออกแบบบันไดจากชั้น 1 ที่อยู่หน้าบ้านฝั่งทิศเหนือ ให้วางตำแหน่งสับหว่างกับบันไดชั้น 2 ที่วางไว้หลังบ้าน ฝั่งทิศใต้ เพื่อเปิดสเปซโถงกลางบ้านและไม่ให้บล็อกแสงและมุมมองหน้าบ้าน
คุณเอ้ เจ้าของบ้าน เปิดโรงเรียนสอนดำน้ำชื่อ Dive Me Crazy “ผมสอนดำน้ำก็จะเจอคนค่อนข้างเยอะ ชอบสังสรรค์แต่ไม่ค่อยชอบเข้าเมือง จึงอยากให้บ้านมีส่วนที่เพื่อนๆมาแฮงก์เอาต์กันได้ ส่วนพื้นที่นอนใช้สำหรับพักผ่อนจริงๆ จึงมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก” เป็นที่มาของบ้าน 3 ชั้นที่ออกแบบชั้นล่างเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม โรงเก็บรถ ที่ออกกำลังกายและเก็บอุปกรณ์เซิร์ฟบอร์ด สเก็ตช์บอร์ด และที่เก็บของ โดยทำบันไดจากภายนอกขึ้นไปบนชั้น 2 ได้เลย ซึ่งเป็นส่วนใช้งานหลักที่วางผังแบบโอเพ่นแปลนให้เป็นส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหาร และแพนทรี่ที่พร้อมปาร์ตี้เสมอ เปิดสเปซโล่งสูงถึงห้องนอนให้มองลงมาเห็นส่วนนั่งเล่นได้ บ้านโถงสูง

บ้านโถงสูง
ส่วนรับประทานอาหารและแพนทรี่แบบเปิดโล่งรองรับการสังสรรค์ตามไลฟ์สไตล์เจ้าของบ้านที่ไม่ชอบเข้าเมือง จึงชวนญาติมิตรมาพูดคุยที่บ้านแทน
บ้านโถงสูง
แพนทรี่เป็นอีกมุมโปรดของคุณปอ โดยเติมสีสันให้ตัดกับโทนสีแดงและดำด้วยผนังกรุกระเบื้องเคลือบเซรามิกสีน้ำเงินที่มีโทนสีเข้มอ่อนตามธรรมชาติของวัสดุ
บ้านโถงสูง

เข้มขรึมแต่ขี้เล่น

แม้บ้านจะมีความเข้มขรึม แต่มีดีเทลน่าสนใจอยู่ทุกมุม ซึ่งมาจากความเป็นคนสนุกสนานและมุมมองความสุขของคุณเอ้
“พอเราเป็นผู้ใหญ่ก็อยากกลับไปในความทรงจำที่ดีในตอนเด็ก ตอนเด็กทำอะไรง่ายๆก็มีความสุขแล้ว ความสุขหาได้รอบตัว เมื่อเราโตขึ้นอาจจะลืมจุดนี้ไป ผมสอนดำน้ำและลูกศิษย์เกินกว่าครึ่งเป็นเด็ก จึงได้ซึมซับพลังดีๆจากพวกเขา”
สถาปนิกเองก็ออกแบบบ้านให้ส่งเสริมไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน “อยากให้บ้านมีความสนุก เมื่ออยู่ในบ้าน การออกแบบสเปซต้องอาศัยความหลากหลายและสร้างความเคลื่อนไหว จึงใช้องค์ประกอบของสีสันและรูปทรงโค้งเป็นตัวสื่อสาร โดยใช้ในจุดเปลี่ยนผ่านและทางสัญจรตามจุดต่างๆของบ้าน ทั้งช่องซุ้มโค้งที่เดินผ่านจากโถงทางเข้า บันไดดีไซน์เส้นสายโค้งที่ขึ้นชั้น 3 และองค์ประกอบโค้งแบบควอเตอร์ของบันไดเวียน ทำให้เกิดการรับรู้ เชื่อมโยงฟังก์ชัน และสร้างความสวยงามไปพร้อมกัน”

บ้านโถงสูง
ห้องนอนเรียบง่ายที่ออกแบบพื้นและผนังหัวเตียงให้ต่อเนื่องด้วยวัสดุเดียวกัน สร้างมุมมองผ่านกรอบของช่องเปิดวงกลมทำให้เห็นมิติของบ้านอีกแบบหนึ่ง
ห้องแต่งตัวแบบวอล์กอินคลอเซ็ตคั่นอยู่ระหว่างห้องนอนกับห้องน้ำ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน และลดเสียงจากห้องน้ำรบกวนการนอน
ออกแบบห้องน้ำในห้องนอนให้เสมือนได้อาบน้ำกลางแจ้ง ด้วยการทำผนังบล็อกแก้วทั้งผืนให้แสงผ่านเข้ามาแต่ยังคงความเป็นส่วนตัว

ภายในบ้านจัดวางเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งส่วนใหญ่ในสไตล์เรโทร ตามความชื่นชอบของคุณเอ้
“ผมชอบเส้นสายในยุคเรโทร และเคยเปิดร้าน Prop Bar และยังอยากดึงคาแรกเตอร์บางอย่างมาไว้ในบ้าน อย่างโคมไฟแขวนกลางห้องนั่งเล่นก็ให้ช่างที่เคยทำทำแบบเดียวกันกับในร้าน บันไดวนก็เช่นกัน ของส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นของมือสอง ผมชอบของเก่า เพราะจะมีเรื่องราวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา”

ชั้น 1 ทำพื้นอีพ็อกซี่สีขาวที่เรียบต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ให้เหมาะสำหรับจอดรถคันโปรด ทำกิจกรรม เก็บอุปกรณ์กีฬาและการออกกำลังกาย

ความสุขที่เติมเต็ม

เมาอิ (Maui) เป็นสุนัขพันธุ์บูลด็อกที่ตั้งชื่อตามชื่อเกาะในหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงาม เมาอิคือความมีชีวิตชีวาของบ้าน ซึ่งตอนเริ่มออกแบบบ้านไม่ได้วางแผนว่าจะเลี้ยงสุนัข แต่ได้น้องมาช่วงระหว่างก่อสร้าง จึงมีการปรับบ้านบางส่วนให้เหมาะกับการเลี้ยงสุนัขมากขึ้น อย่างการเลือกปูพื้นที่ไม่ลื่นเกินไป การทำทางกั้นขึ้น-ลงบันไดให้ดูกลมกลืนกับบ้าน

เมาอิ (Maui) สุนัขพันธุ์บูลด็อกที่ตั้งชื่อตามชื่อเกาะในหมู่เกาะฮาวาย

“ปกติไม่ค่อยอยู่บ้านแต่บ้านนี้ทำให้เราอยู่บ้านเยอะขึ้น อยู่บ้านแล้วสบาย มีเมาอิอยู่ด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นบ้านจริงๆ ปอเป็นคนชอบแดด ตอนเช้าชอบดูแสงที่ห้องนั่งเล่น ได้นอนอาบแดดในบ้านตรงโซฟา และเฝ้าดูแสงเปลี่ยนมุม ชอบรูปทรงเรขาคณิตความเหลี่ยมความโค้ง และการใช้เส้นสายของสถาปนิกที่ทำให้เกิดมุมมองที่ต่างไปในแต่ละมุมบ้านได้อย่างน่าสนใจ”
ความสุขใจของคุณเอ้ไม่ได้อยู่เฉพาะเพียงในบ้านนี้ “รู้สึกดีใจมากที่ได้พี่ดอนมาออกแบบให้ เป็นบ้านที่ได้ดั่งใจ บ้านดูโล่งแต่มีดีเทลทุกจุด ถึงจะชอบเดินทาง อย่างไรก็แล้วแต่เวลาที่ได้พักผ่อนจริงๆก็คือการอยู่กับบ้าน และบ้านข้างๆก็เป็นบ้านคุณแม่กับพี่สาว จึงทำผนังกระจกให้มองเห็นกัน เชื่อมถึงกันได้ ทำให้เรายังสามารถดูแลกันและกันได้เสมอ”

บ้านโถงสูง
ติดตั้งระบบรอกไฟฟ้าให้สามารถนำโคมไฟเพดานที่อยู่สูงลงมาทำความสะอาดและเปลี่ยนหลอดไฟได้ง่าย
บ้านโถงสูง
ทดลองการใช้วัสดุโดยปูกระเบื้องเคลือบดินเผาแบบปูชิด ทำให้เกิดการเรียงกระเบื้องที่ไม่เป็นตารางให้ฟีลงานคราฟต์
ลื่น ทำบันไดภายนอกด้วยพื้นหินล้างป้องกันทั้งคนและสุนัขลื่น พร้อมรางระบายน้ำและร่องน้ำแนวตั้ง ให้น้ำระบายลงมาโดไม่เลอะเทอะ

เจ้าของ : คุณเอ้ – คุณปอ
ออกแบบ : Alkhemist Architects
ก่อสร้าง : Nichada Thani
ก่อสร้างตกแต่งภายใน : Boonyasub Material Construction
ออกแบบแสง : Lumen Plus Lighting


คอลัมน์ บ้านสวย มิ.ย.65
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, กรานต์ชนก บุญบำรุง
สไตล์ : Suntreeya


นั่งเล่นไม่พึ่งแอร์ใน บ้านมินิมัลชั้นเดียว

น้อยแต่เนี้ยบในทาวน์เฮ้าส์สไตล์ลอฟท์

ติดตามบ้านและสวน