การทำงานในสวนให้สนุก นอกจากใจรักแล้ว การจัด มุมทำงานในสวน ดีๆก็ทำให้การเพาะกล้า ย้ายต้นไม้ ไม่หนักหนาสาหัสเกินไป มุมนี้อาจมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เราใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น โต๊ะ เก้าอี้ อ่างล้างมือ อีกทั้งควรจัดระเบียบให้มีที่เก็บของ จัดวางวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
รวมไปถึงต้นไม้ที่เพาะขยายพันธุ์ไว้ให้เป็นที่เป็นทาง ก็จะทำให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและน่าใช้งาน แถมหากจัด มุมทำงานในสวน ดีๆก็ใช้เป็นมุมโชว์ในสวนได้ด้วย ครั้งนี้ “บ้านและสวน” มีเกร็ดความรู้ดีๆให้คุณนำไปจัดระเบียบมุมทำงานให้สวยปิ๊งมากยิ่งขึ้น
…ว่าแล้วก็เข้าไปทำงานในสวนกันเถอะ
เลือกมุมไหนดี
การเลือกมุมใดในสวนเป็นมุมทำงานต้องดูจากความสะดวกของตัวเราเป็นหลัก อาจเป็นมุมใดมุมหนึ่งนอกบ้านที่มีพื้นที่สักหน่อย มุมนั้นควรเข้าไปใช้งานง่าย หากดูรกตาไม่สวยงามก็อาจหลบซ่อนอยู่ด้านหลังหรือปลูกต้นไม้พราง ซึ่งมีวิธีเลือกตำแหน่งของมุมทำงานในสวนง่ายๆ ดังนี้
- ควรเลือกมุมทำงานในสวนที่สามารถเดินต่อเนื่องกับสวนได้สะดวก ไม่ควรอยู่ในจุดอับที่ทางเดินแคบเกินไป เผื่อต้องมีการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์หนักๆที่ต้องใช้รถเข็น
- ไม่ควรเดินผ่านจากตัวบ้านไปยังมุมนั้น เพราะตัวเรามักเลอะเทอะจากการทำงาน หากต้องเดินผ่านเข้า-ออกบ้านก็จะทำให้บ้านสกปรกได้
- ควรเป็นมุมที่มีร่มเงาเพื่อให้ไม่ร้อนเกินไปเมื่อเข้าไปใช้งาน ลองสังเกตตัวเองว่าชอบทำงานในสวนช่วงไหน หากชอบเข้าสวนตั้งแต่เช้าตรู่ก็ควรเลือกมุมที่ร่มตอนเช้า แต่หากชอบเข้าสวนช่วงบ่าย มุมนั้นก็ควรได้รับเงาจากตัวบ้านหรือต้นไม้ช่วงบ่าย เป็นต้น
- บริเวณที่จัดเป็นมุมทำงานในสวนควรปูพื้นแข็ง จะเป็นพื้นที่ว่างหลังบ้านที่เทพื้นคอนกรีตแล้ว หรือวางแผ่นทางเดินเป็นลานก็ได้ เพื่อให้ทำความสะอาดง่ายและไม่เฉอะแฉะหากฝนตกหรือมีการล้างอุปกรณ์
- ควรอยู่ใกล้หรือต่อน้ำและไฟเข้ามาในสวนได้สะดวก เนื่องจากมุมทำงานในสวนมักเป็นพื้นที่นอกบ้านซึ่งไม่ได้มีการเตรียมระบบน้ำและไฟไว้ตั้งแต่แรก การคำนึงถึงเรื่องนี้จะทำให้คุณทำงานง่ายมากยิ่งขึ้น
- หากมีหลังคาหรือกันสาดคลุมเพื่อป้องกันฝนจะดีมาก เพราะมุมนี้มักเป็นจุดที่เราใช้เก็บวัสดุและอุปกรณ์ด้วยในตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรแห้งอยู่เสมอ
- ควรเป็นมุมที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อไม่ให้มีการสะสมความชื้นและเชื้อโรค อันจะเป็นปัญหาต่อต้นไม้ที่เพาะเลี้ยงในมุมนั้นได้
มีอะไรใน มุมทำงานในสวน นี้บ้าง
โต๊ะทำงาน ควรกว้างและอยู่ในระยะมือเอื้อมถึงส่วนในสุดของโต๊ะที่ประมาณ 55-65 เซนติเมตร แต่หากวางโต๊ะไว้ตรงกลางให้เข้าทำงานได้สองด้าน อาจเพิ่มความกว้างโต๊ะได้ 110-130 เซนติเมตร ความสูงของโต๊ะควรอยู่ระดับที่ทำงานได้สบาย คือ 75- 85 เซนติเมตร สำหรับนั่งเก้าอี้หรือยืนทำงาน ไม่ควรนั่งทำงานกับพื้น เพราะจะทำให้เสียสุขลักษณะและเกิดอาการปวดหลังได้ง่าย
อ่างล้างมือ ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่มักมองข้าม นอกจากจะใช้ล้างไม้ล้างมือแล้ว ยังใช้ล้างอุปกรณ์ภาชนะต่างๆ อ่างล้างมือควรมีความสูงที่ 90 เซนติเมตร จะทำให้คุณใช้งานได้กำลังดี
ชั้นวางของ วัสดุบางอย่างควรวางในที่แห้งและร่ม อยู่สูงเกินกว่าเด็กเอื้อมถึง เช่น ปุ๋ย ฮอร์โมน ตลอดจนสารเคมีอันตรายต่างๆ ส่วนอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ เช่น ช้อนปลูก ส้อมพรวน กรรไกรตัดกิ่ง เชือก อาจใส่กล่องหรือวางบนชั้น สำหรับอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ๆ เช่น จอบ พลั่ว มีดพร้า นำไปแขวนผนังหรือใส่ลังให้หยิบใช้ได้สะดวก โดยวางในที่ร่มและแห้งเช่นกัน เพื่อป้องกันความชื้นที่จะทำให้วัสดุอุปกรณ์เป็นสนิมและเสียหาย ทั้งนี้อุปกรณ์ที่มีคมต่างๆควรเก็บให้ปลอดภัยจากมือเด็ก และวางอุปกรณ์โดยหันด้านคมเข้าผนังหรือพื้นเสมอ ส่วนภาชนะบางอย่างที่สามารถเปียกน้ำได้ เช่น กระถาง บัวรดน้ำ ตลอดจนวัสดุปลูกบางชนิด ทำชั้นวางให้ดูเรียบร้อยก็เพียงพอ
ห้องเก็บของ หากบ้านมีบริเวณสักหน่อยอาจแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องเก็บของและอุปกรณ์ในสวนด้วยก็ได้ เพราะจะเก็บอุปกรณ์ได้เป็นระเบียบและทนทานนานมากกว่า หากเป็นห้องเล็กๆก็ทำชั้นวางและเก็บวัสดุอุปกรณ์ด้านใน แต่หากมีห้องใหญ่สักหน่อยอาจวางโต๊ะทำงาน หรือถ้าจัดไว้สวยๆจะแบ่งพื้นที่เป็นมุมนั่งเล่นด้วยก็ยังได้ ใครไม่อยากยุ่งยากลงมือทำห้องเก็บของเอง ลองหาซื้อบ้านเก็บของสำเร็จรูปซึ่งมีให้เลือกหลายขนาดและรูปแบบมาวางในสวนก็ได้
รถเข็น หากสวนมีขนาดเล็ก รถเข็นอาจเป็นอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นนัก แต่หากสวนของคุณมีขนาดใหญ่ รถเข็นก็เป็นสิ่งที่ช่วยทุ่นแรงในการทำงานได้เป็นอย่างดี สำหรับขนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ขนขยะและเศษวัสดุในสวนไปทิ้ง ดังนั้นจึงควรเตรียมทางเดินในสวนให้ใช้รถเข็นได้สะดวก ทางที่ใช้รถเข็นไม่ควรมีขั้นบันไดหรือระดับที่ต่างกันมากๆ หากจำเป็นควรปรับเป็นทางลาดและมีระยะความกว้างของทางประมาณ 1-1.10 เมตร