นอกจากการเตรียมพื้นที่ภายในบ้านเพื่อสัตว์เลี้ยงแล้ว หากปล่อย สัตว์เลี้ยงในสวน ก็ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น การขุดดิน อุบัติเหตุ หรือหนีออกจากบ้าน
ดังนั้น ก่อนเริ่มเลี้ยงสัตว์ใด ๆ ก็ตาม เจ้าของควรศึกษาให้ดีก่อนว่าสัตว์ที่เราจะเลือกเลี้ยงมีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมเป็นอย่างไร และต้องการสถานที่แบบไหน เพื่อให้สามารถออกแบบพื้นที่ให้ สัตว์เลี้ยงในสวน ได้อย่างเหมาะสม และทำให้คนกับสัตว์เลี้ยงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
สร้างอาณาเขต เพื่อให้สัตว์เลี้ยงวิ่งเล่นนอกตัวบ้านได้
ควรมีการตรวจสอบบริเวณรอบบ้านว่ามีทางออกหรือทางที่สัตว์เลี้ยงสามารถใช้ในการหนีออกไปได้หรือไม่ หากมีลองปิดให้มิดชิดด้วยการใช้รั้วหรือระบบกั้นที่มีความสูงเพียงพอที่จะป้องกันสัตว์เลี้ยงไม่ให้กระโดดหรือปีนข้ามได้ โดยความสูงของรั้วกั้นสุนัขทั่วไปจะสูงประมาณ 1.20 – 1.50 เมตร แต่สำหรับสุนัขขนาดใหญ่หรือสายพันธุ์ที่ใช้ในการกีฬาอาจจำเป็นต้องสูงถึง 1.50 – 2 เมตร หรือสำหรับสุนัขที่ชอบขุด เช่น บีเกิ้ล หรือสายพันธุ์เทอร์เรียร์ ควรทำกำแพงตอนล่างเป็นรั้วทึบ และเพิ่มกำแพงกันดินใต้แนวรั้ว เพื่อป้องกันการขุดดินใต้รั้วแล้วมุดหนี นอกจากนี้ ยังอาจปลูกไม้เลื้อยดอกสวยเพิ่มเติม เพื่อให้กำแพงส่วนที่ต่อเติมขึ้นมาดูไม่แข็งทึบจนเกินไป
ส่วนแมวที่ชอบปีนป่าย หากตัดสินใจที่จะยอมให้แมวออกมานอกบริเวณบ้านแล้ว การออกแบบรั้วเพื่อป้องกันน้องแมวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ โดยอาจออกแบบรั้วให้สูงขึ้นไปด้วยตะแกรงเหล็ก และทำส่วนบนสุดของรั้วให้เอียงกลับเข้ามาในบ้านประมาณ 30-40 องศา หรือประมาณ 60 เซนติเมตร พร้อมทั้งสำรวจบริเวณโดยรอบว่าไม่มีสิ่งของหรือต้นไม้ที่สามารถใช้ปีนข้ามได้ และอาจติดตั้งวัสดุผิวลื่นไว้ในตำแหน่งที่แมวกระโจนถึง เพื่อป้องกันไม่ให้แมวกระโจนออกด้านนอก แต่ในกรณีที่ไม่สามารถทำรั้วกั้นแมวได้ตลอดแนว อาจจัดพื้นที่เพียงบางส่วนให้เป็นเขตสำหรับแมวโดยเฉพาะก็ได้เช่นกัน
เตรียมพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีพลังงานล้นเหลือ
ควรออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการและพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง เช่น การเพิ่มพื้นที่เดินเล่นนอกบ้าน การมีมุมมองให้เห็นบรรยากาศภายนอก การเพิ่มขอบเขตที่เป็นพื้นที่เล่นสำหรับน้องแมวหรือน้องหมา เพื่อไม่ให้รู้สึกเหงาหรือเบื่อ ทั้งนี้ตำแหน่งหรือบริเวณที่จะปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเป็นอิสระควรอยู่ให้ห่างจากถนนเพื่อป้องกันการรบกวนเพื่อนบ้านหรือการแสดงออกต่อสิ่งเร้าภายนอก และควรมีการจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวไว้ให้พร้อม เช่น ชามน้ำ ชามอาหาร ของเล่น รวมถึงสถานที่ขับถ่าย แต่หากพื้นที่ในบริเวณบ้านไม่กว้างขวางเพียงพอ เจ้าของบ้านอาจเลือกใช้วิธีการสร้างกิจวัตรประจำวันและใช้เวลาร่วมกันกับสัตว์เลี้ยงด้วยการพาสุนัขไปเดินเล่นหรือว่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ หรือการติดตั้งลู่วิ่งสุนัขทดแทน
เปลี่ยนต้นไม้ในสวนให้เป็นมิตรต่อน้อง ๆ
เนื่องจากสัตว์ส่วนใหญ่มักจะซุกซน จนอาจเผลอวิ่งเข้าไปเกี่ยวกับหนามหรือแทะเล็มพรรณไม้มีพิษจนได้รับบาดเจ็บได้ ดังนั้น อย่างแรกที่ควรคำนึงถึงคือ การเลือกใช้พรรณไม้ที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ทนทานต่อการเหยียบย่ำ และหลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้มีพิษต่างๆ ที่อาจไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่มักเป็นอันตรายต่อสัตว์ เช่น ยี่โถ ราตรี บานบุรี รำเพย ชวนชม ไม้ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทางเดินอาหาร และดวงตา ไม้ที่มีหนามแหลมคม เช่น แคคตัส อากาเว่ โป๊ยเซียน และปรง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังอาจออกแบบพื้นที่สวนให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน มีรั้วหรือขอบกระบะสูง ทำให้สุนัขไม่สามารถวิ่งซนผ่านแปลง และทำให้ต้นไม้ดอกไม้ที่ปลูกไว้ไม่ได้รับความเสียหาย หรืออาจปลูกต้นไม้ไล่ระดับในสวนเพื่อกันไม่ให้น้องหมาสามารถเข้าไปในพื้นที่นั้นได้
ป้องกันน้องฉี่รอบบ้าน กลิ่นเหม็น หญ้าตาย
การฝึกสุนัขและแมวให้ปัสสาวะในที่ที่จัดเตรียมไว้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการล้างทำความสะอาดทั่วไป การออกแบบสวนจึงควรกำหนดสถานที่ที่สัตว์เลี้ยงจะใช้เป็นที่ขับถ่าย โดยจะต้องสงบและสะอาด สำหรับห้องน้ำของสุนัขควรจัดไว้ในบริเวณใต้ลมที่มีแสงแดดส่องถึง และสามารถเก็บล้างได้ง่าย หรือหากให้ขับถ่ายบนพื้นดินก็ให้โรยด้วยทรายหยาบหรือกรวดแม่น้ำขนาดเล็ก และอาจเลือกใช้วิธีการกำจัดมูลสุนัขด้วยวิธีธรรมชาติ อย่างการฝังกลบ หรือใช้ถังบำบัดมูลสุนัข (Dog Loo) ที่จะย่อยมูลสัตว์ให้กลายเป็นของเหลวและเป็นปุ๋ยแก่ต้นไม้ ส่วนแมวอาจหามุมเล็กๆ สักมุม ก่อกระบะหรือทำขอบด้วยวัสดุที่เข้ากับสวน รองพื้นด้วยกรวดหรือเศษอิฐหัก แล้วกองทรายไว้หนาประมาณ 4-5 นิ้ว เป็นห้องน้ำแบบแห้งในสวนให้ขับถ่ายตามธรรมชาติ หรืออาจเลือกใช้ภาชนะสำเร็จรูปมาวาง ซึ่งควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาด ไม่ให้เกิดการหมักหมมหรือเฉอะแฉะ เพื่อป้องกันสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความสกปรก กลิ่นเหม็น หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค
ระวังสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง
เมื่อฝนตกลงมาทั้งคนและต้นไม้ในสวนต่างก็รู้สึกสดชื่นและชุ่มฉ่ำ แต่นอกจากความเย็นสบายแล้ว สัตว์ไม่ได้รับเชิญ อย่างงู คางคก กิ้งกือ หรือตะขาบก็มักจะแวะเวียนเข้ามาในพื้นที่สวนให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทำให้สัตว์เลี้ยงที่ขี้สงสัย จมูกไว และเป็นนักสำรวจอาจพุ่งตัวเข้าไปทักทายจนได้รับอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บได้ ซึ่งสัตว์ที่ไม่ได้รับเชิญทั้งหลายส่วนใหญ่มักจะชอบเก็บตัวอยู่ในพื้นที่รกๆ นิ่งๆ หรือพื้นที่ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ดังนั้น การที่เราตัดแต่งกิ่งไม้ที่มีพุ่มหนา กำจัดวัชพืช ดูแลกระถางต้นไม้ และสนามหญ้าให้ดูโปร่ง ไม่รกทึบ ไม่มีจุดบอด จุดอับ หรือจุดหมักหมมของขยะและสิ่งปฏิกูล รวมถึงมีการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หรือการติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ จะทำให้สัตว์ร้ายไม่มาซ่อนตัว เป็นการลดความเสี่ยงจากสัตว์ไม่ได้รับเชิญที่อาจจะแอบมาอยู่ภายในสวนได้
ระวังสัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งในช่วงอากาศร้อน
ไม่ว่าอากาศจะร้อนแค่ไหน น้องหมาน้องแมวก็มักจะอดใจไม่ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านไม่ไหว ทำให้ต้องเจอกับอากาศร้อนอยู่เสมอ ในการออกแบบพื้นที่สวนจึงควรสร้างพื้นที่ที่อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก มีร่มเงาหรือพื้นที่ที่สัตว์เลี้ยงสามารถหลบแดด หลบฝนได้ โดยอาจเลือกใช้เป็นเงาของต้นไม้ใหญ่ โครงสร้างอาคาร หรือศาลาพักร้อน เพื่อช่วยป้องกันปัญหาฮีตสโตรก อีกทั้งในช่วงอากาศร้อนน้องหมามักจะมีความต้องการน้ำมากกว่าปกติ จึงควรเตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอ หรือถ้าอากาศร้อนมากๆ ให้ใส่น้ำแข็งในน้ำ หมั่นสังเกตถ้วยน้ำอย่าให้น้ำหมด และควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ส่วนน้องแมวที่กินน้ำยากอาจเลือกใช้เป็นน้ำพุหรือองค์ประกอบของน้ำที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดูสดชื่นและช่วยกระตุ้นให้น้องแมวกินน้ำได้มากยิ่งขึ้น
สวนสำหรับสัตว์เลี้ยงที่เจ็บ ป่วย หรืออายุมาก
สวนเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อน จัดกิจกรรมต่างๆ และแต่งเติมความสวยงามให้สถานที่ แต่สำหรับผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนคู่ใจหรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว สวนอาจกลายเป็นสถานที่พิเศษที่ทำให้มีกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก ซึ่งเมื่อถึงวันที่สัตว์เลี้ยงมีอาการเจ็บ ป่วย หรืออายุมากขึ้น พื้นที่สวนจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือเปลี่ยนแปลงระดับของพื้นที่ให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง เช่น การสร้างทางลาดขึ้น-ลง การใช้วัสดุปูพื้นสวนที่ไม่ลื่น เพื่อป้องกันปัญหาลื่นล้มและการขึ้น-ลงบันได การหลีกเลี่ยงวัสดุที่มีมุมแหลมคม อย่างหินเกล็ด หินคลุกก่อสร้าง หรือแผ่นหินบางชนิด เพราะอาจบาดเท้าสัตว์เลี้ยงได้ นอกจากนี้แล้วสุนัขแก่จะเดินตกบ่อหรือสระน้ำได้ง่าย อีกทั้งยังไม่มีแรงมากพอที่จะว่ายน้ำหรือขึ้นจากบ่อเองได้ จึงไม่ควรสร้างให้ลึกหรือชันมากจนเกินไป มีทางให้สุนัขขึ้นได้สะดวก หรืออาจทำขอบกั้นบริเวณรอบบ่อ เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำ