ปลุกกระแสวงการศิลปะไทยไปกับ งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 : รักษา กายา (Nurture Gaia) เพื่อยกระดับระบบนิเวศทางศิลปะ และสนับสนุนศิลปินไทยให้เข้าร่วมในเทศกาลศิลปะที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กรุงเทพมหานคร และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน เตรียมเปิดฉากสร้างความเซอร์ไพรส์ครั้งใหม่กับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 หรือ BAB 2024 ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น ครั้งที่ 4 กับความยิ่งใหญ่ระดับโลก ที่กำหนดจัดขึ้นในทุก ๆ 2 ปี เพื่อปลุกกระแสและสร้างความตื่นตัวให้กับวงการศิลปะไทย และทั่วโลกอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “รักษา กายา (Nurture Gaia)” ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2667 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
แนวคิดงาน BAB 2024 รักษา กายา (Nurture Gaia)
ในเทพปกรณัมกรีก ไกอา (Gaia) เป็นเทวีผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต พระนางมีหลายรูปแบบ ได้รับการยกย่องเป็นมารดา ผู้เลี้ยงดู และผู้ให้ชีวิต โดยพบการกล่าวอ้างถึงตามศาสนสถาน เทวสถาน จากรูปปั้นและภาพวาด ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เทวีไกอาได้รับการเคารพบูชาในฐานะมารดาแห่งแผ่นดิน เป็นสตรีผู้เกี่ยวพันกับความอุดมสมบูรณ์และเกษตรกรรม สำหรับศาสนาฮินดู ไกอาคือ ผืนดิน เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่แห่งแผ่นดิน หรือ พระแม่ปฤถวี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรูปแบบของพระแม่ธรณี พบได้บ่อยในพระคัมภีร์และวัดทางพุทธศาสนา
สมมติฐานเกี่ยวกับไกอาที่ได้รับความสนใจอย่างมากเสนอว่า ผืนดินเป็นสิ่งมีชีวิตที่ค้ำจุนสรรพชีวิต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด สงคราม และการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ ทำให้เกิดความตระหนักรู้อย่างถ่องแท้ว่ามนุษยชาติซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของโลกจะไม่สามารถอยู่รอดได้อีกต่อไป หากธรรมชาติเสียหาย ผู้คนและสัตว์ก็ต้องรับทุกข์ในที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปราชญ์ และศิลปิน รวมถึงดาไลลามะ, ติช นัท ฮันห์, เจมส์ เลิฟสต็อก, บรูโน ลาทัวร์, ชยสาโร ภิกขุ และสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เคยถกประเด็นไกอาในบริบทของแผ่นดินในฐานะสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมนุษย์ไม่เคารพไกอา จึงเกิดความเสียหายขึ้นกับป่าฝน ความหลากหลายทางชีวภาพก็ลดลง กลายเป็นความหายนะไปทั่วโลก
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกประกาศช่วงฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดวัดได้ในยุโรป เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติออกมากล่าวโทษว่าเป็นความผิดของมนุษย์แบบเต็มๆ “นักวิทยาศาสตร์เตือนมานานแล้วว่าการติดการใช้ฟอสซิลของเราจะส่งผลอย่างไรบ้าง” เขากล่าว “โลกของเรากำลังจะแตกเร็วกว่าที่เราจะรับมือไหวกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก” เขากล่าวเสริมว่า “อุณหภูมิพุ่งขึ้นลงแบบนี้เราต้องพุ่งตัวเข้าใส่ ผู้นำทั้งหลายต้องติดเครื่องให้ร้อนแล้วในตอนนี้เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศให้ได้”1
ดังนั้นในงาน BAB 2024 จึงมุ่งเน้นไปที่ความแตกต่างของธรรมชาติ การเลี้ยงดู ความเป็นผู้หญิง และการครุ่นคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การเมือง ความเชื่อ และสิ่งเหนือธรรมชาติ
ชมรายชื่อ 45 ศิลปินและผลงานที่ร่วมแสดงในงาน BAB 2024
คณะภัณฑารักษ์
คณะภัณฑารักษ์ผู้มากประสบการณ์อีก 5 ท่าน มาร่วมทำงานกับศิลปิน และคัดเลือกผลงานศิลปะ จากนานาประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ อากิโกะ มิกิ ภัณฑารักษ์ และผู้อำนวยการศิลป์นานาชาติ Benesse Art Site เกาะนาโอชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ดร.ไบรอัน เคอร์ติน นักวิจารณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และภัณฑารักษ์อิสระ ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์และ อดีตผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์ประจำ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่
ดร. ไบรอัน เคอร์ติน นักวิจารณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย และภัณฑารักษ์อิสระ กล่าวว่า “ศิลปิน BAB ในปีนี้นำเสนอการมีส่วนร่วมอย่างอ่อนโยนกับโลก ทั้งธรรมชาติและประชากรที่ครอบครองโลก ผลงานของพวกเขากระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นของเราเกี่ยวกับจังหวะ เสียง มุมมอง และ ความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมความรู้สึกถ่อมตัวว่าเราเป็นใครและดำรงอยู่ได้อย่างไร แต่ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 บางครั้งก็ปลุกเร้าความรู้สึกถึงความรุนแรงของปัญหาโลกที่เพิ่มมากขึ้น”
พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์ประจำ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวถึงหัวข้อ “Nurture Gaia” ว่า “ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่คัดสรรภายใต้ธีมงาน Nurture Gaia นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ฉุกคิดแล้ว ยังผลักดันให้เราเผชิญหน้ากับปัญหาร่วมสมัยและเรื่องราวความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน คำว่า การ “ดูแลเอาใจใส่ (care)” เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ มีความหมายที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน ทำให้เราไตร่ตรองถึงการตอบสนองของตัวเราเองต่อสิ่งรอบตัว ความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงของเราต่อสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นถึงขอบเขตที่การดูแลเอาใจใส่ปรากฏในรูปแบบของการควบคุม ทั้งเหนือร่างกายสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยที่เราอาศัยอยู่”
คณะที่ปรึกษานานาชาติ
ประกอบด้วยศิลปินและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะที่มีชื่อเสียง อาทิ มารีนา อบราโมวิช ศิลปินระดับโลก เจ้าของรางวัลสิงโตทองคำ ลิโต คามาโช ประธานกรรมการ University of the Arts Singapore (UAS) คิม คามาโช นักสะสมผลงานศิลปะ มามิ คาตาโอกะ ผู้อำนวยการ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น ดร.ยูจีน ตัน ผู้อำนวยการ National Gallery Singapore และ Singapore Art Museum ฌอง-ฮูแบร์ มาร์แตง ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติ Centre Pompidou ประเทศฝรั่งเศส และชิว จือเจี่ย ศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักเขียน และประธานอำนวยการ Tianjin Academy of Fine Arts และอาจารย์ที่ Central Academy of Fine Arts ประเทศจีน ก็มาร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วย
สถานที่จัดงาน BAB 2024
งาน BAB 2024 จะจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยบนสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร ทั้งในย่านใจกลางเมือง และในย่านเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า 200 ผลงาน ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ วันแบงค็อก และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
อ้างอิง
1Citation: (Antonio Guterres,UN climate conference Geneva, published by World Meteorological Organization, 6th September2023, https://public.wmo.int/en/media/press-release/earth-had-hottest-three-month-period-record-unprecedented-sea-surface#:~:text=Scientists%20have%20long%20warned%20what,UN%20Secretary%2DGeneral%20António%20Guterres.