Studio Miti ออกแบบสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นให้สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อม

“ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ทําให้คนรู้จักสตูดิโอเรา มาจากการใช้สเกลที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นแบบเรา เพราะผมครุ่นคิดหรือว่าผมสนใจวิธีการใช้สภาพแสงหรือสภาพความร้อนในแบบของบ้านเรา อาจจะทำให้คนมองว่าเป็นลายเซ็น แต่สําหรับผมคิดว่า ผมแค่เข้าใจในระดับหนึ่ง” – คุณเติ้ล Studio Miti

หากคุณเป็นคนในแวดวงออกแบบ เชื่อว่าชื่อของ Studio Miti คงเป็นออฟฟิศสถาปัตย์ที่พูดถึงแล้วต้องร้อง อ๋อ!! ด้วยเส้นทางสายออกแบบที่ยาวนานมากว่า 15 ปี การันตีด้วยรางวัลมากมายจากหลากหลายประเภทอาคาร ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย โรงแรม หรือคาเฟ่

แต่หากคุณเป็นคนนอกวงการ คุณอาจรู้จักผ่านการเข้าไปทิ้งตัวนอนในงานออกแบบของพวกเขา อย่าง ‘บ้านมะขาม’ โฮมสเตย์ไม้ที่มีเพียง 6 หลังท่ามกลางป่าจากใจกลางบางกระเจ้า ซึ่งทีม room Books เองเคยไปเยี่ยมเยียนมาแล้วพร้อมการสัมภาษณ์แบบเป็นกันเองกับ คุณประกิจ กัณหา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Studio Miti หรือจะเป็นโฮมสเตย์ทรงเพิงหมาแหงนที่พร้อมเปิดรับดาวนับล้านของเมืองอุทัยอย่าง “บ้านนับดาว” รวมไปถึง Bonsai House Ratchaburi คาเฟ่ที่เป็นหมุดหมายของคนรักบอนไซ กาแฟ และธรรมชาติกับอาคารที่ปกคลุมไปด้วยเหลืองชัชวาลย์กว่าครึ่ง

วันนี้ room Books ได้ร่วมกับแบรนด์ ตราเพชร เปิดพื้นที่ในการแสดงแนวคิดทางสถาปัตยกรรมในแคมเปญ “3 ARCHITECTS : INNOVATION THROUGH IMAGINATION” ที่เราเชื่อว่างานออกแบบที่น่าสนใจทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นจากจินตนาการและแรงบันดาลใจของนักออกแบบ

โดยในท่านแรก room Books แวะมาพูดคุยกับ คุณเติ้ล – เผดิมเกียรติ สุขกันต์ อีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง Studio Miti และใช้เป็นโอกาสในการอัพเดตแนวทางงาน หลังจากย้ายเข้ามาบ้านหลังใหม่ในรูปแบบของทาวน์เฮ้าส์ขนาด 3 ชั้นครึ่งที่เผยตัวตนความเป็นนักทดลองวัสดุออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม ผ่านฟาซาดเข้มขรึม พร้อมดึงแสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แม้จะอยู่ในกล่องคอนกรีตก็ตาม  เช่นเดียวกับที่เราสัมผัสได้จากผลลัพธ์ของหลาย ๆ โปรเจกต์ที่มักดูกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม คำนึงถึงแดด ลม ฝน และต้นไม้เป็นที่ตั้ง 

มาร่วมค้นหาคำตอบของ ‘สูตร (ไม่) ตายตัว’ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ Studio Miti ที่มีหัวใจเป็นการเข้าใจพฤติกรรมของภูมิอากาศแบบร้อนชื้น

จากความเชื่อสู่โจทย์ในการออกแบบ

คุณเติ้ลเริ่มเล่าถึงแนวคิด โดยพาเราย้อนไปยังแก่นของสตูดิโอมิติ ที่เชื่อในเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ พวกเขาเชื่อว่าทุกคนมีอัตลักษณ์ หรือความชอบ หรือแบ็กกราวนด์ของความคิดที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้สตูดิโอมิติมีหน้าที่หยิบยกเอาเรื่องราวภายใต้ความเชื่อต่าง ๆ ของลูกค้าแต่ละคนมาเป็นประเด็นในการออกแบบ

“นอกจากนั้นเรายังพยายามหาความเป็นเรื่องเดียวกันระหว่างผู้คน สภาพแวดล้อม และตัวบริบท เพื่อสร้างให้ก่อเกิดงานของสถาปัตยกรรมชิ้นนั้น โดยสตูดิโอมิติเองไม่ได้มีภาพชัดเจนว่าจะ ‘เป็นอะไร’ หรือ ‘ไม่เป็นอะไร’ เราค้นหาความเป็นไปได้ในทุกเงื่อนไข ว่าเงื่อนไขแต่ละอย่าง ตั้งแต่เงื่อนไขของมนุษย์ เงื่อนไขของความเชื่อ หรือเงื่อนไขของความชอบที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นั้น ๆ ซึ่งผมเชื่อว่ามันไม่สามารถเอาสูตรสําเร็จไปจับได้ เราคิดใหม่ทุกครั้ง แล้วเราเชื่อว่า ด้วยอัตลักษณ์และความชอบหรือว่าสถานที่ และบริบทต่าง ๆ มันไม่เอื้อให้เกิดผลงานที่เหมือนกัน และความจริงแล้วมันควรจะไม่เหมือนกันด้วย เลยไม่สามารถตอบได้ว่ารูปร่างที่สตูดิโอมิติอยากจะให้คนเห็นและจดจํานั้นเป็นอย่างไร เพราะมัน Flexible มาก

“ซึ่งผมคิดว่า สิ่งหนึ่งที่ทําให้คนรู้จักสตูดิโอเรา มาจากการใช้สเกลที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทย เพราะผมครุ่นคิดหรือว่าผมสนใจวิธีการใช้สภาพแสงหรือสภาพความร้อนในแบบของบ้านเรา ซึ่งอาจจะทำให้คนมองว่าเป็นลายเซ็น แต่สําหรับผม คิดว่าผมแค่เข้าใจในระดับหนึ่ง ยังไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ เป็นแค่การเริ่มต้น แต่เรายังหาต่อว่า ภายใต้สภาวะความร้อนแบบนี้ สเกลของอาคารแบบไหนที่จะเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า”

ออกแบบให้ตอบโจทย์ ด้วยการเข้าใจสภาพแวดล้อมและเข้าใจวัสดุ

เพราะการออกแบบที่ดีต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัย ปัจจัยด้านภูมิอากาศจึงเป็นจุดที่สตูดิโอมิติให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสภาวะน่าสบายให้ผู้ใช้งาน

“สตูดิโอมิติมีความเชื่อเรื่องของความเป็นหนึ่งเดียวกันกับสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเงื่อนไขทางอุณหภูมิ ทางสภาพแวดล้อม หรือทางสภาพภูมิอากาศ เป็นเหตุปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่เรานำเข้ามาจัดการคลี่คลายสถาปัตยกรรมชิ้นนั้น ๆ หลาย ๆ ครั้งที่เราพยายามทําความเข้าใจว่า ร้อนเกินไป หนาวเกินไป หรือฝนตกมาก ฝนตกน้อย สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขปกติที่เราทํากันอยู่ตลอด”

“ปัจจัยเรื่องภูมิอากาศ หรือความทรอปิคัลที่เราพูดถึงกันนี้มันทําให้เราต้องคำนึงถึงสถาปัตยกรรมที่มีความเย็นพอดี ไม่ร้อนเกินไป ไม่ชื้นเกินไป เพื่อการอยู่อาศัยที่สบาย เพราะฉะนั้น ทําให้เงื่อนไขการออกแบบของเราเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ถ้าเราอยู่ใกล้ความร้อนมาก ทําให้ตัวเราร้อน เราก็ต้องทําชายคายื่นออกมามากขึ้นเพื่อให้เกิดเงาของพื้นที่นั้นมากขึ้น ให้ผู้ใช้สามารถขยับเข้ามาใช้งานในพื้นที่ที่เย็นขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่พวกเราใช้ ไม่ว่าจะสร้างด้วยวัสดุใดก็ตาม”

เมื่อทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมแล้ว คุณเติ้ลเสริมว่า อีกประเด็นสำคัญคือการทำความเข้าใจวัสดุ เพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมตามเงื่อนไขและรูปแบบของงานออกแบบ

“เงื่อนไขในการเลือกวัสดุ จริง ๆ แล้วสถาปนิกทุกท่านมีความเข้าใจในการเลือกวัสดุอยู่แล้วเป็นอย่างดี สำหรับสตูดิโอมิติ เราเลือกวัสดุตามเงื่อนไขและรูปแบบของการออกแบบนั้น ยกตัวอย่างเช่น บางทีเราอยากได้ชายคาที่ยื่นยาวมาก หรือเราอยากได้พื้นที่ที่กันแดดกันฝนได้ไกลหรือกว้างขึ้น เพราะฉะนั้นน้ําหนักในส่วนของงานหลังคาก็ควรมีความเบา หรือว่ามี Texture ที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ําได้ดี สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการออกแบบทั้งนั้น”

“เพราะฉะนั้นก็จะพยายามทําความเข้าใจกับแต่ละวัสดุ หรือว่าแต่ละเงื่อนไขในการใช้วัสดุ อย่างหลังคาเองก็มีหลายรูปแบบ มีทั้งเป็นลอนบ้าง เป็นแบบไม่มีลอนบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ความเหมาะสมในการใช้งานเป็นหลัก”

มากกว่าฟังก์ชัน คือหลังคาที่ตอบโจทย์ทุกความชอบ

การอยู่เส้นทางการออกแบบมาเป็นเวลานานของคุณเติ้ล เขาสังเกตเห็นว่า ปัจจุบันนี้ตัวสถาปัตยกรรมเปลี่ยนรูปแบบไป มีความเป็นสากลมากขึ้น มีมาตรฐานความงามที่ดูเหมือนจะคล้าย ๆ กันทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ ทําให้การเลือกรูปแบบหลังคาเปลี่ยนไป

“เพราะฉะนั้นเงื่อนไขของหลังคาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้สถาปนิกต้องเลือกให้เหมาะสมไปตามรูปแบบนั้น ๆ แต่บางที ในภาษาของสถาปัตยกรรมเอง ในความเป็นทรอปิคัลเอง หรือว่าในรูปแบบโมเดิร์นก็ตาม มันน่าจะทําให้เงื่อนไขของการเลือกหลังคาเป็นได้ทั้งทางกว้างขึ้น แล้วก็แคบลง ได้ทั้งสิ้น

“ผมเชื่อว่าสถาปนิกทุกท่าน เวลาเลือกหลังคาไม่ได้มีแค่เงื่อนไขของการระบายอากาศหรือการทําความเข้าใจเชิงทรอปิคัลอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องความเชื่อที่ซ้อนอยู่ในแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เวลาที่เราจะเลือกอะไร มันก็ต้องดูให้สอดคล้องกับบริบทนั้น ๆ ดังนั้นหลังคาเองก็ต้องตอบโจทย์ทุกความชอบ ทุกความเชื่อนั้นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เราอยากให้หลังคาสูงเพราะอยากให้อาคารนั้นดูโปร่ง ในขณะเดียวกัน มันก็ทำหน้าที่รับแดดรับลมเหมือนกัน ปกป้องเหมือนกัน แต่รูปทรงหลังคาที่ชันมาก กับชันน้อย ก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง

“เราจะเห็นว่า เวลาที่เราอยากได้ความสูงมาก หลังคาชันขึ้น อาคารก็จะเป็นอาคารประเภทหนึ่ง แต่ถ้าหลังคาแบน ๆ องศาน้อย ๆ อาคารนั้นก็จะกลายเป็นอาคารอีกประเภทหนึ่ง อย่างบ้านหรือเป็นอาคารที่ไม่อยากปรากฏตัวเยอะ ก็จะมีเงื่อนไขในการเลือกคุณสมบัติเหล่านี้เพิ่มเติมเข้ามา”

เมื่อ ‘หลังคา’ เท่ากับ ‘เสื้อผ้าหน้าผม’

สําหรับการเลือกวัสดุหลังคาให้มันเพิ่มมูลค่าของตัวงานออกแบบ คุณเติ้ลเชื่อว่าระหว่างการออกแบบ เป็นปกติที่สถาปนิกก็ต้องค้นหาทางเลือกที่เหมาะสมกับการดีไซน์ของตัวเอง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเหมาะสมในเชิงรูปร่างหน้าตา ภาพลักษณ์ การติดตั้ง รวมถึงราคาที่เหมาะสมกับโครงการนั้น ๆ 

“ทั้งหมดล้วนเป็นเหตุปัจจัยทั้งนั้นเลย บางทีความชอบของแต่ละคนมีน้ําหนักมากกว่าราคาด้วยซ้ํา เพราะว่าบนความชอบนั้นจะประกอบไปด้วย การใช้งานที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของไทย หรือแม้กระทั่งทําให้การใช้งานภายใต้หลังคาเหมาะสมหรือยืดหยุ่นเพียงพอกับการใช้งานภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบไทย หรือภายใต้การใช้งานที่ยืดหยุ่นในพื้นที่นั้น ๆ

“สําหรับความท้าทายในการออกแบบโดยที่มีเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์มาเกี่ยวข้อง จริง ๆ ทุกงานมีเนื้อหาของการจัดการการออกแบบไม่เหมือนกัน ในส่วนที่จําเป็นต้องโชว์หลังคาหรือในส่วนที่จําเป็นต้องเอามาใช้งานเพื่อให้มองเห็น ผมว่าส่วนหนึ่ง หน้าตาหรือว่าความเป็นมิตรของหลังคาคงจะต้องเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือก บางทีอาจทําให้งานดูเปลี่ยนทิศทางไปเลยก็มี หรือบางทีมันก็ดูเป็นมิตรกับงานของเราก็มี

“เพราะฉะนั้นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ข้อแรกสถาปนิกควรต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่าเรากําลังใช้อะไรและมีผลอย่างไร โดยเฉพาะสภาวะแวดล้อมแบบไทยเรา บางสถานที่ฝนตกเยอะ บางสถานที่มีแดดร้อนมาก เพราะฉะนั้นทั้งความสูง ทั้งความเอียงมีผลหมด รวมถึงวัสดุด้วยก็ตาม”

ในช่วงท้ายที่ใกล้จบบทสนทนา คุณเติ้ลได้พาเราย้อนเวลากับไปค้นหาโปรเจกต์ในความทรงจำ ที่ชวนให้นึกถึงงานออกแบบสนุก ๆ และการคลี่คลายโจทย์ต่าง ๆ ที่เขาได้รับมา

SEEN HOUSE (Private Residence)

“ที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์นี้คือเราทําบ้านสําหรับครอบครัวที่กําลังก่อร่าง ณ วันนั้นที่ลูกยังไม่ได้เกิด สมาชิกเป็นสามีภรรยาอยู่ด้วยกัน 2 คน โดยมีแบ็กกราวนด์คือ เจ้าของบ้าน มีคุณแม่ที่ต้องดูแลอยู่ แล้วก็มีน้องสาวที่อยากพามาอยู่ด้วยกัน

“บ้านนี้เลยมีรูปแบบเพื่อรองรับครอบครัวเชิงขยาย คือมีครอบครัวเดิม แล้วก็ครอบครัวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราก็เลยออกแบบบ้านหลังนี้ให้สองครอบครัวอยู่พร้อมกันในเวลาเดียวกันได้ โดยที่ทุกคนต่างมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตัวเอง และก็มีพื้นที่ส่วนของคุณแม่เจ้าของบ้าน และเจ้าของบ้านที่กําลังจะกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว ให้ทั้งหมดอยู่แยกกัน

“ความโชคดีคือบ้านหลังนี้ติดน้ํา ผมก็เลยดีไซน์ให้ลมสามารถผ่านมาจากน้ํา เอาความชื้น เอาอากาศเย็น ๆ เข้ามาในตัวบ้านได้ ขณะเดียวกันก็แยกส่วนบ้านออกเป็น 2 ส่วนขนานกัน และเชื่อมต่อกันด้วยตัว L ที่เป็นพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่เตรียมอาหาร แล้วก็พื้นที่ทานอาหารเข้าด้วยกัน 

“ณ วันนั้นผมเชื่อว่า หลังคามีส่วนสําคัญในการออกแบบบ้านหลังนี้ นำมาสู่การออกแบบหลังคาให้รับแสงแดดที่ไม่เท่ากัน ในเวลาที่ต่างกัน ผมเชื่อว่าหลังคาเป็นพื้นที่รับความร้อนโดยตรง ก็เลยทําให้หลังคาส่วนที่รับความร้อนมีขนาดน้อยกว่าหลังคาที่ไม่รับความร้อน เพื่อให้โอกาสรับความร้อนน้อยลง 

“สอดคล้องไปกับบริเวณตรงกลางของพื้นที่ที่จัดการแล้วให้เป็นสวน ให้ความร่มรื่นมากขึ้น เราก็ใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ ใช้ปูนที่โชว์เม็ดทราย ใช้บานไม้ ใช้พื้นไม้หรือพื้นคอนกรีต ส่วนนี้ก็ทําให้บ้านสามารถแยกกันอยู่ได้ แล้วก็ประกอบกันกับเวลาที่เขา (สมาชิกครอบครัว) อยู่ด้วยกันได้ในพื้นที่ตรงกลาง”

Studio Miti  Bonsai Cafe คาเฟ่ราชบุรี
Studio Miti  Bonsai Cafe คาเฟ่ราชบุรี
Studio Miti ห้องใต้หลังคา
Studio Miti  Bonsai Cafe คาเฟ่ราชบุรี

BONSAI HOUSE RATCHABURI : CAFE, HOMESTAY AND WORKSHOP SPACE

“โปรเจกต์ที่เจ้าของบ้าน ประกอบไปด้วยคุณพ่อซึ่งเป็นนักเล่นบอนไซ ท่านเป็นคนมือเย็นมาก ชอบปลูกต้นไม้ แล้วก็ทําให้ต้นไม้เติบโตไปในรูปฟอร์มที่ตัวเองชอบ เป็นบอนไซขนาดเล็ก เจ้าของบ้านเองก็อยากจะทําโรงเรียนให้คุณพ่อได้สอนเรื่องบอนไซ ให้คนมาเรียนรู้การปลูกเลี้ยงบอนไซ แล้วก็มีที่พักด้วย เผื่อใครจะมาอยู่ได้วันสองวัน ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่สําหรับเจ้าของบ้านเอง ที่อยากทําร้านกาแฟให้เป็นที่นั่งเสวนากันของคนชื่นชอบทั้งกาแฟและบอนไซ

“ผมก็เลยอยากจะเอาความชอบสิ่งเล็ก ๆ นี้มาใช้ ซึ่งจากปกติที่เราปลูกพันธุ์ไม้ขนาดเล็ก แต่ผมอยากเปลี่ยนสเกลของพันธุ์ไม้ขนาดเล็กให้กลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็เลยใช้หลังคาเป็นตัวแยกหน้าที่กัน โดยเลือกใช้หลังคาใสเพื่อกันฝน ในขณะเดียวกันผมเชื่อว่าต้นไม้ชอบแดด ก็ใช้ต้นไม้ที่ชอบแดดมาสร้างเป็นร่มเงา เพราะฉะนั้นเราจะได้อาคารที่มีต้นไม้คลุมในส่วนของหลังคา

“แล้วก็จะทําให้ร่มเงาข้างใต้อาคารมีความร่มรื่นเหมือนกับที่อยู่ใต้ต้นไม้ เพื่อจะสร้างประสบการณ์ของคนที่มาใช้โครงการ อยากให้เขามีความรู้สึกเหมือนอยู่ใต้บอนไซขนาดใหญ่ ก็เลยทําให้อาคารมีหน้าตาแปลกเป็นเหมือนบ้าน 2 ชั้น หันหลังมาชนกัน โดยที่ส่วนของร้านกาแฟ อยู่ในพื้นที่ด้านหน้าบ้านให้รับแขกได้ง่าย ในส่วนของบอนไซอยู่ตรงด้านหลัง แล้วก็มีห้องใต้หลังคา ทําให้ส่วนที่พักอาศัยมีความน่ารักอยู่พื้นที่ใต้หลังคา

“จากความชอบของเจ้าของที่ชอบปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก ผมทําให้สเกลของความชอบใหญ่ขึ้นด้วยการทําให้ต้นไม้คลุมอาคารและคนมองเห็นจากระยะไกลด้วย ทําให้เกิดความน่าสนใจ ในขณะเดียวกันผมก็พยายามทําให้อาคารรับแดด รับลมได้โดยธรรมชาติ

“ในส่วนของร้านกาแฟ ผมใช้ลักษณะของการโชว์โครงสร้าง เพราะอยากให้คนเห็นโครงสร้างการติดตั้งแบบเปลือย และเพื่อเปิดโอกาสให้แสงทํางานกับต้นไม้ที่เราเตรียมไว้ ให้เงามันตกมาที่พื้นข้างล่างได้ เพราะฉะนั้นการเปลือยโครงสร้างเลยจําเป็นสําหรับโปรเจกต์นี้ โดยใช้โครงเหล็กขนาดใหญ่และสูงถักเข้าไป เพื่อทําให้ความร้อนตกถึงตัวคนน้อยและช้าลง

ภาพ: Spaceshift Studio, room Books