บ้านไทยริมบึง

บ้านไทยริมบึง อยู่สบาย ไม่ร้อน และมองเห็นดวงอาทิตย์ตกได้ทุกวัน

บ้านไทยริมบึง
บ้านไทยริมบึง

ด้วยพิกัดของ บ้านไทยริมบึง หลังนี้ ล้อมรอบด้วยธรรมชาติที่ร่มรื่น บึงใหญ่ ต้นไม้เขียว และท้องฟ้าใส บ้านหลังนี้จึงเปรียบเหมือนสวรรค์น้อยๆริมบึงกว้าง ใครที่เคยมาก็อยากกลับมาเยือนอีกครั้ง

Design Directory : Studio Miti

บ้านไทยริมบึง
ภาพจากฝั่งบึงกว้างมองย้อนกลับไปที่ตัวบ้าน เงาสะท้อนของตัวบ้านบนผืนน้ำ สร้างบรรยากาศผ่อนคลายแบบสุดๆ
บ้านไทยริมบึง

บ้านไทยริมบึง ที่เรามาเยือนหลังนี้ สิ่งแรกที่รู้สึกได้ก็คือ ความเป็นกันเองของเจ้าของบ้าน คุณอเนก วิรัชศิลป์ ออกมาต้อนรับพร้อมพาชมบ้านซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำงานไปในตัว เพราะในบริเวณใกล้เคียงเป็นส่วนของสำนักงาน โรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ และบ้านพักคนงาน บ้านหลังนี้จึงเปรียบเสมือนกองบัญชาการใหญ่ของบริษัทเอเดค อินทีเรียส์ จำกัด เลยก็ว่าได้

เมื่อครั้งที่คุณอเนกเดินทางมาเพื่อหาพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณนี้ ก็ได้รับการแนะนำจากคนในพื้นที่ว่า มีค่ายลูกเสือที่ไม่ได้ใช้งานและติดประกาศขายอยู่ เมื่อมาเห็นพื้นที่จริงด้วยตัวเองก็ตัดสินใจจับจองพื้นที่ 26 ไร่นี้ทันที เป็นเพราะสภาพธรรมชาติที่สวยงามของที่ดินล้อมบึงกว้างและภาพดวงอาทิตย์ตกที่คิดว่าจะได้เห็นทุกวันเมื่อมาอยู่ที่นี่ พื้นที่นี้ยังคงร่องรอยของสภาพค่ายลูกเสือเดิมอยู่บ้างอย่างอาคารพักแรมเก่า คุณอเนกนำมาดัดแปลงเป็นบ้านพักคนงาน ส่วนบึงกว้างก็เกิดจากการขุดดินขึ้นมาถม เพื่อสร้างค่ายลูกเสือแห่งนี้นั่นเอง

ชานบ้าน
บริเวณชานไม้ริมสระน้ำ มีชายคาที่ปูกระเบื้องดินเผาโชว์โครงสร้างครอบคลุมชานเพื่อป้องกันความร้อนและช่วยสร้างพื้นที่กึ่งภายในและภายนอกได้อย่างลงตัว ปลูกต้นกก (ธูปฤๅษี) เป็นแนวยาวข้างสระว่ายน้ำเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว
จันทัน
จันทันที่รับหลังคามีการปาดปลายชายคาเพื่อให้หลังคาดูเบาขึ้น
บ้านไทยริมบึง
ระเบียงไม้บริเวณห้องนอนของคุณอเนกยื่นออกมามากกว่าตัวอาคารรอบข้าง สร้างมุมมองที่สามารถมองกลับมาที่ชานได้ แถมระเบียงไม้ที่ตากแดดตากฝนก็ดูสวยงามตามแบบธรรมชาติดี
บ้านไทยริมบึง
หลากหลายมุมที่เกิดจาก “ชาน” ของบ้าน สร้างพื้นที่นั่งพักผ่อนและทำงาน บวกกับรอบข้างมีต้นไม้ขึ้นครึ้ม จึงมีร่มเงาให้เราได้หลบร้อนได้
สระว่ายน้ำ
สระว่ายน้ำกรุกระเบื้องโมเสกแก้วโทนสีน้ำเงิน-ดำ โดยเลือกใช้ของคุณกรรณิการ์ วิรัชศิลป์ น้องสาวคุณอเนกซึ่งเป็นผู้นำเข้ากระเบื้องจากต่างประเทศในนาม Akena International Co., Ltd เพราะอยากให้ตัวสระดูกลมกลืนกับสีของบึง เสมือนเราได้ลงเล่นน้ำในบึงเลยทีเดียว
เมื่อแดดร่มลมตกคุณแม่และหลานสาวก็ลงว่ายน้ำกันอย่างสนุกสนาน
พื้นไม้
รายละเอียดการสกัดพื้นหินทุกๆสี่แผ่น สร้างลายที่แปลกตาเหมือนใช้หินก้อนใหญ่มาปู
บ้านไทยริมบึง
มุมมองจากท่าน้ำไปยังสระว่ายน้ำ ท่าน้ำนี้ยังเป็นที่นั่งสังสรรค์กันยามค่ำคืนได้ด้วย
ห้องนั่งเล่น
ห้องนั่งเล่นเน้นการตกแต่งเรียบง่าย ใช้ไม้และสีโทนอ่อนเช่นสีขาวและครีมเป็นหลัก เฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในบางตัวก็เป็นงานที่เคยใช้ในรีสอร์ตที่คุณอเนกสร้าง นำมาวางได้อย่างลงตัวกับเฟอร์นิเจอร์เดิมที่มีอยู่แล้ว
หลังคาลอน
หลังคากระเบื้องลอนสีแดงที่เห็นด้านหลังประตูเป็นส่วนทำงานเล็กๆของคุณอเนก เป็นอาคารเก่าที่มีการปรับปรุงให้พอใช้งานได้ โดยทำทางเดินคอนกรีตเชื่อมจากชานของตัวบ้าน สร้างบรรยากาศในการพูดคุยงานกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี

คุณอเนก และ คุณประกิจ กัณหา สถาปนิก ได้ร่วมกันวางแนวคิดในการออกแบบ บ้านไทยริมบึง หลังนี้ โดยเน้นเรื่องการอยู่สบาย ไม่ร้อน และไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา ผู้ออกแบบจึงหันมาสนใจลักษณะของเรือนไทยภาคกลางตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการนำ “ชาน” มาใช้กับบ้านหลังนี้ ชานที่เป็นทั้งทางเดิน ระเบียงเชื่อมห้องต่างๆไว้ด้วยกัน โดยมีชายคาที่ยื่นยาวคอยให้ร่มเงา พื้นที่ของชานมีการลดระดับจากสูงลงต่ำจากบ้านถึงท่าน้ำนี้ จึงถือเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายจากในบ้านสู่นอกบ้าน จากพื้นห้องสู่พื้นน้ำ และจากความตึงเครียดสู่ความผ่อนคลาย

เพื่อสร้างมุมมองที่ดีสู่ภายนอก บ้านหลังนี้จึงหันพื้นที่ชานของบ้านเข้าหาบึงขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก แต่บ้านกลับไม่ร้อนนัก เหตุเพราะมีชายคาที่ยื่นยาวช่วยบังแดดและการได้รับลมที่พัดจากสระน้ำตลอดทั้งวัน บริเวณชานริมสระนี้จึงเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมหลักของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นวาระใดก็สามารถใช้พื้นที่นี้ได้อย่างสบายกายและสบายใจ ผู้ออกแบบยังคำนึงถึงการทำลายสภาพเดิมของบึงและธรรมชาติให้น้อยที่สุด จึงไม่ทำกำแพงกันดินตลอดทั้งแนวของบ้าน เพราะอาจทำให้สภาพตลิ่งเสียหาย แต่จะตั้งเสายื่นส่วนของบ้านและชานออกไปในบึงแทน หรือมีการปลูกพืชน้ำเช่นกกตามชายฝั่ง เพื่อรักษาระบบนิเวศเดิมไว้และเพื่อเป็นแนวบังตาแทนการทำกำแพง ส่วนของเสียที่เกิดจากภายในบ้านก็แยกบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ไม่มีการปล่อยลงสู่บึงโดยตรง

โถงบันได
บันไดที่เชื่อมระหว่างชั้น ออกแบบชานพักบันไดให้มีส่วนที่ยื่นออกไปเป็นชานพักภายนอกบ้านได้ เป็นลูกเล่นที่แปลกตาและน่าสนใจ ส่วนผนังของโถงบันไดก็ใช้อิฐช่องลมลายดอกไม้ก่อเป็นผนัง นำแสงแดดและลมเข้ามาในอาคาร
อิฐช่องลม
อิฐช่องลมลายดอกไม้ที่ใช้ในทุกๆส่วนของบ้าน ช่วยระบายอากาศและทำให้ผนังไม่ทึบตัน
ห้องนอนไม้
ห้องนอนของคุณอเนกตกแต่งด้วยโทนสีขาวและสีไม้ เพิ่มสีสันด้วยสีสดๆของผ้าปูที่นอน ทำให้ห้องดูมีชีวิตชีวาขึ้น  เพียงแค่เปิดหน้าต่างให้สุดก็จะเห็นวิวของบึงหลังบ้านได้อย่างใกล้ชิด
หัวเตียง
ตกแต่งหัวเตียงด้วยท่อนไม้นำมาตัดเป็นแผ่นคล้ายอิฐเรียงซ้อนสลับกันไป ให้ความรู้สึกเบาสบายและเป็นธรรมชาติ
ลิ้นชักใต้เตียง
พื้นที่ใต้เตียงที่ทุกคนมองข้ามสามารถทำเป็นที่เก็บของได้สารพัด
กระเบื้องโมเสก
ห้องน้ำชั้น 2 ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกสีเข้ม ดูเรียบและขรึมในเวลาเดียวกัน โคมไฟสีม่วงซื้อจากประเทศจีนก็เข้ากันดี ช่วยให้ห้องดูไม่มืดนัก
ห้องนอนชมวิว
ห้องนอนชั้นบนสามารถมองออกไปเห็นบึงสวยได้ชัดเจน

พื้นที่ทั้งหมดของ บ้านไทยริมบึง หลังนี้ประกอบด้วยห้องนอน 5 ห้อง ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และครัวเล็กๆ ตัวอาคารยังแยกออกเป็นสองหลังเพื่อลดทอนความใหญ่โตของหลังคา เมื่ออาคารถูกแยกออกก็เกิดช่องว่างให้ลดพัดผ่าน จึงได้ประโยชน์ในเรื่องการถ่ายเทอากาศด้วย และด้วยความที่ทั้งเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบเคยร่วมงานกันในการก่อสร้างคีรีมายา รีสอร์ตแอนด์สปา ทั้งเฟอร์นิเจอร์และรายละเอียดในการตกแต่งบ้านจึงให้ความรู้สึกของรีสอร์ตอยู่ไม่น้อย

รายละเอียดบนผนังที่ใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวมากรีดก่อนที่คอนกรีตจะแห้ง เลียนแบบพื้นผิวเสาไม้ของบ้าน
ดวงอาทิตย์ตกแล้ว เป็นบรรยากาศที่สวยงามของบ้านหลังนี้

คุณอเนกเล่าให้ฟังว่า “ในวันที่มีงาน เช่น วันลอยกระทง หรืองานเลี้ยงต่างๆ พื้นที่บริเวณชานริมน้ำนี้เป็นเหมือนที่รวมความสุข กิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นบริเวณนี้” หลังบทสนทนาเราก็คิดอยากมีบ้านริมน้ำอย่างนี้ขึ้นมาตงิดๆบ้างแล้วล่ะ

เจ้าของ : คุณอเนก วิรัชศิลป์

ก่อสร้าง : บริษัทเอเดค อินทีเรียส์ จำกัด

ออกแบบสถาปัตยกรรม : Studio Miti โดยคุณประกิจ กัณหา

ออกแบบตกแต่งภายใน : คุณอานุภาพ อ่อนสอาด


เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์

ภาพ : สังวาล พระเทพ

Studio Miti ออกแบบสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้นให้สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อม

บ้านพื้นถิ่นไทย ที่อบอุ่นด้วยงานไม้เก่า

ติดตามบ้านและสวน