บ้านชั้นครึ่งริมสวน ขนาด 3 x 6 เมตร ออกแบบให้เป็นบ้านขนาดเล็ก แต่นอนได้ถึง 4 คน มีพื้นที่การใช้งานครบครัน ทั้งมุมนั่งเล่น ห้องน้ำ ครัว และที่นอนชั้นลอย ตัวบ้านวางทำมุมสามเหลี่ยมกับรั้วบ้าน ทำให้เหลือพื้นที่หลังบ้านขนาดกำลังดีสำหรับทำสวน
บ้านชั้นครึ่งริมสวน หลังนี้ มีจุดเริ่มต้นจากภาพฝันที่ “อยากมีครัวเล็กๆในแบบของตัวเอง” สู่ PPP Tiny House ที่ย่อมาจาก พราว พ่วงพงษ์ ชื่อเจ้าของบ้านหลังน้อยริมรั้วที่อัดแน่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยกำลังใจจากทุกคนในครอบครัว
จากมื้อเช้าสู่ครัวในแบบของเรา
“พราวชอบทำอาหารเช้าอยู่แล้ว เคยเห็นแม่บ้านเกาหลีถ่ายคลิปทำอาหารเช้าง่ายๆ แล้วช่วงนั้นโควิด-19 ระบาด เราเป็นทันตแพทย์ก็ต้องหยุดงานเพื่อความปลอดภัย พออยู่ว่างๆก็เริ่มถ่ายคลิปทำอาหาร หาของมาแต่งครัว ซึ่งตอนนั้นไปอยู่บ้านพักแพทย์กับสามีที่ต่างจังหวัด ก็ไปหาของตกแต่งตามโกดังญี่ปุ่น พอเอาคลิปมาลงในไอจีแล้วมีคนติดตามก็เริ่มอยากมีครัวเล็กๆในแบบของเราเอง”
คุณพราวเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น ส่วนความฝันที่อยากมีครัวในแบบของตัวเองก็ยังคงอยู่ และได้ลองปรับมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่การยึดพื้นที่ครัวใหญ่ของแม่เพื่อถ่ายคลิปแต่ก็สว่างไม่พอ หรือความพยายามตกแต่งต่อเติมพื้นที่ริมระเบียงให้กลายเป็นครัวสไตล์คันทรีแต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์
ตัดกระดาษสร้างบ้านด้วยกัน
บ้านขนาด 3 x 6 เมตร ความสูงชั้นครึ่ง ออกแบบให้เป็นบ้านขนาดเล็ก แต่นอนได้ถึง 4 คน มีพื้นที่การใช้งานครบครัน ทั้งมุมนั่งเล่น ห้องน้ำ ครัว และที่นอนชั้นลอย ตัวบ้านวางทำมุมสามเหลี่ยมกับรั้วบ้าน ทำให้เหลือพื้นที่หลังบ้าน ขนาดกำลังดีสำหรับทำสวน
“อยากได้บ้านขนาดเล็กและมีห้องนอนกึ่งๆใต้หลังคา มีมุมครัวที่มองออกไปเห็นสวน และใช้เป็นบ้านพักรับรองเพื่อนๆ หลังปาร์ตี้ หรือแขกมาพักได้อย่างเป็นสัดส่วน ตอนออกแบบเริ่มจากครัวเป็นหลักเพราะเราชัดเจนว่าอยากได้เคาน์เตอร์ครัวตรงกับหน้าต่างมองออกไปเห็นสวน ก็ใช้วิธีตัดกระดาษมาจำลองเป็นเคาน์เตอร์กล่องแบบเด็กๆเลย กล่องละ 60 เซนติเมตร มาวางเรียงต่อๆกัน ให้พอดีกับหน้าต่างเก่าที่เป็นของสะสมของคุณพ่อคุณแม่ แล้วเราชอบบ้านที่เป็นแนวคันทรีคอตเทจดูฝรั่งนิดๆ ก็จะเอาไอเดียไปขายแม่ว่าอยากได้ครัวแบบนี้ประมาณนี้”
ช่างไม้ส่วนตัวกับดีไซเนอร์คู่ใจ
การก่อสร้างใช้เวลาไม่กี่เดือนบ้านก็เสร็จเรียบร้อย เพราะมีคุณพ่อเป็นนายช่างใหญ่ช่วยคุมการก่อสร้าง “บางครั้งคุณพ่อก็ลงไปช่วยช่างเทปูน วัดหน้างานกับลูกน้องเองเลย โดยเฉพาะงานไม้ในบ้านเป็นฝีมือคุณพ่อเกือบทุกชิ้น ส่วนคุณแม่เป็นสายไอเดียคอยออกแบบ แนะนำ กำกับช่างอีกที ก็มีตีกับช่างบ้าง แต่ก็ออกมาสำเร็จสวยงามทุกครั้ง ต้องบอกว่าทุกคนในบ้านนี้คือสายซัปพอร์ตที่แท้จริง พอมีไอเดียคุณแม่จะช่วยคิด ช่วยออกแบบ หาวิธี คุณพ่อช่วยทำ หรือเป็นฝ่ายซัปพอร์ตขับรถพาไปส่งซื้อของซื้อผ้าที่ไชน่าเวิร์ล ให้คุณแม่กับพราวกลับมาเย็บม่านกันวันนั้นเลย”
ของเก่าต่างยุคที่ส่งต่อกันได้
ของหลายๆชิ้นในบ้านนี้ต่างมีเรื่องราวน่าสนใจซ่อนอยู่ โดยเฉพาะคำว่า “ของสะสม” ทั้งหน้าต่างเก่า ไม้เก่า ของแอนทีค ของวินเทจ ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆไปถึงชิ้นใหญ่อย่างเตาฟืนโบราณ
“พราวเห็นคุณพ่อคุณแม่สะสมของเก่ามาตั้งแต่เด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่จะมีความชอบกันคนละยุค คนละแนว อย่างคุณแม่อาจจะชอบงานแอนทีคเก่าๆปีลึกเลย มีทั้งเครื่องครัวทองแดง ถ้วยแก้วกาแฟโบราณ เฟอร์นิเจอร์ไม้แอนทีค หลากหลายมาก เราก็จะชอบแนววินเทจน่ารักๆ เล็กลงมาหน่อย อย่างที่เห็นของตกแต่งในบ้านนี้มีทั้งของพราวเองและของสะสมของคุณแม่ พราวก็ไปเลือกมาตกแต่งตามสไตล์เรา ซึ่งคุณแม่สะสมไว้เยอะมาก มากพอที่จะใช้เปลี่ยนการตกแต่งได้ทุกซีซั่นเลย อย่างไฟกิ่งติดผนัง ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นของที่มีอยู่แล้วไม่ได้ซื้อมาใหม่ หรือที่เห็นชัดเลยก็ประตู – หน้าต่างไม้เก่าที่เป็นของคุณพ่อ เราก็ไปเลือกว่าอยากได้อันไหน ซึ่งพ่อสะสมไว้เยอะมากๆ หน้าต่างก็จะไม่เหมือนกันเลยสักอัน แล้วค่อยมาดูกับช่างว่าจะให้อยู่ตรงไหน ติดสูงต่ำแค่ไหน หรืออย่างหน้าต่างบานที่อยู่หน้าบ้าน จริงๆเป็นแนวตั้งก็ให้ติดแบบแนวนอน เวลาเปิดออกก็ไม่เหมือนใคร ของแต่ละชิ้นแตกต่างกันเราก็มาช่วยกันคิดหาวิธีใช้ให้เข้ากับบ้านได้”
บ้านหลังเล็กแต่อัดแน่นไปด้วยความสุข
“เพราะบ้านนี้คือจุดศูนย์รวมที่ทำให้ทุกคนในบ้านได้มาพูดคุยกัน บางวันทุกคนก็เข้ามานั่งกินข้าวเช้า ดื่มกาแฟด้วยกัน หรือมารวมตัวดูทีวีด้วยกันที่มุมนี้ แม้ว่าบ้านจะเล็กแต่เป็นที่ที่เรามีความสุข ความสุขสำหรับพราวเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เมื่อเห็นสิ่งรอบตัวที่สวยงาม มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นกุหลาบออกดอก วันนี้เมฆน่ารัก หรือวันนี้มีผีเสื้อมาเกาะดอกไม้ในสวน พอเห็นแล้วก็อดไม่ได้ที่จะหยิบกล้องมาเก็บภาพเหล่านี้เอาไว้ เป็นสิ่งสวยงามและความทรงจำดีๆ พอเอามาแบ่งปันในไอจี แล้วผู้ติดตามบอกว่า มันทำให้เขามีความสุขไปด้วย หรือบางคนบอกว่ามันสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขา ความสุขมันยิ่งทวีคูณ ^^”
เจ้าของ – ออกแบบ : ครอบครัวพ่วงพงษ์
เรื่อง : jOhe
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, กรานต์ชนก บุญบำรุง
สไตล์ : Suntreeya