สวนสมุนไพรรอบบ้าน ท่ามกลางบรรยากาศของป่าสนต่างแดน

บ้านสไตล์ฟาร์มเฮ้าส์หลังคาหน้าจั่ว ผนังก่ออิฐดูเรียบง่าย ด้านหน้ามีสวนครัว อ่างน้ำพุ และอาคารหลังเล็กที่มีบานประตูขนาดใหญ่กรุด้วยกระจก รอบบ้านรายล้อมด้วยต้นสน และ สวนสมุนไพรรอบบ้าน ให้บรรยากาศของบ้านชนบทในต่างประเทศ

บ้านของ คุณฟีน–อนุรักษ์ ฆ้องวงษ์ มัณฑนากรผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านสไตล์คลาสสิก นอกจากตัวบ้านแล้ว สวนสมุนไพรรอบบ้าน เขาก็เป็นผู้ออกแบบและลงมือทำด้วยตัวเองเช่นกัน

สวนสมุนไพรรอบบ้าน
ตั้งอ่างน้ำพุเป็นจุดเด่นอยู่กลางสวน เพราะอยากได้ยินเสียงน้ำเวลานั่งในศาลา น้ำพุซื้อสำเร็จรูป ส่วนอ่างด้านล่างใช้อิฐโค้งก่อซ้อนสองชั้นเพื่อให้กว้างพอที่จะใช้เป็นที่นั่งที่ขอบได้
สวนสมุนไพรรอบบ้าน
คุณฟีนดูแลและตัดแต่งต้นไม้เองทั้งหมด โดยใช้เวลาช่วงเช้าก่อนไปทำงาน หรือตอนบ่ายๆ เย็นๆ หลังเลิกงาน

ผมซื้อที่ผืนนี้ไว้เมื่อ 20 ปีก่อนครับ เพิ่งจะมาปลูกบ้านจัดสวนเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เดิมเป็นสวนกล้วย เราถมที่ให้สูงขึ้น ออกแบบบ้านให้โปร่งโล่ง ดูสบาย ๆ และมองเห็นสวนนอกบ้าน วางแปลนไม่ซับซ้อนและใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดโดยวิเคราะห์จากทิศทางของลมและแสงแดด ระหว่างที่ปลูกบ้านก็เริ่มวางผังแลนด์สเคปรอบบ้าน ตรงไหนจะเป็นทางเดิน ตรงไหนปลูกต้นไม้ใหญ่ โรยปูนขาวมาร์กตำแหน่ง ออกแบบสวนและลงมือทำเองทั้งหมดครับ” คุณฟีนเริ่มเล่าให้ฟัง

สวนสมุนไพรรอบบ้าน
บ้านอีกหลังที่อยู่ใกล้กัน คุณฟีนเป็นผู้ออกแบบบ้านและสวนทั้งหมดด้วยเช่นกัน โดยออกแบบให้คล้ายกับสวนที่บ้าน ต่างกันที่กระบะปลูกผักก่อด้วยอิฐ วางผังสวนสไตล์สวนฟอร์มัลเพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามและดูแลง่าย
สวนสมุนไพรรอบบ้าน
พืชผักที่นี่เติบโตงอกงามด้วยดินปลูกที่คุณฟีนผสมขึ้นมาเอง ใช้เม็ดดินเผามวลเบา (หรือ Popper จะช่วยให้ดินปลูกร่วน โปร่ง ระบายอากาศและระบายน้ำได้ดี อุ้มน้ำและให้ความเย็น) ผสมกับหิน ดินปลูกต้นไม้สำเร็จรูป และทรายในอัตราส่วนเท่ากัน

“พื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าลึกเข้าไป 50 เมตร ด้านหลังติดกับแม่น้ำคาว และด้วยความฝันที่อยากจะมีบ้านอยู่บนเนินเขา จึงทำพื้นที่ให้เป็นสเต็ปลดหลั่นกัน ปลูกต้นไม้เหลื่อมล้ำกันไปมา มีทางเดินลัดเลาะไปตามกลุ่มต้นไม้เหมือนค่อย ๆ เดินไต่ขึ้นไปบนเขาตามแนวป่าสน เล่นระดับสูงต่ำและโทนสีของต้นไม้สร้างเลเยอร์ให้สวนดูมีมิติ

ด้วยความตั้งใจที่อยากให้รู้สึกเหมือนเดินขึ้นบนเนินเขา ใช้เทคนิคทำทางเดินเป็นสเต็ปเล่นระดับ ปลูกต้นไม้ให้เหลื่อมล้ำกันไปมา เพื่อบังคับให้เส้นทางเดินซิกแซกเหมือนเดินลัดเลาะอยู่ในป่าสน

“ตั้งใจออกแบบให้เหมือนสวนในชนบทแถบยุโรป เน้นความเป็นธรรมชาติ ต้นไม้พลิ้วไหวดูสบายตา เวลาลมพัด กิ่งจะแตกจะรอดยื่นออกมาบ้างนิดหน่อยก็ปล่อยไป ไม่ต้องตัดแต่งจนพุ่มกลมดิ๊ก เป็นสวนแบบสวนคอตเทจผสมสวนเมดิเตอร์เรเนียน มีสวนครัวที่ไม่ได้เต็มรูปแบบนัก พอให้มีกิจกรรมได้ทำในสวน รดน้ำ พรวนดิน เดินเล่นได้กลิ่นหอม ๆ ในสวน มีความสุขครับ

สวนสมุนไพรรอบบ้าน
สวนครัวหน้าบ้านปลูกในกระบะเพื่อให้ดูเป็นสัดส่วน เรียบร้อย และง่ายต่อการดูแล ข้างกระบะปลูกไม้พุ่มฟอร์มสวย เช่น สน อากาเว่ เพิ่มกลิ่นอายของสวนสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน พื้นโรยกรวดเพื่อให้ดูแลและเดินง่าย

“ส่วนตัวเป็นคนชอบสนครับ พยายามหาสนมาปลูกรอบบ้านเท่าที่พอจะหาได้ เลือกชนิดที่เหมาะกับบ้านเรา มีทั้งสนมังกร สนสองใบ (สนเกี๊ยะ) สนฉัตร สนเลื้อย สนหอม สนผมตั้ง สนน้ำตก สนคริสต์มาส นอกจากนี้ก็ยังมีหอมหมื่นลี้ กระพี้จั่น แคนา หูกระจง การวางตำแหน่งปลูกไม้ใหญ่พิจารณาจากรูปทรงพุ่มใบตอนโตครับ เช่น ปลูกแคนาไว้ใกล้ ๆ ริมระเบียง เพื่อสร้างร่มเงาและบังแสงแดดในช่วงบ่าย ใกล้ห้องน้ำก็เลือกชนิดที่มีพุ่มใบทึบหน่อย ปลูกสนเกี๊ยะที่มีพุ่มต้นโปร่งกั้นระหว่างบ้านทั้งสองหลัง สร้างความเป็นส่วนตัวแต่ก็ยังพอมองเห็นกันบ้างครับ

สวนสมุนไพรรอบบ้าน
แปลงปลูกอะลูซิงก์มีความสูง ในขณะที่ระบบรากของพืชผักหยั่งลึกลงไม่มากนัก จึงไม่จำเป็นต้องใส่ดินปลูกให้เต็ม คุณฟีนรองชั้นล่างสุดด้วยหิน กรวด หรืออิฐ เพื่อช่วยเรื่องการระบายน้ำ แล้วทับด้วยกาบมะพร้าวอีกชั้น รวมความหนาประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของแปลงปลูก จากนั้นจึงปูผ้าใบทับ เจาะรูเล็กๆ ให้ทั่วผ้าใบ เพื่อให้น้ำระบายได้ วิธีนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้แมลงต่างๆ ไชขึ้นมาในดินปลูกได้อีกด้วย
แปลงปลูกอะลูซิงก์มีให้เลือกหลายขนาดและรูปทรง สั่งซื้อมาประกอบง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง และด้วยสไตล์ของคุณฟีนที่ชอบมิกซ์สีสัน ในกระบะจึงปลูกผักหลายชนิดรวมกัน แต่บางกระบะก็ปลูกเพียงแค่ชนิดเดียวเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล และทำให้ดูต่างออกไป

“นอกจากนี้ยังเป็นคนชอบกินผักครับ โดยส่วนตัวคิดว่าสมุนไพรฝรั่งปลูกเลี้ยงง่ายกว่าผักสวนครัว เราไม่ได้อยู่ที่นี่เป็นประจำ ถ้าไม่ได้ดูแล ผักสวนครัวก็จะไม่โตครับ ปลูกผักหลายชนิดเลยครับ โรสแมรี่ ไธม์ สะระแหน่ เบซิล คาโมมายด์ พาสลีย์ ผักชีฝรั่ง ขึ้นฉ่าย มินต์ขาว แบล็กมินต์ ลาเวนเดอร์ หน่อไม้ฝรั่ง กะเพราแดง แมงลัก โหระพา ผักชีลาว ผักชี คูลลิ่ง (โรสแมรี่ขาว) พริก มานูก้า มะเขือ ตะไคร้ ปลูกไว้ปรุงอาหาร หมักเนื้อทำสเต็ก บางทีก็เด็ดใบไปชงน้ำชา เวลาจะใช้ก็แค่เดินไปเด็ดในสวนครับ

พืชผักสวนครัวหลายอย่างนอกจากมีประโยชน์ในการนำมาปรุงอาหารแล้ว ยังมีทรงต้นสวย ปลูกประดับสวนได้ดี เช่น ผักชีลาว หรือเทียนแกลบในภาพ

“ที่นี่ไม่ค่อยปลูกไม้ดอกครับ เพราะต้องดูแล เราเองก็ยังไม่ได้อยู่ที่นี่ประจำ ถึงจะมีคนสวนแต่ส่วนใหญ่ก็ให้เขาทำแค่ตัดหญ้า เก็บกวาดเศษใบไม้ รดน้ำต้นไม้ทั่ว ๆ ไป พืชผักสมุนไพรบางอย่างก็ออกดอกเล็ก ๆ น่ารักอยู่แล้ว อย่างโรสแมรี่ที่มีดอกสีม่วง มานูก้าที่มีดอกสีขาว สีชมพู พวกต้นไม้พุ่ม เช่น นีออน ต้อยติ่ง หลิวน้ำตก และต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกกระจายอยู่ทั่วสวนก็จะออกดอกผลัดเปลี่ยนกันไปตามช่วงฤดู ยังมีกุหลาบเลื้อย ลัดดาวัลย์ที่ปลูกอยู่ตามซุ้มอีกครับ”

สวนสมุนไพรรอบบ้าน
ต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะพวกสน ในระยะแรกที่ปลูกคุณฟีนฉีดน้ำรดที่ยอดทุกวัน เพราะรากในตุ้มดินอาจยังไม่เติบโตแข็งแรงพอที่จะดูดน้ำส่งไปเลี้ยงที่ยอด

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้สวนที่เจ้าของบ้านลงมือจัดเองหาได้ยาก ยิ่งเป็นสวนขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกว่า 400 ตารางเมตร อีกทั้งยังไม่มีความรู้ด้านการจัดสวน อาศัยเพียงความชอบเท่านั้น ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

พื้นทางเดินในสวนที่หล่อเอง ใช้บล็อกแม่พิมพ์ 4 ขนาด ค่อยๆ วางลาย วางบล็อก เทปูนผสมทราย รอแห้งแล้วดึงบล็อกออก ทำไปเรื่อยๆ ทีละนิดทีละแผ่น โครงสร้างด้านล่างวางตะแกรงเหล็ก เทปูน ทำฐานรากแผ่ (Footing) ช่วยเพิ่มความแข็งแรง

“ด้วยความที่เราไม่มีความรู้ด้านภูมิสถาปัตย์และเรื่องต้นไม้โดยตรง อาศัยความชอบและประสบการณ์จากงานที่ทำ ใช้วิธีครูพักลักจำจากนักจัดสวนที่ทำงานร่วมกันบ้าง หาความรู้จากหนังสือบ้าง ถามจากคนขายเวลาไปซื้อต้นไม้บ้าง โดยเฉพาะตอนที่มีความฝันอยากจะมีบ้าน อยากจะมีต้นนั้นปลูกต้นนี้ ลงมือปลูกลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ มันก็มีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างทำครับ การเตรียมดินเพื่อปลูกต้นไม้ใหญ่เกิดข้อผิดพลาด ด้วยความใจร้อนรีบปลูกเพื่อให้ต้นไม้อยู่ในตำแหน่งที่คิดไว้ เพราะถ้าหากเทพื้นทางเดินรถเครนจะยกต้นไม้เข้ามาปลูกไม่ได้ ดินเดิมในพื้นที่เป็นดินเหนียวและดินที่นำมาถมที่ที่ระบายน้ำไม้ดี และไม่ได้ใส่ดินปลูกต้นไม้เพิ่ม อีกทั้งการก่อสร้างบ้านและสิ่งต่าง ๆ ยังไม่ใกล้จะไฟนัล น้ำปูนทั้งจากการก่อสร้าง และจากปูนขาวที่โรยเพื่อมาร์กตำแหน่งต่าง ๆ ในตอนแรกก็ละลายไหลลงดิน ไม่นานต้นก็ตาย ต้องขุดออก เตรียมหลุม เตรียมดินปลูกต้นใหม่ ยกตุ้มให้สูง ฝังท่อเพื่อช่วยให้มีอากาศหายใจ ปรับสเต็ปทางเดินใหม่ วางท่อระบายน้ำใต้ดินและดูทิศทางการไหลของน้ำในสวน เพื่อดักน้ำที่ตกจากหลังคาปริมาณมากในช่วงฤดูฝนให้ไหลไปลงท่อระบายน้ำที่อยู่ด้านข้างของบ้าน เรียนรู้ข้อผิดพลาดแก้ปัญหากันไปครับ

ศาลาอเนกประสงค์บริเวณสวนครัวหน้าบ้านสร้างเพิ่มหลังทำบ้านและสวนเสร็จ ใช้เป็นที่ทำงานออกแบบ นั่งพักจิบกาแฟชมสวน ติดตั้งเครื่องปรับอากาศและมีห้องน้ำพร้อมสรรพ

“ตื่นตอนเช้าหลังนมัสการ จิบกาแฟ เดินชมสวน สัมผัสแสงแดดอุ่น ๆ ได้ยินเสียงนก เห็นธรรมชาติรอบตัว ได้กลิ่นสมุนไพรหอม ๆ เย็นเลิกงานกลับมาบ้าน นอนไกวเปลอ่านหนังสืออยู่ที่ระเบียง อากาศเย็น ๆ บรรยากาศเงียบ ๆ มีเวลาให้สมองได้นิ่ง การปลูกผักสอนให้เราใจเย็น อดทน และรอคอย เวลาเขาตายก็อย่าเศร้ามาก ไม่มีอะไรที่จะอยู่คงทนหรอกครับ รู้สึกปลื้มเวลาเห็นต้นไม้ที่เราปลูกแตกยอดแตกกิ่ง เติบโตสมบูรณ์ ช่วยเติมพลังให้ชีวิต สิ่งเหล่านี้หาไม่ได้ในกรุงเทพฯ ครับ”

นิตยสารบ้านละสวน ฉบับเดือนสิงหาคม 2567
เจ้าของ – ออกแบบ : Pheen Studio โดยคุณอนุรักษ์ ฆ้องวงษ์
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม