เมื่อนักสะสม ทำ โรงเรือนในบ้าน เพื่ออยู่ร่วมกับต้นไม้ - บ้านและสวน
greenhouse-plant-collector

ไอเดีย โรงเรือนในบ้าน ฉบับนักสะสมพรรณไม้

การทำ โรงเรือนในบ้าน ที่มีสมาชิกเป็นต้นไม้หายากกว่าพันต้น ต้องทำอย่างไรให้บ้านยังแข็งแรงและต้นไม้เติบโตดี มาถอดไอเดียจากบ้านของนักสะสมไม้ใบกัน

ไอเดียการทำ โรงเรือนในบ้าน เริ่มต้นขึ้นจากไลฟ์สไตล์ของคุณโฮม นักสะสมพรรณไม้ที่อยู่กับต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก “ตั้งแต่ไหนแต่ไร ชีวิตส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในสวน ก็เลยเกิดไอเดียทำบ้านกับสวนให้อยู่ร่วมกัน จะได้ทำสวนอย่างมีความสุขในบ้านของเราเอง”

greenhouse-plant-collector
คุณโฮม – สรรพสิริ เชาวน์วาณิชย์ นายกสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย และผู้ค้า Exotic Plants ชื่อดัง

ภาพแรกที่พบเมื่อเข้ามาภายในรั้วบ้านของ คุณโฮม – สรรพสิริ เชาวน์วาณิชย์ คือดงไม้เขตร้อนที่แผ่ล้อมพื้นที่ในรั้วเกือบทั้งหมด มีเพียงบ้านที่โผล่มาให้เห็นนิดๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณพืชพรรณที่อยู่รายรอบแล้ว บ้านก็ดูเล็กจิ๋วลงไปถนัดตา

ความหลงใหลในไม้แปลก (Exotic Plants) เริ่มตั้งแต่คุณโฮมจำความได้ เนื่องจากที่คุณพ่อคุณแม่เป็นนักสะสมต้นไม้ จนเรียกได้ว่าเกิดมาก็เจอต้นไม้เลย ชีวิตของคุณโฮมจึงห้อมล้อมด้วยพืชหลากชนิดอยู่เสมอ โดยช่วงเวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็ก เมื่อ 50 ปีก่อน มักจะง่วนอยู่กับการเลี้ยงปลา ดูแลต้นไม้ และขยายพันธุ์ไม้ในบ้านอยู่เป็นประจำ เมื่อโตขึ้นมาก็ขยายขอบเขตเป็นไม้แปลกหายาก โดยศึกษาเองตามหนังสืออ้างอิง หนังสือต้นไม้ต่างถิ่น และนิตยสารต่างประเทศ จากนั้นจึงออกเดินทางตามหาพันธุ์ไม้จากรอบโลก มาขยายพันธุ์เพื่อสะสมและจำหน่ายให้กับเหล่าผู้เลี้ยงไม้แปลก ทำให้บทบาทของคุณโฮมในปัจจุบันนั้นเป็นทั้งผู้คลั่งไคล้ และผู้จำหน่าย Exotic Plants ชื่อดังแห่งสวน Live with Plants รวมถึงเป็นนายกสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย เป็นหัวเรือในการจัดกิจกรรมต่างๆ ดึงดูดให้เหล่า Plant Hunter จากทั่วทุกมุมโลกต่างมาเยี่ยมเยือนเพื่อตามหาพันธุ์ไม้หายาก

greenhouse-plant-collector
สวนหน้าบ้านที่ผสมผสานไม้เขตร้อนหลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน ที่อยู่ร่วมกับบ้านอย่างกลมกลืน

โรงเรือนในบ้าน = ทำบ้านให้ต้นไม้อยู่

บ้านหลังนี้มีส่วนประกอบหลักที่ใหญ่ที่สุดคือพื้นที่ปลูกต้นไม้ เป็นโรงเรือนหลายหลัง ทั้งโรงเรือนในบ้าน และนอกบ้านแทรกสลับกันไป ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว พื้นที่สวนนั้นมีอยู่ถึง 85% ของที่ดินทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 15% คือส่วนพักอาศัย “เราให้สวนเป็นหลัก แล้วเราก็เหมือนคนสวน ที่คอยดูแลต้นไม้ และอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ”

โรงเรือนแบ่งออกเป็น 3 โซนหลักๆ ตามนิสัยของต้นไม้ ได้แก่โซนหน้าบ้านรวมพันธุ์ไม้ที่ทนแดดฝนธรรมชาติได้ดี โซนเรือนกระจกสำหรับกลุ่มต้นไม้ที่ไม่ค่อยชอบฝนมากนัก และโรงเรือนสำหรับกล้าไม้ที่พึ่งขยายพันธุ์ ทำเป็นโรงเรือนระบบปิดและควบคุมสภาพอากาศภายในเพื่อให้เหมาะแก่การฟื้นตัวของต้นไม้

ต้นไม้ที่ชื่นชอบแดดจัดและมีสุขภาพแข็งแรงดีปลูกเอาไว้ไว้กลางแจ้งรอบตัวบ้าน เพื่อให้ได้รับแสงและลมตามธรรมชาติ ส่วนต้นไม้ที่ชอบแสงน้อยลงมาก็เลี้ยงไว้ในโรงเรือน และเตรียมระบบน้ำให้เรียบร้อยเพื่อให้ดินชุ่มอุดมสมบูรณ์อยู่ตลอด

ส่วนภายในบ้านที่เปรียบเสมือนเหมือนห้องของผู้ดูแลสวน มีฟังก์ชันหลักเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ส่วนห้องรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร ห้องนอน และส่วนบริการอื่นๆ แต่ละส่วนเชื่อมถึงกันด้วยสวนระหว่างอาคารคลุมด้วยหลังคาโปร่งแสง เมื่อใช้ชีวิตอยู่ภายในห้องหรือเดินไปตามจุดต่างๆ ก็จะมองเห็นต้นไม้ได้ ทำให้ทุกช่วงเวลาของการอยู่บ้านนั้นมีต้นไม้อยู่ร่วมด้วยตลอด สอดคล้องชื่อสวนที่คุณโฮมตั้งไว้ว่า Live with Plants

โรงเรือนในบ้าน
สวนลอยฟ้าที่เชื่อมกับตัวบ้านทั้ง 3 ชั้น ทำให้เดินออกมาชมสวน ดูแลต้นไม้ได้ตลอด และยังออกแบบการปลูกพืชแต่ละชั้นให้เหมาะกับต้นไม้ด้วย

พื้นที่ของคน ต้นไม้ก็อยู่ได้

ไม่ใช่เพียงต้นไม้นอกบ้านที่ดูสมบูรณ์ พืชพรรณต่างๆ ที่ตกแต่งอยู่ภายในบ้านก็ยังดูสุขภาพดี ออกดอกงามสะพรั่งไม่ต่างกับอยู่ท่ามกลางแดดฝนธรรมชาติ เมื่อถามถึงเคล็ดลับการเลี้ยงต้นไม้ คุณโฮมตอบว่าไม่มีอะไรล้ำลึก 

“ข้อหนึ่งคือรู้จักบ้าน บ้านเราแสงพอหรือเปล่า” ต้นไม้คือสิ่งมีชีวิตที่ต้องการแสงในการสร้างอาหาร การนำต้นไม้เข้ามาเลี้ยงในบ้านซึ่งมีความเข้มแสงน้อยกว่า ย่อมทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักเป็นธรรมดา ดังนั้น หากต้องการเลี้ยงต้นไม้ในบ้านให้เติบโตได้ดี แสงสว่างควรเทียบเท่ากับในธรรมชาติ ซึ่งสามารถทำได้โดยออกแบบให้ภายในห้องมีแสงส่องทั่วถึง และวางต้นไม้ใกล้บริเวณช่องเปิดเพื่อให้รับแสงได้อย่างเต็มที่ หรือหากมีช่องแสงน้อย ก็ติดตั้งโคมไฟเพิ่มแสงสว่างภายในห้องให้เพียงพอ

โรงเรือนในบ้าน
สวนลอยฟ้าที่เชื่อมกับตัวบ้านทั้ง 3 ชั้น ทำให้เดินออกมาชมสวน ดูแลต้นไม้ได้ตลอด และยังออกแบบการปลูกพืชแต่ละชั้นให้เหมาะกับต้นไม้ด้วย

“ข้อสองคือรู้จักต้นไม้ และเลือกต้นไม้ให้ถูกชนิด” พรรณไม้แปลกที่คุณโฮมเลือกสะสม ส่วนใหญ่เป็นไม้เขตร้อนตามแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งสภาพแวดล้อมเดิมที่ต้นไม้เติบโตมานั้นไม่ต่างจากเมืองไทยมากนักจึงทำให้ปรับตัวได้ แต่ถึงแม้จะเป็นไม้เขตร้อนเหมือนกัน แต่ละชนิดก็ยังต้องการปริมาณแสงที่แตกต่างกันไป ซึ่งควรศึกษาให้ดีก่อนเลือกมาปลูก “เดี๋ยวนี้มีข้อมูลต้นไม้เยอะมาก แค่เซิร์ช Google ก็พบแล้วว่าต้นไม้แต่ละชนิดต้องการแสงสว่างเท่าไร ถ้ามีความสว่างมากพอ แม้อยู่ในห้องก็สามารถโตได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำไปรับแดดข้างนอก”  ซึ่งกลุ่มที่สามารถเลี้ยงในบ้านได้เป็นจำพวกที่ชอบแสงน้อย เติบโตใต้ร่มเงาไปจนถึงแสงรำไร ส่วนต้นไม้ที่ชอบแดดจัดนั้นเพียงแสงสว่างในอาคารอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการเติบโต สามารถนำมาตั้งได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น

จากหลักการสองข้อนี้ เมื่อบวกกับประสบการณ์ก็สามารถหลอมรวมฟังก์ชันการอยู่อาศัยของคนกับต้นไม้เอาไว้ได้อย่างกลมกลืน อย่างบริเวณคอร์ตสระว่ายน้ำกลางบ้าน ออกแบบให้เป็นโรงเรือนในตัวที่มีความสูงเทียบเท่าอาคาร 3 ชั้น ภายในจัดเป็นสวนลอยฟ้าพาดหนือสระว่ายน้ำ ที่มองเห็นเป็นวิวสีเขียวได้ตลอดความสูงอาคาร ตั้งแต่ชั้น 1 จนถึงชั้น 3 แต่ละชั้นเลือกปลูกไม้ที่ชื่นชอบแสงในปริมาณแตกต่างกันไป โดยชั้นหนึ่งจัดให้เป็นที่อยู่ของต้นไม้ที่ชื่นชอบแสงรำไร เพื่อให้แสงที่ส่องลงมาถูกพรางให้บางลงด้วยเงาของต้นไม้ชั้นที่อยู่เหนือกว่า ส่วนชั้นสองทำเป็น Plant Pot ปลูกไม้ใบที่ชอบแดดปานกลาง ส่วนชั้นสามที่อยู่ใกล้แสงแดดมากที่สุด เลือกปลูกประเภทไม้อวบน้ำ แคคตัส  ที่มีคุณสมบัติทนแดดได้ดี

โรงเรือนในบ้าน
พื้นที่ชั้นล่างที่อยู่รอบสระน้ำทำเป็นกระบะปลูกต้นไม้โดยเน้นกลุ่มที่ชื่นชอบแสงรำไร ไม่ต้องการโดนแดดมากนัก อีกส่วนฝากไว้กับกระบะปลูกชั้นสอง ให้ย้อยลงมาเหนือสระน้ำ
สวนชั้นสองทำเป็นกระบะปลูกบนคานคอนกรีตพาดยาวไปตามความกว้างสระ พื้นบางส่วนทำเป็นระแนงโครงเหล็กที่มีความแข็งแรงเทียบเท่าพื้น เพื่อให้รับน้ำหนักต้นไม้และพรางแสงได้ในเวลาเดียวกัน
โรงเรือนในบ้าน
กระบะปลูกชั้นสามเป็นส่วนที่อยู่ใกล้กับแสงแดดมากที่สุด จึงเน้นปลูกพืชที่ชื่นชอบแสงแดด ทนแล้งได้ดี และออกแบบระบบสปริงเกอร์เพื่อให้น้ำได้อย่างทั่วถึง

ออกแบบโรงเรือนให้ต้นไม้ชอบ

ภายใต้สภาพอากาศในปัจจุบันของประเทศไทยที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ โรงเรือนแต่ละหลังจึงมีการออกแบบสภาพแวดล้อมเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ ดังนี้

โรงเรือนกลางแจ้ง บริเวณนี้จะเป็นส่วนของต้นไม้ที่แข็งแรง ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ดี โดยทำเป็นพื้นที่เปิดโล่งรับแดด ฝน และการระบายอากาศตามธรรมชาติด้วยสแลนกรองแสง 70% คลุมหลังคา เพื่อพรางความร้อนแรงของแดด รดน้ำโดยผู้ดูแลสวนที่เชี่ยวชาญ ใช้ระบบดูแลโดยการสังเกตหน้าดินเป็นหลัก

โรงเรือนในบ้าน
โรงเรือนนกลางแจ้ง รับแดดฝนตามธรรมชาติ

โรงเรือนมีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ที่ไม่ต้องการน้ำมากเท่ากลุ่มแรก  โดยโรงเรือนส่วนนี้เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกคลุมด้วยหลังคาโปร่งแสง เพื่อให้ต้นไม้รับแสงได้โดยที่ไม่โดนฝนมากนัก ให้น้ำต้นไม้ด้วยระบบสปริงเกอร์ตั้งเวลาเปิด-ปิด ส่วนผนังรอบข้างกรุมุ้งลวดเพื่อกันแมลงโดยที่ลมยังพัดผ่านได้ และเพิ่มการระบายอากาศในช่วงระหว่างวันที่ร้อนจัดด้วยพัดลมเพดานที่ทำงานคู่กันกับพัดลมดูดอากาศขนาดใหญ่ โดยพัดลมเพดานจะช่วยเพิ่มการหมุนเวียนอากาศภายในโรงเรือน ในขณะที่พัดลมดูดอากาศจะดูดเอามวลความร้อนออกไปข้างนอก ทำให้อากาศในโรงเรือนไม่อบอ้าวจนเกินไป

โรงเรือนในบ้าน
โรงเรือนมีหลังคาคลุม ระบายอากาศด้วยทำงานคู่กันกับพัดลมดูดอากาศ

เรือนเพาะชำ สำหรับขยายพันธุ์ต้นไม้โดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษเพื่อให้ฟื้นตัวไว ส่วนนี้เป็นโรงเรือนระบบปิด ป้องกันเชื้อโรคและแมลงจากภายนอก ควบคุมอุณหภูมิด้วยระบบ EVAP (Evaporative Cooling System) คู่กับพัดลมระบายอากาศ ทำให้อากาศภายในโรงเรือนเสถียร “ต้นไม้เวลาขยายพันธุ์ก็เหมือนผู้ป่วยห้องไอซียู ต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสมในการแตกราก ฟื้นฟูตัวเอง ถ้าเราไปปักในที่อุณหภูมิสูงเกินไป รากก็ไม่ออก” 

โรงเรือนในบ้าน
เรือนเพาะชำ ควบคุมอุณหภูมิด้วยระบบ EVAP (Evaporative Cooling System)

การทำความรู้จักต้นไม้หายาก ควรศึกษาควบคู่กับตำราหลายแขนง นอกจากหนังสือเกี่ยวกับพันธุ์ไม้แล้ว หนังสือด้านการตกแต่ง ไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงเรื่องวัฒนธรรม ก็ทำให้รู้จักต้นไม้มากขึ้นไม่น้อย เนื่องจากการเลี้ยงไม้ประดับในอาคาร หรือการสะสมไม้แปลกนั้นเป็นงานอดิเรกที่มีมาแล้วกว่าร้อยปี อย่างการตกแต่งบ้านหรืออาคารสำนักงานสมัยแรกเริ่มที่มีการใช้ไม้แปลกต่างถิ่นเข้ามาประดับ ก็ทำให้เห็นแนวทางการออกแบบสภาพแวดล้อมในอาคาร ให้ต้นไม้เติบโตได้โดยไม่ต้องอาศัยเทคนิคซับซ้อน หรือแม้ในปัจจุบันเองที่เทคโนโลยีการปลูกพืชพัฒนาไปไกลจนสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ จนเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตในห้องที่ปิดทึบได้ การศึกษาธรรมชาติของต้นไม้ชนิดนั้นๆ ก็ยังคงมีความสำคัญ เพื่อให้ต้นไม้เติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง คงความงามที่เป็นเอกลักษณ์ของ Exotic Plants ไว้ได้

ไอเดียทำโรงเรือนสะสมต้นไม้ งบไม่ถึงแสน

ต้นไม้ชนิดใดที่ควรปลูกในโรงเรือน

ติดตามบ้านและสวน


คอลัมน์ Home Expert นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนสิงหาคม 2567

เรื่อง : ณัฐวรา

ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส, กรานต์ชนก บุญบำรุง, ธนายุต วิลาทัน และพลวัฒน์ มุงเมือง