reading-nook

ชั้นหนังสือนั่งได้ ในสตูดิโอที่เต็มไปด้วยสีสัน ของ Juli Baker and Summer

reading-nook
reading-nook

ไอเดียสร้างสรรค์บ้านจากไลฟ์สไตล์ของนักสะสม และ ชั้นหนังสือนั่งได้ มุมสุดโปรดสร้างแรงบันดาลใจไม่จำกัด ที่ออกแบบเองได้ ใช้เวลาทำไม่กี่วันก็เสร็จ

ชั้นหนังสือนั่งได้

idea-reading-nook
“ป่านค่อนข้างชอบอะไรที่มีความไม่เข้ากัน ดูงงนิดๆ ว่าอันนี้สวยหรือไม่สวย ดูตลกและแปลกๆ ไม่จำเป็นต้องสวยเนี้ยบ เพราะความไม่พอดีเป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันทำให้ดูมีเสน่ห์”

ความสดใสของสไตล์งานและตัวตนของ คุณป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา ศิลปินที่หลายคนรู้จักในชื่อ Juli Baker and Summer พาให้เรามาพบกับโลกที่การวาดรูปไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในผืนผ้าใบ แต่อัดแน่นอยู่ในทุก มุมบ้าน ของทาวน์เฮ้าส์ขนาด 1 คูหา ซึ่งเป็นทั้งบ้านที่อบอุ่น สตูดิโอทำงาน และเป็นผืนผ้าใบไร้กรอบที่มีสมาชิกทุกคนในบ้านเป็นศิลปิน โดยคุณแม่ชื่นชอบการแต่งบ้านสีสันสดใส คุณพ่อผู้คลั่งไคล้ The Beatles และคุณป่าน นักวาดภาพประกอบที่ได้รับมรดกตกทอดเป็นความสนุกสนานในการใช้สีอย่างอิสระ

idea-reading-nook
ผลงานจากความหลงใหลใน The Beatles ของคุณพ่อ ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะตามมุมต่างๆ โดยคุณพ่อตั้งใจใช้พื้นที่ที่มีเหลืออยู่ในบ้าน เล่าเรื่องราวของ The Beatles ออกมาในรูปแบบกึ่งพิพิธภัณฑ์

“สีสันที่ตกแต่งบ้านนี้เป็นความชอบที่ติดมาตั้งแต่เด็ก เหมือนกับเป็นความชอบโดยธรรมชาติของครอบครัวเรา ตอนที่ดูรูปพ่อแม่สมัยยังหนุ่มสาว เขาก็แต่งตัวจัดจ้านกันมาแต่ไหนแต่ไร พ่อป่านเป็นฮิปปี้ผมยาว ส่วนคุณแม่ก็ชอบแต่งตัว ส่วนตัวเองที่ทำงานศิลปะ ก็สนุกกับการเลือกใช้สีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในงานที่ทำ” 

ห้องนั่งเล่นที่คุณแม่ชอบมานั่งผ่อนคลายบ่อยๆ ตกแต่งด้วยสีสันสดใสและลวดลายจัดจ้านที่ผสมผสานทั้งศิละพื้นเมืองและร่วมสมัย แซมด้วยงานศิลปะฝีมือคุณป่านและของสะสมของคุณพ่อ

พื้นที่สร้างสรรค์ศิลปะ

บ้านหลังนี้เข้าอยู่เมื่อปี 2018 ทั้งที่บ้านหลังเก่าก็อยู่ห่างจากเดิมไปไม่กี่ซอย โดยคุณป่านเล่าถึงหนึ่งในเหตุผลของการย้ายก็คือเรื่องของขนาดสตูดิโอ “ป่านทำงานค่อนข้างวาไรตี้มาก มีทั้งงานที่ทำในคอมพิวเตอร์ งานเขียนหนังสือ ไปจนถึงเพ้นท์ติ้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ย้ายบ้านใหม่นะ เพราะป่านต้องการสตูดิโอที่มีพื้นที่ใหญ่พอให้เราเพ้นท์ และกว้างพอที่จะให้เราคิดได้อย่างอิสระ”

idea-reading-nook
สตูดิโอชั้นสอง สำหรับหาข้อมูล สเกตช์และทำผลงานชิ้นเล็กๆ

บ้านใหม่ช่วยขยายขอบเขตงานให้กว้างกว่าเดิม โดยสตูดิโอจะครอบคลุมพื้นที่บริเวณชั้นสองและชั้นห้า โดยชั้นสองตั้งใจให้เป็นเหมือนห้องสมุดสำหรับค้นหาแรงบันดาลใจ มีโต๊ะทำงานสำหรับขีดเขียนไอเดียและสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเล็กๆ มี ชั้นหนังสือนั่งได้ ไว้นั่งเติมแรงบันดาลใจ ส่วนชั้นห้าเป็นพื้นที่สำหรับทำงานชิ้นใหญ่โดยเฉพาะ จึงทำงานได้สะดวก ไม่ต้องคอยระวังว่าจะชนข้าวของในบ้าน และยังเชื่อมต่อกับระเบียงเดินออกไปมองวิวเมืองในมุมสูงและพระอาทิตย์ตกได้ทุกวัน

“จริงๆ แล้วห้องที่ชั้นสองก็เอาแคนวาสใหญ่มาตั้งได้ แต่มันก็รกเกินกว่าที่เราจะคิดงานได้อย่างลื่นไหล และการเห็นวิวกว้างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราทำงานได้ ซึ่งก็โชคดีที่มีพื้นที่แบบนี้ให้ใช้งาน”

สตูดิโอชั้นห้า ที่คุณป่านใช้สำหรับทำผลงานชิ้นใหญ่

นอกจากนี้ แสงสว่างก็เป็นอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยการทำงานของคุณป่านใช้แสงธรรมชาติเป็นหลัก จึงจัดบริเวณที่ใช้ค้นคว้าหรือทำงานให้อยู่ใกล้กับช่องเปิดเสมอ ใช้ผนังสีขาวเพื่อปรับสภาพสายตาให้เป็นกลาง เมื่อแสงตกกระทบก็ไม่ทำให้สีเพี้ยน และในบางวันที่แสงไม่เพียงพอ ก็เพิ่มแสงสว่างด้วยโคมไฟที่มีแสงสีขาว (Daylight) เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับแสงช่วงกลางวันมากที่สุด

“เมื่อก่อนป่านเป็นคนที่ทำงานเฉพาะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ เพราะพอมืดลงแล้วจะมองเห็นสีไม่ชัด แต่บางวันในฤดูฝนที่แสงไม่เพียงพอ ก็เลยต้องใช้ไฟเพิ่ม ทำให้พบว่าถ้าเรามีไฟที่ดีก็สามารถทำงานได้เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ถ้าเลือกได้ก็ชอบวาดในที่ที่มีแสงธรรมชาติอยู่ดี”

พื้นที่ทำงานศิลปะและระยะการมอง

ขนาดพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะไม่ได้มีกฏเกณฑ์ที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับขนาดและความสะดวกของเจ้าของผลงาน แต่โดยพื้นฐานแล้ว ควรมีขนาดใหญ่พอสำหรับทำงานและจัดเก็บวัสดุได้อย่างสะดวก ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ควรมีความกว้างมากพอจะเห็นภาพรวมงาน หรือระยะการมองผลงานสำเร็จที่ตั้งใจไว้ โดยอาจกำหนดโดยคร่าวจากขนาดผลงานและขอบเขตการมองที่จะเห็นได้ชัดเจน

พื้นที่สะสมข้าวของที่รัก

สิ่งสำคัญที่โดดเด่นไม่น้อยไปกว่าพื้นที่สร้างสรรค์งาน ก็คือส่วนจัดเก็บหนังสือ งานศิลปะ และของสะสมลวดลายสนุกสนานจำนวนมาก ที่ต่างบอกเล่าถึงสไตล์ของคุณป่านเอาไว้อย่างชัดเจน จัดเก็บไว้บนชั้นเหล็กเรียงรายตลอดแนวผนัง ซึ่งคุณป่านเล่าว่าได้รับอิทธิพลนี้มาจากคุณพ่อ

idea-reading-nook
คุณพ่อป่านเป็นนักวิชาการที่ทำเรื่องเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน เขาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง ก็เลยให้คุณค่ากับสิ่งของทุกชิ้นเพราะเขาถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เลยอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้มีของเยอะมาก แล้วนิสัยช่างสะสมก็เลยติดมาถึงเราด้วย”

ภายใต้ของสะสมมากมาย เมื่อมองให้ละเอียดจะพบกับระบบระเบียบในการจัดประเภทข้าวของเพื่อให้หาเจอได้ง่ายเมื่อต้องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อุปกรณ์ทำงานศิลปะ และของสะสม  ต่างแยกมุมจัดเก็บไว้เป็นสัดส่วน  เช่นเดียวกับชั้น 4 ที่เป็นโซนค้นคว้าและห้องอ่านหนังสือของคุณพ่อ ซึ่งประกอบด้วยหนังสือหลากหัวข้อที่คุณพ่อมักศึกษาอยู่บ่อยๆ ทั้ง The Beatles, ภาพยนตร์, ประวัติศาสตร์โบราณ, ทฤษฎีการเมือง, ดนตรี, ศิลปะ และของสะสมต่างๆ โดยแบ่งประเภทหนังสือไว้อย่างชัดเจน แทรกด้วยผลงานศิลปะและมุมอ่านหนังสือที่มีอยู่นับไม่ถ้วน

ชั้นหนังสือนั่งได้ สำหรับอ่านหนังสือเล่มโปรด

มุมของคุณป่านมักจะมีหนังสือมาเกี่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะอเนกประสงค์ที่ใช้งานบ่อยเพราะอยู่ใกล้กับชั้นหนังสือ เก้าอี้โปรดตัวล่าสุดที่นั่งสบายจนอ่านหนังสือจบไปหลายเล่ม ที่เป็นตัวล่าสุด ก็เพราะว่าภายในบ้านนั้นเต็มไปด้วยมุมนั่งอ่านหนังสืออยู่เต็มไปหมด ทั้งโซฟา เก้าอี้เอน เปลนอน เบาะนั่งพื้น หรือแม้แต่ชั้นหนังสือก็ยังมีที่นั่งในตัว เพ้นท์ลายและบุผ้าสีสันสดใสอย่างที่คุณป่านโปรดปราน 

“ป่านชอบสร้างมุมอ่านหนังสือแบบนั่งได้ในบ้านตัวเอง ให้ดูเป็นมุมอบอุ่นที่เราซุกตัวเข้าไปนั่งอ่านหนังสือได้สบาย ซึ่งน่าจะได้ความชอบนี้มาจากพ่อ เพราะพ่อชอบพาเราไปอยู่ในที่ๆ มีหนังสือ มีงานศิลปะเยอะๆ มาตั้งแต่เด็ก” ความชอบนี้เป็นสิ่งที่ไม่เกินจริง เพราะชั้นสี่ที่เป็นชั้นประจำของคุณพ่อ ก็มีการทำชั้นเก็บของที่สามารถนั่งอ่านหนังสือริมหน้าต่างได้เช่นกัน

idea-reading-nook

ชั้นเก็บของเหล่านี้คุณป่านสั่งทำขึ้นมาเอง โดยสเกตช์แบบที่ต้องการเป็นลายเส้นอย่างง่าย ให้ช่างคุ้นเคยกันช่วยคำนวนเป็นตัวเลขที่เหมาะสม แล้วทำขึ้นเป็นชั้นเก็บของโครงสร้างเหล็กกล่อง ตัดโครงเหล็กให้ได้ขนาดที่ต้องการที่ชั้นล่างของบ้าน เสร็จแล้วก็นำขึ้นมาประกอบ เมื่อกรุด้วยไม้อัดแล้วทาสีปิดผิว ก็ได้ชั้นหนังสือแข็งแรงในราคาย่อมเยา และที่สำคัญคือใช้เวลาทำไม่กี่วันก็เสร็จ (ถ้าเลือกช่างที่ไว้ใจได้และทำงานเป็น)

เตียงนอนที่คุณป่านให้ช่างช่วยทำขึ้นมาให้ โดยได้ไอเดียมาจากเตียงสองชั้นที่คุณป่านนอนตอนช่วงฝึกงานในเบอร์ลิน จึงได้ของแถมเป็นมุมอ่านหนังสือใต้เตียงเพิ่มอีกมุม ซึ่งใช้เวลาทำเพียง 1 วันก็เสร็จ

กฏการใช้สี ก็คือ ไม่มีกฏอะไรเลย

เฟอร์นิเจอร์แทบทุกชิ้นในบ้านแต่งแต้มด้วยลวดลายและสีสันจัดจ้าน ทว่าให้ภาพรวมที่ดูร่าเริงและเป็นมิตร และเมื่อถามถึงหลักการเลือกใช้สีในการตกแต่ง ก็ได้ตำตอบง่ายๆ ตรงไปตรงมา “ป่านไม่มีหลักในการใช้สีเลย ตอนที่เรียนมีหัวข้อเกี่ยวกับทฤษฎีสี ป่านก็เข้าใจประมาณนึงนะ แต่ก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้ว สีกับความรู้สึกคนมันมีหลากหลายมากๆ ไม่ใช่ทุกคนเห็นสีแดงแล้วรู้สึกแบบเดียวกัน สีเหลืองสำหรับบางคนอาจเป็นความรู้สึกที่ดีมาก แต่กับบางคนอาจจะเป็นความรู้สึกที่เศร้าก็ได้ เพราะเรามีประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน”

ผนังนี้เมื่อก่อนเป็นสีเขียว อยู่ๆ ไป คุณป่านก็รู้สึกว่าไม่ใช่ และคิดว่าน่าจะต้องเป็นสีฟ้า ก็เลยเปลี่ยนสีเมื่อ 2 ปีก่อนพร้อมกับการทำชั้นใหม่

“ไม่มีตำราใด ที่จะบอกได้ว่าสีไหนเหมาะกับทุกคนทุกบ้าน เราก็แค่เลือกอะไรที่เราอยู่แล้วสบายใจ แล้วถ้าวันหนึ่งเราเกิดไม่สบายใจแล้ว ก็แค่ทาสีทับ ให้บ้านเปลี่ยนใหม่ไปตามตัวเรา”

การเลือกใช้ ” สี ” ในการตกแต่งสวน

แต่งบ้านด้วยสีสัน เติมความสดใสให้มุมทำงาน

ติดตามบ้านและสวน


คอลัมน์ Home Expert นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนสิงหาคม 2567

เรื่อง : ณัฐวรา

ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส, กรานต์ชนก บุญบำรุง, ธนายุต วิลาทัน และพลวัฒน์ มุงเมือง