split-level-steel-house

บ้านเหล็กเล่นระดับ ที่แอบซ่อนความเป็นส่วนตัว

split-level-steel-house
split-level-steel-house

บ้านเหล็กเล่นระดับ บังสายตาด้วยฟาซาด ทรงอาคารเรียบขรึม และการเว้นระยะจากถนนด้วยซุ้มประตูทางเข้าสีดำ เพิ่มความสงบในการพักผ่อนอย่างเต็มรูปแบบ

DESIGNER DIRECTORY สถาปนิก : Junsekino A+D

บ้านเหล็กเล่นระดับ

ท่ามกลางความวุ่นวายของย่านพัฒนาการ คือ บ้านที่พรางตัวด้วยฟาซาดเหล็กทอล้อมบ้านทั้งหลัง และการเว้นระยะจากถนนด้วยซุ้มประตูทางเข้าสีดำ สะท้อนความต้องการของคู่รักที่ตั้งต้นโจทย์ในการทำบ้านบนที่ดินผืนใหม่ คือความเป็นส่วนตัว และดูแลง่าย โดยพกรายละเอียดการใช้ชีวิตไปให้ คุณจูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and Design ซึ่งเป็นสถาปนิกที่ชื่นชอบและติดตามผลงานมานาน ให้ช่วยรังสรรค์ออกมาเป็นบ้านที่ตอบ โจทย์การใช้ชีวิตของทั้งคู่

split-level-steel-house
เมื่อเข้ามาภายในบ้าน จะพบกับโถงทางเข้าและคอร์ตต้นไม้ที่คอยต้อนรับ แสงธรรมชาติที่สาดส่องเข้ามา จากช่องเปิดให้ความรู้สึกอบอุ่น แตกต่างอย่างชัดเจนจากภายนอกของบ้าน

ออกแบบบ้านด้วยเทคนิค “ทอยลูกเต๋า”

“ผมชอบใช้ชีวิตในห้องที่ไม่ได้รู้สึกเปิดโล่ง ชอบให้เป็นห้องๆ เป็นสัดส่วน ให้รู้สึกเหมือนเป็น Comfort Zone ไม่อยากนั่งอยู่ตรงกลางแล้วคนอยู่ตรงนั้นด้วยกันหมด รู้สึกไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวเท่าไร แต่ก็ไม่ต้องการให้เป็นห้องทึบที่ดูอึดอัด”

บ้านเหล็กเล่นระดับ
ภายในโถงกลางตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น เน้นไปที่การเล่นระดับของพื้นหินขัดสีดำ เส้นสายโปร่งเบา ของโครงสร้างเหล็ก แซมด้วยความอบอุ่นของผิวไม้และแสงธรรมชาติ

จากโจทย์ของเจ้าของบ้านทั้งสองที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยยังคงความเป็นส่วนตัวในแบบที่ชื่นชอบ และอยากได้บ้านที่มีสัดส่วนชัดเจน ไม่ต้องการพื้นที่ตรงกลางขนาดใหญ่ที่รวมฟังก์ชันหลายอย่างเข้าด้วยกัน สถาปนิกจึงเสนอแนวคิดในการเปลี่ยนระดับห้องแทนการกั้นด้วยผนัง โดยแยกห้องต่างๆ ออกมาเสมือนลูกเต๋า 5-6 ลูก ทอยเข้าไปในผืนที่ดิน แล้วจัดเรียงลูกเต๋าเหล่านี้ให้มีระดับสูงต่ำต่างกัน ทำให้ห้องต่างๆ ในบ้านค่อยๆ ถ่ายระดับขึ้น-ลงหากันในแต่ละห้อง

ห้องนั่งเล่นขนาบข้างด้วยสระน้ำที่ยกสูง ทำให้พื้นที่ในห้องเสมือนเป็นที่นั่งแบบหลุม (Sunken Seat) ข้างสระว่ายน้ำ ที่ให้บรรยากาศชวนพักผ่อนและความรู้สึกโอบล้อมเป็นส่วนตัวไปพร้อมๆ กัน

“บ้านจะค่อยๆ ถ่ายระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ความรู้สึกมันจะไม่ใช่บ้านสองชั้นแบบสองชั้นจริงๆ อาจจะเป็นบ้านสองชั้นครึ่ง หรือสามชั้น ค่อยๆ ถ่ายระดับไปเรื่อยๆ”

การเล่นระดับนี้ยังทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่รู้สึกติดกับพื้นดินหรืออยู่ในระดับเดียวกันตลอดเวลา ลดความรู้สึกแบนเรียบและเพิ่มมิติให้การใช้ชีวิตในบ้าน และยังทำให้เกิดเป็นพื้นที่มีความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังดูเชื่อมต่อถึงกัน

บ้านเหล็กเล่นระดับ
ปีกหนึ่งของบ้านร้อยเรียงห้องอาหาร ห้องนั่งเล่น และสระน้ำให้มองเห็นถึงกันได้ตลอด แต่แยกให้เป็น สัดส่วนด้วยระดับที่ยกสูง-ต่ำ และคั่นระหว่างกันด้วยพื้นที่สีเขียว

นอกจากนี้ การกระจายของลูกเต๋าทำให้เกิดซอกเล็กๆ ที่สถาปนิกใช้ในการนำแสง อากาศ และธรรมชาติเข้าสู่ภายในบ้าน จากความตั้งใจที่ “ให้หนึ่งกล่องมีปฏิสัมพันธ์กับอากาศได้สองด้าน ไม่อยากให้เป็นซอกหรือปิดมากเกินไป พูดง่ายๆ เวลาเข้าไปในแต่ละโซนจะมีส่วนที่สัมผัสกับภายนอก สองด้านแน่นอน” สถาปนิกจึงทำพื้นที่ส่วนนี้เป็น Pocket Garden ขนาดเล็กที่เล่นระดับไปพร้อมกับภายในบ้าน ทำให้สามารถมองเห็นวิวสีเขียวได้จากหลากมุม ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านที่ชื่นชอบ แสงธรรมชาติและการได้มองเห็นต้นไม้ การออกแบบที่เล่นระดับบนผืนที่ดินขนาดจำกัดนี้ ยังเปลี่ยนคำนิยามใหม่ของบ้าน โดยแสดงให้เห็นว่าบ้านไม่จำเป็นต้องมีเพียงหนึ่งหรือสองชั้น และยังสามารถ สร้างมิติใหม่ๆ ให้ตัวอาคาร ทั้งภายนอกที่ดูไม่แบนเรียบ และภายในมีพื้นที่ที่น่าสนใจมากขึ้น

ครัวหลักและส่วนซักรีดแยกออกมาที่อีกฝั่งหนึ่งของบ้าน เนื่องจากเจ้าของบ้านไม่ได้ทำอาหารบ่อยนัก จึงเลือกใช้เคาน์เตอร์รูปแบบเรียบง่าย ดึงอุปกรณ์จากภายในตู้มาใช้เมื่อจำเป็น แต่ยังเน้นการระบาย อากาศ และรับแสงธรรมชาติจากคอร์ตรอบบ้าน

บ้านเหล็กเล่นระดับ ที่ภายนอกเฉียบคม แต่มีความอบอุ่นอยู่ภายใน

การเลือกใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลักของบ้าน เป็นอีกหนึ่งโจทย์หลักของเจ้าของบ้านที่ปัจจุบันทำงานเป็นวิศวกรและนักบิน ซึ่งแต่เดิมทั้งคู่ทำงานเป็นวิศวกร จึงมีความชื่นชอบโครงสร้างเหล็กเป็นพิเศษ ด้วยเอกลักษณ์เรื่องความเรียบตรงและความแม่นยำในการก่อสร้าง “โครงสร้างเหล็กมีความเป๊ะ เสาเหล็กมันจะตรง ไม่เหมือนเสาคอนกรีตที่ต้องหล่อขึ้นมาซึ่งมีโอกาสเบี้ยวได้ จึงต้องฉาบหรือพอกโครงสร้างจริงให้ใหญ่ขึ้นเพื่อบังความเบี้ยวของเสาหรือคาน จึงเลือกเป็นโครงสร้างเหล็กที่มีความแม่นยำสูง”

split-level-steel-house
การออกแบบรอยต่อเหล็กในส่วนต่างๆ ของบ้าน ออกแบบให้รองรับการสั่นสะเทือน พร้อมทั้งออกแบบรูปด้านให้วัสดุต่างๆ ไม่อยู่ในระนาบเดียวกัน เพิ่มมิติและรายละเอียดให้บ้าน ทำให้โครงสร้างไม่ดูแข็งจนเกินไป

ความตั้งใจแรกของเจ้าของในการทำบ้านโครงสร้างเหล็กทรงเรียบๆ คมๆ และต้องการรักษา ความรู้สึกของการเป็น Comfort Zone ที่อบอุ่นและน่าอยู่ จึงทำให้สถาปนิกลงรายละเอียดบ้านในรูปแบบของบ้านอีกรูปแบบด้วยการออกแบบโครงสร้างให้เป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ เพื่อคงความเฉียบคมในเส้นสายงาน สถาปัตย์ แต่ก็กลมกล่อมในความรู้สึก

“เวลาเราทำดีเทลต่างๆ ในงานโครงสร้าง เราคิดถึงงานตกแต่งภายในไปด้วย อย่างงานบันได เราออกแบบให้เหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งของบ้าน เรามองทุกอย่างไม่ใช่โครงสร้าง แต่มองเป็น เฟอร์นิเจอร์ เลยผสมผสานเข้าไปเป็นส่วนเดียวกัน”

split-level-steel-house
ชั้นวางงานศิลปะและของสะสมใต้บันได ทำเป็นชั้นโครงเหล็กที่ดูบางเบาแต่แข็งแรง เสริมด้วยโครงสร้างยึดผนังให้ดูลอยขึ้นจากพื้น ดูกลมกลืนไปกับตัวพื้นที่โถงและบันได 

การเลือกสรรวัสดุสำหรับ บ้านเหล็กเล่นระดับ หลังนี้ถูกพิจารณาอย่างพิถีพิถันเพื่อให้บ้านดูละมุนและนุ่มนวลขึ้น การใช้ฟาซาดตะแกรงเหล็กฉีกสีขาวแทนผนังเรียบแบบทั่วไป ไม่เพียงทำให้บ้านดูเบาขึ้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ภายในบ้านสามารถเชื่อมต่อกับภายนอกได้ พื้นชั้นล่างทำพื้นผิวหินขัดซึ่งเป็นวัสดุที่เจ้าของบ้านเลือกด้วยความตั้งใจ ด้วยความรู้สึกว่าหินขัดมีความเรียบง่ายแต่ไม่น่าเบื่อ ทำให้พื้นดูเป็นผืนเดียวกันขนาดใหญ่ต่อเนื่องมากกว่าการใช้กระเบื้องที่มีรอยต่อเป็นตาราง ซึ่งสถาปนิกก็ออกแบบให้ออกมาดูกลมกลืนกับวัสดุอื่นๆ และสเปซของบ้านได้อย่างลงตัว

บันไดหลักของบ้านโอบล้อมพื้นที่โถงชั้นล่างขึ้นมาสู่ชั้นบน เป็นทางเดินที่แจกจ่ายไปสู่ห้องส่วนตัว ของเจ้าของบ้าน พื้นที่ทำงาน และห้องสำรองเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต
บ้านเหล็กเล่นระดับ
ชั้นบนปรับโทนให้เหมาะแก่การพักผ่อน ด้วยพื้นไม้ที่ให้ความรู้สึกนุ่มละมุน และวิวยอดไม้จากกระจก บานใหญ่ที่เชื่อมต่อมาจากชั้นล่าง ช่วยนำแสงธรรมชาติเข้ามาสู่ใจกลางของบ้าน

กลิ่นอายความเป็นบ้านที่แทรกอยู่ใน บ้านเหล็กเล่นระดับ

ความโดดเด่นของวัสดุเหล็กที่ก่อสร้างได้ไว ทำให้งานส่วนโครงสร้างหลักของบ้านดำเนินการ เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ถึงปี เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการลงรายละเอียดงานตกแต่ง ก็มาพบกับสถานการณ์โควิด -19 ที่ทำให้แผนการทำบ้านยืดยาวออกไปเกือบสี่ปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้ ก็นำมาสู่การทำงานรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้บ้านได้ไม่น้อย คือการออกแบบภายนอกและภายใน ไปพร้อมกับงานออกแบบสวนที่สร้างสรรค์เองโดยเจ้าของบ้าน

ซอกเล็กๆ ระหว่างอาคารที่เกิดจากแนวคิด “ทอยลูกเต๋า” ถูกเติมเต็มด้วยพื้นที่สีเขียว ช่วยให้บ้าน ไม่เกิดพื้นที่ปิดทึบ อีกทั้งยังเป็นเสมือนฉากหลังสีเขียวที่เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้แต่ละห้องอีกด้วย

โดยหลังจากโครงสร้างหลักเสร็จสิ้น เจ้าของบ้านก็เริ่มคัดสรรไม้ประธานมาปลูก ส่วนมากเป็นพรรณไม้ไทยที่ชื่นชอบและดูแลง่าย เช่น เหลืองปรีดิยาธร แคนา ชงโค การเลือกต้นไม้และวางแผนการปลูกไปพร้อมๆ กับขั้นตอนการก่อสร้าง  ด้วยความยืดหยุ่นของโครงสร้างเหล็ก ทำให้สามารถปรับโครงสร้างบ้านเข้ากับต้นไม้ได้อย่างลงตัว และจากการทำงานร่วมกันของสถาปนิกและเจ้าของบ้าน จึงส่งผลให้บ้านหลังนี้มีกลิ่นอายของความเป็นบ้านสูงมาก

เลือกต้นไม้ไปพร้อมกับขั้นตอนการออกแบบ ทำให้สามารถออกแบบ โครงสร้างที่ช่วยค้ำลำต้นโดยยังคงกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างบ้าน
ใช้โซ่รับน้ำฝนแทนท่อระบายน้ำฝน ปล่อยลงสู่ทางระบายน้ำที่ ปิดผิวหน้าด้วยหินกรวดมน ดูกลมกลืนไปกับพื้นสวน และยังช่วยลดการกระเด็นของน้ำฝนไปในตัว

เมื่อมองจากภายนอก เราจึงไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าภายในบ้านจะมีบรรยากาศที่ร่มรื่นและอบอุ่นเป็นเอกลักษณ์เช่นนี้ สถาปนิกได้ตีโจทย์บ้านที่มีความเป็นส่วนตัวสูงออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม พร้อมทั้งสามารถจัดสรรพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อยู่อาศัยบนพื้นที่จำกัดได้อย่างลงตัว บ้านหลังนี้จึงไม่เพียง แต่ตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้าน แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์พื้นที่ที่น่าประทับใจและเป็นพื้นที่ พักผ่อนของผู้อยู่อาศัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ

โถงกลางของห้องส่วนตัวออกแบบประตูอย่างแนบเนียนกับผนัง หากมองเผินๆ อาจไม่รู้ว่ามีห้องซ่อน อยู่เบื้องหลัง โดยโถงนี้แจกจ่ายออกไปยังสามห้อง ได้แก่ ห้องนอน ห้องแต่งตัว และห้องน้ำ
ห้องน้ำแต่งด้วยวัสดุหลักโทนเคร่งขรึมและเสริมความอบอุ่นด้วยผิวไม้และไฟแสงสีวอร์มไวท์ เคาน์เตอร์ยาวฝังอ่างล้างหน้าแยกเป็นสองอ่างเพื่อแต่ละคนใช้งานได้อย่างสะดวก
บ้านเหล็กเล่นระดับ
ห้องนอน ออกแบบให้เป็นพื้นที่พักผ่อนเต็มรูปแบบตามความต้องการของเจ้าของบ้าน เลือกใช้วัสดุหลัก เป็นไม้โชว์ผิว พื้นผิวสีขาว เน้นแสงไฟแบบ Indirect Light สร้างบรรยากาศอบอุ่น รวมถึงม่านที่ปิด กันแสงได้สนิท เหมาะแก่การพักผ่อน และเมื่อเปิดออกก็พบกับต้นไม้ที่สร้างความสดชื่นในยามตื่นนอน
บ้านเหล็กเล่นระดับ

คอลัมน์ บ้านสวย ก.ย. 67
เรื่อง : ณัชชา คู่พันธวี
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุ
สไตล์ : ชนม์นิภา จันทรัตน์


อ่านสารพัดไอเดียบ้านโครงสร้างเหล็กอื่นๆ ได้ ในหนังสือ “Steel House รวมบ้านโมเดิร์นโครงสร้างเหล็ก”



บ้านขาวล้อมคอร์ต ชีวิตที่อยู่ร่วมกับน้องห่านได้อย่างลงตัว

บ้านนอร์ดิก หลังเล็กน่ารัก สร้างในต่างจังหวัด

ติดตามบ้านและสวน