ตรวจสุขภาพต้นไม้ ง่ายๆเพียง 4 ขั้นตอน

ตรวจสุขภาพต้นไม้ ง่ายๆเพียงไม่กี่ขั้นตอน เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และการดูแลรักษาต้นไม้ในเมืองที่ถูกตามหลักทางรุกขกรรม

ต้นไม้ใหญ่ในเมือง จำเป็นต้องมีการประเมิน ตรวจสุขภาพต้นไม้ เพื่อดูความสมบรูณ์ของต้นไม้ และเพื่อการจัดการเตรียมต้นไม้ให้มีความปลอดภัยในช่วงฤดูมรสุม ทั้งยังให้ต้นไม้อยู่รอดในเมืองอีกต่อไป

ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนของต้นไม้ลดลง อย่างไรก็ดี เราจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่พื้นที่สีเขียวจะเพิ่มขึ้น ผ่านการร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งโครงการของสถาบันและหน่วยงานต่างๆ

อีกมุมมองหนึ่งนอกจากการจัดทำโครงการใหม่ๆ คือ การดูแลต้นไม้เดิมที่มีอยู่แล้วในย่านต่างๆ หรือริมถนน เกาะกลางถนน หรือแม้กระทั่งพื้นที่สวนสาธารณะ ซึ่งต้นไม้เหล่านี้จำเป็นต้องมีการดูแลตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อประเมินให้มีการตัดแต่ง ค้ำยัน หรือโค่นต้นทิ้งต่อไป

ตรวจสุขภาพต้นไม้ทำไม?

 ต้นไม้ใหญ่ในเมือง เช่น ต้นไม้ริมถนน บนทางเท้า เกาะกลางถนน หรือในสวนสาธารณะ บริเวณข้างต้นเหล่านี้นับว่าเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่มีผู้คนใช้งานอย่างหลากหลาย อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม จึงจำเป็นต้องตรวจเช็กความสมบูรณ์ของต้นไม้เหล่านั้น โดยรุกขกร เพื่อเตรียมรับมือจากมรสุม ที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการหักหรือโค่นล้มของต้นไม้ได้

ตรวจสุขภาพต้นไม้อย่างไร?

ขั้นตอนหลักๆของการประเมินต้นไม้ในเมือง เบื้องต้นดังนี้

1.การเคาะ เพื่อตรวจดูความกรวงภายในลำต้นของต้นไม้ เนื่องจากเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การเคาะเพื่อฟังเสียงจึงเป็นการประเมินเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด หากนึกภาพไม้ออกให้นึกถึงการเคาะฟังเสียงผลทุเรียน

ตรวจสุขภาพต้นไม้
ตรวจสุขภาพต้นไม้

2.การส่อง เมื่อเป็นไม้ยืนต้น ที่มีความสูงตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป การดูความสมบูรณ์ของยอด หรือสิ่งด้านบนนั้นจะยาก เพราะมีความสูงเกินความสูงของเรา ดังนั้นการส่องด้วยกล้องส่องทางไกลจึงเป็นวิธีที่รุกขกรเลือกใช้เพื่อดูความเสี่ยงด้านบน

3.การขุด ต้นไม้ในเมืองส่วนใหญ่เราจะคุ้นตามทางเท้า และเกาะกลางถนน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของหลายหน่วยงาน เช่น ทางหลวง โยธา เป็นต้น ดังนั้นอาจจะมีการถมดินใหม่จากการปรับปรุงทางเท้า ซึ่งอาจจะมีปริมาณดินที่ถมเพิ่มเข้ามามากเกินไป จึงจำเป็นต้องขุดหรือเขี่ยดูว่าถมจนมีผลต่อการเติบโตของต้นไม้หรือไม่ ที่เรียกว่า ถมดินสูงจนต้นไม้หายใจไม่ออก เป็นเทคนิคเล็กๆที่หลายคนมองข้ามและพลาดทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายนั่นเอง

ตรวจสุขภาพต้นไม้

4.การเสริม ข้อนี้เป็นข้อสุดท้ายหลังจากการประเมินทั้ง 3 ข้อที่ผ่านมานั้น รุกขกรต้องให้คะแนนแต่ละต้นว่ามีความเสี่ยงที่เท่าไหร่ จากนั้นนำมาเทียบกับต้นอื่นแล้วดูความเสี่ยงที่มากที่สุด จะเป็นต้นที่ควรดูแลก่อน เช่น ควรตัดแต่ง หรือค้ำยัน หรือบางต้นประเมินแล้วว่าไม่คุ้มค่าต่อการดูแลก็จะถูกลงความเห็นให้โค่นทิ้ง แล้วปลูกทดแทนต่อไป


เรื่อง : ATHITI

ภาพ : นายธนกฤต นวลอนันต์


บทความที่เกี่ยวข้อง

ต้นไม้ทำลายโครงสร้าง ปลูกให้ไกลบ้าน

ไม้บังสายตา เติมสีเขียว สร้างความเป็นส่วนตัว

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com