บ้านโมดูลาร์ในอ้อมกอดธรรมชาติ

บ้านโมดูลาร์ ที่สร้างจากโครงสร้างเหล็กคุณภาพจากโรงงานแล้วมาประกอบต่อบนพื้นที่ โดยผสมผสานไปกับอาคารปูนส่วนหนึ่ง ออกแบบให้โปร่งสบายสไตล์รีสอร์ต แวดล้อมด้วยธรรมชาติร่มรื่น

Design Directory : สถาปนิก Habita

บ้านโมดูลาร์
บ้านโมดูลาร์

เกือบทุกบ่ายวันศุกร์ที่หลายคนอาจกำลังเร่งรีบปิดภาระหน้าที่การงานให้เสร็จสิ้นก่อนจะถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ คุณอ้อม-พิสุทธิ์ กับคุณจุ๋ม-ดารณี เดชะไกศยะ ผู้เป็นภรรยา ก็มักออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมาผ่อนคลายอยู่กับธรรมชาติที่บ้านพักตากอากาศ ซึ่งเป็น บ้านโมดูลาร์ ภายในโครงการสีตวันแห่งนี้อยู่เสมอ

“เพราะผมเป็นคนไม่ชอบความวุ่นวาย ชอบอยู่กับธรรมชาติ แต่ธรรมชาติก็ต้องแวดล้อมไปด้วยความสะดวกสบาย เรียบง่ายและปลอดภัย รวมถึงต้องการอยู่ร่วมกันกับครอบครัวอย่างมีอิสระ เมื่อก่อนเราเคยเดินทางไปเขาใหญ่ในช่วงเทศกาล แล้วเจอรถติดมาก การจราจรหนาแน่นวุ่นวายเกินไป ไม่เหมือนโซนปากช่องที่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แถมแหล่งท่องเที่ยวก็สวยงามไม่แพ้ทางฝั่งเขาใหญ่เลย เราเลยเลือกบ้านพักตากอากาศของโครงการบ้านสีตวัน ที่ปากช่อง ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่ไกล จากกรุงเทพฯประมาณ 2 ชั่วโมง”

บ้านโมดูลาร์

บ้านโมดูลาร์ ประกอบร่าง สร้างเร็ว

เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติและแนวเขาเขียวขจี บ้านทุกหลังในโครงการบ้านสีตวันนี้จึงเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยเลือกใช้นวัตกรรมการก่อสร้างแบบโมดูลาร์จาก SCG HEIM ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยโครงสร้างเหล็กคุณภาพสูงเคลือบด้วย ZAM (การเคลือบเหล็กที่ใช้ส่วนผสมของสังกะสี อะลูมิเนียม และแมกนีเซียม) ทำให้ไม่เป็นสนิม มีความมั่นคงแข็งแรงและลงตัวในระดับมิลลิเมตรเพราะก่อสร้างจากโรงงาน แล้วจึงมานำประกอบต่อบนพื้นที่จริง จึงใช้เวลาสร้างไม่นาน โดยผสมผสานไปกับรูปแบบบ้านสไตล์รีสอร์ตที่ได้ คุณต่อ – พิสิษฐ สายัมพล สถาปนิกจาก Habita มาออกแบบให้ ด้วยแนวคิดเริ่มต้นว่า

“ตอนแรกผมออกแบบบ้านมาเป็นกลุ่มๆ เชื่อมต่อกันด้วยทางเดิน มีลักษณะคล้ายกับเรือนไทยที่มีเรือนแยกเป็นหลังๆ เพื่อให้ทุกหลังสามารถมองเห็นวิวธรรมชาติสวยๆ ของตรงนี้ได้เต็มที่ แล้วทำช่องหน้าต่างเปิดไว้ 3 ด้านเลย รวมถึงออกแบบ Moon Terrace หรือระเบียงชมจันทร์ขึ้นมาให้เป็นฟังก์ชันพิเศษสำหรับนั่งดูวิวภูเขาจากมุมสูงโดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนหลังคาของเรือนนั่งเล่นซึ่งเป็นหลังคาแบบ Flat แต่เมื่อโครงการต้องการนำบ้านระบบโมดูลาร์มาใช้ จึงต้องมีการปรับแบบในภายหลัง เพื่อให้สัดส่วนของสแปน โครงสร้าง และขนาดของห้องพอดีกับระบบของบ้านโมดูลาร์ซึ่งต้องลงตัวที่ขนาดทุกๆ 2.50 เมตร หรือ 1.25 เมตร เล็กกว่านี้ไม่ได้”

บ้านโมดูลาร์

คุณอ้อมเองก็ถูกใจในรูปแบบบ้านโมดูลาร์ที่เน้นใช้เทคโนโลยีทันสมัยแต่สามารถอยู่กลมกลืนไปกับบริบทธรรมชาติได้ดี “ในมุมมองของผม มองว่าข้อดีของบ้านน็อกดาวน์คืองานก่อสร้างรวดเร็ว เสร็จตามกำหนด ชิ้นส่วนบ้านกว่า 80% ถูกสร้างสำเร็จมาจากโรงงาน แล้วนำมาประกอบที่หน้างานโดยใช้ระบบ Modular คือนำ Module ที่ถูกประกอบหรือทำขึ้นมาเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ของบ้าน เช่น พื้น ผนังภายใน และผนังภายนอกที่ผลิต และตรวจสอบคุณภาพจากโรงงานมาประกอบอีกทีที่หน้างาน ระบบนี้มีโครงสร้างที่แข็งแรง รองรับแผ่นดินไหว ผสมผสานกับวัสดุและเทคโนโลยีจาก SCG มีระบบระบายอากาศที่ดี เย็นสบาย และมีระบบการดูแลรักษาที่ง่ายด้วย เพราะเราไม่ได้อยู่บ้านนี้ทุกวัน แต่เวลามาก็ต้องได้พักผ่อนไม่ต้องมาซ่อมแซมหรือดูแลอะไรมากมาย”

ห้องนั่งเล่น

บ้านระบบปิดผสมมุมมองที่เปิดกว้าง

แม้ว่าบ้านโมดูลาร์จะเน้นระบบปิดตั้งแต่รากฐานเพื่อทำให้บ้านปลอดความชื้นจากดินและช่วยป้องกันแมลงเข้าบ้าน อีกทั้งป้องกันฝุ่นและมลพิษ อยู่สบายด้วยระบบการติดตั้งฉนวนกันความร้อน ทั้งจากผนังและหลังคาบ้าน ทำให้บ้านเย็นสบายและประหยัดพลังงาน แล้วยังเสริมระบบ Air Ventilation เพื่อทำให้อากาศภายในบ้านถ่ายเท กรองอากาศดีเข้ามาสร้างภาวะน่าสบาย แต่เมื่อนำมาใช้เป็นบ้านพักผ่อนกลางธรรมชาติสวยๆ แบบนี้ คุณต่อจึงปรับให้ใช้ระบบโมดูลาร์แค่เฉพาะเรือนห้องนอนที่สามารถลดขนาดช่องหน้าต่างลงได้ แล้วผสมด้วยระบบการสร้างปกติไว้ที่เรือนนั่งเล่นซึ่งต้องการเปิดวิวรับธรรมชาติเต็มที่

มุมรับประทานอาหาร
บ้านโมดูลาร์

จากที่คิดว่าจะเปิดช่องหน้าต่างบริเวณผนังทั้ง 3 ด้านให้ทุกห้อง จึงไม่สามารถทำได้ด้วยติดปัญหาเรื่องการรับน้ำหนักของโครงสร้างบ้านโมดูลาร์ เลยให้ใช้เฉพาะเรือนนอน เพราะการมาใช้ชีวิตที่บ้านนี้ส่วนใหญ่ก็จะอยู่กันที่โซนห้องนั่งเล่นเป็นหลัก ผมเลยอยากให้พื้นที่นี้โปร่งเป็นพิเศษ มีอากาศถ่ายเทดี ไม่ต้องเปิดแอร์กันตลอดเวลา มีชายคาบ้านยื่นยาวตามทิศทางของแดดและฝน เพื่อเวลาฝนตกก็ยังแง้มหน้าต่างรับลมได้โดยไม่โดนฝนสาด แล้วเล็งมุมเปิดที่เห็นวิวสวยๆ ให้มองจากในบ้านได้สบายตา ส่วนบันไดขึ้นบ้านก็ไว้ข้างนอกเชื่อมต่อไปกับระเบียงชมจันทร์บนดาดฟ้าให้สามารถเดินรับลมและดูวิวรอบตัวได้สบาย”

ห้องนอน
ห้องนอน

เชื่อมต่อธรรมชาติสู่พื้นที่ความสุขภายใน

เมื่อนอกบ้านโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติแล้ว คุณอ้อมเองก็ตกแต่งภายในบ้านขนาด 296 ตารางเมตรนี้ด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างไม้และหิน ผสมผสานไปกับเฟอร์นิเจอร์โทนสีนุ่มนวลผ่อนคลายด้วยเช่นกัน

“ผมเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบเรียบง่ายแต่ทันสมัย ให้บ้านดูสะอาดตาและโปร่งสบาย โดยเฉพาะมุมโปรดของเราในห้องนั่งเล่น เพราะมีพื้นที่สำหรับนั่งเล่นและกินข้าวอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เป็นมุมที่เราใช้พักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ชอบที่เป็นห้องกระจกขนาดใหญ่ทำให้เรามองเห็นสวนรอบบ้าน และรับแสงธรรมชาติเต็มที่ รู้สึกเหมือนได้อยู่ท่ามกลางสวนโดยไม่ต้องออกไปนอกบ้านเลย ทุกครั้งที่มาบ้านนี้ก็เหมือนได้หนีความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน ได้ตื่นเช้ามาสัมผัสกับไอดิน น้ำค้าง อากาศที่สดชื่น ความสงบร่มรื่นของธรรมชาติ ได้แวะร้านอาหารโปรด หรือบางทีก็ได้ทำอาหารกับครอบครัวที่บ้าน มีปาร์ตี้เล็กๆ กับเพื่อนฝูง เป็นช่วงเวลาคุณภาพกับครอบครัว และได้ความทรงจำดีๆ ที่ทำให้เรามีความสุขกันด้วยครับ”

บ้านโมดูลาร์
บ้านโมดูลาร์
บ้านโมดูลาร์ ระเบียง

Designer’s Tips

ผมว่าบ้านระบบโมดูลาร์ช่วยให้เรารู้งบประมาณการสร้างได้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องดี และถ้าสามารถทำแบบ Customized Design ได้จะยิ่งดีขึ้นอีก เพราะแม้ว่าบ้านระบบโมดูลาร์จะสามารถปรับหรือเลือกรูปแบบบ้านได้จากการประกอบและจัดวางตัว Module แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการเปิดช่องหน้าต่างกว้างๆ และรูปทรงหน้าตาของบ้านที่อาจเหมือนๆ กัน ดังนั้นถ้าสามารถนำมาออกแบบแก้ไขข้อจำกัดตรงนี้ เพื่อทำให้บ้านสวยขึ้น อยู่สบายขึ้น และยังสามารถเลือกไปตั้งได้ในทุกพื้นที่ ก็น่าจะเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้นด้วย”

คุณพิสิษฐ สายัมพล สถาปนิกจาก Habita

เจ้าของ : คุณพิสุทธิ์ – คุณดารณี เดชะไกศยะ

สถาปนิก : บริษัทฮาบิต้า จำกัด โดยคุณพิสิษฐ สายัมพล

บ้านโมดูลาร์ โครงการบ้านสีตวัน

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

สไตล์ : Suntreeya

ที่ตั้ง : จังหวัดนครราชสีมา


8 แบบบ้านน็อกดาวน์ – แบบบ้านสำเร็จรูป สร้างง่าย สร้างเร็ว สวยงาม อยู่สบาย

ซื้อ บ้านน็อคดาวน์ – บ้านสำเร็จรูปต้องรู้อะไร