จัดบ้าน ให้หายรก แก้ปัญหามุมสุดรกให้ลงตัว
บ้านรกเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกบ้าน แต่ทำไมความพยายามที่จะ จัดบ้าน ที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งใช้เวลาไม่นานก็กลับมารกได้อย่างรวดเร็ว
การ จัดบ้าน ไม่ใช่การพยายามเก็บข้าวของให้ได้มากที่สุด แต่ควรจะเก็บให้หยิบใช้ได้สะดวก จะใช้เมื่อไรก็หาเจอ ระยะต่างๆ และตำแหน่งที่เก็บนั้น มีผลต่อความรกของบ้านแบบไม่ต้องสงสัย แล้วเราอยากจะเป็นนักเก็บแบบไหน เก็บแบบพร้อมให้หยิบใช้ หรือจำได้ว่าเก็บไว้แต่หาไม่เคยเจอ
คนทั่วไปจะมีระยะเอื้อมอยู่ที่ประมาณ 180-220 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความสูงของคนนั้นๆ ถ้าเก็บของอยู่ในชั้นที่สูงมากจนเอื้อมไม่ถึง มีแนวโน้มว่าเราจะไม่ค่อยได้หยิบของที่อยู่ชั้นนั้นมาใช้ และถูกปล่อยทิ้งไว้จนลืม ของที่เหมาะสมจะอยู่บนชั้นสูงๆควรเป็นของที่มีชิ้นใหญ่ น้ำหนักเบา และนานๆใช้ที เช่น กระเป๋าเดินทาง เสื้อผ้าหน้าหนาว ผ้านวม อุปกรณ์ตั้งแคมป์
ของที่อยู่ในชั้นที่สูงเกินไป หรือต่ำกว่าระดับสายตา ทำให้เรามองไม่เห็นและมีแนวโน้มว่าจะไม่ค่อยได้หยิบข้าวของเหล่านั้นออกมาใช้ การจัดตำแหน่งการเก็บจึงควรจัดให้สัมพันธ์กับการใช้งาน โดยวางของที่ใช้เป็นประจำให้อยู่ในระยะการมองเห็น หรือเก็บใส่กล่อง ลัง ติดป้ายชื่อว่าของที่อยู่ด้านในคืออะไร ก็ช่วยได้เช่นกัน
เปลี่ยนชั้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับเอวลงไปให้เป็นแบบลิ้นชัก เพื่อความสะดวกเวลาค้นหา เมื่อดึงลิ้นชักออกมาจะมองเห็นข้าวของได้ทั้งหมดและหยิบได้สะดวกกว่า
ชั้นเก็บของที่อยู่สูงๆ หรือบนหลังตู้ เป็นมุมที่มีประโยชน์ในการเก็บข้าวของชิ้นใหญ่ แต่ก็สร้างความยุ่งยากทุกครั้งในการหยิบใช้ และอาจก่อให้เกิดอันตรายเมื่อต้องยกของพร้อมกับการปีนขึ้น-ลงบันได ของที่เก็บในบริเวณนี้จึงควรอยู่ในภาชนะที่ยกย้ายได้สะดวก และปิดมิดชิดไม่ร่วงหล่นใส่เมื่อต้องยกขึ้นลง
ชั้นเก็บของที่อยู่ต่ำกว่าเอวลงไป ทำให้ต้องย่อตัวลงเพื่อค้นหาข้าวของ ยิ่งถ้าเก็บของไม่เป็นระเบียบจนต้องรื้อค้นออกมา มีแนวโน้มว่าเราจะไม่อยากเก็บ หรือหาของที่บริเวณนี้มากนัก
ใช้ตะกร้า หรือกล่อง ขนาดพอดีกับความลึกของชั้น ทำหน้าที่เป็นเหมือนลิ้นชัก ที่จะช่วยให้เก็บของได้เต็มพื้นที่แต่ยังดึงออกมาหยิบใช้ได้สะดวก
ตู้ขนาดใหญ่เก็บของได้เยอะ แต่ถ้าลึกเกินไป หรือแคบเกินไป ทำให้เราเอื้อมไม่ถึง หยิบออกมาไม่สะดวก ก็มีแนวโน้มว่าของเหล่านั้นจะถูกทิ้งอยู่ในตู้และไม่ถูกนำออกมาใช้อีกเลย
จัดมุมรกยอดฮิตให้สะดวกใช้ยิ่งขึ้น
เกือบทุกบ้านจะมีมุมรกยอดฮิตเป็นประจำที่ยิ่งวันยิ่งรกและไม่มีทีท่าว่าข้าวของจะลดน้อยลงเลย หนึ่งในสาเหตุใหญ่ อาจเป็นเพราะตำแหน่งการจัดเก็บ ไม่เอื้อต่อการหา เก็บ หรือหยิบใช้ ทำให้การรื้อค้นจนรก ตุนของซ้ำเพราะจำไม่ได้ว่าซื้อมาหรือยัง ของเน่าเสียหมดอายุเพราะไม่มีระเบียบในการจัดเก็บ มาลองจัดการแต่ละมุมกันใหม่ ตั้งใจเคลียร์พื้นที่กันสักครั้ง จะช่วยให้การค้นหา หยิบ เก็บ จัดสต๊อกทำได้สะดวกและลดคำถามสุดคลาสสิกอย่าง “อยู่ไหนนะ” ลงไปได้
เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นสำคัญประจำบ้านที่ช่วยยืดอายุอาหาร แต่อย่าลืมว่า “อาหารที่อยู่ในตู้เย็นไม่ได้เป็นอมตะ” เหมือนที่แม่มักบอกเรา การจัดเก็บอาหารในตู้เย็นให้เป็นระเบียบจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะช่วยให้เข้าถึงอาหารได้ง่าย ลดปัญหาข้าวของปะปนกัน หยิบได้สะดวก ก่อนจะลืมทิ้งไว้ในตู้เย็นอีกนานแสนนาน
Refrigerator (ช่องแช่เย็น)
- ชั้นบนสุด เย็นน้อย ควรเก็บอาหารที่ใช้บ่อย เข้ามาและออกไปในเวลาไม่นาน อาหารที่ผ่านการแปรรูปมาแล้ว และอยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด ไม่หก ไหลเยิ้ม หรือล้นออกมา เช่น แยม ซอส นมข้น เครื่องปรุง ของดอง
- ชั้นกลาง เย็นปกติ เป็นชั้นที่หยิบใช้สะดวก มองเห็นได้ง่าย ควรเป็นของที่ต้องรีบกิน เหมาะสำหรับการเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้ว อาหารพร้อมรับประทาน กับข้าว แกงถุง อาหารที่กินเหลือจากเมื่อวาน
- ชั้นล่าง เย็นที่สุด ควรเก็บอาหารสด หรือวัตถุดิบที่ต้องการความเย็นมาก เช่น นม เนย ชีส โยเกิร์ต เค้ก เครื่องดื่ม หรือเก็บวัตถุดิบสดในกล่องมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากอาหารที่พร้อมรับประทาน
- ลิ้นชัก อุณหภูมิค่อนข้างคงที่ ควรเก็บผักและผลไม้ไว้ในลิ้นชักเพื่อช่วยรักษาความชื้น ไม่ควรเก็บผักและผลไม้ไว้ในลิ้นชักเดียวกัน เพราะจะทำให้ผักเน่าเสียเร็วขึ้น
- ฝาตู้เย็น เย็นน้อยที่สุด ควรเก็บอาหารที่เน่าเสียได้ยาก เช่น เครื่องดื่ม เครื่องปรุง เนย น้ำสลัด อาหารที่หยิบใช้เป็นประจำ
Freezer (ช่องแช่แข็ง)
- ชั้นบน เก็บอาหารพร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง ไอติม น้ำแข็ง
- ชั้นล่าง เก็บเนื้อสัตว์ วัตถุดิบสดที่ยังไม่ได้ปรุงสุกในกล่องปิดมิดชิด ป้องกันการปนเปื้อน
Tips
- ควรทำความสะอาดตู้เย็นเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดคราบอาหาร เชื้อโรคต่างๆ ช่วยลดกลิ่น และยืดอายุการใช้งาน
- ใช้ถาดหมุนในการเก็บขวดซอสในตู้เย็น ช่วยให้หยิบได้สะดวกขึ้น
- ใช้กล่องทรงยาวทำหน้าที่เป็นเหมือนลิ้นชักในการแยกประเภทอาหาร
อุปกรณ์ทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาด ข้าวของที่จำเป็นในบ้าน หรืออุปกรณ์ซ่อมแซมเล็กๆน้อยๆ ถ้าเก็บไม่เป็นที่เป็นทาง นอกจากจะทำให้บ้านรกแล้ว ยิ่งในเวลาเร่งรีบเมื่อต้องการใช้ก็ยิ่งหาไม่เจอ
ช่องเก็บของแนวตั้ง
- เก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดด้ามยาว เช่น เครื่องดูดฝุ่น ไม้กวาด ไม้ถูพื้น บันไดพับ แปรงต่างๆเก็บแบบแขวนเพื่อไม่ให้เสียทรง
- ช่องเก็บของด้านบนสำหรับตู้สูง อยู่ในตำแหน่งที่เอื้อมถึงยาก ควรเป็นของชิ้นใหญ่ที่น้ำหนักเบา นานๆใช้ที เช่น ถังน้ำ อุปกรณ์ อะไหล่ คู่มือต่างๆ
ชั้นเก็บของ
- เก็บของที่น้ำหนักเบา หยิบใช้เป็นประจำ เช่น ทิชชู่ม้วน ทิชชู่กล่อง
- เก็บขวดน้ำยาต่างๆ ในกล่องทรงยาว แยกตามหมวดหมู่ เช่น น้ำยาสำหรับห้องน้ำ น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน
- เก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น ผ้าขี้ริ้ว ฟองน้ำ แปรงต่างๆ ถุงขยะ ใช้กล่องที่มีหูจับสะดวกในการดึง หรือยกออกมา
- เก็บอุปกรณ์ต่างๆในถาดใหญ่ เช่น หัวดูดฝุ่นแบบต่างๆ อุปกรณ์ช่างที่ใช้บ่อยเช่น คีม ไขควง เทป ตลับเมตร
- เก็บอุปกรณ์ชิ้นเล็กที่มีน้ำหนัก เช่น เตารีดแยกหม้อต้ม ถังน้ำยาขนาดใหญ่
Tips
- ติดป้ายหน้ากล่องว่าเก็บอะไร จะได้ไม่ต้องยกมาเปิดดูทีละกล่องให้เสียเวลา
เตรียมปลั๊กเผื่อล่วงหน้า
ลดปัญหาสายระโยงระยางด้วยการเพิ่มตำแหน่งปลั๊กเอาไว้ในตู้เก็บอุปกรณ์ตั้งแต่แรก
จดไว้ไม่มีลืม
ติดไวท์บอร์ดอันเล็กๆ ที่บานตู้ด้านใน เพื่อจดรายการสิ่งของที่ต้องซื้อเพิ่ม ต้องส่งซ่อม ช่วยเตือนความจำได้เป็นอย่างดี
ตู้แบนๆเก็บอุปกรณ์ไว้ใกล้มือ
สำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ลองแบ่งพื้นที่เล็กๆ เช่น ข้างตู้ ช่องว่างระหว่างเสา ทำตู้เก็บอุปกรณ์ที่ใช้เป็นประจำ เช่น ไม้กวาด น้ำยาทำความสะอาด หรือเก้าอี้พับ จะช่วยให้หยิบใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว และใช้ทุกพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า
มุมเก็บของเบ็ดเตล็ดที่จะช่วยให้บ้านหายรกได้เป็นอย่างดี อาจะเป็นชั้นโล่ง หรือตู้ปิดมิดชิดก็ย่อมได้ การเก็บที่ดีไม่ใช่เห็นตรงไหนว่างก็ยัดเข้าไปเพราะสุดท้ายเราจะหาอะไรไม่เจออีกเลย
ชั้นบนสุด – เก็บของชิ้นใหญ่ น้ำหนักเบา เช่น กระเป๋าเดินทาง กล่องสินค้าเก็บไว้เผื่อเคลม ผ้านวม หมอน ในถุงพลาสติกปิดมิดชิดป้องกันฝุ่น
ชั้นบน – เก็บของชิ้นเล็กน้ำหนักเบา และใช้บ่อย ควรเก็บในกล่องที่มีฝาปิดมิดชิด แยกประเภทกันอย่างชัดเจน เช่น ของเล่น เครื่องนอน อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ตั้งแคมป์
ชั้นล่าง – เก็บของชิ้นเล็กที่มีน้ำหนัก และใช้บ่อย สามารถใช้ลิ้นชักขนาดเล็กมาวางไว้ในช่องเพื่อความสะดวกในการหยิบใช้ และไม่ลืมติดป้ายชื่อไว้หน้ากล่องด้วย เช่น อะไหล่ชิ้นส่วนขนาดเล็ก หลอดไฟ ไขควง อุปกรณ์ซ่อมแซม อุปกรณ์ช่าง ของแต่งบ้าน
ชั้นล่างสุด – เก็บของชิ้นใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก ควรเก็บใส่ลังขนาดใหญ่ที่แข็งแรง สะดวกต่อการดึงลากออกมา เช่น อุปกรณ์ทำสวน สายยาง ปั๊มน้ำ อุปกรณ์ช่าง เครื่องเลื่อย รองเท้าบู๊ต ทรายแมว อาหารสุนัข
ติดไฟแอลอีดีในชั้น
เวลาหาหยิบข้าวของในชั้นในตู้ หรือในห้องเก็บของ ติดไฟแอลอีดีเพิ่มสักดวงเพื่อความสะดวกในการค้นหาข้าวของได้ง่ายยิ่งขึ้น
เรื่อง : jOhe
ภาพประกอบ : Pstaryu
กดติดตามสาระดีๆได้ที่ บ้านและสวน
8 ของใช้ที่ไม่ควรเก็บไว้ในห้องน้ำ ถ้าอยากใช้งานได้ยาวนานคุ้มค่า