“ต้นไม้ยิ่งตัด กิ่งยิ่งงอก” เป็น วิธีทำให้ต้นไม้แตกกิ่ง จริง! ในหลายกรณีสำหรับต้นไม้บางชนิด แต่ก็ไม่ได้เป็นความจริงเสมอไปสำหรับต้นไม้ทุกต้น
วิธีทำให้ต้นไม้แตกกิ่ง โดยการตัดแต่งกิ่ง (pruning) ในหลายกรณีสามารถกระตุ้นให้ต้นไม้ผลิตกิ่งใหม่ หรือเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นได้ โดยเฉพาะในต้นไม้ที่มีความสามารถในการแตกหน่อหรือกิ่งใหม่ เช่น ไม้พุ่ม แต่การตัดแต่งจะต้องทำอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ต้นไม้เสียหายหรืออ่อนแอลง เช่น ถ้าหากตัดมากจนเกินไปหรือเกิน 50% ของต้น การตัดที่กิ่งหลักหรือโคนต้นโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้ที่ตัดแล้วกิ่งไม่งอกหรือเติบโตช้าลง อย่าง ต้นไม้ที่มีแก่นไม้แข็ง เช่น ต้นสัก ต้นยางพารา เพราะ มักเป็นต้นไม้ที่ไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ดีจากการตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งบังคับขนาด และทรงพุ่มจะอาศัยหลักธรรมชาติของการเจริญเติบโต คือ ถ้าตัดกิ่งด้านข้าง อาหารสะสมที่อยู่ในต้นจะส่งไปเลี้ยงส่วนยอด ทำให้ต้นเจริญเติบโตทางความสูง ในทางกลับกันถ้าตัดยอดออก อาหารสะสมจะส่งไปเลี้ยงที่กิ่งด้านข้าง ทำให้ทรงพุ่มแน่นขึ้น ซึ่งการตัดแต่งต้นไม้สามารถแบ่งออกเป็นหลายระดับ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ชนิดพรรณ และความเข้มข้นของการตัดแต่ง โดยทั่วไปมี 3 ระดับหลัก ดังนี้
- ขั้นตอนการตัดแต่งรั้วต้นไม้ ให้เป็นทรงแน่นสวยและสูงสม่ำเสมอ
- เทคนิคดูแลพรรณไม้ในสวนทรอปิคัล ให้บรรยากาศเป็นธรรมชาติ
1. การตัดแต่งเบา (Light Pruning)
เป็นการตัดแต่งกิ่งที่ไม่ต้องการการตัดแต่งมากนัก เนื่องจากเป็นกิ่งที่ไม่สวยงามหรือมีสภาพไม่สมบูรณ์ เช่น ช่อดอกเพิ่งโรย เหี่ยวเฉา กิ่งที่สูง หรือยาวกว่ากิ่งอื่น ๆ การตัดกิ่งที่ตายแล้ว หรือกิ่งที่เสียหายจากแมลงหรือลม ซึ่งเป็นการตัดเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ต้นไม้มีรูปร่างที่สมดุลและดูสวยงาม เหมาะสำหรับการตัดแต่งไม้ดอก ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น และไม้เลื้อย สามารถทำได้ตลอดทั้งปี โดยจุดที่ควรตัด คือ บริเวณใกล้กับคอกิ่ง หรือถ้าต้นไม้มีส่วนของวงแหวนนูนให้ตัดเหนือบริเวณนั้นขึ้นไป โดยการใช้กรรไกรหรือเลื่อยตัดในครั้งเดียว เพราะเป็นจุดสะสมอาหารเมื่อตัดในบริเวณนั้นต้นไม้จะเกิดการแตกกิ่งใหม่
2. การตัดแต่งกลาง (Moderate Pruning)
เป็นการตัดแต่งเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของต้นไม้ หรือเพื่อรักษารูปทรงที่ต้องการให้มีขนาดใกล้เคียงของเดิม โดยให้กิ่งที่ไม่ถูกตัดเจริญเติบโตทดแทนกิ่งที่ถูกตัดออกไป เช่น การตัดกิ่งที่มีการเจริญเติบโตเกินไป หรือกิ่งที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงไม้ผลหลังการเก็บผล ซึ่งการตัดแต่งในระดับนี้จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตใหม่ และเพิ่มการออกดอกหรือออกผลให้หมุนเวียนตลอดปีหรือเกือบตลอดปี จึงเหมาะสำหรับการตัดแต่งประจำปี
3. การตัดแต่งหนัก (Hard / Heavy Pruning)
โดยทั่วไปเมื่อดอกชุดแรกส่วนใหญ่โรยแล้ว หรือกรณีต้นอายุมาก หากปล่อยทิ้งไว้ต้นไม้จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับมีขนาดดอกเล็กลงเรื่อย ๆ เพื่อคุมทั้งความสูงของทรงพุ่มและขนาดช่อดอกให้มีขนาดใหญ่อีกครั้ง จึงมักจะใช้วิธีการตัดแต่งแบบหนักในระดับที่เข้มข้นมาก โดยการตัดแต่งกิ่งออกทั้งต้น หรือมากกว่า 30% ของกิ่งหรือใบ ให้เหลือเพียงกิ่งประธานขนาดใหญ่เท่านั้น จากนั้นหลังตัดแต่งประมาณ 20 – 40 วัน ถ้ามียอดอ่อนแตกออกมามาก ให้เด็ดยอดอ่อนที่มีขนาดเล็กที่สุดออก โดยเหลือยอดอ่อนให้เติบโตต่อไปได้เพียง 1 ถึง 2 ยอดต่อตอเดิมหนึ่งตอ เพื่อลดการแก่งแย่งน้ำ อาหาร และแสงแดด ซึ่งจะส่งผลให้ได้ช่อดอกที่มีขนาดใหญ่สะดุดตา นอกจากนี้ การตัดแต่งหนักยังช่วยลดขนาดของต้นไม้ หรือช่วยฟื้นฟูต้นไม้ที่เสียหายหนัก เพื่อให้ต้นไม้สร้างการเจริญเติบโตใหม่อย่างเต็มที่ได้อีกด้วย
ภาพประกอบ เอกรินทร์ พันธุนิล
ติดตาม บ้านและสวน