บ้านคอนเทนเนอร์กลางป่า ขนาดกะทัดรัดที่ออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้อยู่อาศัยที่ใช้ชีวิตอยู่ภายนอกบ้าน มากกว่าในบ้าน ตัวสถาปัตยกรรมจึงทำหน้าที่เสมือนกำบังหลบฝนเพียงเท่านั้น
Design Directory : Tung Jai Ork Babb (TJOB)
บ้านคอนเทนเนอร์กลางป่า ต้นยางนาหลังนี้ มีนิยามในการออกแบบที่“กลมกลืนไปกับธรรมชาติ” เป็นบ้านคอนเทนเนอร์ขนาดกะทัดรัดที่เรียกว่า “C2 Shelter” ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายมาจาก บ้านคอนเทนเนอร์หลังเดิม ที่เคยลงคอลัมน์ “บ้านสวย” ในนิตยสารบ้านและสวน ฉบับพฤศจิกายน 2565 คุณโหน่ง-ธีร ธนะมั่น สถาปนิก ได้ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันไปเป็นบ้านพักให้เช่าหรือ Airbnb จึงเกิดไอเดียสร้างเฟสสองในขนาดพื้นที่ใช้สอย 90 ตารางเมตร บริเวณใกล้เคียงกัน สำหรับให้ครอบครัวมาพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นกลางป่าในจังหวัดนครนายก พร้อมดูแลบ้านพัก Airbnb ไปพร้อมๆ กัน โดยนำประสบการณ์ที่ตกตะกอนจากการทดลองออกแบบคอนเทนเนอร์ครั้งก่อนมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตของครอบครัวยิ่งขึ้น
ออกแบบคอนเทนเนอร์ให้ตอบโจทย์การใช้งานใหม่
“บ้านหลังนี้ออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้อยู่อาศัยที่ใช้ชีวิตอยู่ภายนอกบ้านมากกว่าในบ้าน ตัวสถาปัตยกรรมจึงทำหน้าที่เสมือนกำบังหลบฝนเพียงเท่านั้น หรือนิยามได้ว่าเป็น Shelter”
ข้อดีของการสร้างบ้านด้วยคอนเทนเนอร์คือสามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและไม่ซับซ้อนมากนัก จึงค่อนข้าง ตอบโจทย์การใช้งานที่ต้องการเน้นความเรียบง่าย ในขนาดพื้นที่กะทัดรัดเพียงพอสำหรับครอบครัวมาพักผ่อนในช่วงวันหยุด แต่มีข้อควรคำนึงถึงคือการสะสมความร้อน สถาปนิกจึงออกแบบป้องกันความร้อนให้ได้มากที่สุด ด้วยการวางผังที่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ คำนึงถึงทิศทางของลมและแสงแดดเพื่อให้อยู่อาศัยได้อย่างสบาย
บ้านคอนเทนเนอร์กลางป่า หลังนี้ประกอบขึ้นจากคอนเทนเนอร์ทั้งหมดสามตู้ แต่ละตู้รองรับการใช้งานแตกต่างกัน ได้แก่ ห้องนอน 2 ห้อง และพื้นที่ส่วนกลางสำหรับรับประทานอาหารอีกห้องหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างห้องนอนทั้งสอง บ้านหลังนี้ไม่มีพื้นที่นั่งเล่น เนื่องจากใช้ชีวิตนอกบ้านกันเป็นหลัก พื้นที่รับประทานอาหารจึงกลายเป็นส่วนกลางของบ้าน และขนาบข้างด้วยเฉลียง เพื่อรองรับการนั่งเล่นนอกบ้านของคนในครอบครัว
“การจัดวางแบบนี้ช่วยให้บ้านใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด โดยการเปิดเป็นพื้นที่เฉลียงทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งสำหรับนั่งเล่นและอีกฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่หลังบ้าน”
สถาปนิกจึงออกแบบภาษาทางสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องด้วยการใช้หลังคาทรงจั่วลาดยาวไปปกคลุมพื้นที่เฉลียง นอกจากจะทำให้หลบแดดหลบฝนได้ประมาณหนึ่งแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยกึ่งภายนอกรอบบ้าน ตัวบ้านจึงแลดูโปร่ง ถึงแม้จะประกอบขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ก็ตาม
บ้านสำเร็จรูปที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้สำเร็จ
ตัวบ้านอยู่ท่ามกลางป่าของต้นยางนา สถาปนิกจึงวางผังบ้านโดยหลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ หรือเลือกนำมาดีไซน์ให้เข้ากับตัวบ้าน ข้อดีคือช่วยป้องกันความร้อนเพราะได้รับร่มเงาจากต้นไม้
“เราตั้งใจไม่ตัดต้นไม้ บริเวณเฉลียงจึงออกแบบให้คงต้นไม้เดิมไว้ เกิดเป็นพื้นที่สีเขียวในบริเวณบ้าน เป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างประนีประนอม”
ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ส่วนรับประทานอาหารขนาบข้างด้วยเฉลียง จึงกลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายนอกกับภายในบ้าน สถาปนิกจึงออกแบบช่องเปิดให้เป็นประตูบานเลื่อนทั้งสองฝั่ง ลมจึงไหลเวียนเข้ามายังพื้นที่ภายในบ้านได้ดี บรรยากาศบริเวณเฉลียงจึงร่มรื่นด้วยร่มเงาของต้นไม้ และลมที่พัดผ่านตลอดวัน แม้กระทั่งในห้องนอนทั้งสองห้อง สถาปนิกก็ออกแบบโดยคำนึงถึงภาวะน่าสบาย ผนังตู้คอนเทนเนอร์ในฝั่งด้านสั้นจึงเจาะเป็นช่องเปิดรับแสงธรรมชาติ และเปิดมุมมองไปยังพื้นที่สีเขียวภายนอก
“ตำแหน่งช่องเปิดประตูหน้าต่างของตู้คอนเทนเนอร์ออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางลม และสั่งเจาะช่องเปิดมาจากโรงงานก่อนนำมาประกอบ เพื่อให้การก่อสร้างหน้างานสะดวกยิ่งขึ้น”
นอกจากร่มเงาของต้นไม้และลมเย็นสบายที่โอมล้อมบ้านหลังนี้ไว้แล้ว แสงยังเป็นอีกลูกเล่นหนึ่งที่สถาปนิกนำมาใช้ในการออกแบบ บ้านจึงดูสว่างเพราะแสงธรรมชาติทั่วถึง แม้จะมีหลังคาปกคลุมตัวบ้านเอาไว้
“หลังคาออกแบบโดยใช้ไฟเบอร์กลาสโปร่งแสงและโปร่งใสสลับกัน เพื่อสร้างลูกเล่นให้แสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามายังพื้นที่ภายในบ้านในระดับความสว่างที่แตกต่างกัน”
ข้อดีของการใช้วัสดุโปร่งคือสร้างความสวยงามของแสงเงาในยามค่ำคืน ด้วยเงาตกกระทบจากต้นไม้มายังตัวบ้าน เพียงแค่เปิดไฟบริเวณเฉลียง ทั้งบ้านก็กลับกลายเป็นกล่องไฟที่ส่องสว่างท่ามกลางป่าเขา แลดูสวยงามด้วย ลวดลายของเงาแสดงให้เห็นว่าธรรมชาติสะท้อนอยู่ในบ้านหลังนี้ตั้งแต่กลางวันจรดกลางคืน
ความสวยงามอันเรียบง่ายผ่านการเล่าเรื่องด้วยวัสดุ
การออกแบบหลังคาสะท้อนตัวตนของบ้านหลังนี้ได้อย่างดี สถาปนิกเล่าว่าเลือกใช้กระเบื้องลอนเล็กคล้ายกับหลังคาสังกะสีแทนกระเบื้องลอนคู่แบบใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างกลิ่นอายของบ้านในสมัยเก่า สลับไปกับแผ่นไฟเบอร์กลาสโปร่งแสงและโปร่งใสดังกล่าว ความโปร่งของวัสดุนี้เองคือปัจจัยสำคัญที่นำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในบ้าน
การมีหลังคาลาดยาวปกคลุมตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยทำให้บ้านเป็นภาพรวมเดียวกันมากขึ้น สัดส่วนของหลังคา และองศาที่ลาดลงมานั้นครอบคลุมถึงบริเวณเฉลียง ด้วยความกว้างของเฉลียงที่ไม่เท่ากัน ระดับความสูงของจั่วทั้งสองฝั่งจึงต่างกันไปตามความกว้าง ทำให้องค์ประกอบภาพรวมของบ้านดูน่าสนใจยิ่งขึ้นด้วยเส้นสายที่ชัดเจน
นอกจากหลังคาจะส่งเสริมให้บ้านดูเป็นภาพรวมเดียวกันแล้ว การคุมโทนสีเทาอ่อนของวัสดุทั้งคอนเทนเนอร์ และโครงสร้างเหล็ก ยังทำให้บ้านไม่แปลกแยกจากบริบทภายนอกมากจนเกินไป เปรียบเสมือนแบ็กกราวนด์ที่พร้อมให้ธรรมชาติเข้าไปแต่งแต้มสีสันลงบนตัวบ้าน
“ตู้คอนเทนเนอร์พ่นสีเทาทับภายนอก และใช้โครงสร้างเหล็กกัลวาไนซ์ไม่ทำสีมารับหลังคา เพราะอยากให้ภาพรวมของบ้านดูสวยงามแบบเรียบง่ายที่สุด”
ด้วยคอนเซ็ปต์ของบ้านคือต้องเรียบง่ายทั้งการก่อสร้างและวัสดุ ภายในตู้คอนเทนเนอร์จึงเพียงแต่ทาสีขาวทับ ไม่ได้กรุผนังเบาเพิ่มเติม เน้นโชว์ร่องรอยของลอนผนังเมทัลชีตที่สถาปนิกตั้งใจอยากเก็บไว้ ช่วยลดเวลาและราคาในการก่อสร้างลง ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ภายในห้องต่างๆจึงปูวัสดุพื้นเพียงเท่านั้นโดยใช้ไม้อัดโอเอสบี ลวดลายของไม้ที่ประสานลดทอนความดิบแข็งของคอนเทนเนอร์ลงได้อย่างดี
เสน่ห์ของ บ้านคอนเทนเนอร์กลางป่า หลังนี้ คือการใช้วัสดุน้อยอย่างมาบอกเล่าตัวตนที่เรียบง่ายของบ้าน ทำให้บรรยากาศภาพรวมดูเป็นโทนเดียวกัน และนอบน้อมกับบริบทโดยรอบไปโดยปริยาย ทั้งยังนำธรรมชาติที่มีอยู่เดิมมาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในบ้านได้อย่างกลมกลืน
เจ้าของ : รองศาสตราจารย์ นายแพทย์บดี – คุณอิญชญา ธนะมั่น
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : Tung Jai Ork Baab (TJOB) โดยคุณธีร ธนะมั่น
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส