บ้านอิฐขนาดกะทัดรัด ที่เด่นด้วย ช่องแสง ช่องลม และช่องหายใจ
บ้านอิฐขนาดกะทัดรัด ที่โดดเด่นด้วยผนังที่สร้างขึ้นจากอิฐทับซ้อนกันจนเกิดเป็นช่องในแพตเทิร์นอิสระ เพื่อให้แสงและลมธรรมชาติผ่านได้ นำมาสู่สภาวะน่าสบายให้แก่บ้านในเขตร้อนชื้น
Design Directory : สถาปนิก: Tropical Space
บ้านอิฐขนาดกะทัดรัด หลังนี้มีชื่อว่า “บ้านจอมปลวก” (The Termitary House) ตั้งอยู่ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการรีโนเวตบ้านใหม่ของครอบครัวที่ไม่ได้มีงบประมาณมากนัก สถาปนิกจาก Tropical Space จึงนำแรงบันดาลใจที่ได้จาก “รังปลวก” ซึ่งอาศัยเพียงแค่ดินกับน้ำลายเพื่อสร้างรัง แต่สามารถอยู่กับสภาพอากาศร้อนชื้นได้อย่างทนทานมาเป็นแนวทางการออกแบบผนังซึ่งสร้างขึ้นจากอิฐทับซ้อนกันจนเกิดเป็นช่องในแพตเทิร์นอิสระ เพื่อให้แสงและลมธรรมชาติผ่านได้ นำมาสู่สภาวะน่าสบายให้แก่การอยู่อาศัยภายในบ้านในเขตร้อนชื้นภายใต้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 140 ตารางเมตร
อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเพราะมีการนำมาใช้ในงานก่อสร้างนับหลายพันปีก่อนคริสตกาลและยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความที่ทำขึ้นจากดินจึงมีความเชื่อมโยงถึงธรรมชาติได้มากที่สุด ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือสิ่งก่อสร้างที่ทำขึ้นจากอิฐมักบ่งบอกถึงความเป็นพื้นถิ่นซึ่งแฝงด้วยวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตซ่อนไว้อยู่ภายใต้สถาปัตยกรรมเหล่านั้นเสมอ สถาปนิกได้จัดวางแพตเทิร์นของผนังอิฐให้ทึบในด้านที่โดนแสงแดดและเปิดช่องโปร่งตามทิศทางของลมและฝนที่เปลี่ยนแปลงตลอดปี ฟาซาดของอาคารจึงโดดเด่นด้วยอิฐมอญที่ก่อเป็นกำแพงแบบทึบสลับกับเว้นช่องคล้ายช่องลม ทำให้ภายใน บ้านอิฐขนาดกะทัดรัด หลังนี้ ได้รับแสงสว่างทุกมุมและเกิดการหมุนเวียนของลมที่ดี แต่บางจังหวะของความโปร่งในบ้านก็ซ้อนไว้ด้วยกระจกใสโปร่งแสงอีกชั้น เพื่อช่วยป้องกันฝุ่นในฤดูร้อนและป้องกันฝนในช่วงมรสุม โดยยังคงมุมมองที่เป็นส่วนตัวภายในไว้
นอกจากนี้ยังจัดวางฟังก์ชันในส่วนของบันได ห้องเก็บของ และห้องน้ำไว้ทางทิศตะวันตกและตะวันออกเพื่อใช้เป็นตัวกั้นแสงแดดและความร้อนให้บ้านอีกชั้นหนึ่ง โดยมีสเปซตรงกลางเป็นโถงโล่งภายใต้หลังคากรุกระจกใสเชื่อมต่อระหว่างมุมนั่งเล่น แพนทรี่ และมุมรับประทานอาหาร ทั้งเป็นจุดแยกเพื่อออกไปสู่ห้องน้ำและห้องนอนกับห้องหนังสือเล็กๆ บนชั้นลอย ด้วยสเปซที่ไม่ได้กั้นผนังแยกทำให้คนในบ้านสามารถมองเห็นและพูดคุยกันผ่านช่องผนัง ช่วยสร้างความรู้สึกใกล้ชิดอบอุ่นใจได้แม้ในวันที่ต้องเร่งรีบ
อิฐของบ้านหลังนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงช่องเปิดรับแสงธรรมชาติ ช่องลมหายใจของบ้าน ตัวกักเก็บความชื้นไว้ภายใน หรือผนังที่กั้นความเป็นส่วนตัว แต่ยังหมายความรวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่นที่ราคาไม่แพงมาสร้างบ้านที่อยู่สบาย แถมยังโดดเด่นในเรื่องแสงเงาที่ตกกระทบทั้งช่วงกลางวันและยามค่ำคืนจนกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้บ้านมีความงามในแบบเฉพาะตัว
สถาปนิก: Tropical Space by Tran Thi Ngu Ngon and Nguyen Hai Long
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : Oki Hiroyuki