โล่รางวัลบ้านและสวนAwards ประจำปี 2567 - บ้านและสวน

โล่รางวัลบ้านและสวน Awards 2567

โล่รางวัลบ้านและสวนAwards โดย Jird Design Gallery สำหรับรางวัล 10 บ้านน่าอยู่ 10 สวนสวย ประจำปี 2567 ออกแบบในธีม “แดด ฝน คน ต้นไม้” จากงานบ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2024

โล่รางวัลบ้านและสวนAwards
โล่รางวัลบ้านและสวนAwards
คุณศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารบ้านและสวน

ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกใบนี้มาอย่างยาวนานก่อนที่จะมนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นมาด้วยซ้ำ และเราก็รู้จักการนำต้นไม้มาใช้ประโยชน์กับชีวิตมากมาย ตั้งแต่เก็บเกี่ยวพืชผลมาบริโภค อาศัยพึ่งพากิ่งใบให้ร่มเงา พอต้นไม้โตเต็มที่ก็ตัดลำต้นมาสร้างเป็นบ้าน แม้จะเหลือแค่ตอก็สามารถนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์และของใช้ได้ กระทั่งเศษไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยยังกลายเป็นฟืน หรือไม้จิ้มฟันอันจิ๋ว

แต่กว่าต้นไม้จะเติบโตให้เรานำไปใช้งานได้เต็มที่นั้นต้องอาศัยปัจจัยจากแสงแดด สายฝน และกาลเวลา เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างคนกับธรรมชาติ เพราะเรายังต้องพึ่งพาทั้งร่มเงา ความสดชื่น และออกซิเจนจากต้นไม้ นอกเหนือไปจากการแปรรูปมาเป็นวัสดุเพื่อใช้งาน “แดด ฝน คน ต้นไม้” จึงกลายเป็นแนวคิดสำคัญที่ บ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2024 นำมาพูดถึง รวมถึงเป็นที่มาของโล่รางวัล บ้านและสวน Awards ในปีนี้ด้วยเช่นกัน

โล่รางวัลบ้านและสวนAwards
คุณตั้ม-ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์จาก Jird Design Gallery

อยู่ดี มีสุข สมดุล

ตลอด 48 ปีที่ผ่านมา “บ้านและสวน” ได้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านน่าอยู่และสวนที่สวยงาม อยู่ร่วมกับธรรมชาติ และสร้างความสุขให้ผู้อยู่อาศัย อีกทั้งยังกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่มองหาแนวทางการสร้างและตกแต่งบ้านใหม่ๆ ของตัวเอง ผ่านทางหน้านิตยสาร และปัจจุบันยังต่อยอดไปทางโซเชียลมีเดียอีกหลายช่องทาง

เพื่อส่งเสริมและส่งต่อองค์ความรู้ พร้อมก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 เราจึงมีการมอบรางวัล บ้านและสวน Awards ให้แก่ “10 บ้านน่าอยู่ 10 สวนสวย” ที่แสดงถึงแนวคิดหลักของการอยู่ดี มีสุข และสมดุล ซึ่งประกอบขึ้นจาก 7 แนวคิดย่อยที่มาช่วยสร้างคุณภาพการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น นั่นคือ

  • การสร้างสุขภาวะที่ดี
  • การออกแบบอย่างยั่งยืน
  • การใช้วัสดุอย่างสร้างสรรค์
  • การออกแบบรองรับคนทุกวัย
  • การออกแบบที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง
  • การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า
  • การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายนอกและภายในบ้าน

และเพื่อเแทนคำขอบคุณต่อเจ้าของบ้าน เจ้าของสวน และผู้ออกแบบจากใจจริง จึงมีการออกแบบโล่รางวัลพิเศษขึ้นมา โดยปีนี้เราได้เชิญ คุณตั้ม-ศุภพงศ์ สอนสังข์ ดีไซเนอร์จาก Jird Design Gallery มาช่วยตีความในเรื่อง “แดด ฝน คน ต้นไม้” องค์ประกอบ 4 อย่างที่บอกถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ

แดด ฝน คน ต้นไม้

“ผมว่าองค์ประกอบ 4 อย่างนี้มันคือธรรมชาติรอบตัว” คุณตั้ม-ศุภพงศ์ เล่าถึงความคิดเริ่มต้น “เพราะไม้คือผลผลิตของแดดและฝนตามสภาพภูมิอากาศบ้านเรา คนก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ สมัยก่อนเรานิยมใช้ไม้มาสร้างบ้านเพื่อปกป้องตัวเองจากแดดและฝน แต่ปัจจุบันไม่ค่อยได้นำไม้มาใช้แล้ว ทั้งเพราะแพงและหายากขึ้น ทำให้นักออกแบบและเจ้าของบ้านเองก็มีความรู้ความเข้าใจเรื่องวัสดุไม้ค่อนข้างน้อยลงไปด้วย”

และเพราะคุณตั้มทำงานคลุกคลีอยู่กับไม้พื้นถิ่นไทยมานานและเห็นถึงศักยภาพในทรัพยากรไม้ จึงริเริ่มแนวคิดการทำเกษตรปลูกป่าในสวนของตัวเองให้เป็นภารกิจสำคัญของแบรนด์ Jird ทั้งเพื่อเป็นแหล่งวัสดุไม้สำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ สร้างสตูดิโอเล็กๆ กลางป่าในจังหวัดราชบุรี และดูแลทรัพยากรไม้วันนี้ให้มีเหลือใช้ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

“ลักษณะเนื้อไม้พื้นถิ่นไทยนั้นมีความหลากหลายสูง แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี พอศึกษาแล้วก็ยิ่งพบว่าไม้เป็นวัสดุที่มีชีวิตตลอดอายุขัย เพราะไม้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตามฤดูกาล หดตัวในหน้าแล้ง ขยายตัวในหน้าฝน ผมเลยนำคุณสมบัติที่เชื่อมโยงกับธรรมชาตินี้มาใช้เป็นจุดเด่นในการออกแบบจ๊อยต์หรือจุดเชื่อมต่อของไม้ที่เป็นโล่รางวัลบ้านและสวนปีนี้”

โล่รางวัลบ้านและสวนAwards

โล่ 3 เฉดสีจากไม้ 3 ชนิด

ในบรรดาไม้พื้นถิ่นไทยหลากหลายชนิดนั้น คุณตั้มบอกว่ามีไม้อยู่ 3 ชนิดที่พบเห็นได้บ่อยในงานสถาปัตยกรรมบ้านไทยตั้งแต่ในสมัยอดีต นั่นคือ ไม้เต็ง ไม้แดง และไม้รกฟ้า

“ผมอยากให้เห็นด้วยว่าไม้พื้นถิ่นไทยสามารถใช้งานทดแทนไม้ต่างประเทศได้เลยในเรื่องความทนทานและโทนสีของไม้ อย่างไม้เต็งใช้แทนไม้โอ๊ก ไม้แดงแทนมะฮอกกานี และไม้รกฟ้าแทนวอลนัท ก็เลยนำไม้ 3 ชนิดนี้ที่ผมปลูกอยู่ในไร่ของตัวเองมาประกอบขึ้นเป็นโล่ด้วยรูปทรงของบ้านที่เหมือนกับการสร้างบ้านไม้ โดยการสลับสีไม้เพื่อบอกถึงรางวัลแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน เพราะไม้ 3 ชนิดนี้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน มีการยืดหดคล้ายกัน เลยสามารถใช้ด้วยกันได้ และนำมายึดติดกันแบบ Dovetail Joint ซึ่งมีลักษณะของการสไลด์ประกอบกันโดยไม่ต้องใช้กาวหรือตะปู ให้ตัวไม้กอดกันเองไม้โดยไม่หลุด และให้ไม้เป็นตัววัดสภาพอากาศ คือยืดและหดได้ตามฤดูกาลเหมือนไม้ธรรมชาติ ภายใต้รูปทรงเหมือนบ้านเรือนไทยที่มีการยกชานให้สูงเพื่อหนีน้ำ ตัวโล่จึงมีฐานที่เหมือนชานเรือน พร้อมช่องเสียบกิ่งไม้ที่จำลองธรรมชาติเข้ามาเป็นฟังก์ชันเสริมให้สามารถใช้งานและเติมความสดชื่นได้นอกเหนือจากการนำไปวางโชว์ในบ้านหรือออฟฟิศ”

ส่งต่อความภาคภูมิใจ

ปีที่ผ่านๆ มา บ้านและสวนมีโล่รางวัลมาแล้วหลายรูปแบบทั้งไม้ เซรามิก พลาสติกรีไซเคิล ดินเผา เรซิ่น ไม้ไผ่ ซึ่งคุณตั้มเองในฐานะที่ร่วมออกงานบ้านและสวนแฟร์มายาวนานสิบกว่าปีก็ได้เห็นดีไซน์ของโล่รางวัลนี้มาโดยตลอด เมื่อมีโอกาสได้มาออกแบบโล่เองในปีนี้เขายอมรับจากใจจริงเลยว่าหนักใจอยู่เหมือนกัน

“เพราะรู้สึกว่ารางวัลนี้เป็นที่คาดหวังของเจ้าของบ้าน เจ้าของสวน และผู้ออกแบบหลายคน แต่ละปีก็ได้ดีไซเนอร์มาออกแบบได้สวยงามและแตกต่างในทุกปี ผมเองก็อยากตั้งใจทำออกมาให้ดี ถามว่ากดดันไหม ก็กดดันนะ อยากให้คนได้รับไปรู้สึกภูมิใจด้วย เลยใช้ความถนัดของตัวเองในเรื่องงานไม้นี่แหละมาสร้างความพิเศษให้โล่ในปีนี้ อยากให้คนได้เรียนรู้คุณลักษณะของไม้พื้นถิ่นไทย ได้เห็นความว้าวของตัวไม้ และลองสนุกกับการได้ถอดประกอบตัวโล่เพื่อเข้าใจถึงธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงได้ตามแนวคิด ‘แดด ฝน คน ต้นไม้’ ซึ่งผมขอส่งต่อความภูมิใจนี้พร้อมแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับโล่รางวัลทุกคนด้วยครับ”

โล่รางวัลบ้านและสวนAwards
โล่รางวัลบ้านและสวนAwards
โล่รางวัลบ้านและสวนAwards
โล่รางวัลบ้านและสวนAwards
โล่รางวัลบ้านและสวนAwards

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล, ณัฐพล โสภาน้อย


ชมโล่รางวัลบ้านและสวน Awards ประจำปี 2566

ชมโล่รางวัลบ้านและสวน Awards ประจำปี 2565