พลิกข้อจำกัดเมืองอย่างสร้างสรรค์ สู่การออกแบบชุมชน พัฒนาเมือง ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
พาสำรวจแนวคิดการออกแบบที่ตอบสนองข้อจำกัดเมือง และการอยู่อาศัยของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเวที room x Living ASEAN Design Talk 2024 – (Re)Thinking Inside the Box: Vol. 2 Better Design, Better Community from an ASEAN Perspective
ขมวดประเด็นเรื่องเมืองจาก 3 กลุ่มวิทยากรนักออกแบบ ที่นำเสนอแนวทางการออกแบบและ พัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ จากการสำรวจข้อจำกัดต่างๆ ในเมืองใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สู่แรงบันดาลใจการสร้างงานออกแบบซึ่งสานปฏิสัมพันธ์ของผู้คนและชุมชนเมือง และเติมเต็มช่องว่างของการ พัฒนาเมือง ให้สมบูรณ์ขึ้น
เวที room x Living ASEAN Design Talk 2024 หัวข้อเสวนาเรื่อง (Re)Thinking Inside the Box: Vol. 2 Better Design, Better Community from an ASEAN Perspective จัดโดย room และ Living ASEAN ร่วมกับ Amarin Academy ในงาน Sustainablity Expo 2024 (SX 2024) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ชวนวิทยากรนักออกแบบจาก 3 เมืองใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ Officine Gặp จาก กรุงโฮจิมินท์ ประเทศเวียดนาม Ng Sek San จากกัวลาร์ลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล จาก CHAT Architects กรุงเทพฯ ประเทศไทย ร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ที่กระตุ้นพลังงานออกแบบให้ยังผลสู่การ พัฒนาเมือง อย่างสร้างสรรค์ อันสามารถวาดภาพชุมชนเมืองที่น่าอยู่ได้อย่างน่าสนใจ เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความเป็นอยู่ในเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
Yuri Frassi และ Afra Rebuscini จาก Officine Gặp ประเทศเวียดนาม
จากการใช้ชีวิตและถูกห้อมล้อมด้วยรูปแบบที่อยู่อาศัยอันมีเอกลักษณ์ในกรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม สองนักออกแบบเกิดความสงสัยและต้องการสำรวจเมืองผ่านที่อยู่อาศัยที่แคบและเล็กของเวียดนามอย่าง ‘Tube House’ หรือ ‘บ้านท่อ’ นำไปสู่โปรเจ็กต์ ‘Reinterpreting Narrowness’ ที่มุ่งวิจัยภาษาทางสถาปัตยกรรมอย่าง ‘Narrowness’ หรือ ความแคบ เพื่อทำความเข้าใจพลวัตรของการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่แคบและวัฒนธรรมการอยู่อาศัยของคนในเวียดนาม
ในการเสวนาครั้งนี้ Officine Gặp ได้นิยาม ‘Narrowness’ สะท้อนผ่าน Tube House และพื้นที่ในเมือง เช่น ซอยแคบ อันเป็นลักษณะทางกายภาพ รวมถึง ในแง่ของความเป็นวัฒนธรรมกลุ่มจากวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลักษณะดังกล่าว พวกเขาได้ศึกษาและจัดรูปแบบ Tube House เป็น 3 เจเนอเรชั่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 คือรูปแบบดั้งเดิม รุ่นที่ 2 เป็นรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของเศรษฐกิจ แต่ยังบ่งพร่องด้านคุณภาพชีวิตของคน และรุ่นที่ 3 ที่เขาสนใจศึกษา คือ Tube House ที่ปรับโครงสร้างโดยสถาปนิกเวียดนามรุ่นใหม่แล้ว ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการของเจ้าของและตอบสนองสภาพอากาศร้อนชื้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ เขาพบว่าการอยู่อาศัยแบบแนวตั้ง (Vertical Living) ใน Tube House นั้นมีผลต่อวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนเมืองในเวียดนามอย่างมาก ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการสนับสนุนจาก 5 บริษัทออกแบบในเวียดนามที่มองเห็นโอกาสในการเปลี่ยนพื้นที่คับแคบให้กลายเป็นงานออกแบบร่วมสมัย ซึ่งมีองค์ประกอบงานสถาปัตยกรรมร่วมกันบางอย่างที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นส่วนตัว เชื่อมปฏิสัมพันธ์กับคนในบ้านเอง และเชื่อมต่อกับชุมชนภายนอก ผ่านองค์ประกอบงานออกแบบที่สร้างสรรค์และสอดรับกับข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ตั้งได้เป็นอย่างดี องค์ประกอบเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของทักผู้ออกแบบและคนที่อยู่อาศัย ที่มีอิทธิพลต่อลักษณะความเป็นอยู่ในเมือง ที่ยังคงรักษาแกนของการมีปฏิสัมพันธ์กันในชุมชนของคนเวียดนามได้อย่างน่าสนใจ
Ng Sek San จาก Seksan Design Landscape Architecture and Planning ประเทศมาเลเซีย
ภูมิสถาปนิกชาวมาเลเซีย ผู้พลิกบทบาทหันหน้าเข้าสู่ผลงานที่ส่งผลกระทบทางบวกให้สังคม ไม่ว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ไม่แสวงหาผลกำไรหลากหลายแบบ รวมถึงพื้นที่สาธารณะในเมืองเพื่อชุมชน เขาจึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้หนึ่งที่ใช้บทบาทนักออกแบบช่วยพัฒนาและฟื้นฟูย่านและชุมชนเมือง
โปรเจ็กต์สำคัญที่ปัจจุบันเขายังมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น คือ เคอบุน-เคอบุน บังซาร์ (Kebun-Kebun Bangsar) สวนสำหรับชุมชนใจกลางเมือง ขนาดราว 8 เอเคอร์ (ประมาณ 20 ไร่) ที่เกิดขึ้นจากการพลิกพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อคนในเมือง นอกจากจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายที่ใครก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ ภายในยังจัดกิจกรรม งานเสวนา และเวิร์กชอปให้ความรู้เรื่องการเกษตร ระบบนิเวศ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสวนเคอบุน-เคอบุน บังซาร์
ในการบรรยาย เขายังแสดงให้เห็นการมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์นอกประเทศอย่างบ้านของเด็กกำพร้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นงานออกแบบที่ได้ดึงให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การเริ่มก่อสร้าง โดยจุดเด่นของโปรเจ็กต์นี้ คือการที่งานสถาปัตยกรรมสามารถกลมกลืนกับภูมิทัศน์ธรรมชาติที่เป็นเทือกเขาของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งอยู่บนความเรียบง่ายที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ และที่สำคัญ คือเด็ก ๆ สามารถใช้งานทุก ๆ ส่วนของอาคารได้อย่างมีความสุข กล่าวโดยสรุปแล้ว สิ่งที่ Ng Sek San สื่อผ่านเวทีเสวนานี้ คือพลังของชุมชนและจิตอาสาที่สามารถเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แต่สามารถกระจายและผลักดันความเป็นอยู่ในเมืองให้ดีขึ้นได้ แม้ว่าโครงสร้างทางสังคมหลายอย่างจะยังไม่เอื้ออำนวย แต่ความมุ่งมั่นแน่วแน่และการรวมกลุ่มกันของผู้ที่เชื่อในสิ่งเดียวกัน จะสามารถใช้งานออกแบบผลักดันวาระทางสังคมอันนำไปสู่วิถีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง
คุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล จาก CHAT Architects ประเทศไทย
คุณฉัตรพงษ์มาพร้อมหัวข้อเรื่อง “Bangkok Bastards and Rural Crossbreeds” ที่พูดถึงการศึกษาวิจัยสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจที่ผู้คนมองข้าม หนึ่งในนั้นคือพื้นที่อาศัยแบบ “แคมป์คนงานก่อสร้าง” ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานอย่างนั่งร้าน และสังกะสี อันเป็นภาพที่เห็นกันอย่างชินตา และอาจไม่สวยงามนักในสายตาของหลายคน แต่เขากลับเลือกศึกษาและมองหาสิ่งน่าสนใจในอาคารรูปแบบนี้ และถอดรหัสจนนำไปสู่การสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบผลงานของ CHAT Architects เช่น โรงแรม “Sansen Street Hotel” ที่ใช้รูปแบบโครงสร้างคล้ายนั่งร้านเหล็กที่มีที่มาจากการศึกษาบ้านพักคนงานก่อสร้างมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมได้อย่างน่าสนใจ และชวนให้ผู้คนมาใช้งานได้อย่างหลากหลายนอกเหนือไปจากแค่การสร้างความสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว เป็นการต่อยอดไอเดียจากสิ่งที่หลายคนอาจไม่ได้เห็นคุณค่าไปสู่การสร้างความน่าสนใจให้กับงานสถาปัตยกรรม
และอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นคือ “Angsila Oyster Scaffolding Pavilion” พาวิเลียนร้านอาหารกลางทะเลที่เกิดจากการทำงานร่วมกับชาวประมง จำลองกระชังเลี้ยงหอยนางรมกลางทะเลของคนอ่างศิลา มาเป็นอาคารสีแดงทำจากไม่ไผ่ โปรเจ็คต์นี้เกิดจากการทำงานศึกษาวิจัยการใช้ชีวิตของชาวประมงในพื้นที่ ซึ่งคุณฉัตรพงษ์ได้พบกับกระชังหอยนางรมไม้ไผ่ ที่ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นและใช้เทคนิคก่อสร้างจากชาวภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การใช้สายคาดนิรภัยในรถยนต์มามัดโครงสร้างไม้ไผ่ นำไปสู่ไอเดียการออกแบบพาวิเลียนกลางทะเล ที่เป็นทั้งกระชังเลี้ยงหอยนางรม เสิร์ฟเมนูอาหารทะเลสด ๆ ให้รับประทาน รวมถึงเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องราวอาหารทะเลจากชาวประมงอ่างศิลา กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวไปพร้อมกับการเรียนรู้เชิงนิเวศน์ไปในตัว
กล่าวโดยสรุปถึงสิ่งที่คุณฉัตรพงษ์สื่อสารในเวทีนี้คือการศึกษา เรียนรู้ และมองหาองค์ประกอบและภูมิปัญญารอบๆ ตัวที่ผู้คนอาจมองข้าม แต่สิ่งเหล่านั้นนั่นเองเป็นความจริงแท้ของการอยู่อาศัยที่สะท้อนจากวิถีชีวิตของคน ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดไปสู่องค์ประกอบหรือภาษาในงานสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ทำให้ผลงานเกิดความน่าสนใจ และตอบสนองความเป็นอยู่ของคนได้อย่างแท้จริง
รับชมและรับฟังย้อนหลังที่นี่: https://www.facebook.com/roomfan/videos/528749049880271/
ภาพ: ธนายุต วิลาทัน
เรื่อง: Kangsadan K., Natthawat Klaysuban
ชมบรรยากาศของงาน SX2024 ได้ที่
Sustainability Expo 2024 กับโซน Better Community พื้นที่รวมตัวของคนที่มีความเชื่อว่า “สังคมจะดีขึ้น ถ้าทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม”
Sustainability Expo 2024 กับโซน SX Marketplace รวมร้านค้าสายรักษ์โลก ทั้งงานดีไซน์และผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นมุ่งเน้นด้านความยั่งยืน