urban-nature-house-junsekino

ออกแบบ บ้านธรรมชาติ กลางเมือง

urban-nature-house-junsekino
urban-nature-house-junsekino

บ้านธรรมชาติ น่าจะเป็นบ้านในฝันของใครหลายๆ คน แต่เมื่อรอบตัวล้อมไปด้วยบรรยากาศเมืองใหญ่ ทำอย่างไรให้ยังคงรู้สึกเชื่อมต่อกับ ต้นไม้ สายลม และแสงแดด มาดูการแปลงบรรยากาศสีเขียวเข้ามาใกล้ตัว ทำ บ้านธรรมชาติ กลางเมือง ด้วยไอเดียของสถาปนิก จูน เซคิโน

urban-nature-house-junsekino
สถานที่ : บ้านคุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์

เมื่อคนเปลี่ยนไป บ้านก็ต้องเปลี่ยนตาม

หลายคนชื่นชอบ บ้านธรรมชาติ แต่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน บ้านที่อาศัยอยู่ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย “โลกมันก็เหมือนเดิม พระอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกอยู่ทุกวัน แต่ที่เปลี่ยนมันเกิดจากคนนี่ล่ะครับ” จูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and design พูดถึงการแปรเปลี่ยนของบ้านผ่านช่วงชีวิตที่คลุกคลีกับงานออกแบบมากว่า 20 ปี 

บ้านธรรมชาติ
คุณจูน เซคิโน สถาปนิกแห่ง Junsekino Architect and design

“พื้นที่สีเขียวลดลง อากาศแย่ขึ้น ความหนาแน่นของเมืองมากขึ้น นี่คือปัจจัยแรกที่คนทนไม่ได้ ปัจจัยที่สองคือเรื่องของการก่อสร้าง ราคาของวัสดุที่ไม่มีเหมือนเมื่อก่อน เช่นไม้ สมัยก่อนเรายังใช้ไม้ได้อย่างสนุกสนานอยู่เลย 10 ปีหลังนี้แทบไม่มีโอกาส ปัจจัยที่สามคือเทคโนโลยีการก่อสร้าง อย่างกระจกเดี๋ยวนี้เป็นแค่กระจกใสอย่างเดียวไม่พอ ต้องป้องกันความร้อนได้ด้วย ปัจจัยในภาพใหญ่ที่เปลี่ยนไปมาก ทำให้ตัวเราซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ต้องปรับตาม”

“ในสมัยก่อนเราต้องออกไปหา ต้องออกไปปฏิสัมพันธ์ เดี๋ยวนี้เราอาจจะไม่สะดวกขนาดนั้น เลิกงานดึก เสาร์อาทิตย์ก็ไม่มีเวลาไปสวน เลยต้องเอาธรรมชาติมาอยู่รอบตัว แค่มองก็ได้ ใช้งานในแง่ของวิชวล”

บ้านธรรมชาติ
บ้านธรรมชาติ ในเมือง
บ้านที่มีพื้นที่จำกัด การปลูกต้นไม้หนึ่งต้นสามารถออกแบบให้ได้มุมสดชื่นถึงสองมุม โดยการเลือกใช้ต้นไม้ที่มีทรงสูง ปลูกประดับเป็นมุมสีเขียวที่สัมผัสได้จากทั้งชั้นบนและชั้นล่าง (สถานที่ : บ้านคุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์)

จับฟังก์ชันของ บ้านธรรมชาติ มาปั่นรวมกับ บ้านในเมือง

คุณจูนอธิบายถึงการนำฟังก์ชันของคนและต้นไม้มาประกอบใหม่ให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ที่เริ่มต้นจากความต้องการเจ้าของบ้าน ที่ต้องการความเป็น บ้านธรรมชาติ โดยมีพื้นที่ตั้งอยู่ในเมือง “กำหนดกรอบด้วยความต้องการใช้งาน คนเราต้องการความความสะดวกสบาย แต่ก็ต้องการธรรมชาติ เราก็ปั่นรวมกัน เหมือนโยนเข้าเครื่องผสมอาหาร”

การประกอบฟังก์ชันเป็นบ้านไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับการใช้งานเจ้าของบ้านเป็นหลัก “เมื่อก่อนคนต้องการบ้านใหญ่ สมัยนี้ต้องการหลังเล็กๆ เพราะดูแลไม่ไหว ไม่มีเวลา ไม่มีเงิน ไม่แต่งงาน ทำให้ฟังก์ชันบ้านเปลี่ยน เดี๋ยวนี้นอกจากบ้านที่มีแขกเป็นประจำ ก็ไม่มีใครทำห้องรับแขกเป็นทางการ แต่เปลี่ยนให้กลายเป็นส่วนพักผ่อน ห้องอาหารกับโต๊ะทำงานก็ใช้ร่วมกัน มิติของสวนเปลี่ยนไป แต่ก่อนสวนนี่ต้องอยู่ข้างนอก โดนแดดโดนน้ำ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ มันอัดกันอยู่ในบ้านก็ได้” 

บ้านธรรมชาติ ในเมือง
ส่วนพักผ่อนของบ้าน ที่รวมไว้ทั้งมุมโทรทัศน์ โต๊ะรับประทานอาหาร และส่วนครัวเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ใช้งานได้หลายรูปแบบในห้องๆ เดียว (สถานที่ : บ้านคุณองอาด ทองกองทุน)

“ทำไมห้องนั่งเล่นต้องมีโทรทัศน์ในเมื่อเดี๋ยวนี้ลูกค้าร้อยละ 80 แทบไม่ได้ใช้เลย ทุกคนใช้แทบเล็ต โทรศัพท์ การใช้งานมันเปลี่ยนไป ไม่มีใครดูช่องเดียว 5 คนแล้ว เดี๋ยวนี้นั่งกัน 5 คน ก็เปิดดู 5 ช่อง เราก็อาจทำเป็น Family Area ที่ทุกคนมานั่งคุยกัน คนหนึ่งอ่านหนังสือ คนหนึ่งก้มหน้าดูเพจ ซึ่งทุกคนก็ยังได้อยู่ร่วมกัน ได้คุยกัน” เมื่อทลายกรอบฟังก์ชันเดิมๆ ออกแล้วปรับให้เข้ากับบริบทพื้นที่ที่มีอยู่ บ้าน สวน สภาพแวดล้อมก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องแยกส่วน “ทุกอย่างมันสามารถ cross boundary ได้ มันอยู่ด้วยกันได้หมด”

เชื่อมส่วนของคนและส่วนของแมวเข้าด้วยกันผ่านช่องเปิด จึงทำอาหารไปพร้อมๆ กับดูน้องแมวที่นอนพักผ่อนในโซนส่วนตัวของสัตว์เลี้ยงได้ (สถานที่ : บ้านคุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์)

บ้านธรรมชาติ ในเมือง ให้ความสำคัญกับพื้นที่กึ่งภายนอก

คุณจูนให้ความสำคัญอยู่ที่การเชื่อมต่อฟังก์ชันบ้านเปลี่ยนผ่านระหว่างภายนอก-ภายในเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศในบางเวลาอาจไม่เอื้อให้เราสัมผัสธรรมชาติได้โดยตรงอย่างสบาย เป็นที่มาของพื้นที่กึ่งภายนอกหลากรูปแบบตามการใช้งานของเจ้าของบ้าน

“ที่ว่างเชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายใน (Transition Space) เป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจของบ้านเมืองร้อน ผมสนใจเรื่องพวกนี้เยอะ  เพราะว่าเราไม่สามารถหยุดแดดเปรี้ยงๆ ได้ คนเราชอบแสงนะ แต่มันตามด้วยความร้อน เราชอบความเย็นสบาย แต่ถ้าฝนตก มีความชื้นทั้งวันก็ไม่ไหว ก็เลยต้องเบรค คัดกรองแดด ลม ฝน ในขนาดที่พอเหมาะ ไม่อยากกั้นหมด แต่ก็ไม่อยากได้หมด เลือกในระดับที่คนเราจะอยู่ตรงนั้นแล้วสบาย”

ชานเล็กๆ ล้อมไปตามแนวผนังบ้าน ช่วยผ่อนแสงแดดร้อนแรงให้เบาลง ภายในบ้านจึงเปิดรับแสงธรรมชาติได้ตลอดวันโดยที่ไม่ร้อนจนเกินไป และในวันที่ฝนตก ก็ป้องกันไม่ให้ฝนสาดเข้ามาภายในบ้าน (สถานที่ : บ้านคุณองอาด ทองกองทุน)

ประเทศอื่นๆ ในฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น ซึ่งมีอากาศหนาว ก็จะมีพื้นที่กึ่งภายนอกล้อมรอบอาคาร เรียกว่า Engawa ช่วยลดความรุนแรงของลมหนาวที่เข้ามาในบ้าน ทำให้ยังรักษาความอบอุ่นในบ้านไว้ได้ และสร้างการเชื่อมต่อของสภาพอากาศให้เปลี่ยนผ่านจากภายนอกเข้าสู่ภายในได้นุ่มนวลขึ้น “ผมชอบการไล่ระดับบรรยากาศ จากเย็น ผ่านอุ่น ไปสู่ร้อน ไม่ได้เปิดประตูมาก็ร้อนเลย”

หรืออย่างบ้านไทยเอง ก็มีพื้นที่ใช้งานที่คุ้นเคยกันดีอย่างใต้ถุนบ้าน ภูมิปัญญาชาญฉลาดที่คุณจูนมักหยิบมาใช้บ่อยๆ “ใต้ถุนบ้านมันเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ เมื่อฝนตามชายคาตกกระทบพื้น กลิ่นดินก็กระจาย แล้วกลายเป็นบรรยากาศที่ทำให้เรารับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ไม่ได้แบนๆ เหมือนห้องที่ปิดทึบ แต่เราอาจไม่ได้มีที่มากแบบนั้น แล้วเราก็ไม่ได้ใช้ใต้ถุนจริงจังเหมือนอย่างแต่ก่อน ก็แปลมันออกมาใหม่ให้ใช้งานได้จริง”“สมัยก่อนคนอาจมองว่าเป็นเพียงพื้นที่สำหรับเปลี่ยนผ่าน แต่สมัยนี้ทุกคนต้องการพื้นที่นี้เยอะพอสมควร เพราะว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครอยากเปิดแอร์หรือโดนแดดตลอด ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ถ้าออกแบบให้ดีก็กลายเป็นหัวใจหลักของบ้านได้”

บ้านธรรมชาติ ในเมือง
ชานบ้านสำหรับนั่งรับลมชมต้นไม้ที่คอร์ตยาร์ด ออกแบบให้เป็นชานร่มมีชายคายื่นยาว จึงออกมาใช้งานได้ตลอด หรือหากอยู่ในบ้าน เพียงเลื่อนบานประตูกระจกเปิด ภายในบ้านกับคอร์ตยาร์ดก็เชื่อมถึงกันอย่างลื่นไหล (สถานที่ : บ้านคุณอั๋น – คุณทิพย์ บุนนาค)
นำไอเดียใต้ถุนบ้านมาดัดแปลงให้เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกล้อมด้วยบานระแนงไม้เปิด-ปิด บางเวลาก็เปิดโล่ง ใช้รับแขก นั่งเล่นพักผ่อน บางเวลาก็ปิดบานระแนงเพื่อสร้างบรรยากาศเป็นส่วนตัวสำหรับฝึกโยคะ (สถานที่ : บ้านคุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์)

กลั่นกรองบริบท

เปิดให้พอเหมาะ

การเปิดรับวิวรอบบ้านควรเลือกใช้เพียงบางส่วนเพื่อคงสมดุลของความสบายในอาคารไว้ เพราะพื้นที่ภายนอกนั้นควบคุมแดด ลม ฝน ได้ยากกว่าภายในบ้าน อย่างที่คุณจูนยกตัวอย่างการยื่นชายคาบ้านให้ยาวเพื่อกำหนดกรอบในการมองทิวทัศน์ คัดเอาวิวบางส่วนออกเพื่อให้ชื่นชมได้นานๆ โดยที่ไม่เมื่อยตาไปเสียก่อน เปรียบเทียบด้วยการมองผ่านหมวก “สังเกตไหมว่า เวลามองออกไปข้างนอกแบบไม่มีหมวกมันแสบตา พอมองผ่านใต้ปีกหมวก ซึ่งก็ให้แสงเข้ามาได้ด้วย ไม่ปิดหมด เราก็จะเห็นภายนอกได้โดยที่ไม่จ้าเกินไป เป็นมิตรกับสายตามากขึ้น”

บ้านธรรมชาติ ในเมือง
ออกแบบช่องแสงให้ยื่นออกไปนอกบ้าน ทำเป็นที่นั่งชมสวนแบบเบย์วินโดว์ที่มีขนาดพอเหมาะกับการใช้งาน ชมสวนสวยและนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในบ้านได้ในปริมาณที่พอดี ไม่สว่างจนเกินไป (สถานที่ : บ้านคุณปัญจมา – คุณชัชวาล เลิศบุษยานุกูล)

“หรือหากบริบทไม่เอื้อให้เราออกไปชมธรรมชาติรอบบ้านได้ ก็เพิ่มพื้นที่สีเขียวในห้อง เลือกต้นไม้มาไว้ภายในบ้าน แม้ไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงความสบายชัดเจนนัก แต่ก็สามารถช่วยได้ในเชิงความรู้สึก มองเห็นก็รู้สึกสบายตา”

ปิดให้น่าสนใจ

บางบริบทอาจไม่สามารถนำเข้ามาใช้ในบ้านได้ตรงๆ อย่างเช่นแสงสว่างนอกบ้านที่จ้ามากจนใช้ได้ไม่สะดวก ซึ่งคุณจูนเรียกว่า Negative Light หากจะนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ภายในบ้านก็ต้องอาศัยเทคนิคทางสถาปัตยกรรมกรองแสงบางส่วนออกเพื่อแปลงให้เป็น Positive Light ที่คนสามารถใช้ได้อย่างสบาย ไม่แสบตาหรือเกิดความร้อนมากจนเกินไป “เราต้องดูว่าแสง 100% เราอยากได้เข้ามาในอาคารเท่าไร เพื่อให้สว่างโดยที่ไม่ต้องกั้นผนังกันความร้อนทีหลัง” การออกแบบแสงธรรมชาติสามารถทำได้หลายวิธีโดยที่ไม่จำเป็นต้องมองเห็นหรือสัมผัสโดยตรง เช่น การปรับตำแหน่งและขนาดช่องแสง, การหักเหมุมช่องเปิดเพื่อให้เกิดแสงสว่างแบบ Indirect Light  หรือกรองผ่านวัสดุหลากชนิดเพื่อให้มีความละมุนตามากขึ้น เป็นต้น

บ้านธรรมชาติ ในเมือง
เปิดช่องแสงธรรมชาติบนฝ้าเพดาน เพิ่มแสงสว่าง เพิ่มความโปร่งโล่งให้ห้องน้ำทรงสามเหลี่ยมแคบยาว (สถานที่ : บ้านคุณอั๋น – คุณทิพย์ บุนนาค)

โชว์ความเป็น บ้านธรรมชาติ ด้วยมิติของของกาลเวลา

ธรรมชาติอีกรูปแบบที่คุณจูนเลือกพูดถึงคือร่องรอยความเก่าตามธรรมชาติที่ตั้งใจหลงเหลือไว้ เพื่อบ่งบอกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่อยู่มานาน เมื่อผสมกับชีวิตชีวาของการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ ก็ทำให้อดีตและปัจจุบันอยู่ร่วมกันได้อยางไม่เคอะเขิน “เสน่ห์ของการรีโนเวตคือการเปลี่ยนผ่านช่วงเวลา เรารู้ว่าไม่ใช่บ้านใหม่ แต่ก็รู้สึกได้ถึงความเป็นปัจจุบัน”

บ้านธรรมชาติ ในเมือง
คืนชีวิตชีวาให้สระน้ำเก่าด้วยการรีโนเวตใหม่เป็นห้องทำงานใต้ดิน โดยยังคงร่องรอยผิวผนังขรุขระเอาไว้ ให้บรรยากาศอบอุ่นและเป็นกันเอง ทั้งยังทำให้ห้องมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ (สถานที่ : บ้านคุณองอาด ทองกองทุน)

“อย่างบ้านโนบิตะนี่เจ้าของบ้านต้องการคงกลิ่นอายสมัย 80 ปีที่แล้วเอาไว้ ส่งผ่านความชอบจากอดีตมาถึงปัจจุบัน แค่เปลี่ยนบางอย่างใหม่ ก็ทำให้บ้านมีชีวิตอยู่ต่อได้ ซึ่งจริงๆ การรีโนเวตก็คล้ายกับการเอาเสื้อผ้าเก่ามาปรับขนาดใหม่ เพราะของเก่ามีขนาดเล็กเกินไป แคบเกินไป เราปรับให้มีขนาดเหมาะกับปัจจุบันโดยที่ไม่ได้ไปเปลี่ยนตัวตนเดิม ผมรู้สึกว่ามันคือการคืนความสดชื่นให้บ้านในแบบที่การสร้างใหม่ไม่สามารถทำได้ มีเงินมากมายก็สร้างความรู้สึกนี้ซ้ำไม่ได้”

บ้านธรรมชาติ ในเมือง
แม้จะมีการขยายขนาดบ้านและปรับฟังก์ชัน ก็ยังคงเสน่ห์ของบ้านด้วยการเก็บคาแร็กเตอร์ของเก่าของบ้านเอาไว้ และนำไม้เก่ามาใช้ใหม่ เพื่อเชื่อมโยงความรู้สึกคุ้นเคยของบ้านหลังเดิม (สถานที่ : บ้านคุณปัญจมา – คุณชัชวาล เลิศบุษยานุกูล)

อยู่อย่างเข้าใจ

เข้าใจแดด ลม ฝน

การอยู่ร่วมกับธรรมชาติไม่ต่างจากการอยู่กับเพื่อนร่วมบ้าน แม้ข้อดีจะมีมาก แต่ข้อจำกัดก็มีอยู่ไม่น้อย “ธรรมชาติไม่ได้ดีทั้งหมด มันมีร้อน มีเปียก ซึ่งถ้าเข้าใจ ก็จะอยู่ด้วยกันได้”หากจะออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการ และอยู่ร่วมกันได้สบาย จะต้องอาศัยการพิจารณาควบคู่กันระหว่างข้อดีและข้อจำกัด “ถ้าอยากได้แสง แน่นอนคุณจะได้แสง แต่ก็ตามมาด้วยความร้อน ถ้าจะทำให้ไม่ร้อนก็ต้องทำชายคา ซึ่งชายคาที่ยาวไปก็จะตามมาด้วยความอึดอัด เราอาจกลับไปลดช่องเปิดผนัง แต่พอช่องเปิดน้อยภายในอาคารก็จะมืด ก็ต้องนำแสงเข้ามาทางอื่น มันคือการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ในแต่ละสเปซ” ด้วยความต้องการของคนที่แตกต่างกัน จึงไม่มีบ้านแบบใดตอบโจทย์ทุกคนทุกความต้องการ หน้าที่ของสถาปนิกจึงเป็นการทำความเข้าใจแต่ละโจทย์และออกแบบมาให้ลงตัวที่สุด

ระเบียงกึ่งภายนอกที่ใช้เป็นสวนไม้กระถางในตัว จึงเปิดช่องแสงหลังคารับแสงธรรมชาติในทิศทางตรง เพื่อให้มีแสงสว่างมากเพียงพอสำหรับการปลูกต้นไม้ (สถานที่ : บ้านคุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์)

เข้าใจความสบาย

“บ้านอยู่สบาย” ไม่ได้หมายถึงบ้านที่อยู่แล้วเย็นที่กายเพียงอย่างเดียว เพราะการรู้สึกสบายเกิดขึ้นจากอุณหภูมิที่พอดี อากาศหมุนเวียน ภาพสบายตา พื้นผิวเป็นมิตร รวมถึงประสาทสัมผัสอื่นๆ ของมนุษย์อยู่ในภาวะที่ทำให้ร่างกายผ่อนคลายพร้อมๆ กัน จึงจะทำให้รู้สึกสบายได้ เพราะฉะนั้นเพียงการแก้ปัญหาด้านร่างกาย ก็อาจไม่สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ หากไม่มีการออกแบบพื้นที่รอบตัวที่มีคุณภาพพอ แม้การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ม่านกรองแสง พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ จะช่วยสร้างความสบายได้มากในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ แต่บริบทรอบตัวที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความสบายได้อย่างสมบูรณ์

วัสดุไม้ ผิวน้ำ และร่มเงาจากต้นไม้ องค์ประกอบที่อาจไม่ได้สร้างความเย็นแก่ร่างกาย แต่ก็ให้ความรู้สึกที่เย็นใจ (สถานที่ : บ้านคุณถนอมจิต มหากิจศิริ)

“สมมติว่าแก้ที่อุณหภูมิอย่างเดียว ทําไมเราเปิดแอร์ห้องหนึ่งแล้วรู้สึกว่าไม่น่านั่ง ทั้งที่แอร์เย็นมาก เทียบกับใต้ถุนบ้านริมน้ำ มีแดดนิดหน่อย ไม่สะอาดมาก ไม่มีแอร์ด้วย แต่ก็รู้สึกว่าเย็นสบาย จริงๆ แล้วบ้านริมน้ำก็ไม่ได้เย็นกว่าที่อื่นหรอก แต่ด้วยการเห็นน้ำที่ทำให้ผ่อนคลาย บวกกับลมที่พัดความชื้นมาโดนตัวต่างหากที่ทำให้เรารู้สึกดี” “ผมว่าสถาปัตยกรรมมันเจ๋งตรงนี้ พอมันดูสบาย ร่างกายก็จะรู้สึกว่าไม่ต่อต้าน ถ้าสายตามองไปแล้วรู้สึกว่าร้อน เราก็ไม่อยากจะเดินไปตรงนั้น แต่สมมติมองเห็นที่ร่มรื่น มันจะมีแรงดึงดูดบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่าเย็นสบาย”

“เย็นเนี่ยมันเกิดจากข้างใน มันคือความรู้สึกเย็นใจ อย่างบ้านที่ปูพื้นด้วยหินขัด ผมก็รู้สึกว่ามันเย็น อาจเป็นเพราะว่าหินขัดที่เหมือนสมัยตึกสำเพ็ง ตึกศาลเจ้าที่เดินไปแล้วรู้สึกว่ามันสะอาด เมื่อสัมผัสสบาย ร่างกายก็ผ่อนคลายตาม”

คอลัมน์ Home Expert ต.ค. 67

เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี

ภาพ : ฝ่ายภาพบ้านและสวน


บ้านเหล็กทรงกล่อง ที่ปิดเปลือกนอกแล้วเปิดรับแสงธรรมชาติไว้ภายในบ้าน

บ้านของใจ บ้านโมเดิร์น ในสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น

บ้านไอซ์ซึ โลกคู่ขนานที่บรรจบกันของคนกับแมว

บ้านเหล็กเล่นระดับ ที่แอบซ่อนความเป็นส่วนตัว

บ้านไม้อบอุ่น ชวนห้อยขาล้อมคอร์ตสีเขียว

ติดตามบ้านและสวน