“สวนจอมแห” ไฮไลต์สวนโชว์ งานบ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2024

งานบ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2024 ภายใต้คอนเซปต์ “แดด ฝน คน ต้นไม้” ที่ตั้งใจพูดถึงความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวในครั้งนี้ บ้านและสวน ร่วมกับ คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ แห่ง Walllasia สถาปนิกมือรางวัล มารับหน้าที่ออกแบบสวนโชว์

คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์แห่ง Walllasia
สวนจอมแห

“สวนจอมแห” สวนแห่งความอบอุ่น ร่มเย็นกายและใจ ด้วยการอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมจากมนุษย์และต้นไม้ เช่นเดียวกับการรับรู้ถึงสถาปัตยกรรมที่อยู่ในชนบท ผ่านวิวของพรรณไม้ต่าง ๆ ท้องร่องลำธาร ลานใช้ประโยชน์ของชุมชน และจุดเด่นของสวนอย่างพาวิลเลียนไม้อัด ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเจดีย์ทรงจอมแห

ความสัมพันธ์ของ แดด ฝน คน ต้นไม้ จากอดีตสู่ปัจจุบัน

เมื่อแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ โดยมีน้ำฝนช่วยหล่อเลี้ยงและรักษาความชุ่มชื้นของระบบนิเวศ ในขณะที่ต้นไม้ต้องพึ่งพาทั้งแสงแดดและฝนในการเจริญเติบโตดำรงชีวิต คนเองก็ต้องอาศัยต้นไม้เป็นแหล่งอาหาร ออกซิเจน และทรัพยากร เช่น ที่อยู่ พลังงาน และยารักษาโรคเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ คนยังมีบทบาทในการปลูก ดูแล และอนุรักษ์ต้นไม้ด้วย ดังนั้น แดด ฝน คน และต้นไม้ จึงมีความเชื่อมโยงในลักษณะของการพึ่งพาและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

“ผมมองว่า แดด ฝน คน และต้นไม้ ความสัมพันธ์ของทั้ง 4 อย่าง เป็นความผูกพันในธรรมชาติที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ สำหรับการออกแบบสวนโชว์ในครั้งนี้ผมจึงได้เลือกตีความเรื่องราวของความสัมพันธ์จากบรรยากาศและภาพจำในอดีต สู่งานออกแบบดีไซน์ใหม่ที่ยังคงกลิ่นอายและความรู้สึกเก่า ๆ ผ่านตัวแทนหรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ง่ายและคุ้นเคยกันดี อย่าง เจดีย์ ที่มีทั้งเรื่องราว ความทรงจำ ความสวยงาม รวมถึงศิลปะ และวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมงานได้มาร่วมกันตีความและมองเห็นถึงความงามในอีกรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้ บริเวณสวนโชว์ยังแฝงไปด้วยพื้นที่การใช้งานตามแบบของวิถีชีวิตในอดีต การมีส่วนร่วม และการอยู่รวมกับธรรมชาติ อย่าง ลานใช้ประโยชน์ของชุมชน พื้นที่นั่งริมน้ำหรือชานน้ำ และที่นั่งใต้ต้นไม้ที่ไม่สูงจนเกินไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นจากโอบกอดของธรรมชาติ รวมถึงการเลือกใช้พรรณไม้ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม พืชผัก และพืชสมุนไพรต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับชีวิตของคน ไม่ว่าจะ กิน ทำยา หรือนำมาเล่นในตอนเด็ก ๆ มาใช้จัดแสดง”

สวนจอมแห

การตีความเจดีย์ทรงจอมแห ผ่านมุมมองของงานศิลปะและแลนด์สเคป

“จากแนวคิดในเบื้องต้นผมจึงได้ออกแบบให้จุดเด่นหรือคอนเซ็ปต์หลักของสวนโชว์ในครั้งนี้ ใช้รูปฟอร์มของเจดีย์ทรงจอมแห ซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยมีฐานกว้างและยอดแหลมสูง ที่มักพบในประเทศไทย โดยเฉพาะในแถบภาคกลางและภาคเหนือ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาและความเชื่อทางพุทธศาสนามาตีความผสมผสานกับเทคนิคและวัสดุใหม่ ๆ พร้อมทั้งถอดฟอร์มของโครงสร้าง ลดทอนให้ออกมาเป็นสเปซในส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะตอบโจทย์ในเรื่องของการใช้งานและคอนเซ็ปต์หลักของสวนโชว์”

ในส่วนที่มาของคำว่า ทรงจอมแห รศ.สมใจ นิ่มเล็ก (ราชบัณฑิต) ได้กล่าวว่า ทรงจอมแห น่าจะมาจากการตากแหให้แห้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบวิถีชีวิตและกิจวัตรของชาวบ้าน โดยการนำก้นแหไปผูกกับปลายไม้ไผ่หรือคล้องกับกิ่งไม้ที่มีความสูงมากกว่าความยาวของปากแห แล้วใช้ไม้ค้ำปากแหให้ถ่างออก จึงเกิดเป็นลักษณะของเส้นทรงที่เรียกว่า “ทรงจอมแห” รายละเอียดที่ซ่อนอยู่ภายในเจดีย์นี้ จึงรายล้อมไปด้วยผืนน้ำและแสงสะท้อนที่แสดงถึงความเชื่อและความศรัทธา ต้นกำเนิดปัญญาและชีวิต เพื่อให้เกิดเสียงความสงบภายในจิตใจ ทั้งยังตกแต่งด้วยภาพถ่ายสีขาว – ดำ เกี่ยวกับวิถีชีวิต การอยู่ร่วมกับแดดและฝน รวมถึงสถาปัตยกรรมเก่าที่จะชวนให้นึกถึงและย้อนวันวานไปด้วยกัน

สวนจอมแห

การปรับตัวหาความสุขของมนุษย์ จากการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

ศาลาหลบแดด และศาลาชมฝน เป็นอีกหนึ่งตัวแทนของสถาปัตยกรรมที่สะท้อนการใช้ประโยชน์และการปรับตัวหาความสุขของมนุษย์ จากการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ร้อนจัดหรือฝนตกหนัก “การได้นั่งหลบเงาของแดด ช่วยให้คนได้พักผ่อนและผ่อนคลายจากความร้อนระหว่างวัน โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือแม้แต่ในช่วงที่บรรยากาศดี อย่าง ในยามเช้าก็จะได้ออกมานั่งรับแสงแดดอ่อน ๆ พร้อมฟังเสียงนกร้อง หรือในช่วงที่ตะวันตกดินก็จะได้สัมผัสกับแสงที่สวยงามในบรรยากาศที่แตกต่าง พร้อมมองดูเหล่านกที่กำลังบินกลับรัง”

สวนจอมแห
ศาลาหลบแดด

“ส่วนศาลาชมฝน ต้องการแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่เป็นบวกของคนต่อฝน ซึ่งอาจไม่ได้มองว่าฝนเป็นอุปสรรคเสมอไป แต่กลับเห็นว่าช่วงเวลาที่ฝนพรำเป็นช่วงเวลาที่น่ารื่นรมย์และผ่อนคลาย ได้เพลิดเพลินไปกับการฟังเสียงฝน เสียงกบ และอึ่งอ่าง มองดูทิวทัศน์ หรือสูดกลิ่นดินหลังฝนตก โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเปียก เสมือนกับการได้หยุดพักชั่วคราว ปรับจังหวะชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ”  

สวนจอมแห
ศาลาชมฝน

แดด ฝน คน และต้นไม้ หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไปก็จะทำให้ระบบขาดความสมดุล เช่น หากฝนแล้ง ต้นไม้ก็จะไม่เติบโต หรือหากป่าไม้ถูกทำลาย คนก็จะสูญเสียแหล่งอาหารและทรัพยากร ดังนั้น ถ้าทุกองค์ประกอบอยู่ในภาวะสมดุลและเกื้อกูลซึ่งกันและกันก็จะช่วยให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สามารถดำรงชีวิตร่วมกันได้ สวนโชว์ในครั้งนี้ จึงตั้งใจให้ทุกท่านที่มาเยี่ยมชมงานได้รู้สึกประทับใจกับความงามที่อยู่ตรงหน้า และในขณะเดียวกันก็นึกถึงความสวยงามของอดีต พร้อมเกิดแรงบันดาลใจในการมองเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคต

แล้วมาแชร์ประสบการณ์และความทรงจำร่วมกันได้ที่ “สวนจอมแห”
งานบ้านและสวนแฟร์ Living Festival 2024
ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม – 3  พฤศจิกายน 2567
ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1 – 3  อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ภาพ: ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู