บ้านเหล็กหลังเล็ก ที่ทั้งเรียบเท่และอบอุ่นในหลังเดียวกัน - บ้านและสวน
Another Tetris

บ้านเหล็กหลังเล็ก อยู่สบายสำหรับสมาชิกสามคนและแมวเจ็ดตัว

บ้านเหล็กหลังเล็ก ที่ออกแบบโดยสถาปนิกผู้เป็นเจ้าของบ้าน ล้อมรอบด้วยความอบอุ่นของต้นไม้เก่าแก่ที่คุณพ่อเคยปลูกและบ้านคุณแม่ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล

บ้านเหล็กหลังเล็ก
บ้านทรงกล่องสีดำตั้งอยู่บนที่ดินของครอบครัว โดยบ้านหลังเดิมเป็นบ้านที่คุณแม่ยังอาศัยอยู่ ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้

Design Directory : Permwong Sumalyasak

บนผืนที่ดินของครอบครัวที่อุดมไปด้วยไม้ยืนต้นเก่าแก่ บ้านเหล็กหลังเล็ก สีดำเรียบเท่แทรกตัวอยู่อย่างสงบท่ามกลางต้นไม้ใหญ่สูงค้ำบ้าน บ้านหลังนี้สร้างขึ้นจากความทรงจำอันยาวนานและความผูกพันของ คุณเพิ่ม – เพิ่มวงศ์ สุมาลยศักดิ์ เจ้าของบ้านและสถาปนิก ซึ่งใช้ชีวิตบนที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่จำความได้ เมื่อถึงวัยสร้างครอบครัว จึงวางแผนไว้ว่าบ้านในอนาคตจะต้องตั้งอยู่บนที่ดินเดิม เคียงข้างบ้านหลังเก่าของคุณแม่ ที่ซึ่งคุณเพิ่มรู้จักต้นไม้ทุกต้น รู้จักการเคลื่อนที่ของแสงแดด และทิศทางของสายลมเป็นอย่างดี การออกแบบบ้านหลังนี้จึงสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติได้อย่างลงตัว

บ้านเหล็กหลังเล็ก
ห้องนั่งเล่นออกแบบให้เปิดโล่ง ติดตั้งบานเฟี้ยมและบานเปิดรอบด้านเพื่อให้ลมไหลผ่าน ระบายความร้อนระหว่างวันได้ดี

ด้วยความเคารพต่อต้นไม้ทุกต้นที่คุณพ่อปลูกไว้ตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้คุณเพิ่มตั้งใจสร้างบ้านหลังนี้โดยไม่ตัดต้นไม้ใหญ่แม้แต่ต้นเดียว ดังนั้น ในที่ดินขนาด 2 ไร่ คุณเพิ่มจึงเลือกตำแหน่งที่ตั้งบ้านด้วยความใส่ใจ โดยเลือกหาวงล้อมต้นไม้ที่กว้างมากพอ ออกแบบรูปทรงบ้านให้สัมพันธ์กับตำแหน่งต้นไม้ และสร้างบ้านขนาดเล็กที่เพียงพอกับการใช้งาน เพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ และร่วมกับสมาชิกในบ้าน ได้แก่ คุณหยก – ณฐกาญจน์ สุมน  คุณยาย และบรรดาน้องแมวทั้ง 7 ตัว (ยังไม่นับแมวเพื่อนบ้านที่มาเยี่ยมเยียนอยู่บ่อยๆ) ให้อยู่ร่วมกันอย่างสบาย

Tetris ที่จัดให้ลงตัวกับบริบท

แรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านมาจากเกม Tetris เกมตัวต่อลูกบาศก์หลากทรงที่ต้องจัดสรรให้ลงตัวกับพื้นที่ที่มี สอดคล้องกับโจทย์ของบ้านที่ต้องปรับให้เข้ากับพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ในการออกแบบบ้านจึงเป็นการกระจายฟังก์ชันสี่เหลี่ยมเล็กๆ เรียงต่อกันไปตามพื้นที่ว่างระหว่างต้นไม้ในลักษณะกึ่งคอร์ตยาร์ด  ส่วนชั้น 2 ก็กลับรูปทรงบ้านเพื่อหันตามทิศทางของแสงแดดที่เหมาะสม ตัวบ้านจึงคล้ายเป็นตัวต่อรูปตัว (L) ซ้อนไขว้กันสองชั้น หากมองจากด้านข้างก็จะเห็นความคล้ายคลึงกับตัวต่อ Tetris อย่างชัดเจน และด้วยสไตล์การออกแบบของคุณเพิ่มที่ชื่นชอบสีดำเป็นพิเศษ จึงเลือกใช้วัสดุบ้านเป็นสีดำเกือบทั้งหมด ทำให้บ้านหลังนี้มีความแตกต่างจาก Tetris ต้นฉบับที่มีสีสันสดใส เป็นที่มาของการตั้งชื่อบ้านว่า “Another Tetris” เป็นการตีความ Tetris ขึ้นใหม่ในแบบฉบับของเจ้าของบ้านเอง

ทรงบ้านคล้ายกับตัวต่อ Tetris ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้

สิ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้มีเอกลักษณ์และโดดเด่นยิ่งขึ้นคือบรรยากาศเป็นกันเองที่เจืออยู่ในความเรียบเท่ของบ้าน เกิดจากการออกแบบที่คำนึงถึงบริบทรอบบ้าน บวกกับความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างเจ้าของบ้านกับต้นไม้ซึ่งเติบโตมาพร้อมๆ กัน จนทำให้รู้จักธรรมชาติของต้นไม้ทุกต้น รู้ว่าในอนาคตต้นไม้จะเติบโตไปในทิศทางใด จึงออกแบบบ้านโดยให้การอยู่อาศัยและการเติบโตของต้นไม้สามารถมาบรรจบกันได้

ส่วนห้องนอนที่ยื่นออกมาจากตัวบ้าน ต้องการให้ตัวอาคารดูเบาโดยไม่เพิ่มความหนาคานเหล็ก เพราะจะทำให้ดูทึบตัน จึงออกแบบเสารูปตัววี (V) รับพื้นชั้น 2 เพื่อให้โครงสร้างดูเสมือนลอย

“เพราะผมรู้ว่ามีต้นยางนาที่นับวันจะโตขึ้นเรื่อยๆ มีต้นก้ามปูที่เมื่อโตขึ้นก็จะย้อยมาหาต้นมะฮอกกานี อนาคตก็จะโดนต้นไม้บังทึบหมด ก็เลยออกแบบผนังบ้านฝั่งนี้ให้โล่งเพื่อเปิดมุมมองได้” เมื่อเลือกที่จะออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ไม่มีชายคา การจัดวางช่องเปิดหรือหน้าต่างก็ต้องสัมพันธ์กับรูปทรงอาคาร ผสานกับความแม่นยำในทิศทางลมและแสงแดด การออกแบบเช่นนี้แสดงถึงความพิถีพิถันที่ไม่เพียงแค่คำนึงถึงความสวยงาม แต่ยังให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ที่สุด

ผนังด้านที่แดดแรง ออกแบบเป็นผนังทึบเพื่อบังแดด ปิดผิวด้วยเมทัลชีตแผ่นใหญ่ เพื่อลดรอยต่อให้เหลือน้อย ช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำไหลย้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงสร้างผนังบ้านเป็นเมทัลชีตซ้อนสองชั้น คั่นกลางด้วยผนังก่ออิฐและเว้นช่องว่าง (Air Gap) เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อน
บ้านเหล็กหลังเล็ก
ทำบานเลื่อนกระจกเปิดมุมมองสู่ลานกลางบ้าน สร้างปฏิสัมพันธ์ในที่ดินระหว่างลูกกับแม่ มองเห็นการใช้ชีวิตของกันและกันได้

บ้านเหล็กหลังเล็ก แต่พอดีที่ฟังก์ชัน

บ้านเหล็กหลังเล็ก สูงสองชั้นขนาด 130 ตารางเมตร ดูเหมือนจะเป็นขนาดที่เล็กเมื่อนึกถึงสมาชิกในบ้านร่วม 10 ชีวิต ทว่ากลับพอดีเมื่อใช้งานจริง โดยฟังก์ชันหลักของบ้านในชั้นล่างประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่นซึ่งรวมส่วนรับแขก โต๊ะอาหาร และครัวเป็นห้องเดียวกันในลักษณะโอเพ่นแปลน กั้นห้องของคุณยายเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเป็นส่วนตัว ส่วนชั้น 2 ประกอบด้วยห้องของคุณเพิ่มกับคุณหยก และอีกหนึ่งห้องสำหรับน้องแมวซึ่งถือเป็นสมาชิกหลักของบ้านด้วย

บ้านเหล็กหลังเล็ก
ห้องนั่งเล่นที่เป็นใจกลางของบ้านออกแบบฝ้าเพดานให้เปิดโล่ง (Open to Below) เพื่อให้พื้นที่ดูสูงโปร่งและโล่งสบาย มองเชื่อมขึ้นไปยังชั้น 2 ได้
นอกจากคนแล้ว เหล่าน้องแมวเองก็ชื่นชอบบรรยากาศรอบบ้าน มานั่งเอกเขนกชมวิวต้นไม้อยู่บ่อยๆ

ด้วยความที่คุณเพิ่มทำงานเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จึงให้ความสำคัญกับงานโครงสร้างที่สัมพันธ์กับงบประมาณ โดยแรกเริ่มคุณเพิ่มวางแผนจะใช้ระยะเสาเต็มความยาววัสดุที่ 6 × 6 เมตร เมื่อออกแบบจริงกลับรู้สึกว่าเหลือพื้นที่ว่างมากเกินไป บ้านขนาดเล็กที่มีฟังก์ชันครบถ้วนและเพียงพอนั้นเหมาะสมกว่า จึงลองจัดวางห้องในขนาด 4 เมตร ก็พบว่าทุกอย่างลงตัว ทั้งการจัดวางเฟอร์นิเจอร์และการใช้งานที่กะทัดรัดพอดี ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป โดยที่ยังตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้อย่างครบถ้วน นอกจากการปรับให้พอดีกับฟังก์ชันแล้ว ก็ยังมีการปรับโครงสร้างอีกเล็กน้อยเพื่อให้พอดีกับขนาดวัสดุในท้องตลาด ซึ่งช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ “ระยะเสาของบ้านผมเป็น 4.80 × 4.80 เมตร เพื่อไม่ให้เสียวัสดุเยอะ อย่างกระเบื้องส่วนใหญ่มีขนาด 0.30 เมตร 0.60 เมตร หรือ 1.20 เมตร ก็จะลงตัวหมด ไม่ต้องตัดทิ้ง หรืออย่างเหล็กผมซื้อมาท่อนละ 6 เมตร ผมกั้นห้อง 4.80 เมตร ที่เหลือผมก็ทำระเบียง ทุกสิ่งทุกอย่างผมไม่ให้มันเสียเปล่า”

บ้านเหล็กหลังเล็ก
ระยะจากคานเหล็กที่เหลือจากสแปนบ้าน 4.80 เมตร ยื่นออกมาเป็นเฉลียงมีชายคาคลุมในระยะที่ใช้งานได้พอดี ทำให้วัสดุที่เลือกมาใช้นั้นถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ก่อผนังอิฐโชว์แนวกั้นระหว่างห้องนั่งเล่นกับส่วนรับประทานอาหารให้เป็นสัดส่วน แต่ยังคงความโปร่งโล่งทำให้ห้องดูไม่อึดอัด
ครัวเป็นมุมประจำของคุณยาย เลือกใช้สีดำและผนังก่ออิฐสอดคล้องกับโทนหลักของบ้าน เหนือเคาน์เตอร์ติดตั้งหน้าต่างเพื่อช่วยระบายอากาศในขณะทำอาหาร และเปิดรับแสงธรรมชาติให้ส่องเข้ามาในครัวได้อย่างพอเหมาะ

บ้านเหล็กหลังเล็ก ที่ทำให้ได้ใช้วัสดุที่ไม่เคยใช้มาก่อน

จากความชื่นชอบเหล็กตั้งแต่สมัยเรียน การทำบ้านของตัวเองจึงเป็นโอกาสให้ได้ทดลองใช้วัสดุต่างๆ ในการออกแบบบ้าน ทั้งการใช้โครงสร้างเหล็ก เมทัลชีต  อิฐโชว์แนว และกระจก โดยการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กมีข้อดีตรงที่ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างรวดเร็วกว่าโครงสร้างคอนกรีต เพราะคอนกรีตมีขั้นตอนการเตรียมวัสดุมากกว่า ยังไม่นับขั้นตอนการหล่อและรอเซ็ตตัวเพื่อให้รับน้ำหนักได้ ซึ่งรวมแล้วอาจกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน ในขณะที่โครงสร้างเหล็กหากวางแผนก่อสร้างอย่างรอบคอบ จัดการเวลาขนส่งและการเช่ารถเครนให้พอดี โครงสร้างหลักทั้ง 2 ชั้นก็สร้างเสร็จได้ในเวลาไม่กี่วัน เพราะเมื่อสร้างชั้นแรกเสร็จก็สามารถสร้างชั้น 2 ต่อได้เลยโดยไม่ต้องรอปูนเซ็ตตัว และยังช่วยให้ไซต์งานสะอาดเรียบร้อย ถึงแม้โครงสร้างเหล็กจะมีราคาสูงกว่าคอนกรีต แต่ด้วยขั้นตอนที่น้อยกว่า บวกกับการออกแบบที่ลงตัวก็ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้

ยึดสะลิงเข้ากับหมุดที่พื้นบันไดและฝ้าบ่งบอกขอบเขตของบันได เป็นการกั้นสเปซโดยยังคงความรู้สึกโปร่งเบา
โครงสร้างเหล็กในบางเวลาก็ทำหน้าที่เป็นแคตวอล์กจำเป็นสำหรับน้องแมว
ใช้ตัวหนีบยึดโคมไฟเข้ากับคานแทนการเชื่อม ช่วยเพิ่มความรู้สึกของงานคราฟต์มากยิ่งขึ้น

เลือกจะอยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับ

เนื่องมาจากพื้นที่นี้เคยประสบปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 จึงออกแบบบ้านให้มีใต้ถุนสูงประมาณ 60 เซนติเมตร แทนการถมที่ดินซึ่งอาจกระทบกับบ้านเก่าของคุณแม่ ซึ่งไม่เพียงช่วยระบายอากาศ ช่วยให้ปลอดภัยจากสัตว์เลื้อยคลานรอบบ้าน และยังทำให้สร้างบ้านใกล้ต้นไม้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องห่วงว่ารากไม้จะทลายกำแพง ซึ่งแน่นอนว่าการจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติก็ต้องอาศัยความเข้าใจ และการดูแลซึ่งกันและกันด้วยเพื่อให้อยู่ได้ยาว

มุมสีเขียวท่ามกลางยอดไม้บนระเบียงชั้น 2 เป็นที่ที่คุณเพิ่มพาน้องแมวมาสูดอากาศอยู่บ่อยๆ

“คนอื่นจะมองว่าทำไมต้องไปกวาดใบไม้ แต่เรามองว่าเราอยากอยู่กับต้นไม้ เราก็ต้องกวาด ถ้าเรามองว่าเป็นปัญหามันก็เป็น ถ้าเราไม่มองว่าเป็นปัญหามันก็ไม่เป็น” บ้านหลังนี้เป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงความรักและความเข้าใจในธรรมชาติของคุณเพิ่มและครอบครัว ผ่านการออกแบบที่เน้นความสัมพันธ์กับต้นไม้และธรรมชาติโดยรอบ การเลือกใช้วัสดุอย่างเหมาะสมและควบคู่ไปกับการควบคุมงบการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ บ้านขนาดเล็กหลังนี้จึงมีฟังก์ชันที่ครบถ้วน และเข้าใจความต้องการของทั้งมนุษย์และสัตว์ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทำให้บ้านนี้สามารถเล่าเรื่องราวของครอบครัวผ่านออกมาทางสถาปัตยกรรมได้อย่างมีชีวิตชีวา นอกจากนี้ยังเน้นย้ำแนวคิดที่ว่า การใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้นไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นโอกาสที่ทำให้เปิดมุมมองใหม่ๆให้การออกแบบและการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน

โถงชั้น 2 ติดตั้งตู้เก็บของสะสม โดยจัดองค์ประกอบตู้หลากขนาดให้เข้ากัน ทำให้บรรยากาศโถงดูคล้ายกับตกแต่งด้วยกรอบรูปภาพ
ห้องนอนหลักออกแบบอย่างเรียบง่ายสัมพันธ์กับช่องเปิดและจัดสรรพื้นที่ใช้งานให้เป็นสัดส่วน ด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวโทนสีดำที่โปรดปราน
หน้าต่างของห้องนอนเปิดมุมมองไปยังคอร์ตต้นไม้ ซึ่งรับแสงอาทิตย์ในยามเช้าทางทิศตะวันออก ช่วยสร้างบรรยากาศสดชื่นต้อนรับวันใหม่
ทุกช่องเปิดออกแบบตามตำแหน่งต้นไม้ที่มีรอบบ้าน อย่างในห้องน้ำ นอกจากต้นไม้จะทำหน้าที่เป็นส่วนตกแต่งเขียวชอุ่มแล้ว ยังช่วยเป็นม่านพรางตาจากภายนอกได้เป็นอย่างดี
ใต้ถุนบ้านทำให้ออกแบบบ้านใกล้ชิดต้นไม้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องจำกัดการหาอาหารของต้นไม้ หรือรากไม้จะทลายกำแพง

  • เจ้าของ – ออกแบบ : คุณเพิ่มวงศ์ สุมาลยศักดิ์ และคุณณฐกาญจน์ สุมน
  • เรื่อง : ณัชชา คู่พันธวี
  • ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส และธนายุต วิลาทัน
  • สไตล์ : Suntreeya

บ้านคอนเทนเนอร์กลางป่า ที่สะท้อนธรรมชาติเข้ามาไว้ในบ้าน

บ้านสำเร็จรูปหลังน้อย อยู่สบายกลางเมืองใหญ่

ติดตามบ้านและสวน