งูเข้าบ้าน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เมื่อเจอสัตว์เลื้อยคลานบุกที่อยู่อาศัยแบบนี้ เราควรมีขั้นตอนการจัดการอย่างไร ที่จะเกิดความปลอดภัยทั้งคนและสัตว์
งูเข้าบ้าน ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จักกันก่อนว่า มีงูอะไรบ้างที่ชอบบุกที่อยู่อาศัยของเรา เพื่อที่เราจะได้จำแนกประเภทงูได้ว่า เป็นงูมีพิษ หรือไม่มีพิษ และนำส่งข้อมูลแก่หน่วยกู้ภัยได้ถูกต้อง
กลุ่มงูไม่มีพิษ
5 อันดับงูชอบเข้าบ้าน เป็นชนิดที่ไม่มีพิษ ได้แก่ กลุ่มงูงอด-ปี่แก้ว งูเขียวพระอินทร์ งูสิง งูปล้องฉนวน และงูทางมะพร้าว
-กลุ่มงูงอด-ปี่แก้ว มีขนาดเล็ก ลำตัวสีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลอมเทา หัวมีขีดสีดำพาดบริเวณท้ายทอยมีปื้นยาวสีดำ งูงอดไทยจัดเป็นงูที่ไม่มีอันตราย อาศัยหากินตามพื้นดิน กินจิ้งเหลน กบ เขียด และไข่เป็นอาหาร
-งูเขียวพระอินทร์ พบได้บ่อยแม้อยู่ในเมือง มีลายงีเขียวสลับดำ ขึ้นต้นไม้และอาคารเก่ง มักพบตามขอบประตูและหน้าต่าง
-งูทางมะพร้าว พื้นสีเหลือง ช่วงคอค่อนข้างดำ ตัวค่อนข้างใหญ่เคลื่อนที่เร็ว แผ่แม่เบี้ยในแนวตั้ง มักทำเสียงขู่ แต่จวนตัวจะแกล้งตาย
-งูสิง มีลักษณะคล้ายงูเห่า-จงอาง แต่ไม่มีพิษ หรือพิษอ่อน เมื่อถูกคุกคามมักจะขู่ฟ่อเหมือนงูเห่า แต่ไม่มีแม่เบี้ย
-งูปล้องฉนวน มีลักษณะคล้ายงูทับสมิงคลา งูปล้องฉนวน ไม่มีพิษ รูปร่างเพรียว ลำตัวเรียวยาว มีแถบสีขาวสลับดำหรือสีดำอมเทา
กลุ่มงูมีพิษ
งูพิษในไทยที่พบเจอบ่อยแบ่งได้ราว 6 กลุ่ม ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ และงูสามเหลี่ยม
-งูเห่า มักพ่นลมขู่ และแผ่ “แม่เบี้ย” หรือ “พังพาน” เมื่อถูกคุกคาม มีหลายสี เช่น ดำ, น้ำตาล, เขียวอมเทา เหลืองหม่น รวมทั้งสีขาวปลอดทั้งลำตัว
-งูจงอาง เป็นงูพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อถูกคุกคามจะยกตัวสูงขึ้นครึ่งหนึ่งของความยาวตัวเพื่อขู่ศัตรู ว่ายน้ำเก่ง มีหลายสี ที่พบมากที่สุดคือ สีดำและเขียวอมเทา และสีนํ้าตาล ท้องมีสีเหลืองจนเกือบขาว มีสีแดงเกือบส้มที่บริเวณใต้คอ
-งูเขียวหางไหม้ หัวสามเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ ปลายหางมีสีน้ำตาลแดง ชอบอาศัยตามซอกชายคา ออกหากินในเวลากลางคืนทั้งบนต้นไม้และตามพื้นดินที่มีหญ้ารก
-งูแมวเซา รูปร่างอ้วนป้อม ลำตัวสั้น หางสั้น เมื่อถูกคุกคามจะขดตัวและเตรียมต่อสู้ พร้อมทั้งทำเสียงขู่คล้ายแมว ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนอมเทา
-งูกะปะ มักออกหากินในเวลาพลบค่ำและกลางคืน โดยเฉพาะในเวลาที่มีความชื้นในอากาศสูง เช่น หลังฝนตก
-งูสามเหลี่ยม มีหัวกลม บางตัวหัวแบนเล็กน้อย ลำตัวเรียวยาว ปลายหางมักทู่ ลำตัวเป็นสันสามเหลี่ยมชัดเจน และมีสีเป็นปล้องดำสลับเหลืองทั้งตัว ออกหากินในเวลาพลบค่ำจนถึงกลางคืน
การจัดการ
1.ตั้งสติ เมื่อเจองูเข้าที่พักอาศัยของเรา สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ “ตั้งสติ” และอย่าวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว เพราะการเคลื่อนไหวแบบรวดเร็วหรือฉับพลันอาจกระตุ้นให้งูตกใจ และจะป้องกันตัวด้วยการกัดได้ ควรค่อยๆ ถอยหลังออกมาอย่างช้าๆ และไม่ทำให้งูรู้สึกถูกคุกคาม
2.สังเกตลักษณะงู ควรจดจำลักษณะงูให้ได้ เพื่อแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ และเพื่อจัดการเบื้องต้นได้ ที่สำคัญคือสามารถจำแนกได้ว่าเป็นงูมีพิษหรือไม่มีพิษ
3.ไม่ควรจับงูด้วยตัวเอง ไม่ควรจับหรือไล่งูด้วยตัวเอง เพราะงูบางชนิดอาจมีพิษร้ายแรง หากเราไม่เคยฝึกฝนอาจเกิดอันตรายได้
4.กันพื้นที่ ควรพยายามกันพื้นที่ เช่น ปิดประตูหรือวางสิ่งกีดขวางไม่ให้งูเลื้อยไปยังส่วนอื่นๆ ของบ้าน ถ้างูอยู่ในห้องที่ปิดประตูได้ ควรอุดช่องว่างใต้ประตูด้วย
5.เรียกผู้เชี่ยวชาญ ติดต่อกู้ภัยเบอร์ 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจับงู และควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับขนาดและสีของงู เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ได้สะดวกขึ้น
6.เมื่อถูกกัดห้ามขันชะเนาะ การขันชะเนาะ จะทำให้เลือดไม่เดินและเนื้อตาย และยังไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของพิษได้ ควรทำเหมือนเข้าเฝือกอ่อน ใช้ไม้และผ้ายืดพันให้ขยับน้อยที่สุด ป้องกันการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่จะทำให้พิษเดินหรือแพร่กระจายได้เร็วขึ้น และพยายามอย่าให้อัตราการเต้นของหัวใจขยับสูงกว่าเดิม
.
ขอบคุณข้อมูลจาก : สายด่วนงูเข้าบ้าน, จระเข้
บทความที่เกี่ยวข้อง