อาคารคาเฟ่ Heal Space สไตล์นอร์ดิกสีขาวสะอาดตา รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่และสนฉัตรฟอร์มสวยตัดกับท้องฟ้าสีคราม ด้านล่างเต็มไปด้วยต้นไม้ดอกไม้หลากหลายสีสันในสไตล์สวนอิงลิชคอตเทจ (English Cottage Garden)
จากสวนไม้ผลและไม้เศรษฐกิจที่ต้องเคลียร์พื้นที่ย้ายต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ ออกกว่า 30 ต้น ใช้เวลาแค่ 20 วัน เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็น Heal Space คาเฟ่ในสวนทำได้อย่างไร ติดตามไปดูกัน
“ตอนนั้นพิมกลับมาดูแลแม่ในช่วงที่ท่านป่วยก็คุยกับแม่ค่ะว่าจะกลับมาอยู่บ้านแล้วนะ จะเปิดร้านทำธุรกิจเล็ก ๆ อยากให้เขาเห็นแล้วมีความสุข แต่หลังจากลงเสาเข็มได้อาทิตย์เดียวคุณแม่ก็เสียค่ะ ” คุณพิม-นันท์ณภัทร กาญจน์ธนโชติกุล เริ่มเล่าที่มาให้เราฟัง
“ซึ่งหลังจากที่คุณแม่เสีย พิมก็ยังคงความตั้งใจเดิมที่จะลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ กลับมาอยู่ดูแลคุณพ่อ จึงเริ่มปรึกษากับคุณโจ้ซึ่งเป็นเพื่อนของเพื่อนที่แนะนำต่อกันมา เกี่ยวกับการเปิดคาเฟ่ในสวน แต่ทั้งนี้พิมเองก็ไม่มีความรู้เรื่องต้นไม้เรื่องสวน ไม่รู้ว่าสวนสไตล์ไหนเป็นแบบไหน อาศัยส่งรูปที่ชอบให้คุณโจ้ดู จากนั้นคุณโจ้ก็เริ่มออกแบบและใช้วิธีเล่าให้ฟังว่าตรงไหนจะทำอะไรบ้าง อย่าง เดินเข้าทางไหน ปลูกต้นไม้ตรงไหน ภาพรวมของแปลงดอกไม้จะออกมาหน้าตาประมาณไหน ซึ่งจากการดูผลงานจัดสวนของคุณโจ้ที่เพจ พิมก้รู้สึกชอบและเชื่อในฝีมือเขาค่ะ”
จากการพูดคุยเราได้ข้อมูลว่าที่นี่เดิมเป็นสวนผลไม้ปลูกชมพู่ ปลูกฝรั่ง อีกทั้งคุณพ่อของคุณพิมรักต้นไม้และชอบปลูกต้นไม้มาก จนปลูกไว้เต็มพื้นที่ แต่เมื่อคุณพิมต้องการเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นคาเฟ่ จึงจำเป็นต้องเคลียร์ต้นไม้เดิมออกบางส่วน เพื่อเปิดเป็นที่โล่งไว้สำหรับจัดสวน “แต่เดิมคุณพ่อปลูกพวกไม้เศรษฐกิจ ทั้งมะฮอกกานี พะยูง ราชพฤกษ์ ขี้เหล็ก อินทผาลัม เพื่อไว้ตัดขายตอนต้นโต ซึ่งที่ปลูกไว้ก็ค่อนข้างแน่นและถี่ เรียงเป็นแถวเหมือนสวนยางพาราเลยครับ โจ้จึงต้องคุยกับคุณพ่อด้วยเหตุผล อธิบายให้ฟังว่าทำไมถึงต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ให้ทางเลือกกับคุณพ่อว่าถ้าทำแบบนี้จะมีผลดีอะไรบ้าง ทำแบบนั้นจะเกิดผลเสียอะไรไหม ไม่ได้บอกว่าจะทำอะไรแล้วทำทันทีครับ ให้เวลาท่านได้คิดแล้วตัดสินใจเลือก” คุณโจ้-คมกฤต สุขทอง พูดถึงวิธีการเจรจากับคุณพ่อ เพื่อเริ่มต้นการทำงานให้ฟังให้ฟัง
“หลังจากที่พูดคุยและปรึกษากับคุณพ่อแล้ว โจ้ก็ได้ย้ายไม้ใหญ่ออกไปประมาณ 30 ต้น ภายในเวลา 2 วันครับ ด้วยวิธีการย้ายสดคือ ขุดล้อมแล้วย้ายไปปลูกตำแหน่งใหม่ในพื้นที่เดิมทันที เราไม่ได้ขุดล้อมขึ้นมารอพักฟื้นเพื่อย้ายไปปลูกที่อื่น ซึ่งแบบนั้นจะใช้เวลาทำงานนานกว่าครับ … ตอนเริ่มต้นก็ค่อนข้างยากนะครับ มองไม่ออกเลยว่าควรจะเอาต้นไหนบริเวณไหนออกบ้างเพราะปลูกไว้แน่นมาก เราต้องเริ่มจากกำหนดพื้นที่ที่จะจัดสวนให้แน่นอนก่อน แล้วค่อย ๆ เคลียร์ต้นไม้ออก เปิดพื้นที่ให้โล่งมากขึ้น ให้แสงเพียงพอที่จะปลูกไม้ดอก ตอนอยู่หน้างานระหว่างที่เคลียร์ต้นไม้เราจะเริ่มมองเห็นครับว่าต้องเอาต้นไหนออก ต้องย้ายต้นไหน เก็บต้นไหนไว้บ้าง ภาพสวนจะชัดขึ้นก็เริ่มจะทำงานง่ายขึ้นครับ ถ้าเราไม่ย้ายต้นออกแต่ใช้วิธีตัดแต่งทรงพุ่ม เพื่อเปิดให้แสงผ่านได้มากขึ้นก็จะเกิดปัญหาในระยะยาวครับ ก็คงจะต้องตัดแต่งกันอยู่เรื่อย ๆ การย้ายออกปลูกที่ใหม่ง่ายกว่าครับ”
คุณโจ้เล่าเพิ่มว่า ต้นไม้ที่ขุดออกไปจะถูกย้ายไปปลูกรอบนอกของพื้นที่และย้ายไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม หลายชนิดยังใช้เป็นต้นไม้จัดสวนได้ เช่น มะฮอกกานี พะยูง ราชพฤกษ์ ขี้เหล็ก สวนนี้ต้องพิจารณามุมมองทั้งจากภายนอกมองเข้าไปที่คาเฟ่ เเละจากคาเฟ่มองออกไปที่ด้านนอก ต้นไหนที่รู้สึกว่าบังวิวก็จะถูกย้ายออก แต่ก็ยังต้องเก็บบางต้นบางมุมไว้ เพื่อช่วยบังร้านขายข้าวแกงของคุณพ่อที่อยู่ติดกัน และช่วยสกรีนเสียงและลดฝุ่นจากถนนใหญ่ที่อยู่ด้านหน้า ส่วนพื้นที่อีกสามด้านอยู่ติดกับสวนไม้ผลของญาติ ๆ ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องการใช้ยาฆ่าแมลงที่เข้ามารบกวนบริเวณของคาเฟ่ได้ คุณโจ้เลือกเก็บต้นไม้ใหญ่เดิมไว้บางส่วน เพื่อใช้บังมุมมองและช่วยสกรีนยาฆ่าแมลง รักษาความเป็นส่วนตัวของพื้นที่จัดสรรพื้นที่และเลือกปลูกต้นไม้ในตำแหน่งที่เหมาะสมลงตัวที่สุด
“ภาพเรฟเฟอร์เร้นช์ที่คุณพิมส่งมาให้มีทั้งสวนเมดิเตอร์เรเนียนและสวนคอตเทจครับ ซึ่งด้วยสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศของที่นี่สามารถจัดเป็นสวนเมดิเตอร์เรเนียนและสวนคอตเทจได้ครับ โดยโจ้เลือกใช้สไตล์สวนเมดิเตอร์เรเนียนเป็นหลักในการออกแบบเลือกใช้ไม้ใบสีเขียวอ่อน สีเทาเงิน ต้นไม้พวก สน อากาเว่ เลมอน พื้นโรยด้วยกรวด และเลือกใช้ไม้ดอก รวมไปถึงการจัดกลุ่มต้นไม้สไตล์สวนคอตเทจเข้ามาร่วมด้วยครับ
“ด้วยความที่อาคารเป็นสไตล์นอร์ดิกก็กังวลอยู่บ้างครับว่าจะเข้ากับสไตล์สวนรึเปล่า แต่สีของอาคารเป็นสีโทนธรรมชาติ สีขาว สีครีม สีเบจ ซึ่งไปด้วยกันได้ดีกับสีต้นไม้ดอกไม้สไตล์สวนคอตเทจ ส่วนเรื่องความสูงของอาคารก็มีผลกับการออกแบบบ้างครับ ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมก็ไม่ได้เข้ากับสไตล์สวนเมดิเตอร์เรเนียนหรือสวนคอตเทจมากนัก โจ้ปลูกสนฉัตรเพิ่ม เพื่อดึงบรรากาศความเป็นสวนอังกฤษให้มากขึ้น และช่วยบาลานซ์สเกลระหว่างต้นไม้ใหญ่เดิมกับอาคารครับ
“โจ้จะชอบเลือกใช้ต้นไม้ที่ใบมีขนาดเล็ก ผิวสัมผัสดูละเอียด และต้นที่มีใบลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว เลือกปลูกต้นไม้หลายชนิดในแปลงปลูก แต่ก็เลือกที่มีลักษณะใบที่ดูกลมกลืนกัน สร้างความแตกต่างด้วยลักษณะของทรงพุ่ม เช่น การตัดแต่งเป็นพุ่มกลม แต่ก็ต้องเลือกต้นที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและสภาพพื้นที่ด้วยครับ แต่บางครั้งต้นไม้บางอย่างอาจจะดูไม่เหมาะแต่เขาก็จะมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ นอกจากนี้จะสังเกตเห็นว่ามีหญ้าประดับอยู่หลายชนิด ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวครับ”
“นอกจาก พื้นที่นี้จะช่วยฮีลใจให้คุณพ่อและตัวพิมเองแล้ว พิมก็อยากให้ลูกค้าได้ดื่มกาแฟหอม ๆ กินขนมอร่อย ๆ ในบรรยากาศสวนสวย ๆ เป็นพื้นที่ฮีลใจลูกค้าที่มาเยือนด้วยเช่นกันค่ะ ถ้าใครผ่านมาทางนี้ก็แวะมาได้นะคะ”
Heal Space Officials
ติดริมถนนเพชรเกษม ต.ดอนขุนห้วย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ร้านเปิด 8:00-17:00 น. (หยุดวันพุธ)
โทร. 084 165 6639
Facebook: Heal Space Officials
เจ้าของ : คุณนันท์ณภัทร กาญจน์ธนโชติกุล
จัดสวน : คนสวน Landscape โดยคุณคมกฤต สุขทอง โทรศัพท์ 08-7224–3078
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง
ผู้ช่วยช่างภาพ : จันทิมา ชื่นคุ้ม