เพราะการ จัดสวนหน้าบ้านด้วยตนเอง มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เนื่องจากความชอบ ข้อจำกัด และขนาดของพื้นที่นั้นๆ
บ้านและสวน จึงอยากชวนทุกคนมาลอง จัดสวนหน้าบ้านด้วยตนเอง ให้เหมาะกับพื้นที่ว่างของแต่ละบ้าน โดยตั้งต้นจากขนาดของพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขนาดคร่าวๆ ได้แก่ สวนขนาดเล็ก (S) สวนขนาดกลาง (M) และสวนขนาดใหญ่ (L) กัน
- 10 พื้นที่สวนจัดยาก ปลูกต้นไม้ลำบาก พร้อมแนวทางการแก้ปัญหา
- แนะไอเดียจัดสวนในบ้านจัดสรรทั่วไปที่หน้าบ้านต่อกับข้างบ้าน รูปตัวแอล(L)
S – Small Garden
การใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าในสวนขนาดเล็ก
สวนขนาดเล็กมักมีพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งหัวใจหลักของการจัดสวนในพื้นที่ขนาดเล็ก คือ
1. การจัดการมุมมอง หรือ Focal Point ที่ดึงดูดสายตา
การเลือกมุมมองของสวนให้สวยงามควรอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ง่ายจากจุดที่ใช้งานหลัก หรือใช้ประจำภายในบ้าน อย่างห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร หรือห้องนอน เพราะจะช่วยให้สามารถกำหนดจุดเด่นหรือจุดนำสายตาได้เหมาะสมที่สุด และถ้าสวนมีขนาดเล็กก็ควรเพิ่มรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงไป เช่น กระถาง หิน เฟอร์นิเจอร์ หรือรูปปั้น เพื่อให้สวนมีเอกลักษณ์ มีมิติ และดูน่าสนใจ นอกจากนี้ ควรเลือกใช้วัสดุที่ดูละเอียดควบคู่กับการเลือกใช้โทนสีอ่อนหรือสีพาสเทล เพื่อให้สวนดูกว้างและสบายตามากยิ่งขึ้น แต่หากชอบสีเข้มๆ ก็อาจเลือกใช้สักประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สวนสวยดูเท่ และไม่อึดอัดจนเกินไป
2. การจัดการพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พื้นที่ใช้งานในสวนขนาดเล็กมักมีข้อจำกัด ทำให้การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์จะต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น เคาน์เตอร์บาร์ ม้านั่งยาว ที่นั่งบิล์ทอิน หรืออาจเลือกใช้ประเภทที่สามารถจัดเก็บได้ง่าย เช่น เก้าอี้พับ เก้าอี้แคมปิ้ง และควรออกแบบให้ทางเดินสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างราบรื่น ไม่ควรมีสิ่งกีดขวางที่ทำให้พื้นที่ดูแคบลง ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักใช้ทางเดินที่เรียบง่าย อาจเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้งเล็กๆ เพื่อประหยัดพื้นที่ และใช้วัสดุที่ไม่กินพื้นที่มาก เช่น แผ่นหิน กรวด หรืออิฐขนาดเล็ก
พรรณไม้ หากพื้นที่เล็กแต่เลือกปลูกต้นไม้ใหญ่หรือจำนวนมากก็จะทำให้ตัวบ้านเสียหายได้ง่าย ควรเลือกต้นไม้ขนาดเล็กหรือปานกลางที่ไม่กินพื้นที่มาก เช่น ต้นไม้ในกระถาง ต้นไม้เล็กที่เหมาะสำหรับในร่ม หรือต้นไม้ปลูกในแนวตั้ง เพื่อประหยัดพื้นที่ เลือกใช้พรรณไม้ชนิดที่มีผิวสัมผัสละเอียด หรือแบบเส้นหลอกตาให้สวนดูกว้างขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้ไม้ใบใหญ่ และพรรณไม้หลายชนิด เพราะจะดูยิบย่อยเกินไป รวมถึงควรหลีกเลี่ยงพรรณไม้ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งานได้ นอกจากนี้ ต้นไม้ยังควรได้รับการตัดแต่งอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ดูรกและเกะกะ
M – Medium Garden
การสร้างความสมดุลในสวนขนาดกลาง
สวนขนาดกลางมักเป็นพื้นที่ในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮม ซึ่งหัวใจหลักของการจัดสวนในพื้นที่ขนาดกลาง คือ ความพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป เพราะข้อผิดพลาดที่มักเกิดกับสวนขนาดนี้คือ การใช้ชนิดต้นไม้และใส่ของตกแต่งมากเกินไป เนื่องจากนึกภาพไม่ออกว่า แค่ไหนจึงจะพอดี การดูตัวอย่างสวนหลายๆ แบบ เข้าใจขนาด และความต้องการการใช้งานพื้นที่ จะทำให้สามารถจัดวางของตกแต่งได้สวยและลงตัวมากขึ้น
ในขั้นตอนแรกก่อนลงมือออกแบบจัดสวน จึงอาจเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ว่ามีขนาดพื้นที่มาก-น้อยแค่ไหน อยู่ในทิศทางที่มีแสงแดดเพียงพอหรือไม่ รวมไปถึงหมู่บ้านจัดสรรบางแห่งอาจมีข้อกำหนดเรื่องการจัดสวน เช่น ห้ามปลูกต้นไม้ที่ใหญ่เกินกำหนดความสูง หรือห้ามทำบ่อน้ำ จากนั้นจึงค่อยวางผัง และเลือกขนาดของพรรณไม้ให้สัมพันธ์กับขนาดของสวน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ไม่รบกวนเพื่อนบ้านแล้ว ยังทำให้ต้นไม้แต่ละต้นสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และไม่รกหรือดูอึดอัดมากจนเกินไป
พรรณไม้ ควรคำนึงถึงสัดส่วนระหว่างต้นไม้กับพื้นที่ว่าง ไม่ควรปลูกต้นไม้เยอะเกินไปจนทำให้พื้นที่รอบบ้านดูแออัด หรือน้อยเกินไปจนไม่ช่วยสร้างความร่มรื่น ซึ่งการปลูกต้นไม้อาจมีการแบ่งระดับหรือสร้างความหลากหลายของความสูง โดยปลูกต้นไม้ใหญ่หรือพุ่มไม้สูงไว้ด้านหลัง แล้วปลูกต้นไม้ขนาดเล็กไว้ด้านหน้า เพื่อสร้างมิติและความลึก อีกทั้งตำแหน่งที่ปลูกควรสัมพันธ์กับการใช้งานและมุมมอง ในจุดที่ไม่ได้ใช้งานมากนักสามารถจัดสวนแบบสบายๆ ปล่อยให้มีพื้นที่โล่งบ้าง แล้วเน้นรายละเอียดจุดที่ใช้งานบ่อยๆ แทน นอกจากนี้ อาจเลือกปลูกพืชที่ให้ประโยชน์ เช่น สมุนไพร ผักสวนครัว หรือไม้ผลเล็กๆ เช่น มะนาว พริก หรือกะเพรา ที่สามารถนำมาใช้ในครัวเรือนได้ ทั้งนี้ควรหมั่นตัดแต่งพุ่มไม้หรือต้นไม้ที่โตเร็วเป็นประจำ เพื่อให้พื้นที่รอบบ้านดูเรียบร้อย ไม่รกหรือบดบังแสงแดดและทางเดิน
L – Large Garden
การวางแผนระยะยาวในสวนขนาดใหญ่
สวนขนาดใหญ่เป็นสวนที่มีทั้งความยากและง่ายในตัว ความง่ายคือมีข้อจำกัดด้านการใช้งานและการเลือกใช้พรรณไม้น้อย สามารถเลือกได้หลากหลายชนิดและขนาด หรืออาจปลูกชนิดเดียวเป็นแปลงกว้างๆ ก็ยังสวย แต่สิ่งที่ยากคือการเริ่มต้น เพราะอาจจะมองภาพไม่ออกว่าจะกำหนดตำแหน่งพื้นที่ใช้งานหรือไม้ยืนต้นไว้ตรงไหน ดังนั้น การวาดแบบร่างการจัดสวน เพื่อกำหนดพื้นที่การใช้งานของแต่ละส่วน เช่น สระน้ำ ทางเดิน โรงเรือน และโซนสำหรับพักผ่อน รวมไปถึงตำแหน่งของต้นไม้ใหญ่ที่ต้องการเก็บรักษา ก็จะช่วยให้สามารถเห็นภาพรวมของสวนได้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้หัวใจหลักของการจัดสวนในพื้นที่ขนาดใหญ่ คือ
1.การใช้งานในระยะยาว รวมถึงการเพิ่มหรือปรับเปลี่ยนฟังก์ชันต่างๆ ในอนาคต
ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและคำนึงถึงหลายปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากสวนขนาดใหญ่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการสร้างสวนหลายรูปแบบ เช่น สวนอังกฤษ สวนญี่ปุ่น หรือสวนสไตล์ธรรมชาติ และสามารถกำหนดพื้นที่การใช้งานได้หลากหลาย เช่น สวนผัก สวนดอกไม้ สนามหญ้า พื้นที่พักผ่อน หรือพื้นที่สำหรับจัดงานเลี้ยง อีกทั้งยังสามารถออกแบบให้ทั้งสวนมีความต่อเนื่องเชื่อมต่อเป็นเรื่องราวเดียวกัน หรือแบ่งพื้นที่การจัดสวนออกเป็นระยะ (Phase) ได้ ดังนั้น ควรกำหนดวัตถุประสงค์การใช้งานหลัก และมีการวางแผนระยะยาว สำหรับความต้องการใหม่หรือมีความชอบที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเลือกใช้วัสดุที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย เช่น แผ่นหินหรือกระเบื้อง เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ มีการกำหนดให้มีพื้นที่เปิดโล่งหรือที่ว่างในสวนไว้บางส่วน สำหรับการสร้างโครงสร้างหรือรองรับฟังก์ชันใหม่จากความต้องการหรือสมาชิกในบ้าน รวมไปถึงการเว้นพื้นที่สำหรับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่จะใช้เวลาในการเติบโต
2. การบำรุงรักษาในระยะยาว
เนื่องจากพื้นที่สวนมีขนาดใหญ่ ความต้องการในการดูแลจึงมากตามไปด้วย ก่อนการจัดสวนจึงควรมีการตรวจสอบสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ต้องการจัดสวนว่าเป็นดินประเภทไหน เพื่อให้สามารถเลือกใช้ชนิดพรรณไม้ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่และต้องการการดูแลน้อยทั้งในเรื่องการให้น้ำ ปุ๋ย การตัดแต่ง และการป้องกันศัตรูพืช เป็นพื้นที่มีความลาดเอียงหรือไม่ เพื่อกำหนดทิศทางการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมขังในสวน สวนขนาดใหญ่อาจมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำหรือการจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอ จึงควรวางแผนระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบสปริงเกลอร์ หรือการติดตั้งระบบน้ำอัตโนมัติ ซึ่งการแบ่งโซนของสวนจะช่วยให้จัดการได้ง่ายและลดเวลาการดูแล นอกจากนี้ ยังอาจเลือกใช้ไฟโซลาร์เซลล์หรือระบบไฟที่ควบคุมด้วยเซ็นเซอร์ เพื่อลดการใช้พลังงานและการบำรุงรักษาไฟในระยะยาว เพิ่มความคงทนและความยั่งยืนให้สวนในอนาคตอีกด้วย
นิตยสารบ้านและสวนเดือนพฤศจิกายน 2567
เรื่อง : สริดา จันทร์สมบูรณ์
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล