สวนป่าญี่ปุ่น และสวนยุโรปแบบโมเดิร์น ของคนเพื่อนเยอะ

“ผมเป็นคนมีญาติและเพื่อน ๆ ค่อนข้างเยอะ จึงอยากได้พื้นที่ใช้สอยในสวนมากหน่อยครับ” คุณหนุ่ม – ศรัญ ชูมื่นไวย์ เล่าถึงการจัด สวนป่าญี่ปุ่น และสวนยุโรปแบบโมเดิร์นแห่งนี้ให้เราฟัง

เลือกใช้ต้นไม้ที่มีคอนทราสต์ค่อนข้างชัดเจน เช่น ชาฮกเกี้ยนที่ตัดแต่งเป็นพุ่มกลม ในขณะที่ด้านล่างปลูกเศรษฐีไซ่ง่อนเขียวที่มีใบเป็นเส้นเรียวยาว หรือด้านล่างปลูกไม้ดอกเลื้อยอย่างเช่นเดซี่หรือผกากองเลื้อย โดยพิจารณาจากความเข้ากันได้ อยู่ด้วยกันแล้วดูไม่ขัดเขิน
สวนป่าญี่ปุ่น
สวนป่าญี่ปุ่นจะมีลักษณะเป็นเนินไม่ราบเรียบ คุณมอร์ปลูกไม้ใหญ่โดยยกตุ้มดินให้ลอยสูงขึ้น แล้วถมดินทำเป็นเนินที่โคนต้น เวลาฝนตกหรือรดน้ำน้ำจะระบายไหลลงไป ไม่ขังแฉะ ช่วยให้มอสส์เติบโตได้ดีขึ้น

พื้นที่สวนทั้งหมดกว่า 1 ไร่ คุณมอร์-อัศนัย แก่นจันทร์ นักจัดสวนจากร่มรื่น แลนด์สเคป ได้ออกแบบให้เป็นสวน 2 สไตล์ โดยโซนหน้าบ้านจัดเป็นสวนยุโรปแบบโมเดิร์น เพื่อให้ดูเป็นระเบียบและดูแลง่าย และมี สวนป่าญี่ปุ่น กระจายอยู่ทั่วทั้งบ้าน อีกทั้งยังได้ตัดทอนดีเทลบางส่วน เพื่อไม่ให้ดูเป็นสวนแบบใดแบบหนึ่งที่ชัดเจนจนเกินไป และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว

สวนป่าญี่ปุ่น
การทำเนินในสวนทำให้พื้นด้านล่างของสวนมีลักษณะเป็นเนินมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ดินที่เราขุดออกมาจากการปลูกต้นไม้ก็ไม่ต้องขนออกนอกพื้นที่เยอะ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการถมทำเป็นเนิน อีกทั้งเนินยังช่วยสร้างมิติให้สวนเพิ่มได้ด้วยโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ
สวนป่าญี่ปุ่น
ทางเดินในสวนแม้จะใช้เส้นตรง แต่ก็เพิ่มลูกเล่นด้วยการทำเป็นสเต็ปขั้นบันได และการเลือกใช้วัสดุที่หลากหลายแตกต่างกันไป หินบะซอลต์ก้อนสี่เหลี่ยมเต๋าวางเรียงกันทีละก้อน พื้นสเต็ปต่างระดับนี้ยังช่วยเรื่องการระบายน้ำในสวนได้อีกด้วย

“การวางผังสวนผมดูจากกิจกรรมของเจ้าของบ้านเป็นหลักครับ และดูจากมุมมองต่าง ๆ ร่วมด้วย โซนหน้าบ้านติดรั้วจัดเป็นสวนญี่ปุ่นเล็ก ๆ มีศาลาไว้รับแขกที่มาติดต่องาน คุณหนุ่มมีปลาแรดเผือกที่เคยเลี้ยงไว้ที่บ้านเดิมและอยากย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ด้วย ผมทำบ่อปลาไว้ด้านใน เพิ่มศาลาไว้นั่งเล่นและต้อนรับญาติ ๆ ลูกสาวคุณหนุ่มอยากได้ชิงช้า ผมเลือกให้อยู่ที่สวนข้างบ้าน ถัดเข้าไปด้านในยังมีสวนญี่ปุ่นอยู่ริมสระว่ายน้ำและห้องคาราโอเกะ จะเห็นว่ามีจุดนั่งเล่นจุดต้อนรับกระจายอยู่ทั่วสวน ตั้งแต่หน้าบ้านไปจนถึงริมสระว่ายน้ำที่อยู่หลังบ้าน เพื่อใช้รองรับเพื่อน ๆ และญาติตามลำดับความสนิทครับ”

ศาลาสไตล์โมเดิร์นที่ดูเรียบง่าย ขนาด 4×6 เมตร ใช้นั่งเล่นและรับรองญาติๆ มีลิ้นน้ำตกเพื่อเพิ่มเสียงเพิ่มความเคลื่อนไหว พื้นศาลาเป็นไม้เทียมซ่อนบ่อกรองไว้ด้านล่าง ส่วนที่นั่งและผนังน้ำตกกรุด้วยกระเบื้องลายหินอ่อน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าที่นั่งในศาลาด้านหนึ่งมีขนาดค่อนข้างกว้างและสูง เพื่อให้ใช้นอนและนั่งห้อยขาได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ดูต่างไปจากงานของคุณมอร์ที่เคยเห็น คือการเลือกใช้ต้นไม้และการจัดกลุ่มต้นไม้ สวนนี้มีขนาดใหญ่มากก็จริง แต่กลับเห็นต้นไม้ที่ไม่หลากหลายมากนัก บริเวณหน้าบ้านที่เป็นสวนแบบฝรั่งรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ที่เห็นได้ในสวนทรอปิคัล ไม่ว่าจะเป็น เสม็ดแดง เสม็ดขาว พะยูง มะกอกน้ำ มั่งมี พะยอม แทนที่จะเป็นต้นสนเหมือนสวนสไตล์ยุโรปทั่วไป

สวนข้างบ้านยังคงเลือกที่จะผสมผสานระหว่างไม้ตัดแต่งทรงพุ่มกับไม้ที่โตแบบฟรีฟอร์ม ให้ภาพรวมที่ยังคงดูเป็นธรรมชาติแต่ก็มีความโมเดิร์นผสมอยู่ด้วย

“คุณหนุ่มเสพงานสวนทรอปิคัลมาเยอะและก็ชอบด้วย ต้นไม้ใหญ่พวกนี้เราไปเลือกซื้อกันมาตั้งแต่แรกแล้วครับ พอเปลี่ยนสไตล์จากสวนทรอปิคัลเป็นสวนฝรั่ง ผมมองว่าต้นไม้พวกนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ ผมใช้ต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิดแต่ปลูกเป็นกลุ่มใหญ่ซึ่งทำให้สวนดูเรียบร้อย ดูแลจัดการได้ง่าย และเห็นความโมเดิร์นได้ชัด บางครั้งการปลูกต้นไม้ที่ดูหลากหลาย ถ้าชนิดหนึ่งโทรมอาจทำให้ภาพรวมของสวนดูโทรมได้ครับ แต่การลงต้นไม้เป็นกลุ่มใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ด้วยครับ

สวนป่าญี่ปุ่น

“ผมใช้ไม้ตัดแต่งปลูกรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ผมว่าไม้ที่ตัดแต่งทรงพุ่มจัดการได้ง่ายกว่าครับ แม้จะต้องมีการตัดแต่งแต่ก็แค่คุมทรงต้นและขนาดทรงพุ่มให้อยู่ในรูปแบบที่เรากำหนดไว้เท่านั้น ส่วนต้นไม้ที่เราปล่อยให้โตแบบฟรีฟอร์มแตกกิ่งเป็นอิสระ การตัดแต่งเพื่อคุมฟอร์มต้นบางทีทำได้ยากกว่า และอาจทำให้สวนดูรกได้ง่ายกว่าด้วยครับ”

สวนป่าญี่ปุ่น
พื้นที่จัดสวนบริเวณที่ตั้งคอมเพรสเซอร์แอร์มักจะสร้างปัญหาทั้งเรื่องของมุมมอง และการเลือกใช้ต้นไม้ อย่างแรกที่ต้องทำคือใส่กริลแอร์ (กริลกันลม) เพื่อบังคับทิศทางลมร้อนของคอมเพรสเซอร์แอร์ให้พุ่งขึ้นด้านบน ส่วนต้นไม้ไม่ควรเลือกต้นที่มีใบขนาดใหญ่หรือพลิ้วไหวง่าย อาจเลือกชนิดที่โชว์ลำต้น เพื่อไม่ให้ลมแอร์เป่าโดนใบ ชนิดต้นไม้ที่เลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแสง และลักษณะพื้นที่ เช่น จั๋ง ลิ้นมังกร สนหอม ไผ่ฟิลิปปินส์ด่าง ไทรสามเหลี่ยมด่าง

สิ่งที่เราสังเกตเห็นอีกอย่างคือตามซอกเล็กซอกน้อยก็มีสวนป่าญี่ปุ่นอยู่ทุกจุด คุณมอร์ให้เหตุผลว่าพื้นที่บริเวณไหนที่ดูแล้วรู้สึกว่าจะไม่ได้ใช้งานก็จะใส่สวนใส่ต้นไม้เข้าไปเพื่อให้คนเดินเข้าไปดู ให้เกิดการสัญจร ไม่ปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้าง ป้องกันไม่ให้งูหรือสัตว์อื่นเข้ามาอาศัย พยายามจัดการกับพื้นที่ที่มีอยู่ให้สวยงามและใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

สวนป่าญี่ปุ่น
พื้นที่แคบเพียงแค่ 1.50 เมตร ที่อยู่ระหว่างบ้านแมวกับโรงจอดรถจัดเป็นสวนป่าญี่ปุ่น ปูทางเดินด้วยหินแกรนิตแผ่นกลมสีน้ำตาล ฝาบ่อพักเลือกใช้ไม้ไผ่มาปิดแทนแผ่นปูน ใช้รั้วไม้ไผ่บังคอมเพรสเซอร์แอร์ ทำให้ทุกอย่างดูกลมกลืน คงลุคของสวนญี่ปุ่นไว้

“สวนญี่ปุ่นตามซอกเล็ก ๆ พวกนี้ ผมเห็นจากตอนที่ไปเที่ยวครับ ตามซอกตามตรอกหรือพื้นที่ว่างระหว่างตึกก็จะเห็นว่ามีมุมสวนเล็ก ๆ เพียงแต่ว่าพรรณไม้ไม่หลากหลายเท่าบ้านเรา ผมจำคาแร็กเตอร์ของสวนและฟอร์มต้นไม้ที่เห็น แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบ้านเรา หยิบจับพรรณไม้ที่มีอยู่ในบ้านเรามาใช้แทน อาจจะไม่อยู่ในกรอบหรือกฎเกณฑ์ความเป็นสวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมมากนัก สวนญี่ปุ่นในสไตล์ของผมอาจจะไม่ได้เห็นตะเกียงหิน อ่างน้ำล้น หรือรางน้ำไม้ไผ่เหมือนสวนญี่ปุ่นทั่วไป ของพวกนี้มีราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าเจ้าของบ้านอยากได้ผมก็อยากใช้นะครับ เพราะจะยิ่งทำให้ภาพของสวนญี่ปุ่นชัดมากขึ้น

สวนป่าญี่ปุ่น
สวนป่าญี่ปุ่นเหมาะกับบริเวณพื้นที่ที่ค่อนข้างแคบและมีแสงไม่มาก เริ่มจากใช้ทางเดินเป็นจุดนำสายตา สองข้างทางตกแต่งด้วยพวกไม้ใบในร่มชนิดต่างๆ ควรเลือกใช้พรรณไม้ที่มีใบขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่และทำให้สวนดูมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

“การจัดสวนป่าญี่ปุ่นจะมีจังหวะในการจัดวางต้นไม้ อะไรที่ดูเป็นแมสอาจจะปลูกต้นไม้เป็นกลุ่ม วางก้อนหิน หรือวางประติมากรรม เช่น ตะเกียงหิน จัดวางแบบดูไม่ตั้งใจจนเกินไป และก็ดูไม่เยอะจนเกินไปด้วยครับ ผมเลือกใช้ต้นไม้ไม่กี่ชนิด เช่น ฮอสตา หนวดปลาดุกใบยาว ไอริส ไฮเดรนเยีย สนใบพาย อาซาเลีย ไผ่มากินอย หญ้าออสเตรเลีย เลือกใช้ต้นไม้ที่มีใบเล็ก เรียวแหลม ให้เหมาะกับพื้นที่สวนที่มีขนาดเล็ก

สวนป่าญี่ปุ่น
พื้นที่แคบด้านหลังสุดของบ้านที่กว้างเพียงแค่ 1 เมตร ออกแบบเป็นสวนป่าญี่ปุ่นตลอดแนวความยาว เพื่อให้คนเดินเข้ามาใช้งาน ไม่เป็นที่อาศัยของงูหรือสัตว์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ

“พื้นที่ที่แคบ ๆ เล็ก ๆ ส่วนใหญ่ปริมาณแสงจะค่อนข้างน้อย ต้องเลือกใช้ไม้ในร่มเป็นส่วนใหญ่ โรยพื้นด้วยกรวดหรือวางแผ่นทางเดิน ถ้าความชื้นพอก็ปลูกมอสส์ได้ วางหินประดับหรือของตกแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มดีเทลให้สวนป่าญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีนะครับ มุมสวนญี่ปุ่นเล็ก ๆ ที่ผมออกแบบในครั้งนี้น่าจะพอเป็นไอเดียให้คุณผู้อ่านได้บ้างนะครับ” คุณมอร์กล่าวปิดท้าย

นิตยสาร บ้านและสวน ฉบับเดือนตุลาคม 2567
เจ้าของ : คุณศรัญ ชูมื่นไวย์
ออกแบบ : ร่มรื่นแลนด์สเคป โดยคุณอัศนัย แก่นจันทร์ และคุณกนกวรรณ ณ พัทลุง
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส, กรานต์ชนก บุญบำรุง