ไม่ใช่แค่ “ป่า” ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ “เมือง” ก็ต้องการความหลากหลายเช่นเดียวกัน
ยิ่งเมืองขยายตัวมากเท่าไร นั่นหมายถึงพื้นที่ธรรมชาติลดน้อยลงส่งผลต่อระบบนิเวศของเมืองและสุขภาวะของเหล่าคนเมือง ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนจึงพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นทั้งในรูปแบบสวนสาธารณะ พื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งปลูกต้นไม้ในอาคารเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้คน ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยลดความร้อนของเมือง ลดมลภาวะ และสร้างคุณภาพอากาศที่ดี
ครั้งนี้บ้านและสวน ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงชวนไปสำรวจความหลากหลายทางธรรมชาติในเมืองผ่าน 3 สวนสาธารณะแปลงใหญ่ อย่าง สวนป่าเบญจกิติ สวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ และสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ใจกลางคุ้งบางกะเจ้า เพื่อเปิดมุมมองของสวนสาธารณะที่เป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว ที่ออกกำลังกาย หรือที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมือง แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ อุดมทั้งพรรณพืช สรรพสัตว์ ไปจนถึงจุลินทรีย์ ที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
คุณสุรีย์พร เกิดแก่นแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่เฉพาะและพื้นที่พัฒนาพิเศษบอกว่า แม้พื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะจะมีประโยชน์ในภาพรวมที่เหมือนกัน แต่รูปแบบและวัตถุประสงค์ของแต่ละส่วนมีลักษณะและองค์ประกอบที่ต่างกัน ทำให้พรรณพืช พันธุ์สัตว์ของแต่ละสวนก็มีความต่างกันด้วยเช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นได้จากการสำรวจ 3 สวนสาธารณะนี้
“สวนรถไฟ” แก้มลิงของเมือง
จะมีกี่คนที่จำได้ว่า 20 กว่าปีก่อนที่จะมาเป็น สวนวชิรเบญจทัศ หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ สวนรถไฟ ที่แห่งนี้เคยเป็นสนามกอล์ฟโล่งเตียนมาก่อน ที่ดินจำนวน 375 ไร่ที่มีทั้งเนินโค้งและบ่อน้ำถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสวนสาธารณะในคอนเซ็ปต์ ‘สวนแห่งครอบครัว’ ที่คนทุกเพศทุกวัยเข้ามาทำกิจกรรมออกกำลังกาย วิ่ง ขี่จักรยานหรือกระทั่งส่องนก
คุณชนิดา รอดสวัสดิ์ หัวหน้าสวนวชิรเบญจทัศ บอกกับเราว่าความโชคดีคือสวนรถไฟอยู่ติดกับศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ ซึ่งเดิมคือศูนย์บำบัดน้ำบางซื่อที่คอยบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดีแล้วปล่อยเข้ามาในสวน สวนสาธารณะแห่งนี้จึงชุ่มชื้นอยู่ตลอด และเมื่อลองสังเกตดูพื้นที่โดยรอบจะเห็นว่าที่นี่มีบ่อเล็กบ่อน้อยกระจายตัวอยู่ถึง 15 บ่อ เป็นแก้มลิงคอยรับน้ำจากชุมชนโดยรอบ ทำให้นอกจากจะมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนบกแล้ว ในน้ำยังมีสัตว์น้ำและสัตว์เลื้อยคลานครึ่งบกครึ่งน้ำอยู่ทั่วทั้งสวน
สวนรถไฟเน้นปลูกต้นไม้ที่มีความหลากหลาย ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับ บางชนิดปลูกเพื่อความสวยงาม เราจึงได้เห็นต้นจามจุรียักษ์ยืนตระหง่านกลางสนามหญ้า มีพืชท้องถิ่น อย่าง ต้นแก้ว ต้นมะกอกน้ำ ต้นหมาก ประดู่ และเมื่อถึงฤดูกาลจะได้เห็นดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ หรือเหลืองปรีดียาธรบานสะพรั่ง
เมื่อมีต้นไม้ก็มีสัตว์เข้ามาพักพิงอาศัย โดยเฉพาะเมื่อปลูกพืชพรรณไม้ที่เป็นอาหารนก ทำให้สวนรถไฟเป็นแหล่งดูนกใจกลางเมืองที่มีทั้งนกท้องถิ่นและนกอพยพถึง 40 ชนิด เช่น อีกา นกตีทอง นกจับแมลง และ นกเค้าจุด ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวเอกของสวนที่ผู้ไปเยือนสวนรถไฟอยากเจอตัวให้ได้สักครั้ง เช่นเดียวกับเมื่อมีดอกไม้ก็ดึงดูดผีเสื้อ ผึ้ง และแมลงต่างๆ เข้ามาดอมดม
“สวนป่าเบญจกิติ” ระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่กลางเมือง
สวนป่าเบญจกิติเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างให้เป็น “สวนป่า” ที่ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด โดยตั้งใจออกแบบสวนโดยเก็บต้นไม้ใหญ่ดั้งเดิมที่มีอยู่กว่า 1,700 ต้น แล้วเพิ่มเติมต้นไม้ใหม่อีกว่า 7,000 ต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่นเดิมของกรุงเทพฯ กว่า 300 ชนิด ทั้งพรรณไม้ต่างระดับ ทั้งป่าชายเลนพรรณไม้บึงน้ำจืด พรรณไม้ป่าดิบลุ่มต่ำและพรรณไม้ป่าดิบแล้ง ฉะนั้น แมลงหรือสัตว์ที่เข้ามากินและอยู่อาศัยก็จะมีความหลากหลายมากขึ้นด้วย
เมื่อเดินขึ้นไปบนทางเดินที่พาดผ่านตลอดทั้งพื้นที่จะเห็นได้ว่าสวนแห่งนี้ออกแบบให้มีพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่สำหรับสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีบึงที่สามารถรองรับน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร และนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูร้อนเพื่อประหยัดน้ำสำหรับใช้ดูแลสวน
สวนป่าเบญจกิติเป็นตัวอย่างการสร้างพื้นที่สีเขียวโดยเน้นเอาไม้พื้นถิ่นเข้ามาปลูก เปลี่ยนกระแสความคิดให้เปลี่ยนไปจากเดิมที่มักเอาไม้ต่างถิ่นเข้ามาปลูกเพื่อความสวยงาม ซึ่งอาจเติบโตได้ยากต้องคอยบำรุงรักษาหรืออาจเป็นพืชรุกรานที่ทำลายระบบนิเวศ การเอาไม้พื้นถิ่นเข้ามาปลูก นอกจากเป็นการอนุรักษ์พรรณไม้พื้นถิ่นที่กำลังมีจำนวนลดลงแล้ว ยังช่วยลดภาระจากการดูแลต้นไม้ด้วยเพราะเรามีทั้งดิน น้ำ และสภาพอากาศที่เหมาะสมอยู่แล้ว
สำรวจระบบนิเวศ 3 น้ำ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ที่อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล
สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ ศรีนครเขื่อนขันธ์ (บางกะเจ้า) พื้นที่สีเขียวที่ได้ชื่อว่าเป็น “ปอดของคนเมือง”เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่ให้คนเมือง สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งสวนสาธารณะ และสวนพฤกษชาติขนาดใหญ่ อุดมไปด้วยต้นไม้พรรณไม้นานาชนิด มีระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ที่อาศัยในสภาพแวดล้อมต่างกัน ทั้ง น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ถือเป็นระบบนิเวศที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง
คุ้งบางกะเจ้าเคยเป็นชุมชนสวนผลไม้ที่ขุดร่องเอาไว้ช่วยระบายน้ำ เมื่อภาครัฐเข้าไปขอซื้อที่และฟื้นฟูพื้นที่ด้วยการปลูกพันธุ์ไม้เติมเข้าไปและดูแลรักษาให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่อย่างต้นไทรย้อยใบทู่ ผู้เพาะชำกล้าไม้ ที่สูงและแผ่กิ่งก้านทำให้พื้นดินใต้ต้นไม้ร่มรื่น ช่วยให้ไม้ที่ไม่ชอบแดดจัดอย่าง เต่าร้างและปอทะเลเจริญงอกงามได้ดี
ความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมทำให้สวนแห่งนี้ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ เอเชีย ให้เป็น The Best Urban Oasis of Asia ในปี พ.ศ. 2549 ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมกว่า 6 ตำบล มีระบบการดูแลที่ร่วมมือกันระหว่างชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ องค์กรภาครัฐ และเอกชน เพื่อคงสภาพแวดล้อมดั้งเดิม อนุรักษณ์ไม้พื้นถิ่น และสัตว์ท้องถิ่นให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล
ระหว่างเส้นทางปั่นจักรยานจะได้พบกับกับดงต้นตีนเป็ดทะเลที่เรียงรายเป็นซุ้มให้ขี่ผ่าน กิ่งก้านโปร่งคล้ายซี่ร่มทำให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ออกดอกสีขาวดึงดูดให้แมลงที่หากินทั้งกลางวันและกลางคืนมาช่วยผสมเกสรจึงสามารถขยายพันธุ์ไปได้ไกล เราจึงได้เห็นต้นตีนเป็ดทั่วทั้งคุ้งบางกะเจ้า
ขี่ตามเส้นทางไปอีกสักหน่อยจะพบกับดงจากที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน้ำกร่อย พบได้บริเวณรอยต่อระหว่างแม่น้ำกับทะเลที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง ดินเลนอ่อนนุ่มทำให้ต้นจากต้องปรับตัวเพื่อเติบโตได้อย่างมั่นคงโดยการซ่อนลำต้นไว้ใต้ดินแล้วแตกเหง้าเป็นสองง่ามเพื่อขยายพันธุ์แบบทวีคูณ เราจึงได้เห็นดงจากผืนใหญ่ ซึ่งบริเวณเดียวกันนี้จะได้พบกับพืชน้ำกร่อยอย่าง ลำพู ปรงทะเล หวายลิง และสัตว์น้ำประจำถิ่นอย่างปลาเสือพ่นน้ำและปลากระดี่หม้อด้วย
จุดมุ่งหมายหนึ่งของผู้ที่มาเยือนบางกระเจ้าคือการดูนก ทั้งพื้นที่สวนศรีนครเขื่อนขันธ์แน่นขนัดไปด้วยพรรณไม้มากมาย จึงกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกหลากชนิด เช่น นกกระจิบ นกเอี้ยงสาริกา นกกางเขน นกปรอดหน้านวล นกบั้งรอกใหญ่ และนกแซงแซวหางปลาที่อวดโฉมสง่าบนต้นไม้อย่างที่เราเห็นอยู่นี้
ทั้งหมดนี้คือพื้นที่สีเขียวที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เราสามารถรักษาให้คงอยู่ได้พร้อมกับการเข้าไปใช้บริการโดยไม่ทำลาย แต่ใช้งานและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไปได้พร้อมกัน