บ้านและสวน เชิญชวนทุกคน “ออกจากบ้านมาเสพงานศิลปะ” ณ เทศกาลงานศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ Bangkok Art Biennale 2024 (BAB 2024)
Bangkok Art Biennale 2024 จัดแสดงงานศิลปะจากทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศทั่วโลกกว่า 76 ท่าน รวมผลงานกว่า 200 ชิ้น นำเสนอในธีม “Nature Gaia – รักษา กายา” ถ่ายทอดความหมายที่แตกต่างของธรรมชาติ ความเป็นผู้หญิง นิเวศวิทยา การเมือง และวิญญานนิยม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงจนเป็นปรากฎการณ์ .ผลงานจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 กระจายไปตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ทั้ง 11 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง ทั้งเส้นทางแม่น้ำ (River Route) และเส้นทางตัวเมือง (City Route) เพื่อให้ศิลปะเข้าถึงทุกคนได้ง่ายยิ่งขึ้น งานศิลปะไม่เพียงแต่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังจัดแสดงตามวัดวาอาราม ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม เพื่อกระจายความรุ่มรวยทางวัฒธรรมสู่สังคมได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น
ในส่วนที่เราจะพาไปรับชมนี้ เป็นเพียงการชิมลางเท่านั้น จากผลงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ซึ่งในแต่ละสถานที่ได้สื่อสารเรื่องราวของ “รักษา กายา” ในมิติที่แตกต่างกันออกไป ชวนให้เราได้ตีความ และตั้งคำถามต่อเนื่องถึงแง่งามของศิลปะ ผ่านมุมมองอันหลากหลายและสนุกกว่าที่เคย
จุดที่ 1 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (จัดแสดง 15 ชิ้นงาน)
“ผลงานร่วมสมัยอันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และพาเราย้อนกลับสู่พลังแห่งการโอบอุ้มจากธรรมชาติ”
ผลงานหลายชิ้นนำเสนอเล่าเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม โดยหยิบจับทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาร้อยเรียง ทั้งยังนำเสนอถึง “ความเป็นแม่” ในหลากหลายมิติสอดแทรกเข้าไปในชิ้นงาน สื่อถึงการโอบอุ้ม ทะนุถนอม รองรับความเจ็บปวด หรือแม้กระทั่งสายใยระหว่างแม่กับลูก ซึ่งในแต่ละผลงานได้ยึดโยงสองประเด็นนี้ออกมาให้เรามองเห็นความงดงามผ่านชิ้นงานที่น่าสนใจมากมาย ทั้งภาพวาด ประติมากรรม และการแสดง
ประติมากรรมอุ้งมือเด็กน้อยกำลังโอมอุ้มนกที่กำลังใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผลงานชิ้นนี้นำนกที่สตัฟฟ์ไว้มาผสมผสานกับอินเทอร์แอ๊กทีฟอาร์ต ราวกับว่านกตัวนี้กำลังเข้าสู่ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ชวนให้เราเกิดความรู้สึกหลากหลาย ทั้งหนักหน่วง และเบาใจที่นกยังถูกโอบอุ้มไว้ด้วยอุ้งมือของใครสักคน
จุดที่ 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (จัดแสดงมากกว่า 100 ชิ้นงาน)
“พลังแห่งการสื่อสารศิลปะร่วมสมัยผ่านเทคนิคหลากมิติ”
เราจะได้พบเห็นเทคนิคการนำเสนองานศิลปะที่ใช้วิธีการนำเสนอแปลกใหม่อย่างถึงที่สุดในที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะจัดวางผ่านเครื่องกลไล การนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาเป็นส่วนหนึ่งในสร้างสรรค์ผลงาน การนำเสนอศิลปะผ่านบทเพลง ภาพยนตร์ การทำงานศิลปะร่วมกับสัตว์นานาพันธุ์ กล่าวได้ว่าชิ้นงานทุกชื้นได้เปิดมุมมองวิธีการสร้างผลงานรูปแบบใหม่ๆ ในบริบทที่ร่วมสมัยมากขึ้น ให้เราได้หลุดกรอบจากการนำเสนองานศิลปะในแบบเดิม และตื่นตาตื่นใจที่จะได้รับชม
จุดที่ 9 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (จัดแสดงมากกว่า 34 ชิ้นงาน)
“สวมเลนส์นักค้นหา เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่านศิลปะในมุมใหม่”
ความสนุกของการชมงานศิลปะ ณ สถานที่แห่งนี้คือการที่เราได้เป็นนักขุดค้น เสาะหาชิ้นงานศิลปะที่แทรกตัวอยู่กับวัตถุโบราณ และงานประเพณี โดยนำชิ้นงานโบราณวัตถุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มานำเสนอให้มีความร่วมสมัยยิ่งขึ้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตำนาน ปกรณัม ประวัติศาสตร์วังหน้า ตั้งแต่โบราณกาล โดยจัดวางร่วมกับชิ้นงานของศิลปินได้อย่างกลมกลืน เราจะได้พบเห็นทั้ง งานศิลปะบ้านเชียง ประติมากรรมหมูเด้ง สอดแทรกอยู่ ชวนให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามว่าต่อไปว่า ชิ้นไหนคือของจริงและไม่จริง สิ่งไหนคือความเก่าและใหม่ การตั้งคำถามเหล่านี้พาเราเปิดมุมมองไปได้ไกลว่าแค่การเสพงานศิลปะ และทลายกรอบเดิมของการเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นมากกว่าพื้นที่สะสม และจัดแสดงของเก่า แต่เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ตั้งคำถามถึงยุคสมัยใหม่ ผ่านผลงานศิลปะชั้นดี
จุดที่ 10 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือหอศิลป์เจ้าฟ้า (จัดแสดง 54 ชิ้นงาน)
“เรื่องเล่าจากชนกลุ่มน้อย ไปจนถึงเทพ เทพี ถ่ายทอดประเด็นเพศสภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีชั้นเชิง“
ประเด็นสังคมและเพศสภาพเกิดขึ้นกับคนในทุกหมู่เหล่า แต่เรามักถกเถียงกันในขอบเขตของสังคมที่เราอยู่ ผลงานที่จัดแสดง ณ หอศิลป์เจ้าฟ้า ชวนให้เราเปิดตามองเห็นเพื่อนมนุษย์ ชนกลุ่มน้อย ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ต่างกัน ผ่านการจัดแสดงผลงานในสื่อรูปแบบหลากหลาย ทั้งเผยให้เห็นการทำงานร่วมกับชุมชน การไปศึกษาใช้ชีวิตร่วมกับชนกลุ่มน้อย การตีแผ่ความหมายของธรรมชาติผ่านการหยิบยกเรื่องราวของ เทพ ตำนาน ปกรณัมต่างๆ มานำเสนอประเด็นในสังคม ศาสนา สิ่งแวดล้อม ได้อย่างจัดจ้านน่าสนใจ
ยังมีหลายจุดที่น่าติดตามในงาน Bangkok Art Biennale 2024 นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลงานอีกกว่า 200 ชิ้น พร้อมแล้วที่จะให้ทุกคนได้ไปสัมผัสประสบการณ์ ณ สถานที่จัดแสดงที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสังคม ได้แก่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร / วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร / วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร / วัดบวรนิเวศวิหาร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร / พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร / มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ / วันแบงค็อก / ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.bkkartbiennale.com
FB: BkkArtBiennale
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส