บ้านตากอากาศ กรุผนังและมุงหลังคาด้วยเมทัลชีต- บ้านและสวน

บ้านตากอากาศ บนก้อนลูกปูนเก่า ในบรรยากาศริมทะเล

บ้านตากอากาศ หลังนี้ชื่อว่า ‘บ้านร้อยลูกปูน’ เป็นชื่อที่ตั้งเพื่อบอกถึงการดึงเอาศักยภาพของวัสดุออกมาใช้ เพราะทำให้ลูกปูนเก่าธรรมดานั้นงดงามอย่างถูกที่ถูกเวลา

Design Directory : สถาปนิก O2 Studio

บ้านตากอากาศ
บ้านตากอากาศ
ออกแบบรูปด้านด้านสกัดให้รู้สึกว่าตัวอาคารเบาลอย ด้วยการยื่นอาคารออกมาจากฐานลูกปูน ระยะประมาณ 1 เมตร

แม้เส้นทางจะยาวไกลถึงทับสะแก แต่เมื่อได้มาถึง ความเหนื่อยล้าก็หายเป็นปลิดทิ้ง บ้านตากอากาศ หลังนี้ซ่อนตัวอยู่ท้ายซอย มองภาพฉากหลังเป็นท้องทะเลฝั่งอ่าวไทยที่มีวิวไกลสุดลูกหูลูกตา

จากที่ดินเปล่าที่ คุณแซม ซื้อไว้ติดริมทะเล เมื่อถึงคราวที่อยากจะสร้างบ้านพักตากอากาศสักหลัง ทำให้นึกถึงวัสดุที่มีอยู่รอบตัว ประกอบกับมีโรงงานเหล็กเป็นของตัวเองและยังมี “ลูกปูน” คอนกรีตทรงลูกบาศก์ปลดระวางจากการทำเรือเดินสมุทรและแท่นขุดเจาะมันเป็นวัสดุสำคัญที่ คุณจิ้น-ตุลยวัต พิพรรธนัชกุล สถาปนิก ให้ความสนใจ

“เวลาออกแบบผมจะนำความต้องการของเจ้าของบ้านกับประสบการณ์ของเราเอามาปรุงเข้าด้วยกัน” พร้อมออกแบบบ้านหลังนี้ด้วยวัสดุที่ได้กล่าวมาภายใต้แนวคิด “การเป็นพื้นที่พักผ่อนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ”

บ้านตากอากาศ
บ้านตากอากาศ
เมื่อมองเข้ามาที่โรงรถ จะพบว่าสถาปนิกใช้ลูกปูนวางเรียงแนวตั้งแสดงเอกลักษณ์ของบ้านได้อย่างชัดเจน และออกแบบการวางลูกปูนให้มีจังหวะช่องว่างเพื่อให้แสงและอากาศสอดแทรกเข้ามาทำให้โรงรถไม่ทึบตัน

บ้านตากอากาศ ให้ธรรมชาติได้โอบอุ้มกายและใจ

สถาปนิกได้ออกแบบการเข้าถึงบ้านอย่างเป็นลำดับ โดยค่อยๆเปิดมุมมองการรับรู้ จากทางเข้าสู่โรงรถ จากโรงรถสู่พื้นที่พักอาศัย แต่ละจุดใช้องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านให้ไปพบกับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จุดแรกเริ่มจากทางเข้าสู่โรงจอดรถออกแบบโดยใช้ลูกปูนวางเรียงในแนวตั้งเป็นกำแพงกำหนดกรอบโรงจอดรถ เพิ่มความเป็นส่วนตัวจากการรับรู้และกำหนดการมองเห็นวิวทะเล เพื่อเผยในซีนถัดไป จุดที่สองออกแบบโดยการยกระดับอาคารเป็นการแยกพื้นที่พักอาศัยออกมาอย่างชัดเจน ทำให้เราต้องเดินขึ้นจากบันได มุมมองทางสายตาก็ค่อย ๆ เผยวิวทะเลแบบ 360 องศา พร้อมกับเสียงคลื่น และกลิ่นไอทะเลที่เข้ามาสัมผัสกับร่างกายได้อย่างเต็มที่

พื้นที่ใช้สอยส่วนพักอาศัยภายในขนาด 45 ตารางเมตรไม่รวมระเบียงที่มีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ภายใน เพราะต้องการให้เจ้าของบ้านได้ออกมาใช้พื้นที่นี้ทำกิจกรรม ได้สัมผัสกับธรรมชาติภายนอก “การปล่อยให้ร่างกายที่อ่อนล้าจากการทำงาน ได้สัมผัสกับธรรมชาติ สายลม เสียงคลื่นจากทะเล เสียงนกร้อง ได้นั่งพูดคุยกับเพื่อนท่ามกลางหมู่ดาวนับร้อยเป็นการได้พักผ่อนอย่างแท้จริง”

บ้านตากอากาศ
การยกระดับส่วนพักอาศัยของบ้านขึ้นมา 2 เมตร ตามขนาดของลูกปูนสองก้อน ไม่เพียงช่วยแยกพื้นที่ที่พักอาศัยออกจากส่วนอื่น แต่ยังช่วยซ่อนงานระบบต่างๆทำให้บำรุงรักษาง่ายและอากาศสามารถถ่ายเทไม่เกิดการสะสมความชื้น
ออกแบบบันไดโครงสร้างเหล็ก ใช้วัสดุและสีทำให้ดูกลมกลืนกับตัวอาคาร ทั้งยังใส่ใจในรายละเอียดโดยออกแบบลูกนอนเป็นเหล็กฉีกไม่กักเก็บทรายเมื่อเข้าสู่ตัวบ้าน
บ้านตากอากาศ
ออกแบบพื้นที่นั่งผ่อนคลายให้ระยะพอดีกับการเท้าแขนกับลูกปูนที่เป็นส่วนผนังโรงจอดรถ ทั้งยังได้ชายคาโรงรถให้ร่มเงา

การให้วัสดุได้แสดงศักยภาพ

ลูกปูนนับร้อย ขนาด 1 x 1 x 1 เมตร ปลดระวางจากการเป็นฐานในการประกอบเรือ มีร่องรอยของการใช้งานที่ทำให้แต่ละลูกไม่เหมือนกัน กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้สถาปนิกสนใจนำมาออกแบบ ด้วยความแข็งแรงของพื้นทรายที่ได้รับการบดอัดและปรับหน้าดินพร้อมสำหรับการก่อสร้าง สถาปนิกนำมาวางเรียงเป็นฐานแผ่ของอาคารที่พักอาศัยและส่วนพื้นระเบียง ทั้งยังตั้งเรียงเป็นผนังของโรงจอดรถ ออกแบบให้มีการเว้นช่องอย่างมีจังหวะเพื่อเกิดช่องว่างให้อากาศได้ถ่ายเทและเพื่อความเป็นส่วนตัว

 “เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า บ้านหลังนี้ก็จะถูกกลืนหายไปในความมืด อยากให้บ้านอยู่อย่างถ่อมตัวกับธรรมชาติ”

สถาปนิกเลือกใช้เมทัลชีตสีดำกรุผนังและมุงหลังคา ลักษณะที่เป็นลอนทำให้ผนังอาคารมีความน่าสนใจเมื่อเกิดเงา และใช้ประตูหน้าต่างกระจกขนาดใหญ่บนผนังอาคารด้านที่รับวิวทะเลเพื่อเปิดรับมุมมองแนวกว้างและเป็นการระบายอากาศ ทั้งยังเป็นการลดการใช้เมทัลชีตในด้านที่ต้องรับไอเกลือจากทะเลที่มีความเป็นกรดสูงอีกด้วย

บ้านตากอากาศ
ออกแบบพื้นที่ภายในแบบโอเพ่นแปลน เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้ ทั้งยังออกแบบบันไดที่สามารถพับเก็บแนบผนังช่วยปรับพื้นที่ให้กว้างขึ้น
ผนังกรุกระจกและหน้าต่างบานเลื่อนของห้องนั่งเล่น ทำไว้เปิดรับวิวและแสงธรรมชาติ ห้องจึงมีแสงสว่างที่เพียงพอ
บ้านตากอากาศ
วางแปลนห้องนอนให้เยื้องออกจากระเบียงสร้างความเป็นส่วนตัวและเปิดรับวิวในแนวตั้งได้มากขึ้น
ออกแบบห้องนอนใต้หลังคาให้มีหน้าต่างบานเลื่อนแนวยาวรับลมและระบายความร้อนใต้จั่ว  ปูพื้นลายไม้โทนสีอ่อนสร้างบรรยากาศของห้องนอนที่อบอุ่น
ออกแบบห้องน้ำให้เปิดเข้าได้ทั้งทางห้องนอนและห้องนั่งเล่น เพื่อสะดวกกับผู้ใช้งานที่มีเฉพาะเจ้าของบ้านและออกแบบหน้าต่างบานเลื่อนรับแสงสว่างและลมที่ช่วยเรื่องการระบายอากาศ ลดความชื้นในห้องน้ำ

การให้ความสำคัญกับรูปทรง พื้นที่ และการใช้งาน

สถาปนิกให้ความสำคัญกับการออกแบบรูปด้าน รูปทรง เพื่อให้ความสวยงาม ความรู้สึก และความสะดวกสบายของเจ้าของบ้านผสมผสานไปด้วยกัน ทั้งยังคิดคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆอย่างทิศทางลม-แดด และการเปิดรับวิวทะเลที่เป็นหัวใจหลักของบ้านพักตากอากาศหลังนี้ แม้ลูกปูนจะให้ความรู้สึกทึบตัน แต่สถาปนิกใช้การออกแบบโดยการวางผังตัวอาคารเยื้องออกจากฐาน ทำให้อาคารบางส่วนยื่นออกมา ส่งผลให้รูปด้านไม่ทึบตันเป็นก้อนเดียวกัน และให้ความรู้เบาลอยออกมาจากฐาน

บ้านตากอากาศหลังนี้เป็นตัวอย่างของสถาปัตกรรมที่สร้างพื้นที่เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขของการใช้วัสดุที่เจ้าของมีอยู่ได้อย่างลงตัว สิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นคือการที่เจ้าของบ้านอยากกลับมาพักผ่อนบ่อยขึ้น มีรอยยิ้มในทุกกิจกรรม มีความสุขในการแต่งโน่นเติมนี่ เพราะเขาได้เข้ามาใช้ชีวิตจริงๆ “เพราะรางวัลของการทำงานของผมในฐานะผู้ออกแบบคือรอยยิ้มของเจ้าของบ้าน” ดังที่สถาปนิกได้กล่าวไว้ทิ้งท้าย

บ้านตากอากาศ
เมื่อขึ้นมาด้านบนจะพบกับระเบียงขนาดใหญ่ มองเห็นวิวทะเลได้ชัดเจน ผู้ออกแบบต้องการเปิดการรับรู้ ให้ธรรมชาติเข้ามาสัมผัสกับร่างกายก่อนเข้าไปสู่ส่วนพักอาศัย
พรางคอมเพรสเซอร์ด้วยการพ่นสีทั้งหมดเป็นสีเดียวกับผนังอาคารและทำโครงตั้งซ้อนกันช่วยประหยัดพื้นที่และการทำสีดำให้กลมกลืนไปกับตัวอาคาร

เจ้าของ : คุณแซม

ออกแบบสถาปัตยกรรม : O2 Studio Co.,Ltd. โดยคุณตุลยวัต พิพรรธนัชกุล

เรื่อง: ปาราเมศ เมนะเนตร

ภาพ: กรานต์ชนก  บุญบำรุง

สไตล์: Suntreeya

ที่ตั้ง : จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


รวมแบบบ้านตากอากาศชั้นเดียว วิวสวย

รวมแบบบ้านตากอากาศ ท่ามกลางธรรมชาติ