ปฏิทิน 2568 พร้อมภาพวาดพืชสมุนไพรนาๆชนิด - บ้านและสวน

ปฏิทิน 2568 พร้อมกับพืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพร

ปฏิทิน 2568 โดยบ้านและสวน นำเสนอพร้อมภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ของพืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพร จากเหล่าศิลปินชาวไทย และความร่วมมือจากเครือข่ายวิทย์สานศิลป์

ใน ปฏิทิน 2568 นี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ และศิลปินชาวไทยทั้ง 12 ท่าน ในการเล่าเรื่องราวของพืชพรรณผ่านการวาดภาพพฤกษศาสตร์ และได้ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” หรือ “Botanical Art Thailand” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้ บ้านและสวน ร่วมกับ เครือข่ายวิทย์สานศิลป์ นำเสนอปฏิทินผ่านการเรื่องราวของพรรณไม้นานาชนิด ในหัวข้อ พืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพร ดังวลีของหมอชีวกโกมารภัจจ์ที่ว่า “ไม่มีพืชใดไม่เป็นยา” โดยนอกจากในปฏิทินจะมีภาพวาดพฤกษศาสตร์จากศิลปินชาวไทยแล้วนั้น ยังมีข้อมูลของพรรณไม้รวมทั้งคุณประโยชน์ของพืชแต่ละชนิดอีกด้วย

ปฏิทิน 2568

มกราคม

มะเดื่อฝรั่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus carica L.

ศิลปิน : ปาริชาต ธีรธรรมมานนท์

ลักษณะทั่วไป : เป็นพรรณไม้ประเภทไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม้ผลเขตกึ่งร้อน ลำต้นสูงได้ถึง 6 เมตร ลำต้นเป็นปุ่มแตกกิ่งก้านออก มีน้ำยางสีขาวขุ่น ใบเดี่ยว ขอบใบหยักหนาและแข็ง ก้านใบสีเขียวอมเหลือง ดอกออกตามข้อบริเวณซอกใบ ผลมีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ มีทั้งรูปทรงกลม ทรงระฆัง หรือผลกลวง ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก สีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะแบนและแข็ง

คุณประโยชน์ : ผล ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีสารต้านอนุมูลอิสระ แก้ท้องผูก ช่วยรักษาโรคผิวหนัง และมีฤทธิ์เป็นยาระบาย

กุมภาพันธ์

รางจืด 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thumbergia laurifolia Lindl.

ศิลปิน : ปิยวรรณ บุณยะวันตัง

ลักษณะทั่วไป : รางจืดเป็นไม้เลื้อย อายุหลายปี ลำต้นหรือเถามีเนื้อแข็ง สีเขียวสด ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ๆ ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ดอกออกเป็นช่อกระจะห้อยลงมาตามซอกใบหรือตามข้อ สีม่วงอ่อน สีฟ้าหรือสีขาว เมื่อดอกร่วงจะติดฝักตรงปลายแหลมคล้ายปากนก

คุณประโยชน์ : ใบสด ช่วยแก้ไข้ ขับสารพิษออกจากร่างกาย แก้โรคกระเพาะ แก้อาการเมาค้าง ขยี้ใบใช้ทาแก้พิษจากงู ตะขาบ หรือแมงป่องกัด ลำต้น สามารถทุบเพื่อใช้แก้พิษจากผึ้งต่อย แก้คัน หรือตากแห้งไว้จุดกันยุง และสามารถต้มดื่มลดอาการเบาหวาน ดอก มีฤทธิ์แก้อาการปวดเมื่อกล้ามเนื้อ

ปฏิทิน 2568

มีนาคม

บัวหลวง         

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nelumbo nucifera Gaertn.

ศิลปิน : มัลลิกา เจ่าสกุล

ลักษณะทั่วไป : เป็นพรรณไม้ประเภทไม้อยู่เหนือน้ำ ลำต้นมีเหง้าใต้ดิน ใบค่อนข้างกลมใหญ่ก้านใบชูเหนือน้ำ ดอกมีหลายพันธุ์ ทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน สีขาวหรือสีชมพู กลีบดอกใหญ่ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตอนเช้าหรือกลางคืน ก้านดอกยาวชูขึ้นเหนือน้ำและมีหนามเล็กๆ ออกดอกตลอดปี แต่ดกในฤดูร้อนและฤดูฝน

คุณประโยชน์ : ดอกและเกสรเพศผู้ ช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ เกสรเข้าตำหรับยาหอม ชูกำลัง ก้านใบ-ก้านดอก ส่วนยางจากก้านใช้แก้ท้องเดิน กลีบดอก เป็นยาฝาดสมาน ชาวมาเลเซียใช้กลีบดอกชั้นในตำพอกแก้โรคซิฟิลิส ชาวชวาใช้แก้ท้องร่วง

เมษายน

มหาหงส์        

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedychium coronarium J.Koenig

ศิลปิน : กมลชเนตต์ ดนัย

ลักษณะทั่วไป : ไม้หัวล้มลุกอายุหลายปีที่มีถิ่นกำเนิดจากป่าเขตร้อนในทวีปเอเชีย ต้องการน้ำมาก ชอบแสงแดดครึ่งวันหรือร่มรำไร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกตลอดทั้งปี

คุณประโยชน์ : ต้น บดเพื่อใช้รักษาบาดแผลและอาการบวม เหง้า ใช้ลดไข้ บรรเทาอาการปวดศรีษะ เมล็ด มีกลิ่นหอมใช้แก้อาการท้องอืด

พฤษภาคม

กลอย  

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea hispida Dennst.

ศิลปิน : ศศิภา เกตุแดง

ลักษณะทั่วไป : กลอยเป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี มีลำต้นพันเลื้อยมีหนาม และหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบมีขนและมีเส้นจากโคนใบชัดเจน ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ มีผลแบบผลแห้งแตก มี 3 พู เมล็ดจะมีปีก

คุณประโยชน์ : หัวสะสมอาหารใต้ดิน แก้เถาดาน หรืออาการแข็งเป็นลำในท้อง หรือจะหุงเป็นน้ำมันเพื่อใสแผล กัดฝ้า กัดหนอง แก้น้ำเหลืองเสือ หรือขับปัสสาวะ ราก บดผสมน้ำมะพร้าว ใบยาสูบ ใบลำโพงหรือพริก ใช้ทาหรือพอกเพื่อฆ่าหนอนในแผลสัตว์เลี้ยง

มิถุนายน

ผกากรอง       

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lantana camara L.

ศิลปิน : ฤทัยชนก กิตติวโรดม

ลักษณะทั่วไป : เป็นพรรณไม้ประเภท ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อยอายุหลายปี มีลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม มักมีขนใบใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ขอบใบจักซี่ฟัน ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม มีขนสั้นสากมือและมีกลิ่นฉุน ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ออกดอกตลอดทั้งปี ผลค่อนข้างกลม เมื่อสุกสีม่วงอมฟ้า หรือม่วงเข้มเกือบดำ

คุณประโยชน์ : ราก มีฤทธิ์แก้ปวดศรีษะ ลดหวัดหรือไข้สูง ลดอาการปวดฟัน คางทูม แก้ฟกช้ำ ใบ ใช้ลดอาการบวม ขับลม แก้แผลผื่นคัน ใช้ห้ามเลือด

ผล ผลแก่มีพิษรุนแรง

ปฏิทิน 2568

กรกฎาคม

พุดตาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus mutabilis L.

ศิลปิน : สุรพงศ์ ภวภูวดล

ลักษณะทั่วไป : เป็นพรรณไม้ประเภทไม้พุ่ม มีลำต้นสูงประมาณ 2-3 เมตร ตามกิ่งก้านและใบมีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามลำต้นและกิ่ง ดอกออกตามกิ่งข้างหรือปลายกิ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ ทั้งพันธุ์ที่เป็นดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน พันธุ์ดอกชั้นเดียวจะมีลักษณะคล้ายกับดอกชบา ส่วนพันธุ์ดอกซ้อนจะมีลักษณะคล้ายชบาดอกซ้อนหรือกุหลาบ มีความพิเศษตรงที่เมื่อดอกบานในตอนเช้าจะเป็นสีขาว พอเที่ยงวันจะเป็นสีชมพู พอตกเย็นกลายเป็นสีแดงก่อนจะร่วงไป ออกดอกตลอดปี

คุณประโยชน์ : ดอกและใบ มีสารฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ปฏิทิน 2568

สิงหาคม

กระเจี๊ยบแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa L.

ศิลปิน : กานต์ รัตนจุล

ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 50-180 เซนติเมตร มีหลายสายพันธุ์ ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือ 3 แฉก หรือ 5 แฉก ใบเว้าลึกหรือเรียบ หรือใบเป็นรูปรีแหลม หรือรูปเรียวแหลม ขอบใบมีจักเป็นฟันเลื่อย

คุณประโยชน์ : มีสรรพคุณทำให้สดชื่น ขับปัสสาวะ ขับน้ำดี ลดไข้ แก้ไอ แก้นิ่ว แก้กระหายน้ำ ใช้น้ำต้มสีแดงฆ่าเชื้อล้างแผล ลูบไล้ใบหน้าขจัดฝ้าและริ้วรอยต่าง ๆ ลดไขมันในเลือด เป็นยาระบาย น้ำกระเจี๊ยบมีวิตามินซีสูง ช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน อีกทั้งช่วยรักษาอาการต่อมลูกหมากโตอีกด้วย

ปฏิทิน 2568

กันยายน

ถั่วแปบช้าง     

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Afgekia sericea Craib

ศิลปิน : ศิริลักษณ์ รัตนโกเมศ

ลักษณะทั่วไป : เป็นพรรณไม้ประเภทไม้เลื้อยขนาดกลาง ลำต้นทุกส่วนมีขนนุ่มสีขาวปกคลุม เมื่ออายุมากขึ้นมีเนื้อไม้แข็ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกตรงข้าม แผ่นใบด้านล่างมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหมปกคลุมหนาแน่น มีดอกออกเป็นช่อกระจะขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง มีใบประดับรูปขอบขนานปลายแหลมสีชมพูเรียงกันแน่นที่ปลายช่อดอก ดอกรูปดอกถั่ว กลีบตั้งด้านในสีชมพูแกมเหลืองอ่อน ส่วนโคนกลีบมีแถบสีเหลือง ออกดอกช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค.

คุณประโยชน์ : ราก ใช้รักษาโรคอีสุกอีใส และลำคอ เช่น คอหอยอักเสบ ในตำรายาพื้นบ้านใช้ผสมกับเปลือกต้นมะกอกเหลี่ยม เปลือกต้นหนามหัน และเปลือกต้นยางนา นำมาต้มดื่มเป็นยารักษาโรคซาง เมล็ด ใช้กินเป็นยาบำรุงไขมันและเส้นเอ็น เหมาะสำหรับคนผอม

ตุลาคม

สิงหโมรา        

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrtosperma johnstoni (N.E.Br.) N.E.Br.

ศิลปิน : อาทิตย์ ไทรสังขธิติสุรีย์

ลักษณะทั่วไป : มีชื่อเรียกอื่นๆ คือ ผักหนามแดง หรือผักหนามฝรั่ง เป็นพรรณไม้ประเภทไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับปลายใบแหลม แผ่นใบหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นใบสีแดง ก้านใบสีขาวอมเขียวอ่อน มีลายขวางตามยาวสีดำ มีหนามแข็งทั่วไป มีดอกแบบช่อออกที่ซอกใบแบบช่อเชิงลดมีกาบ ใบประดับคล้ายกาบรองรับช่อดอกสีม่วงดำ ปลีดอกสีเหลืองนวล

คุณประโยชน์ : กาบต้น หรือก้านใบ ใช้ดองเหล้าเตรียมยาสำหรับผู้หญิงที่อยู่ไฟไม่ได้ และมีฤทธิ์ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง หน้ามืด เป็นลม บำรุงกำลัง

ปฏิทิน 2568

พฤศจิกายน

ชงโคฮอลแลนด์

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Bauhinia × blakeana Dunn

ศิลปิน : วิรัช แสงครุฑ

ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้ผลัดใบประเภทยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่มแผ่กว้าง รูปทรงไม่แน่นอน ใบเดี่ยวเรียงสลับคล้ายใบชงโค ใบคล้ายรูปไต ปลายใบเว้าลึก โคนใบมนหรือเว้าคล้ายรูปหัวใจ ดูคล้ายใบแฝด ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีชมพูอมม่วงเข้มขนาดใหญ่ และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวัน ออกดอกตลอดปี แต่ดอกดกในช่วงฤดูหนาว มักไม่ติดฝัก หรือติดฝักแต่ไม่สมบูรณ์

คุณประโยชน์ : ใบ ต้มช่วยแก้อาการไอ ขับปัสสาวะ หรือใช้ฟอกฝีและแผล ดอก ช่วยแก้พิษไข้

ธันวาคม

ตรีชวา 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nicoteba betonica (L.) Lindau

ศิลปิน : นีรา ศิริรัตโนทัย

ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้พุ่ม อายุหลายปี สูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี ปลายแหลม ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง สีขาวหรือสีม่วง มีใบประดับรูปหัวใจ สีขาวลายสีเขียว กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด โคนกลีบสีม่วงเข้ม เกสรเพศผู้และเพศเมียอยู่ติดกับกลีบด้านบน

คุณประโยชน์ : ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้นิ่ว แก้อาหารเป็นพิษ สมานแผล รักษากากเกลื้อน แก้ริดสีดวง ขับปัสสาวะ ใบ ใช้ลดอาการอักเสบและบวม บรรเทาอาการปวด ดอกและช่อดอก ยังมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับคุณสมบัติทางยาเฉพาะ


ดาวน์โหลดไฟล์ปฏิทินได้ที่นี่ คลิก ปฏิทิน2568

แจกฟรี!!! ปฏิทินบ้านและสวน 2567/2024 ปฏิทินปี 67