ดินสไลด์ ป้องกันได้ ด้วย 5 ปัจจัยสำคัญของการทำฐานราก - บ้านและสวน

 5 สิ่งห้ามพลาด ถ้าไม่อยากให้บ้านทั้งหลังพัง เพราะดินสไลด์

ทำบ้านมาดีขนาดไหน แต่ถ้าไม่ใส่ใจเรื่องฐานราก เพียงผ่านไปไม่กี่ฝนบ้านทั้งหลังก็อาจทรุดพังเพราะ ดินสไลด์ ได้ง่ายๆ เราจะมีวิธีป้องกันปัญหาประจำฤดูกาลน้ำหลากนี้ได้อย่างไร

ดินสไลด์

จากข่าวล่าสุดที่เป็นประเด็นร้อนของคนรักบ้านอยู่ไม่น้อย (ขอบคุณ โพสต้นทาง ของเจ้าของเฟซบุ๊ค มีน คิ้วสวยละมุน) แรงของ ดินสไลด์ ทลายกำแพงกันดินจนพัง ลากเอาตัวบ้านบางส่วนให้ไหลไปตามดิน ทั้งๆ ที่บ้านสร้างใหม่เพียงสามเดือน โดยข้อมูลระบุว่า บ้านไม่มีเสาเข็ม แต่จะโยนความผิดให้แค่เสาเข็มก็คงจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับระบบฐานรากทั้งหมดที่จะต้องออกแบบให้ดีตั้งแต่ต้น จึงจะทำให้บ้านตั้งอยู่ได้ไม่พังทลายไปกับภัยธรรมชาติ แล้วฐานรากที่แข็งแรงจะต้องประกอบด้วยอะไร? 

บ้านและสวนแชร์ 5 ข้อสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในการทำฐานรากบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงหน้าดินพังทลาย ว่ามีสิ่งใดที่ควรใส่ใจบ้าง

เจาะสำรวจ ศึกษาชั้นดินให้มั่นใจ

หากเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เมื่อมองผืนดินด้วยตาเปล่านั้นไม่มีทางรู้ได้เลยว่าภายใต้หน้าดินแข็งที่เราเหยียบอยู่นั้นมีความแข็งแรงมากน้อยเพียงใด เพราะชั้นดินที่ลึกลงไปนั้นเต็มไปด้วยโพรงใต้ดิน ทางน้ำ ชั้นดินอ่อน หรือขยะที่ถูกฝังมานาน ซึ่งล้วนส่งผลต่อความแข็งแรงของดิน ช่างบางคนบอกว่าการเทียบเคียงจากที่ดินข้างเคียงนั้นก็สามารถประเมินลักษณะดินได้ ก็อาจจะได้ในระดับหนึ่ง แต่ใครจะรับประกันได้ล่ะว่าคุณภาพของดินในที่ของเราจะเหมือนกับที่ดินรอบๆ

ดินสไลด์

ดังนั้นการเจาะสำรวจชั้นดินจึงเป็นสิ่งที่ตอบคำถามคุณภาพดินของเราได้ชัดเจนที่สุด ที่จะทำให้ทราบได้ว่า พื้นดินในที่ของเราประกอบด้วยช้นดินแบบใดบ้าง ฐานรากควรหยั่งลึกลงไปในดินเท่าไร และถมดินมากน้อยเพียงใด จึงจะทำให้บ้านเราแข็งแรง ไม่พังทลายง่ายๆ

กำแพงกันดิน ป้องกัน ดินสไลด์

บ้านในที่ราบอย่างบ้านในเมืองอาจไม่คุ้นเคยกับกำแพงกันดินเท่าไรนัก แต่กำแพงกันดิน (Retaining Wall) เป็นโครงสร้างสำคัญที่ช่วยป้องกันปัญหาดินพังทลายสำหรับบ้านในที่ลาดชัน ที่ดินต่างระดับ หรือพื้นที่ดินอ่อนเสี่ยงต่อการพังทลาย เช่น บ้านเชิงเขา บ้านติดทางน้ำ หรือแม้แต่บ้านถมดินสูง โดยกำแพงกันดินจะทำหน้าที่ต้านทานแรงดันด้านข้างที่เกิดจากน้ำหนักดิน แรงหลากน้ำ แรงกระแทกจากน้ำใต้ดิน แรงสั่นสะเทือนต่างๆ รวมถึงแรงลมในกรณีทำกำแพงสูง ทำให้ที่ดินยังคงตัวอยู่อย่างแข็งแรง ไม่เคลื่อนตัวจนเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างบ้าน

โดยการทำกำแพงกันดินนั้นจะต้องผ่านการคำนวนการรับน้ำหนักและออกแบบโครงสร้างโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญให้เหมาะสมกับสภาพที่ดินโดยเฉพาะ ไม่เช่นนั้นก็อาจส่งผลกับโครงสร้างบ้านในระยะยาว โดยอาจเริ่มจากปัญหาสะสมทีละเล็กน้อย เช่นแนวรั้วล้มเอียง ดินใต้บ้านยุบ หรืออาจร้ายแรงจนถึงดินสไลด์แล้วลากตัวโครงสร้างบ้านให้พังทลายตามได้เลยทีเดียว

การมีกำแพงกันดินสามารถป้องกันปัญหาดินสไลด์ แต่หากภายในชั้นดินยังมีโพรงน้ำใต้ดิน  มีชั้นดินอ่อนที่อาจจะยุบตัวในอีกห้าปีข้างหน้า แม้บ้านจะไม่พังเพราะดินสไลด์ ก็อาจพังเพราะปัญหาดินยุบไม่วันใดก็วันหนึ่งอยู่ดี ดังนั้น จะต้องใส่ใจเรื่องการถมดินและการทำฐานรากให้ดีด้วยเช่นกัน

ถมดินให้แน่น ลดปัญหาหน้าดินยุบ

การถมดินนอกจากจะช่วยยกระดับพื้นบ้านป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังช่วยลดปัญหาดินทรุดตัวจากโพรงใต้บ้าน ทำให้พื้นรอบบ้านแข็งแรงและรับน้ำหนักบ้านได้ดี แต่ลำพังเพียงขนดินมาถม อัดด้วยรถบดดินให้แน่น ไม่ได้แปลว่าดินนั้นจะแข็งแรงพร้อมสร้างบ้านได้ทันที เพราะสำหรับดินเดิมที่ไม่แข็งแรงนัก หรือดินที่มีโพรงใต้บ้าน เมื่อโดนทับด้วยน้ำหนักดินใหม่ก็จะทำให้พื้นดินเดิมทรุดตัวลงไปอีก กว่าดินจะอัดกันแน่นจนทานแรงน้ำได้อาจกินเวลาตั้งแต่ไม่กี่ฝนจนถึงเกือบปี 

ดินสไลด์

สมัยก่อนเมื่อจะปลูกบ้านจึงมักถมดินแล้วปล่อยที่ทิ้งไว้ให้ผ่านไปหลายรอบฤดู เพื่อให้น้ำช่วยเซ็ตเนื้อดินให้แข็งแรงขึ้น แม้ในปัจจุบันเอง ก็ควรถมแล้วทิ้งระยะเวลาให้ดินเซตตัวอย่างน้อย 6-12 เดือน หรือหากระยะเวลาก่อสร้างมีจำกัด ก็ควรให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ดิน เพื่อออกแบบการเตรียมดินให้เหมาะกับคุณภาพดินและน้ำหนักของบ้านจะดีที่สุด

ส่วนบ้านที่วางแผนทุบสร้างใหม่ แล้วจะใช้โครงสร้างเก่ามาอัดใต้ที่ดินก่อนถมดินทับ ขอเตือนว่าไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเศษอิฐและคอนกรีตที่อยู่ใต้ดินถมใหม่นั้นไม่ได้เกาะรวมเป็นเนื้อเดียวกับดิน เมื่อถึงฤดูฝน น้ำที่หลากจะชะดินออก และไปสะสมอยู่ตามช่องว่างระหว่างเศษอิฐเก่าแทน จนเกิดเป็นโพรงน้ำใต้บ้าน ทำให้บ้านเสี่ยงต่อการทรุดตัวมากขึ้นไปอีก

ลงเสาเข็ม ป้องกันบ้านทรุด

อาจเคยได้ยินกันว่า ปลูกบ้านชั้นเดียวไม่ต้องใช้เสาเข็ม คำกล่าวนี้ไม่เป็นจริงทั้งหมด เพราะการจะใช้เสาเข็มหรือไม่ใช้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนชั้น แต่ขึ้นอยู่กับสภาพที่ดินต่างหาก 

ดินในบางพื้นที่เป็นชั้นหินตื้น หรือดินดาน คือดินที่อัดตัวกันจนแน่นจนรากพืช ความชื้น น้ำแทรกเซาะไปได้ลำบาก ตอกเสาเข็มยากหรืออาจตอกไม่ลงเลย ดินลักษณะนี้จะรับน้ำหนักมากได้โดยไม่ยุบตัว จึงสามารถทำฐานรากอาคารแผ่ไปกับผิวดินได้โดยไม่เสี่ยงทรุด ต่างจากผิวดินทั่วไปที่มีความอ่อนนุ่ม เมื่อรับน้ำหนักบ้านโดยตรงจะทรุดตัวตามน้ำหนักโครงสร้างได้ง่าย จึงจำเป็นต้องตอกเสาเข็มหยั่งลึกลงไปถึงชั้นดินดาน เพื่อให้น้ำหนักบ้านถ่ายลงไปยังชั้นดินที่แข็งแรงเพียงพอ โดยเราสามารถทราบประเภทดินโดยสับเขปได้จากหน่วยงานโยธาของราชการ ส่วนการเจาะสำรวจชั้นดิน เพื่อออกแบบฐานราก ควรจะให้วิศวกรคำนวนให้เหมาะสมกับที่ดินและบ้านเราจะดีที่สุด

สรุปง่ายๆ ว่า เสาเข็มทำให้โครงสร้างบ้านแข็งแรง ตั้งอยู่ได้โดยไม่ล้มเอียง ทว่าไม่ได้มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหน้าดิน หากเราไม่ได้ถมดินให้แน่นและทำกำแพงกันดินไว้ ดินก็ยังเสี่ยงต่อการสไลด์อยู่แน่นอน แต่ถ้าตอม่อและเสาเข็มแข็งแรงเพียงพอ ตัวบ้านก็จะยังลอยติดอยู่กับเสาเข็ม ไม่สไลด์ไปตามดินนั้น

ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ กันการคำนวนผิดพลาด

มีกำแพงกันดิน แต่หากคำนวนพลาด ออกแบบไม่ถูกต้อง ก็อาจพลิกเกมส์จากช่วยลดความเสียหายเป็นเพิ่มความเสียหายหนักกว่าเดิม อย่างในกรณีที่กำแพงกันดินดึงเอาโครงสร้างบ้านให้ฉีกขาดไปพร้อมๆ กับการไหลของดิน เพราะโครงสร้างบางส่วนของกำแพงกันดินฝากอยู่กับโครงสร้างบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ดังนั้นการทำฐานรากจึงต้องอาศัยการคำนวนที่แม่นยำและการออกแบบที่สร้างความปลอดภัยให้กับบ้านมากที่สุด ซึ่งจะต้องผ่านการวิเคราะห์และรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ จึงจะป้องกัน และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด


เรื่อง : ณัฐ

ภาพ : มีน คิ้วสวยละมุน และ Shutterstock


กรุะเบื้องมีเสียงดัง หลุดล่อนได้ง่าย เกิดจากอะไร

วิธีตรวจสอบขนาดที่ดินและราคาประเมินที่ดินจากเลขโฉนด

ติดตามบ้านและสวน