Bangkok Art Biennale2024 ชมงานศิลป์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ - บ้านและสวน

ชมงานศิลป์ Bangkok Art Biennale ผ่านพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์

บ้านและสวน พาชมงานศิลปะผ่านพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ณ เทศกาลงานศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2024

ในครั้งนี้ บ้านและสวน จะพาชมงานศิลปะ ณ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รอบเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ตามโบราณสถานอันงดงามอย่างวัดวาอาราม และพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด 4 แห่งด้วยกัน

โดยในแต่ละสถานที่  ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นแบ็กกราวนด์ขับเน้นการเล่าเรื่องราวของผลงานงานศิลปะให้เด่นชัดขึ้นเท่านั้น แต่ยังแฝงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ซึ่งคงอยู่กับความร่วมสมัย ชวนให้เราได้ขบคิดถึงแง่มุมต่างๆ ในมิติของธรรมชาติ ชีวิต ปฏิสัมพันธ์ระหว่างยุค ผ่านบริบทที่ตั้ง ใต้ร่มใหญ่ของคำว่า “รักษา กายา” ซึ่งเป็นธีมของงาน  Bangkok Art Biennale 2024 ทั้งยังเปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสัมผัสสถานที่ ที่ซึ่งนานๆ ครั้งเราจะได้มีโอกาสย่างก้าวเข้ามา โดยในแต่ละแห่ง ศิลปินได้จัดวางผลงานชิ้นเอกของตนเอง เพื่อเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงกับสถานที่ อันร้อยเรียงบทสนทนาทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน เพื่อให้เราได้ชื่นชมงานศิลปะได้อย่างลึกซึ้งกว่าที่เคย

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์

แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์วัดโพธิ์หนึ่งในวัดสำคัญของประเทศไทย ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่มีองค์พระยาวถึง 46 เมตร”

Experimental solution 57
ศิลปิน ญาณวิทย์ กุญแจทอง

ด้วยผลงานติดตั้งอยู่ในสองสถานที่ซึ่งมีพื้นเพของบริบทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอย่าง วัดโพธิ์และหอศิลป์กรุงเทพฯ  ศิลปินจึงพยายามที่จะเชื่อมโยงสถานที่สองแห่งนี้เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านโคลงกลบทพยัคฒ์ข้ามห้วย จากจารึกวัดโพธิ์ ซึ่งประพันธ์โดย กรมหมื่นไกรสรวิชิต โดยมีใจความสำคัญของวรรคหนึ่งที่นำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน “จะนับวันคืนลับไม่กลับคืน” ศิลปินนำต้นพยูงอายุกว่า 40 ปี ที่ล้มตายหลังจากการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มาบดเป็นผงแล้วโรยเป็นถ้อยคำจากดังกล่าวบนพื้นของสถานที่จัดแสดงทั้งสองแห่ง พร้อมกับติดตั้งผลงานบนผนังที่สะท้อนถึงความสูญเสียของธรรมชาติ เพื่อเชิญชวนให้ขบคิดว่า “ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งระบบนั้นเป็นพลังงานสะอาดจริงหรือ?”

Eyes (ตา)
ศิลปิน หลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois)

ถ้อยคำที่ว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ดูเป็นประโยคบอกเล่าที่จริงใจอย่างถึงที่สุด ผลงานศิลปะชิ้นนี้ก็เช่นกัน วางโดดเด่นประจันหน้าพระพุทธรูปทองคำศักดิ์สิทธิ์ สื่อถึงการมอง แอบมอง หรือการลวงตา ซึ่งสามารถตีความได้หลากหลาย หรือในอีกนัยยะหนึ่งนั้น อาจจะหมายความถึง ดวงตาเห็นธรรม หรือการรู้แจ้งในรสพระธรรมก็เป็นได้ 

คางหมู,โลกา, ราหู (Là, in the Trapeziums)
ศิลปิน นักรบ มูลมานัส
คางหมู,โลกา, ราหู (Là, in the Trapeziums)
ศิลปิน นักรบ มูลมานัส

ผลงานที่จัดแสดงประกอบไปด้วย หินอ่อนแกะสลัก, โต๊ะไม้, หนังสือ, งานจัดวางเสียง
ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก จารึก รูปปั้น และภาพวาดสมัยรัชกาลที่ 3 ในวัดโพธิ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวย้อนหลังไปหลักศตวรรษของชาวต่างชาติ และดินแดนที่ชาวสยามรู้จัก ผ่านวิธีการนำเสนอภาพเคลื่อนไหว พร้อมเสียงร้องที่ร้อยเรียงขึ้นจากอุปรากรเรื่องสำคัญของโลก อันสะท้อนถึงแนวคิดที่ชาวตะวันตกมีต่อโลกตะวันออก ทั้งนี้ผู้ชมงานสามารถหยิบหนังสือที่จัดวางมาอ่านประกอบการเสพงานศิลปะได้อีกด้วย

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

“ขุดค้นเรื่องเล่าจากอดีต ท่ามกลางพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมผสมผสาน ไทย จีน เขมร และยุโรป ในรูปแบบศิลปะแบบโกธิก”

The Engineers
ศิลปิน Cole Lu (โคล ลู่)

ศิลปะจัดวางชิ้นนี้ท้าทายความคิดที่ว่าวิศวกรเปรียบเหมือนผู้สร้างมนุษยชาติ และลำดับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านประติมากรรมประตูขนาดใหญ่ 2 บาน ซุ้มประตูรูปโค้งนี้ทำจากไม้สะเดาและลินินเผา ออกแบบเป็นทางเข้าออกและทำให้นึกถึงวัฏจักรอันไม่รู้จบของการเกิดและดับ ศิลปินใช้ไฟเผาสร้างร่องรอย เพื่อสำรวจถึงต้นกำเนิด ตำราทางประวัติศาสตร์ คัมภีร์ทางศาสนา เทวตำนานโบราณวัตถุ และการเดินทางข้ามเวลา

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

“งานศิลป์ท่ามกลางวัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนกุฎีจีน และเป็นที่ประดิษฐานของ “พระบรมมหาธาตุเจดีย์” ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันงดงาม” 

(Un)common intimacy
ศิลปิน เจสสิก้า ซีกัล (Jessica Segall)
(Un)common intimacy
ศิลปิน เจสสิก้า ซีกัล (Jessica Segall)

“เล่นกับความเสี่ยงในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและความเปราะบางของสิ่งแวดล้อมเองด้วย”
ผลงานชิ้นนี้นำพาศิลปินเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ที่เอารัดเอาเปรียบรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้เอกชนเป็นเจ้าของสัตว์ ศิลปินจึงออกแบบผลงานสื่อถึงความเป็นผู้หญิงอย่างสุดโต่ง ซึ่งดูขัดแย้งกับสัตว์ที่มีความดุร้าย สังเกตได้จากจังหวะภาพที่จับท่วงท่าการเคลื่อนไหวอย่างอ่อนโยน ประกอบกับสีสันจากชุดและสีทาเล็บแดงสด ความอ่อนโยนดังกล่าว ชวนใคร่ครวญถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ในแง่ของการควบคุมและความบันเทิงที่สัตว์เหล่านี้ต้องเผชิญ

Good Like Gaia
ศิลปิน เลลโล เอสโปซีโต (Lello Esposito)

ประติมากรรมชิ้นนี้แทรกตัวอยู่ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติของเขามอ หรือภูเขาจำลองขนาดเล็กก่อด้วยศิลา หรือ เขาเต่า  แวดล้อมด้วยสระน้ำและพรรณไม้นานาชนิด ศิลปินสร้างชิ้นงานเป็นรูปเขาสัตว์เสริมมงคลซึ่งทำมาจากวัสดุเรซิน โดยเลือกใช้เป็นสีส้มประการัง เพื่อสื่อความหมายถึงการขอพรจากพระแม่ธรณี

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

“ชิ้นงานที่สอดแทรกแนวคิดทางพุทธศาสนา ท่ามกลางสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา”

The Horde
ศิลปิน หริธร อัครพัฒน์ (Haritorn Akarapat)

กลุ่มประติมากรรมไฟเบอร์กลาส 15 ชิ้น สูง 2-5 เมตร จัดวางเป็นกลุ่มคล้ายคนโต้ตอบกัน ด้วยรูปลักษณ์คล้ายสิ่งมีชีวิต ที่มีตำหนิ หรือจุดบกพร่อง บ้างมีจมูกยาวคล้ายดาบ สร้างบทสนทนา และความตึงเครียดระหว่างกันอย่างเงียบๆ  ชิ้นงานเคลือบด้วยสีขาวประกายแวววาว เพื่อล้อกับแสงที่ตกกระทบ และสะท้อนโทนสีขาวของวัด

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ มิวเซียมสยาม

“งานศิลปะที่ลงลึกสำรวจถึงความหมายของธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ แลชีวิต” 

Eyes (ตา)
ศิลปิน หลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois)

เป็นศิลปะจัดวางรูปลูกตาขนาดใหญ่ที่ทำให้นึกไปถึงกิจกรรมหนึ่งในสนามเด็กเล่นนั่นคือการเล่นโยกเยก
ผลงานชิ้นนี้ปรับตัวเข้ากับบริบทได้ดี ด้วยวิธีการนำเสนอที่เรียบง่าย Eye of Newt เข้าถึงผู้คนได้ทุกช่วงวัย
ด้วยแนวคิดมาจากไข่กบ ศิลปินสังเกตไข่กบและไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ที่ ไข่กบจะเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวเป็นกลุ่ม ความสามัคคี หรือโอกาส ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้

From Bones and Bellies
ศิลปิน Jasmine Togo-Brisby

ผลงาน Mother Tongue ชุดนี้ ศิลปินได้กลับสำรวจถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมชาวออสเตรเลียหมู่เกาะทะเลใต้ของเธอ ด้วยการไปเยือนจุดที่ “เรือดอนฮวน” เทียบฝั่งอ่าวเดบาราห์ ประเทศเอาเตอารัว นิวซีแลนด์ และนำเสนอผลงานชิ้นนี้ออกมา

ศิลปินเริ่มต้นเล่าเรื่องราวด้วยการพายเรือออกนอกฝั่งกับแม่ที่ฮัมเพลงในภาษาที่ฟังไม่ออก ชวนให้คิดใคร่ครวญถึงการสูญเสียภาษาแม่และรอยแยกทางวัฒนธรรม ผลงานชุด Bones and Bellies นี้ นำเสนอภาพชาวหมู่เกาะทะเลใต้สามรุ่น ได้แก่ ตัวศิลปิน แม่และลูกสาวของเธอ เชื่อมโยงและแสดงภาพอดีตกับปัจจุบันด้วยเรื่องเล่าของบรรพบุรุษในโคลนตมและเม็ดเกลือ ผ่านเรื่องราวการเดินทางของเรือดอนฮวนซึ่งมาถึงรัฐควีนส์แลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2406 นำชาวเกาะวานูอาตูมา 67 คนเพื่อเป็นแรงงานในไร่ฝ้ายแห่งแรกของประเทศออสเตรเลีย อันนับเป็นจุดเริ่มการแพร่กระจายของ “แบล็คเบอร์ดิง” (blackbirding) คำที่ใช้เรียกการค้าทาสในมหาสมุทรแปซิฟิก ชาวหมู่เกาะทะเลใต้ตระหนักว่าเรือลำนี้เป็นสัญลักษณ์ของความอดทนของบรรพบุรุษ ส่วนมหาสมุทรก็เป็นตัวแทนทั้งอัตลักษณ์และการบังคับย้ายถิ่นฐานซึ่งสร้างรอยแยก ผลงานของโตโก-บริสบีนำเสนอความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนเหล่านี้โดยไม่ได้ต้องการปลดแอกอาณานิคมแต่แย่างใด เพียงแต่ต้องการเปิดเผยให้เห็นถึงผลกระทบต่อคนรุ่นหลังผ่านชิ้นงานของเธอ

The Notes from Lower to Higher
ศิลปิน Jedsada Tangtrakulwong

ด้วยความที่ศิลปินทำงานร่วมกับบริบทที่ตั้ง จึงสร้างสรรค์ผลงานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทย กับหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง กลุ่มชนที่ดํารงชีพอยู่กับธรรมชาติทางภาคเหนือของประเทศ โดยใช้พื้นที่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ สวนสาธารณะ ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางของถนนหลวง นำมาเป็นพื้นที่และเส้นทางในการเชื่อมโยง ประกอบด้วยทั้งผลงาน 3 ชุด ได้แก่
“ช่องว่างระหว่างยอดดอยกับที่ราบ” นำเสนอความสัมพันธ์ทางพฤกษศาสตร์จากแรงบันดาลใจที่ได้จากชื่อ รูปทรงของลําต้น ใบ และสีสันของพันธุ์ไม้ที่พบได้ทั้งในแหล่งสงวนที่ดินตามธรรมชาติและสวนสาธารณะในเมือง
“จังหวะของตัวโน้ตนับจากล่างขึ้นบน” ประติมากรรมที่นำโครงสร้างของศาลากระโจมแตร (bandstand) หรือเวทีรูปทรงแปดเหลี่ยมในสวนสราญรมย์ ที่เคยใช้เป็นที่บรรเลงดนตรีหรือแตรวงของทหารมาผ่าครึ่งปรับเปลี่ยนวัสดุให้เป็นวัสดุเดียวกันกับที่ใช้สร้างบ้านของชาวกะเหรี่ยง
“เสียงหายใจท่ามกลางสิ่งที่มีอยู่จริงแต่มองไม่เห็น” ที่เป็นเสมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ อุทยานแห่งชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง

Suskewiet Visions
ศิลปิน David Shongo & Filip Van Dingenen

ผลงานชิ้นนี้มีที่มาจากประเพณีพื้นบ้านที่มีชื่อว่าซุสเคเวียต (Suskewiet) กีฬาที่ใช้สัตว์ซึ่งเล่นกันในภูมิภาคแฟลนเดอส์ตะวันตกเฉียงใต้ นกฟินช์ตัวผู้แข่งกันว่าตัวไหนจะร้องหาคู่มากครั้งที่สุด
งานชิ้นนี้เก็บผลการนับคะแนนแบบต่อเนื่องและมีลักษณะเฉพาะบนแท่งไม้สีดำซึ่งใช้นับมาตั้งแต่เดิมแล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นเสียงของสิ่งที่สร้างขึ้นมาใช้ชั่วคราวตามแม่น้ำลิส แหล่งองค์ประกอบเสียงแบบอัลกอริธึมสำหรับอนาคต ชวนให้เราสำรวจถึงเกณฑ์วิธีของการแข่งขันซึ่งมีมนุษย์และนกในกรง ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเครื่องมือสากลขึ้นมา เพื่อศึกษาและฟังเสียงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราในแบบที่แตกต่างออกไป

เพราะศิลปะไม่เคยปิดกั้น  การมีผลงานจัดแสดงในสถานที่ที่มีความสำคัญทางศาสนาอย่าง วัด จึงทำให้ศิลปะเข้าใกล้ผู้คนในทุกกลุ่มมากขึ้น ศิลปินได้จัดวางผลงานชิ้นเอกของตนเอง เพื่อเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงกับสถานที่ อันร้อยเรียงบทสนทนาทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน เพื่อให้เราได้ชื่นชมงานศิลปะได้อย่างลึกซึ้งกว่าที่เคย
ยังมีหลายจุดที่น่าติดตามในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลงานอีกกว่า 200 ชิ้น ยังมีผลงานอีกน่าสนใจมากมาย ณ สถานที่จัดแสดงที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสังคม


ข้อมูลเพิ่มเติม : www.bkkartbiennale.com
FB: BkkArtBiennale
ภาพ :ณัฐวรรธน์ ไทยเสน, ภาพประชาสัมพันธ์