รีโนเวตบ้านจัดสรร ให้โปร่งและอบอุ่นสบาย
รีโนเวตบ้านจัดสรร ที่เคยยกพื้นสูงเพื่อเล่นระดับ ทำให้เพดานเตี้ยและอึดอัด โดยทุบผนังและพื้นชั้นล่างออก เปิดชั้นล่างเชื่อมไปกับส่วนอื่น และรื้อฝ้าให้โปร่งโล่ง
Design Directory : สถาปนิก GLA Design Studio
“ผมอยู่คอนโดมาทั้งชีวิต ไม่เคยมีความคิดที่จะอยู่บ้านเลย พอต้องมา รีโนเวตบ้านจัดสรร ตัวเองก็ไม่รู้เลยว่าการอยู่บ้านเป็นยังไง และความต้องการคืออะไร”
ทว่าเมื่อมีครอบครัว การปรับเปลี่ยนและขยับขยายที่อยู่อาศัยจึงเริ่มต้นขึ้น ตัวเลือกมีหลากหลายตั้งแต่ ซื้อบ้านใหม่ ซื้อคอนโดใหม่ ซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้าน และสุดท้าย ดร.เอ๋ – มณีรัตน์ เอกพงศ์ไพสิฐ และ ดร. พยัต วุฒิรงค์ ก็ตัดสินใจเลือกการรีโนเวตบ้านจัดสรรมือสองหลังนี้ที่ซื้อทิ้งเอาไว้เกิน 10 ปี เพื่อเป็นบ้านของครอบครัว
ความต้องการที่ชัดเจน
เมื่อตัดสินใจรีโนเวตบ้าน สิ่งที่ตามมาคือการหาสถาปนิกที่จะมาดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดโควิด-19 ทำให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสไป work form anywhere ที่บ้านเล็กวิลล่า จังหวัดจันทบุรี
“เราวนเวียนไปพักอยู่หลายรอบ ไปนั่งเล่น นอนเล่น ทำงาน อยู่เหมือนเป็นบ้านเลย ดร.พยัตบอกว่าชอบบรรยากาศที่นี่ จึงลองถามเจ้าของที่เป็นสถาปนิกว่าเขาสนใจมาทำบ้านเราไหม” ดร.เอ๋เล่าถึงที่มาที่ไปของบ้านสไตล์อบอุ่นหลังนี้
“สิ่งแรกหลังจากทางสถาปนิกเข้ามาดูบ้านคือ บอกให้เราไปทำการบ้านมาว่าเราต้องการอะไร ซึ่งทางเราก็จัดเต็มลงรายละเอียดถี่ยิบ เช่น ห้องนอนจะต้องมืด ตื่นเช้ามาเปิดม่านมองเห็นต้นไม้ เดินไปสองก้าวถึงสวน ทุกที่ในบ้านสามารถนั่งทำงานได้ ครัวเราจะเป็นอย่างไร จะต้องมี 2 ครัว เผื่อในอนาคตจะเปิด Chef Table มีพื้นที่โชว์ของที่ระลึกจากต่างประเทศ ต้องใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก เป็นหิน กระเบื้องทำมือ กระเบื้องดินเผา ทำการบ้านไปละเอียดมาก เพราะเรากำลังบอกกับทางสถาปนิกว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร เราชอบแบบไหน แล้วให้สถาปนิกออกแบบห้องนั้นมาให้เรา ทางสถาปนิกก็ช่วยดูและแนะนำว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ควรทำ และมองไปถึงในอนาคตตอนอายุเยอะขึ้นว่าเราจะใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้อย่างไร เราอาจจะไม่อยากออกไปข้างนอก ผมอยู่บ้านสอนหนังสือ ดร.เอ๋ก็ทำอาหารให้กิน ออกกำลังกายด้วยการเดินในน้ำ ก็เลยต้องมีสระว่ายน้ำที่บ้าน เป็นการคิดเผื่อระยะยาวไปจนแก่เลย”
ปรับเปลี่ยนบ้านให้เข้ากับเรา
ภายในบ้านก่อนรีโนเวตเป็นบ้านเล่นระดับโดยเกือบครึ่งหนึ่งของชั้นล่างบริเวณห้องนั่งเล่นยกพื้นสูง ทำให้ระยะเพดานของห้องนี้เตี้ยและดูอึดอัด จึงทุบผนังและพื้นชั้นล่างออกเกือบทั้งหมด เพื่อให้ห้องนั่งเล่นอยู่ในระดับเดียวกับส่วนอื่นๆของบ้าน เหลือส่วนที่เล่นระดับเฉพาะทางเดินเข้าบ้านและโถงบันได รื้อฝ้าเพดานออกเพื่อให้บ้านโปร่งโล่งขึ้น และก่อผนังกั้นพื้นที่ใหม่ให้เหมาะสมตามการใช้งาน
“เวลาเราอยู่บ้านก็ต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการให้ใครเห็น และในอนาคตที่ ดร.พยัต จะเปิด Public Training ที่ชั้น 2 คนที่มาเรียนก็สามารถเดินเข้าบ้านและขึ้นบันไดไปได้เลย โดยไม่ต้องผ่านหรือมองเห็นคนที่พักผ่อนอยู่ในส่วนอื่นๆ ของบ้าน”
วัสดุธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไปอย่างกระเบื้องดินเผา อิฐแดง หินกาบ ไม้สัก เมื่อนำมาใช้ประกอบกันในบ้านหลังนี้ต่างส่งเสริมกันและกันได้อย่างลงตัวสวยงาม รวมไปถึงกิมมิกเล็กๆที่สื่อถึงความเป็นไทยซึ่งสอดแทรกเอาไว้ได้อย่างน่ารัก
“มีตุ่มใส่น้ำสำหรับตักอาบแบบไทยๆ มีตุ่มล้างเท้าที่หน้าประตูเป็นวิถีชีวิตแบบไทยๆที่เรียบง่าย บางทีเราพยายามวิ่งไปข้างหน้ามากเกินไป จนลืมดูไปว่าความสุขก็อยู่ใกล้ๆแค่นี้ ลูกออกไปวิ่งเล่นกลับมาตักน้ำล้างเท้า แค่นี้ก็คือความสุขแล้ว
“บ้านคืออิสระ เพราะเป็นตัวเองได้มากที่สุด จะเดินตรงไหน ทำอะไรก็ได้ ถ้าแต่ก่อนตอนอยู่คอนโดเราก็ตื่นสายหน่อย 6-7 โมง แต่พออยู่บ้าน ตี 5 เราก็ตื่นแล้ว ได้ยินเสียงนกร้อง เสียงกระรอก การอยู่บ้านมีเรื่องที่ต้องดูแลจัดการ อย่างวันก่อนต้องมานั่งตักไข่ลูกอ๊อดออกจากสระว่ายน้ำ (หัวเราะ) เปรียบเทียบง่ายๆ ชีวิตที่อยู่คอนโดเป็นชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ชีวิตที่อยู่บ้านคือการใช้ชีวิต ซึ่งวันนี้ก็กลับไปอยู่คอนโดไม่ได้แล้ว เพราะเราแฮปปี้กับการอยู่บ้านแล้ว”
เติบโตไปพร้อมกับบ้านหลังนี้
คนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ น้องอินโน – เด็กชายณวุฒิ วุฒิรงค์ ที่อยู่ในทุกช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มทุบบ้านหลังนี้
“วันฤกษ์ดีที่ทุบบ้าน น้องอินโนอายุได้เพียง 2 สัปดาห์ อินโนอยู่คอนโดมาก่อนหนึ่งปีแล้วมาอยู่ที่บ้านนี้อีกหนึ่งปี เห็นได้ว่าพัฒนาการของเขาต่างกันมาก ได้ใช้ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ วิ่งเล่นในบ้าน ถ้าเบื่อก็วิ่งออกไปข้างนอก ถอดรองเท้าวิ่งเล่นบนดิน บนหญ้า แล้วก็มากระโดดน้ำ ได้ทำหลายๆอย่างที่เขาไม่เคยทำตอนอยู่คอนโด”
แน่นอนว่าวันนี้น้องอินโนในวัย 2 ขวบ ย่อมอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมดา การหยิบจับของที่ระลึกที่คุณพ่อคุณแม่หอบหิ้วมาจากต่างประเทศ ทำหล่นตกแตกเสียหายไปบ้าง ก็เป็นเรื่องราวที่ต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน
“ถ้าเป็นแต่ก่อนเราคงโมโห ในวันนี้เขาอาจจะแค่หยิบจับมาเล่น แต่วันหนึ่งเขาจะถามว่าของชิ้นนี้มาจากที่ไหน เราก็จะพาเขาไปดูแผนที่ว่าประเทศนี้อยู่ตรงนี้นะ เขาก็คงจะถามว่าประเทศนี้ไปอย่างไร เราก็จะเล่าให้เขาฟัง ถ้าเขาบอกว่าอยากไปเราก็จะพาไป ในวันนี้เขายังไม่รู้หรอกว่าของชิ้นนี้มาจากที่ไหน แต่เรื่องราวต่อจากนี้มันน่าจะสนุกมากเลย”
เจ้าของ : ดร.มณีรัตน์ เอกพงศ์ไพสิฐ ดร.พยัต และเด็กชายณวุฒิ วุฒิรงค์
ออกแบบ : GLA Design Studio โดยคุณรินระดา นิโรจน์ คุณชิษณุชา พูลทวีธรรม และคุณธนพร สุขเกษม
เรื่อง : jOhe
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล, ณัฐวุมิ เพ็งคำภู
สไตล์ : Suntreeya