ตำแหน่งหิ้งพระในบ้าน และไอเดียการจัดมุมบูชาแบบร่วมสมัย
ตำแหน่งหิ้งพระในบ้าน มักมีปัญหาที่พบอยู่เสมอคือ ตำแหน่งที่ตั้งมักไม่สงบและขาดบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำสมาธิ มาดูแนวทางเบื้องต้นที่ช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถจัดวางตำแหน่งหิ้งพระได้อย่างสบายใจกัน
ตำแหน่งหิ้งพระในบ้าน ของคนไทยมักมีการจัดวางตามหลักความเชื่อ ซึ่งหากจัดวางตามหลักการที่ถูกต้องแล้ว จะสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่คนในบ้านได้ ในทางหลักจิตวิทยาอธิบายได้ว่า จะช่วยให้เจ้าของบ้านรู้สึกสบายใจ หมดกังวล หลักความเชื่อก็มีข้อปฏิบัติมากมายจากหลายๆ ที่มา แต่ที่ได้รับความนิยมและยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นแนวทางหลักมีดังนี้
นิยมวางหิ้งพระไว้ที่ชั้นบนสุดของบ้าน
คนไทยเชื่อว่าพระพุทธรูปเป็นของสูง ถ้าวางไว้ในที่ต่ำกว่าที่อยู่ของคนในบ้านอาจไม่เป็นสิริมงคลได้ แม้การวางหิ้งพระไว้ที่ขั้นล่างจะสามารถทำได้ แต่ปีข้อจำกัดมากมาย เช่น ไม่ควรตรงกับห้องน้ำชั้นบน หรือไม่ควรตรงกับห้องนอน นอกจากนี้ชั้นล่างยังมักถูกใช้งานเป็นส่วนรับแขก ห้องครัว หรือส่วนบริการต่างๆ ทำให้ไม่มีความเป็นส่วนตัว
หิ้งพระไม่นิยมอยู่ติดกับห้องน้ำ
คนไทยเชื่อว่าพระพุทธรูปเป็นสิ่งสะอาดและบริสุทธิ์ จึงไม่ควรนำไปอยู่ใกล้กับสิ่งเหม็นและสกปรกอย่างห้องน้ำนอกจากนี้เวลาใช้งานถ้าถูกรบกวนด้วยเสียงหรือกลิ่นจากห้องน้ำที่อยู่ติดกันก็คงไม่น่าพิสมัยนัก
หิ้งพระนิยมอยู่ในมุมที่เงียบสงบ
การสวดมนต์ไหว้พระและการนั่งสมาธิวิปัสสนาเป็นกิจกรรมที่นิยมทำในมุมหิ้งพระ ดังนั้นบรรยากาศของบริเวณนี้จำเป็นต้องเงียบสงบ ไม่ดวรมีเสียงหรือกลิ่นต่างๆ รบกวน อย่างเสียงจากโทรทัศน์ในห้องโฮมเธียเตอร์หรือกลิ่นอาหารจากห้องครัว หากสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้มุมพระอยู่ในห้องเหล่านี้จะดีกว่า
ระวังการหันปลายเตียงไปยังหิ้งพระ
ถ้าห้องนอนติดกับหิ้งพระไม่ควรหันปลายเตียงไปทางหิ้งพระ เพราะพระพุทธรูปเป็นสิ่งกราบไหว้บูชา ดังนั้นการหันปลายเท้าเข้าหาพระพุทธรูปจึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เช่นเดียวกับการที่เราไม่นิยมนั่งเหยียดขาหันปลายเท้าไปทางทิศที่ผู้ใหญ่นั่ง
ตำแหน่งหิ้งพระสำหรับบ้านหลังเล็ก
กรณีที่บ้านเล็ก คับแคบ ไม่สามารถจัดเป็นห้องพระได้ ให้จัดมุมบูชาพระในบริเวณที่เหมาะสมและอยู่ในระดับสูงพอสมควร โดยทำเป็นทิ้งบูชาขึ้นในมุมต่างๆ แทน แต่ควรพิจารณาตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งทิ้งพระเพิ่มขึ้น คือ
- ไม่ควรตั้งตรงบันไดหรือใต้บันได
- ไม่ควรตั้งอยู่ใต้คาน
- ห้ามตั้งอยู่ใต้ท้องน้ำ
- ห้ามเอาหลังอิงห้องน้ำหรือแขวนหิ้งพระกับผนังห้องน้ำ
จัดลำดับสิ่งเคารพบูชาในบ้าน
- พระพุทธรูปตำแหน่งสูงสุดซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า มีหลากหลายองค์ เช่น พระพุทธชินราช พระแก้วมรกต หลวงพ่อโสธร พระพุทธชินสีห์ ฯลฯ ควรระวังด้วยว่าอย่าให้พระองค์อื่นในตำแหน่งที่ต่ำกว่า หรือช่อดอกไม้บูชาอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าองค์พระประธาน
- พระอรหันต์ให้ประดิษฐานในตำแหน่งรองลงมาจากพระพุทธรูป ส่วนใหญ่พระอรหันต์ที่นิยมบูชาในบ้าน ได้แก่ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระราหุล พระสิวลี พระสังกัจจายน์ พระบัวเข็มหรือพระอุปคุต เป็นต้น
- พระอริยสงฆ์วางลำดับรองลงมา ที่นิยมบูชาในบ้านเรือน ได้แก่ หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต หลวงปู่มั่น ทั้งนี้จะบูชาเป็นเหรียญหรือรูปภาพก็ได้เช่นกัน
- รูปเหมือนสมมติสงฆ์หรือพระเกจิอาจารย์ ในบางบ้านยังบูชาพระสมมติสงฆ์ตามศรัทธาส่วนบุคคล อาทิ หลวงตามหาบัว หลวงพ่อคูณ รวมถึงหลวงปู่ต่างๆ ที่คนไทยผูกพันมาเนิ่นนาน
- พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทยลำดับต่อมาคือรูปเคารพ รูปปั้นขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย อาทิ พ่อขุนรามคำแหง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าตากสินมหาราช รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9
- เทพฮินดูให้เรียงตามลำดับเช่นกัน คือ พระศิวะ เจ้าแม่อุมา เจ้าแม่กาลี พระนารายณ์ พระลักษมี พระพรหม พระสุรัสวดี พระพิฆเนศ พระอินทร์ ท้าวเวสสุวรรณ และฤๅษี
- พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุหากที่บ้านบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ ให้พิจารณาดูว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ใด หากเป็นของพระบรมสารีริกธาตุองค์พระพุทธเจ้า ให้วางในตำแหน่งรองจากพระพุทธรูป แต่หากเป็นพระธาตุของพระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ ให้วางรองลงมาเรียงตามลำดับเช่นกัน
- อัฐิ รูปบูชาของบรรพบุรุษหากจำเป็นต้องอยู่บนหิ้งเดียวกันกับองค์พระบูชาให้วางในตำแหน่งต่ำกว่าองค์พระ แต่หากมีพื้นที่สามารถแยกบูชาต่างหากได้
- สิ่งปลุกเสกอื่นๆแม้ว่าตามหลักพระพุทธศาสนาจะไม่ระบุให้มีสิ่งบูชาอื่นใด แต่ก็มีความเชื่อส่วนบุคคลที่นับถือบูชาสิ่งปลุกเสก ของขลัง เพื่อปกป้องให้ปลอดภัย ในกรณีที่บ้านบูชามีสิ่งปลุกเสกตามความเชื่อและศรัทธา อาทิ กุมารทอง รักยม นกคุ้ม วัวธนู ควายธนู สามารถวางบูชารวมในหิ้งพระได้ แต่ต้องจัดวางในพานบูชาให้เรียบร้อย แต่หากสามารถแยกหิ้งบูชาได้จะดีกว่า
ไอเดียตกแต่งหิ้งพระในบ้านแบบร่วมสมัย
ในปัจจุบันเราสามารถสร้างสรรค์มุมบูชาพระให้สวยงาม โดยใส่ไอเดียเพิ่มความสวยงามและให้ใช้งานได้ดีขึ้นในพื้นที่จำกัดอีกด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ข้อมูล : หนังสือ 4 ห้องต้องไม่ลืม โดย สำนักพิมพ์บ้านและสวน
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน