การปลูกกุหลาบ ให้ออกดอกสวย เพียง 6 วิธี - บ้านและสวน

การปลูกกุหลาบ ให้ออกดอกสวย เพียง 6 วิธี

การปลูกกุหลาบ ในเมืองไทยนั้นสามารถให้ออกดอกได้ตลอดทั้งปี เพราะสภาพภูมิอากาศไม่มีช่วงระยะให้พืชได้พักตัวเหมือนกุหลาบเมืองหนาวในต่างประเทศ

การปลูกกุหลาบ ในบ้านเราจะมีอายุสั้น เนื่องมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และการดูแลที่ไม่ดีเท่าที่ควร แต่สำหรับมือใหม่ที่อยากลองปลูกกุหลาบ ต้องไม่พลาด 6 วิธีนี้ ที่จะทำให้การปลูกกุหลาบของคุณ ออกดอกสะพรั่งเหมือนมืออาชีพ

การปลูกกุหลาบ

1.ปลูกลงดินหรือในกระถางดี

ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้งาน กรณีมีพื้นที่น้อย แนะนำให้ปลูกในกระถาง ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ตามต้องการ สำหรับคนที่อาศัยอยู่ตาม หอพักหรืออพาร์ตเมนต์ อาจหากระบะแขวนที่มีความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วนำไปแขวนบริเวณระเบียงเพื่อให้ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ หากมีพื้นที่สวน รอบบ้านแนะนำให้ปลูกลงดิน แต่ควรระวังเรื่องการระบายน้ำในพื้นที่และระยะห่าง ระหว่างทรงพุ่มกุหลาบกับต้นไม้อื่นๆ ด้วย เพราะถ้าปลูกชิดกันมากเกินไปจนเบียด ต้นกุหลาบ อาจทำให้ทรงพุ่มไม่สวยงาม เจริญเติบโตและออกดอกได้ไม่ดีเท่าที่ควร

2.ปรุงดิน เปลี่ยนกระถาง

ต้นกุหลาบที่ซื้อมามีแกลบดิบเป็นเครื่องปลูกหรือไม่ หากใช่ ควรเอาออก แล้วเปลี่ยนดินใหม่

สูตรดินปลูกที่แนะนำและเหมาะสำหรับปลูกกุหลาบ ในกระถาง คือ

          ดินปลูก          1 ส่วน

          แกลบดิบ         2 ส่วน

          ปุ๋ยคอก           1 ส่วน (หากเป็นมูลไก่ให้ลดลงครึ่งหนึ่ง)

          *ขุยมะพร้าว     ½ ส่วน

          *หินฟอสเฟต    3 ขีด

          ปุ๋ย สูตร 0-20-0       1 ขีด

          *โดโลไมท์                 3 ขีด

          สารเร่งซูปเปอร์ พด.1   1 ซอง

หมายเหตุ สัญลักษณ์ * คือ หากไม่มีไม่ต้องใส่ก็ได้

การปลูกกุหลาบ

3.แสงแดดเพียงพอ

ตำแหน่งที่ปลูกต้องมีแสงแดดส่องมากกว่า 6 ชั่วโมง หากได้รับแสงแดดพอแต่ยังไม่ออกดอก ย้อนกลับพิจารณาข้อ 2. ดูว่าดินปลูกระบายน้ำได้ดีหรือไม่ ถ้าดินแน่น แห้งและแข็ง ควรต้องเปลี่ยนดินใหม่

4.การตัดแต่ง

หลังจากดอกโรยแล้วควรตัดแต่ดอกที่โรยทิ้งไปพร้อมกับก้าน และ ตัดแต่งทรงพุ่มเป็นครั้งคราว อย่าปล่อยให้กิ่งยืดยาว เพราะจะทำให้ดอกไม่มี คุณภาพ  และควรตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งที่มีโรค กิ่งบิดงอ กิ่งที่พุ่งเข้าด้านในพุ่ม กิ่งที่ยาวเกินไป กิ่งกระโดงใหญ่

การปลูกกุหลาบ
ก่อนการตัดแต่ง
หลังการตัดแต่งเบา
หลังการตัดแต่งหนัก

5.การปลิดยอด

ต้นกุหลาบที่โทรม หลังจากตัดแต่งกิ่ง ยอดที่แตกใหม่จะผอมและสั้น อย่าปล่อยให้โตจนออกดอก ควรปลิดยอดอ่อนพร้อมดอกอ่อนทิ้ง เพื่อให้ต้น ไม่สูญเสียอาหารไปเลี้ยงดอก และมีใบเพื่อสะสมอาหารมากขึ้นจนกว่าต้นจะ แข็งแรงจึงปล่อยให้ยอดรุ่นต่อไปเจริญเป็นดอกตามปกติ

อดที่เหมาะกับการปลิดยอดในระยะ ยอดอ่อน
ยอดที่เหมาะกับการปลิดยอดในระยะ ดอกอ่อน
การปลูกกุหลาบ
ยอดที่เหมาะกับการปลิดยอดในระยะ ดอกใหญ่

6.การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยกุหลาบให้ได้ผลดีที่สุด ต้องเลือกสูตรปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการของกุหลาบในขณะนั้น ณ ที่นี้จะพูดถึงการให้ปุ๋ยเพื่อเร่งและบำรุงดอก ซึ่งปกติธาตุอาหารหลักของพืชมี 3 ตัว คือ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) หากจะเน้นเร่งดอกควรต้องเป็นปุ๋ยที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง เพราะธาตุฟอสฟอรัสมีส่วนช่วยในการกระตุ้นตาดอก และสร้างรากฝอย เช่น ปุ๋ยเคมีสูตร 16-21-16 , 5-10-5 หรือหากจะใช้ปุ๋ยคอก แนะนำให้ใช้เป็นมูลวัว สลับกับมูลไก่

ข้อแนะนำ

นอกจากนี้ต้องสังเกตด้วย ว่ากุหลาบของเราอ่อนแอเพราะ ถูกโรคหรือแมลงรบกวนหรือไม่ ให้ปุ๋ยถูกต้องและเพียงพอหรือเปล่า ทั้งยังต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญของ การปลูกกุหลาบ โดยเฉพาะปัจจัย สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นดิน ปลูก แสงแดด หรือการรดน้ำด้วย


ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


สนใจสั่งซื้อหนังสือ : กุหลาบ

การปลูกกุหลาบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปฏิทิน 2568 พร้อมกับพืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพร

ลดาวัลย์ ไม้เลื้อยดอกสีขาว นิยมปลูกทำซุ้ม

ติดตามไอเดียบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ทาง : บ้านและสวน Baanlaesuan.com