Roof House บ้านสุขสงบในแวดล้อมเมืองใหญ่
บ้านครอบครัวใหญ่ ที่ออกแบบให้มีหลังคาเพิงหมาแหงนผืนใหญ่ลาดยาวตั้งแต่ชั้น 3 จนถึงชั้น 1 จนดูคล้ายกับเป็นบ้านชั้นเดียวหลังย่อมแทรกอยู่กลางเมือง
Design Directory : สถาปนิก IF (Integrated Field)
เบื้องหลังประตูรั้วสีอบอุ่นคือ บ้านครอบครัวใหญ่ ที่แทรกตัวอยู่ในแวดล้อมของอาคารน้อยใหญ่ใจกลางเมือง เมื่อแรกพบ น้อยคนนักที่จะรู้ขนาดแท้จริงของบ้าน เพราะความสูงเกือบทั้งหมดซ่อนอยู่ใต้หลังคาผืนใหญ่ ที่ลาดลงจรดชั้น 1 เปิดให้เห็นเพียงการเคลื่อนไหวภายในบ้านแบบไกลๆ สลับวับแวบไปกับแดด และการเคลื่อนไหวของใบไม้ต้องลมยามเช้า เป็นความสุขส่วนตัวแสนสงบที่เกิดจากความตั้งใจของเจ้าของบ้าน โดยมีทีมออกแบบจาก Integrated Field นำโดย คุณโอ – เลอพงษ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เป็นผู้สร้างสรรค์ บรรยากาศในฝันให้เป็นจริง
สถาปนิกเริ่มต้นเรื่องราวด้วยอีเมลจากเจ้าของบ้าน ซึ่งติดต่อมาพร้อมกับรายละเอียดต่างๆ ที่ทำให้ทีมสถาปนิกตอบรับและนัดหมายในทันที “ความประทับใจเริ่มจากครั้งแรกเลยครับ เจ้าของบ้าน ส่งอีเมลมาพร้อมกับบรีฟที่สวยงามมากๆ เข้าใจชัดเจนว่าต้องการอะไร พอนัดทีมพูดคุยแล้วรู้สึกได้เลยว่า เป็นเจ้าของบ้านที่ใส่ใจในเรื่องความเป็นอยู่”
นอกจากฟังก์ชันต่างๆ แล้ว รายละเอียดความต้องการของเจ้าของบ้านยังประกอบด้วยคีย์เวิร์ด ที่สถาปนิกให้ความสนใจ “เจ้าของไม่อยากได้บ้านที่ Too architecture too bold หรือดู Iconic แต่อยากได้บ้านที่เป็นบ้านจริงๆ มีความเป็นส่วนตัว อบอุ่น เป็นบ้านที่ได้พักผ่อน แบบที่ไม่ได้ทำไป เพื่อโชว์ใคร”
ด้วยโจทย์ของบ้านที่อัดแน่นไปด้วยความต้องการชัดเจน จึงทำให้เกิดเวิร์กช็อปสำหรับสมาชิกทั้ง 4 คน ได้แก่ คุณพ่อ คุณแม่ ลูกชาย และลูกสาว ทดลองประกอบฟังก์ชันตามรูปแบบการใช้ชีวิตร่วมกัน รวมถึงเลือกสรรโทนวัสดุ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการออกแบบ
“เราคิดว่าเจ้าของบ้านน่าจะมีภาพในหัวบ้าง เลยจัดเวิร์กช็อปโดยจำลองฟังก์ชันในบ้านแยกเป็น ก้อนๆ ให้สมาชิกทุกคนลองจัดเรียงกัน เป็นวันที่สนุกมากๆ สุดท้ายก็ออกมาใกล้เคียงกับของจริงครับ เพียงแค่ยังไม่มีหน้าตาของบ้านเท่านั้น”
บ้านฟังก์ชันใหญ่ในรูปลักษณ์ถ่อมตัว
แม้จะคำนวณฟังก์ชันของบ้านแล้วได้พื้นที่รวมถึงเกือบ 800 ตารางเมตร แต่เจ้าของบ้าน ไม่ต้องการให้บ้านดูมีขนาดใหญ่จนโดดเด่น ทีมสถาปนิกจึงทดลองหารูปทรงต่างๆ จนได้รูปแบบที่ ตอบโจทย์
“เวลาเข้าบ้านมา ภาพแรกที่อยากให้เห็นคืออยากให้บ้านดูไม่ใหญ่ เลยออกแบบให้ดูเหมือนมีชั้นเดียวด้านหน้าบ้าน แล้วฟังก์ชันก็ค่อยๆ โตไปทางด้านหลัง”
จากไอเดียดังกล่าว สถาปนิกได้จัดสรรฟังก์ชันต่างๆ จนกลายมาเป็นอาคารสามชั้นใต้หลังคาเพิงหมาแหงนผืนใหญ่ลาดยาวตั้งแต่ชั้น 3 จนถึงชั้น 1 ทำให้สามารถบรรจุทุกความต้องการ โดยมีชายคา หน้าบ้านช่วยทอนความสูง จนดูเผินๆ คล้ายกับเป็นบ้านชั้นเดียวหลังย่อมแทรกอยู่ท่ามกลางแวดล้อม ของชุมชนเงียบสงบที่แอบอยู่กลางเมือง
ฟังก์ชันหลักของบ้านประกอบด้วยชั้น 1 ที่ออกแบบให้เป็นส่วนต้อนรับ โดยมีส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหาร คอร์ตกลางบ้าน เชื่อมต่อกันอย่างลื่นไหล สามารถเปิด – ปิด ขยายขนาดพื้นที่ ได้อย่างยืดหยุ่น เพื่อรับรองแขกในวันสังสรรค์ โดยมีห้องทำงานและห้องออกกำลังกายอยู่ส่วนด้านหลัง ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ชั้น 2 ออกแบบให้เป็นพื้นที่พักผ่อนร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว และห้องส่วนตัวของลูกๆ ส่วนชั้นบนสุดเป็นห้องของคุณพ่อคุณแม่ ที่มีมุมอบอุ่นเป็นช่องหน้าต่างกว้าง เปิดสู่คอร์ตกลาง เพื่อให้มองเห็นลูกๆ ก่อนที่จะเข้านอนได้ทุกวัน
คอร์ต พื้นที่ส่วนกลางที่สร้างระยะของความเป็นส่วนตัว
คอร์ตกลางบ้านนอกจากใช้เป็นมุมสวยสีเขียวที่มองเห็นได้ทั่วถึงกันแล้ว ยังเป็นมุมสังสรรค์ สำหรับเจ้าของบ้านที่มักมีแขกมาที่บ้านอยู่บ่อยๆ
“คอร์ตกลางบ้านตั้งใจออกแบบให้เชื่อมต่อกับภายในบ้าน ในวันเสาร์อาทิตย์ที่มีปาร์ตี้ มีเพื่อนๆ มาบ้าน พื้นที่โซนนี้จะมีความยืดหยุ่นมาก จะเปลี่ยนจากมุมนั่งเล่นไปนั่งในคอร์ต จากคอร์ตมานั่งที่ โต๊ะอาหาร ก็ยังรู้สึกว่าเป็นพื้นที่เดียวกัน”
นอกจากคอร์ตจะเป็นพื้นที่พักผ่อนพูดคุยกับผู้คนแล้ว ในบางวันที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวาย ก็ยังช่วยเว้นระยะสร้างความเป็นส่วนตัวให้คนในบ้าน โดยคอร์ตกว้างที่แทรกสลับไปด้วยต้นไม้ และแสงเงาธรรมชาติเปรียบเสมือนผนังที่มองไม่เห็น สร้างความรู้สึกที่เป็นส่วนตัว โดยที่สมาชิกคนอื่นๆ ยังมองเห็นกันได้ ไม่ตัดขาดจากกันมากเกินไป
ออกแบบ บ้านครอบครัวใหญ่ ให้โตไปพร้อมกับเจ้าของ
ที่มาของบรรยากาศอบอุ่นที่อวลอยู่ในบ้าน มาจากหนึ่งคีย์เวิร์ดของเจ้าของที่อยากให้บ้าน “เติบโตไปพร้อมกับเจ้าของ” สถาปนิกจึงแปลงมาสู่การตกแต่งภายในที่เน้นการใช้พื้นที่ว่าง และผืนผนัง เรียบสะอาดตา โดยเปิดให้ตกแต่งบ้าน ตั้งภาพภาพถ่าย แขวนงานศิลปะและสะสมได้อย่างอิสระ ทำให้ตัวตนเจ้าของบ้านและเรื่องราวของครอบครัวแทรกอยู่ในแทบทุกมุม
“เราทำอินทีเรียร์เฉพาะส่วนที่จำเป็น จริงๆ ตอนแรกก็แอบคิดว่าอาจจะดูโล่งไป แต่พอ เจ้าของบ้านย้ายเข้ามา ก็จัดวางทุกอย่างและทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวาขึ้นมากครับ”
ห้องส่วนตัวของลูกๆ แม้จะเริ่มต้นจากแบบที่เต็มไปด้วยบิลท์อินตามกิจกรรมที่ชื่นชอบ โดยอ้างอิงจากภาพสเกตช์ห้องในฝันของเด็กๆ ทว่าเมื่อวันเวลาเปลี่ยนผ่าน ความชอบก็เปลี่ยนไป และเมื่อถึงวันที่เริ่มก่อสร้างจริง แบบที่ลงตัวที่สุดก็เป็นเพียงห้องโล่งเผื่อไว้สำหรับตัวตนใหม่ๆ ในอนาคต “เมื่อเด็กๆ โตขึ้น ความชอบเขาก็เปลี่ยน สุดท้ายก็ทำห้องเปล่าๆ ให้เค้าได้จัดเอง”
นอกจากนี้ สถาปนิกยังออกแบบบ้านที่รองรับการเปลี่ยนฟังก์ชันในอนาคต และทำสมุดที่เรียกว่า “คู่มือการใช้บ้าน” และมอบให้เจ้าของบ้าน ภายในเล่มบรรจุเรื่องราวของบ้าน และข้อมูลสำคัญด้วย รูปแบบที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นผังบ้าน รายละเอียดโครงสร้างและวัสดุ วิธีการดูแลจุดต่างๆ หรือพื้นที่ที่ออกแบบไว้เผื่อต่อเติมหรือปรับเปลี่ยนใหม่
“บ้านไม่ได้เสร็จในวันที่สร้างเสร็จ แต่บ้านโตไปเรื่อยๆ ต้องดูแล ต้องมีการรักษา ในฐานะสถาปนิก เราไม่ได้อยู่กับบ้านไปตลอด ก็เลยอยากมีอะไรที่จะช่วยเหลือเจ้าของบ้านให้ดูแลบ้านได้สะดวกขึ้น โดยพยายามย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย แต่สุดท้ายถ้ามีอะไรก็สามารถโทร.หาได้ครับ”
ธรรมชาติเรียบง่ายสื่อถึงความเป็น “บ้าน”
ภายใต้ฝ้าเพดานสูงแปลกตา สเปซโล่งกว้าง และรายละเอียดการออกแบบพิถีพิถัน ก็ยังสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งสถาปนิกออกแบบจากอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญที่ เจ้าของบ้านได้ให้ไว้ว่า “อยากให้บ้านเป็นบ้าน” ด้วยการเลือกใช้วัสดุบ้านที่มีผิวสัมผัสของไม้จริง หินจริง สีสันของธรรมชาติ และองค์ประกอบโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนนัก อย่างมือจับบานประตูทรงคลาสสิก หรือรางน้ำฝนปลายชายคาที่ชวนให้นึกถึงบ้านสมัยก่อน ซึ่งออกแบบด้วยความตั้งใจที่จะดึงธรรมชาติ ของความเป็นบ้านให้แสดงออกมาอย่างเรียบง่าย ทว่าชัดเจนเมื่อผ่านการใช้งานที่เป็นไปตามตัวตน ของเจ้าของบ้าน
“คำว่าบ้านที่เป็นบ้าน ผมมารู้สึกจริงๆ ตอนที่ผมนั่งกินข้าว พูดคุย ปาร์ตี้ร่วมกับครอบครัวที่นี่ แล้วผมก็เข้าใจว่าเขาใช้บ้านอย่างนี้ล่ะ สเปซที่เราทำให้ก็เหมาะกับเขา เพราะเจ้าของบ้านเดินมาพูด กับผมบ่อยมากว่าเขามีความสุขที่ได้ใช้งานทุกส่วนจริงๆ”
ออกแบบและตกแต่งภายใน : IF (Integrated Field)
ก่อสร้าง : D-Innova
ภูมิสถาปัตยกรรม : Allplants
เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล, ณัฐวรรธน์ ไทยเสน, W Workspace
สไตล์ : เกษม์จงกล พูลล้น