สวนป่ารีโนเวต ที่เก็บไม้ใหญ่และโครงสร้างเดิมไว้ - บ้านและสวน

สวนป่ารีโนเวต ที่เก็บไม้ใหญ่และโครงสร้างเดิมไว้

สาเหตุหลัก ๆ ของการรีโนเวต หรือการทำ สวนป่ารีโนเวต มักมาจากความต้องการฟื้นฟูสภาพที่เสื่อมโทรมให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิมหรือดีกว่าเดิม หรืออาจเป็นการแต่งเติมเพิ่มฟังก์ชันให้ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น

สวนป่ารีโนเวต ของบ้านอายุกว่า 10 ปีหลังนี้ก็เช่นกัน มีการรื้อโดยเก็บไม้ใหญ่ และโครงสร้างเดิมไว้ พร้อมทั้งแต่งแต้มหน้าตาใหม่ทั้งหมดเช่นกัน

“ผมเป็นแฟนประจำของรายการบ้านและสวนครับ ดูทุกเทป ผมจำผลงานของ คุณเต็นท์ พุทธิพจน์ พงษ์ไพโรจน์ นักจัดสวนจาก TTT Tree Landscape ที่ออกทีวีได้ทั้งหมด ชอบสไตล์ของเขาครับ” คุณหน่อง – ชาญชีพ มั่นหมั่น เจ้าของบ้านเริ่มเล่าถึงที่มาของสวนแห่งนี้ให้ฟัง

“บ้านเราอยู่กันหลายคนครับ มีคุณพ่อ มีผม ภรรยา และลูก ๆ ผมและลูก ๆ ชอบธรรมชาติครับ อยากให้บ้านมีน้ำตก อยากได้สวนป่า นั่งในห้องรับแขกมองออกมาเห็นสระว่ายน้ำ เห็นน้ำตก จากห้องนอนชั้น 2 มองลงมาเห็นต้นไม้เขียว ๆ ในสวนด้านล่าง ส่วนคุณพ่อและภรรยาของผมชอบสวนสไตล์ฝรั่ง ผมกับคุณพ่อชอบไผ่ด้วยครับ หลังบ้านอยากให้มีกลิ่นอายแบบเอเชีย คนเชื้อสายจีนเราเชื่อว่าการปลูกไผ่ไว้ในบ้าน ตามหลักฮวงจุ้ยจะช่วยแก้เรื่องสิ่งไม่ดี ส่งเสริมความมั่งคั่ง สนับสนุนโอกาส และโชคดีครับ”

ศาลาชิงช้าไม้เป็นของเดิมที่ยังใช้งานได้ดี เติมพรรณไม้เพิ่มความร่มรื่นชวนนั่ง วางแผ่นหินแกรนิตขนาดใหญ่ใช้เป็นทางเดินที่เดินได้ง่ายและมั่นคง ตั้งใจให้ดูเชื่อมต่อกับทางเดินในสวนเอเชียด้านหลัง ซึ่งเป็นของเดิมที่คุณแม่ทำไว้ โดยเจียรแต่งขอบให้โค้งมนเช่นกัน

สวนฝรั่งข้างบ้านคุณพ่อ

“พื้นที่ด้านข้างบ้านคุณพ่ออยากได้สวนที่ดูโล่งสบายตาและเดินง่าย แต่บริเวณนี้ก็มีพะยอมและชุมแสงต้นใหญ่ที่ปลูกอยู่ก่อนแล้ว ผมเพิ่มเสม็ดแดงที่มีทรงพุ่มโปร่ง เพื่อให้มีแสงลอดผ่านเพียงพอที่ไม้ดอกด้านล่างจะเติบโตอยู่ได้ และใช้ไม้ตัดแต่งพุ่มกลม คุมโทนให้อยู่ในเฉดสีเขียวอ่อน ๆ ขาว ๆ เทา ๆ บริเวณนี้จะเป็นสวนสไตล์ฝรั่งที่มีการผสมผสานของต้นไม้และความเป็นสวนทรอปิคัลเข้ามาด้วยครับ” คุณเต็นท์ พาเดินดูสวนและเล่าถึงสวนแต่ละโซนให้ฟัง

สระว่ายน้ำด้านหน้าบ้านที่ทำขึ้นมาใหม่ ผิวเป็นพีวีซี ไลเนอร์สีขาว ดูสะอาดตา หรูหรา และทันสมัย สวนบริเวณนี้จะมีความผสมผสานระหว่างสวนฝรั่งกับสวนทรอปิคัล มีทั้งกระดุมไม้ใบเงิน ไม้ดอกต่าง ๆ ไม้ตัดแต่งทรงพุ่ม และไม้ใบที่ใช้ในสวนป่าทรอปิคัล แปลงปลูกต้นไม้จะยกให้เป็นเนินสูงขึ้น และปลูกต้นไม้ค่อนข้างทึบเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้บริเวณสระว่ายน้ำ เพราะมุมนี้มองเห็นได้จากชั้น 2 ของบ้านฝั่งตรงข้าม อีกประโยชน์หนึ่งก็คือเพื่อช่วยเรื่องการระบายน้ำภายในสวน
สวนป่ารีโนเวต
ด้านข้างของบ้านคุณพ่อต้องการสวนที่โล่งสบายตาและเดินง่าย เหมาะกับการจัดเป็นสวนสไตล์ฝรั่ง แต่เพราะมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาอยู่ก่อนแล้ว ไม้ระดับล่างจึงใช้เป็นไม้ตัดแต่ง และเพิ่มสีสันด้วยไม้ดอก เพื่อสื่อถึงความเป็นสวนฝรั่ง

สวนป่าลูกผสม

บริเวณหน้าบ้านคุณหน่องจัดเป็นสวนป่าทรอปิคัล มีต้นไม้ใหญ่ที่คุณแม่และคุณหน่องไปช่วยกันเลือกซื้อ ทั้งหมากเม่า พะยอม ชุมแสง ซึ่งล้วนมีฟอร์มต้นที่สวยงามและมีขนาดใหญ่ เพราะปลูกมานานกว่า 10 ปี ทุกต้นปลูกให้ชิดริมรั้ว มีน้ำตกและลำธารไหลลัดเลาะเลียบทางเดิน ด้านในสุดเป็นบ่อปลาขนาดใหญ่ ถัดไปเห็นอาคารไม้ ให้ภาพรวมของสวนที่ดูอบอุ่นและร่มรื่น

สวนป่ารีโนเวต
เอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นในงานออกแบบของคุณเต็นท์คือ การใช้หินแกรนิตเป็นองค์ประกอบหลักในสวน และออกแบบให้สวนมีลักษณะใกล้เคียงกับสภาพในป่าธรรมชาติที่คุณเต็นท์ได้เห็นตอนไปเดินป่าสมัยเรียนให้มากที่สุด ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ลำธาร ทางเดิน หรือหินประดับตกแต่ง จะต้องเป็นหินจริง แม้ว่าหินแกรนิตจะมีน้ำหนักมาก มีความแข็ง สกัดเพื่อเปลี่ยนรูปทรงได้ค่อนข้างยากก็ตาม
สวนป่ารีโนเวต
ต้นไม้ใหญ่กว่า 90% เป็นของเดิมที่คุณแม่เจ้าของบ้านไปเลือกซื้อและปลูกด้วยตัวเอง แต่ละต้นมีฟอร์มสวยงาม เอื้อให้สวนป่าทรอปิคัลนี้ดูมีมิติ และมีเสน่ห์ชวนมองมากขึ้นไปอีก

“ต้นไม้ใหญ่ทั้งหมดเป็นความทรงจำดี ๆ ของครอบครัว เป็นต้นไม้ที่คุณแม่เจ้าของบ้านซึ่งท่านเสียชีวิตไปแล้วไปเลือกซื้อและปลูกด้วยตัวเองทั้งหมด ในการทำงานของผมถ้าต้นไม้ที่มีอยู่เดิมนั้นไม่ส่งผลเสียทำลายโครงสร้างของอาคาร หรือต้นป่วยทรุดโทรมจนเสียฟอร์ม ผมจะเก็บไว้ครับ ผมมองว่าต้นไม้ใหญ่เป็นเหมือนงานสถาปัตยกรรม เรามีหน้าที่ออกแบบให้สิ่งที่มีอยู่เดิมกับสิ่งใหม่เข้ากันให้ได้ครับ” คุณเต็นท์เล่าเสริมให้เราฟัง

“ตอนเข้ามาสำรวจพื้นที่ บริเวณสวนป่าเป็นพื้นที่ราบครับ เต็มไปด้วยกองดินกองหินกองเศษวัสดุก่อสร้างจากการรีโนเวตบ้าน เราต้องปรับพื้นที่ปั้นเนินทำสโลปใหม่ทั้งหมด โดยธรรมชาติของน้ำในลำธารก็จะไหลลดหลั่นกันลงมา ถ้าเราไม่ทำสเต็ปสร้างความต่างระดับ ก็จะเหมือนคูคลองที่ดูเรียบ ๆ แบน ๆ น้ำตกใหญ่จะอยู่ด้านหน้าบ้านเป็นบริเวณที่สูงที่สุด สูงจากระดับเดิม 50 เซนติเมตร แต่น้ำตกจะมีความสูงแค่ประมาณ 1 เมตร ด้วยข้อจำกัดของความสูงรั้วที่ทางโครงการหมู่บ้านไม่อนุญาตให้สูงกว่าที่กำหนด สวนนี้จะมีน้ำตกอยู่ 3 จุด ซึ่งมองเห็นได้จากห้องนอนทุกห้องบนชั้น 2 แต่ละห้องก็จะเทกวิวสวนที่ต่างกันไปครับ บ่อปลาที่อยู่ด้านในก็เป็นของเดิมที่คุณหน่องขอเก็บไว้ ผมออกแบบให้ลำธารไหลไปจนถึงบ่อปลา ลำธารจึงค่อนข้างยาวครับ

สวนป่ารีโนเวต
ทางเดินในสวนบางบริเวณที่อยู่ติดกับลำธาร จะเห็นว่าวางแผนคอบเบิลสโตนแกรนิตที่ดูไม่เรียบร้อยนัก เป็นความตั้งใจที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่าทางเดินขาดหายเข้าไปในลำธาร เป็นทางเดินที่ไม่มีจุดจบ

“สวนป่าทรอปิคัลของที่นี่จะก่ำกึ่งกับสวนทรอปิคัลแบบป่าชื้นครับ บริเวณรอบนอกของสวนจะเป็นแบบสวนป่าชื้น แต่บริเวณด้านในรวมไปถึงบริเวณที่ติดกับสระว่ายน้ำหน้าบ้านจะเป็นสวนป่าที่ค่อนข้างโปร่ง เนื่องจากมีไม้ดอกอยู่ด้านล่าง ที่เราปลูกไม้ดอกก็เพื่อให้ดูเชื่อมกับสวนฝรั่งที่อยู่ใกล้กัน ถ้าเป็นสวนป่าชื้นทั้งหมดพื้นที่ด้านล่างจะค่อนข้างร่มและชื้นมาก ไม้ดอกจะอยู่ยากครับ”

สวนป่ารีโนเวต
คุณเต็นท์เลือกปลูกพรรณไม้ของสวนสไตล์หนึ่งในสวนอีกสไตล์ เช่น ในสวนป่าทรอปิคัลที่มีไม้ดอก และไม้ตัดแต่งทรงพุ่ม จุดประสงค์เพื่อไม่ให้สวนแต่ละสไตล์แบ่งแยกออกจากกันชัดเจน แต่อยากให้ดูกลมกลืนไปด้วยกันทั้งหมด

สวนเอเชียหลังบ้าน

“จากโจทย์ที่เจ้าของบ้านอยากปลูกไผ่ไว้ในบ้าน บริเวณนี้จึงออกแบบให้มีกลิ่นอายความเป็นสวนเอเชียครับ ด้วยเฉดสีของไม้ที่ย้อมออกแดง รวมถึงสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งเฉลียงหลังบ้านและเรือนรับรองที่ออกไปทางจีน

ผนังประดับใกล้เรือนรับรอง เดิมเป็นผนังหินกาบ ถูกรื้อเปลี่ยนผิวกรุด้วยแผ่นหินวีเนียร์ จำลองให้เป็นรูปภูเขาอยู่ในดวงจันทร์ บริเวณนี้มีต้นไม้ใหญ่เดิมที่โค้งเข้าหากันเป็นซุ้ม เพิ่มสนใบพายฟอร์มสวยเหมือนบอนไซที่สั่งนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเติมเต็มอารมณ์ของสวนเอเชียให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น บริเวณที่ปลูกสนใบพายออกแบบยกเป็นเนินสูงขึ้นให้ดูคล้ายเป็นเนินเขาล้อไปกับภาพประดับผนัง และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำขัง เพราะสนใบพายชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ
ผนังน้ำล้นเดิมเป็นผนังกรุกระเบื้องที่คุณแม่ทำไว้เพื่อบังสายตาจากถนนภายนอก คุณเต็นท์รื้อออกแล้วเพิ่มลูกเล่นด้วยการกรุด้วยแกรนิตสีดำ ส่วนด้านข้างเป็นแกรนิตสีเทา

“ไฮไลต์ของโซนนี้อยู่ที่ผนังประดับที่มีอยู่ 2 จุด จุดแรกเป็นผนังน้ำล้นที่มองเห็นได้จากห้องรับประทานอาหาร อีกจุดเป็นผนังประดับรูปดวงจันทร์เต็มดวงและทิวเขาที่อยู่ใกล้กับเรือนรับรอง ซึ่งทั้งสองผนังนี้เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เรากรุผิวตกแต่งเปลี่ยนรูปแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับสไตล์สวนเอเชียมากขึ้นครับ”

สวนป่ารีโนเวต
สวนเอเชียหลังบ้านตอบโจทย์เจ้าของบ้านที่อยากให้ปลูกไผ่ไว้ในบ้านตามความเชื่อ คุณเต็นท์มีส่วนร่วมในการออกแบบและเลือกวัสดุตกแต่ง ทั้งเฉลียงนอกบ้านที่ติดกับห้องรับประทานอาหารและเรือนรับรอง ประตูบานเฟี้ยมสไตล์จีนที่อยู่ด้านในใช้กั้นส่วนระหว่างส่วนเตรียมอาหาร แท็งก์น้ำ และลานซักล้างที่อยู่ด้านหลัง

ส่วนการเลือกใช้พรรณไม้ คุณเต็นท์ใช้เพียงไม่กี่ชนิด และเลือกปลูกเป็นกลุ่มที่ดูเต็มตาน่าสนใจมากกว่า อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลรักษาสำหรับลูกค้าที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลสวน หรือไม่มีคนดูแลสวนโดยเฉพาะ คุณเต็นท์ได้ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์อัตโนมัติไว้ทั้งสวน และติดตั้งระบบพ่นหมอกเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นให้ต้นไม้บางประเภท และยิ่งช่วยเติมเต็มมู้ดของสวนป่าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะเห็นว่าคุณเต็นท์ใช้ต้นไม้หลายอย่างที่ต่างไปจากที่เคยเห็นในสวนป่าโดยส่วนใหญ่ เช่น ฟิโลหูช้าง คล้า จั๋ง ลิริโอเป้ โคลงเคลงเลื้อย เฟินก้านดำเปรู

สวนนี้ติดตั้งระบบพ่นหมอกไว้บริเวณบ่อปลาและลำธารทั้งหมด ส่วนหนึ่งก็เพื่อเพิ่มความชื้นให้ต้นไม้บางชนิด อย่าง บริเวณริมลำธารและขอบบ่อปลาบางจุดที่ตกแต่งด้วยหินฟองน้ำ ซึ่งมีลักษณะพรุนและชุ่มชื้น ต้นไม้เล็ก ๆ มอสส์ และตะไคร่น้ำเมื่อได้รับความชื้นมากเพียงพอก็จะเหมือนสภาพในป่าตามธรรมชาติ อีกส่วนสร้างมู้ดของสวนป่าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบพ่นหมอกจะช่วยลดอุณหภูมิบริเวณที่ติดตั้งได้ถึง 1 องศาเซลเซียส

“แม้สวนนี้จะมีถึง 3 สไตล์ แต่ต้นไม้ที่ใช้ในแต่ละโซนก็จะปะปนกัน เช่น ในสวนทรอปิคัลมีต้นไม้ตัดแต่งทรงพุ่มและไม้ดอกปลูกแทรกอยู่ เพื่อให้เชื่อมต่อกับสวนฝรั่งที่อยู่ด้านหน้าและสวนเอเชียที่อยู่ด้านหลัง เป็นความตั้งใจของผมที่ไม่อยากให้สวนทั้งสามสไตล์แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน อยากให้สวนดูกลมกลืนไปด้วยกันทั้งหมด แต่เรื่องหลักที่สำคัญที่สุดคือต้องเลือกต้นไม้ที่ดูแลง่าย เพื่อลดภาระในการดูแลให้ลูกค้าให้ได้มากที่สุดครับ”  

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนธันวาคม 2567
เจ้าของ : คุณชาญชีพ มั่นหมั่น และคุณกาญจน์สุดา ทรัพย์เกษตรกิจ
ออกแบบ : TTT Tree Landscape โดยคุณพุทธิพจน์ พงษ์ไพโรจน์
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส, กรานต์ชนก บุญบำรุง