บ้านโมเดิร์น ที่ใช้ฟาซาดและผนังโค้งกับต้นไม้เป็นรั้ว
บ้านโมเดิร์น หลังนี้อยู่ตรงแนวโค้งของถนนพอดี จึงออกแบบให้มีผนังฟาซาดทรงโค้งกั้นมุมมองข้างบ้านไว้ล้อรับไปกับที่ดินทรงโค้งของโครงการ พร้อมเปิดคอร์ตต้นไม้สร้างมุมธรรมชาติธรรมชาติไว้ภายใน
Design Directory : สถาปนิก Lamoonta Architects
ทันทีที่เลี้ยวรถผ่านทางเข้าหมู่บ้านมา เราก็ได้พบกับทัศนียภาพของทะเลสาบกว้างถึง 100 ไร่ที่อยู่ลดหลั่นไปจากเนินดินสูง และรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่สลับใบสลับดอกดูร่มรื่นตาราวกับภาพเขียนธรรมชาติอันงดงามจนน่าประทับใจ อีกทั้ง บ้านโมเดิร์น แต่ละหลังในโครงการก็ยังดูรื่นรมย์อยู่ภายใต้การโอบล้อมของต้นไม้น้อยใหญ่ และเชื่อมต่อกันด้วยรั้วต้นไม้สีเขียวอย่างเป็นมิตร บอกถึงแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมธรรมชาติโดยสงบสุขและเป็นส่วนตัว
บนที่ดินทรงโค้ง
ด้วยที่ตั้งของบ้านหลังนี้อยู่ตรงแนวโค้งของถนนพอดี บางเวลาก็ดูสงบเงียบและบางเวลาก็เป็นเส้นทางที่คนในหมู่บ้านมักจะใช้วิ่งออกกำลังกาย เมื่อไม่สามารถสร้างรั้วที่เป็นโครงสร้างทึบได้ คุณบี๊บ–ณัฐพนธ์ จิตต์หมวด สถาปนิกจาก Lamoonta Architects ผู้ออกแบบบ้านหลังนี้จึงเลือกใช้ต้นไม้มาเป็นรั้วธรรมชาติช่วยพรางตาให้พื้นที่ชั้นล่างของบ้าน พร้อมกับวางผังให้มุมพักผ่อนต่างๆ ของบ้านอยู่ลึกเข้าไปในด้านในเพื่อสร้างความสงบส่วนตัว
“ข้อดีของบ้านนี้คือพอเราวางแปลนขนานไปกับถนนโครงการ ทิศเหนือจะอยู่ตรงแถวมุมนั่งเล่นและรับประทานอาหารพอดี ซึ่งมีแดดเช้าผ่านเข้ามาบ้างแค่ถึงช่วงเที่ยงหลังจากนั้นก็ร่มครึ้มเพราะมีผนังบัง ทำให้สามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ผ่อนคลายได้ตลอดวันโดยไม่ต้องปิดม่านเลย โดยเจ้าของมีโจทย์หลักๆ คืออยากได้สระว่ายน้ำและพื้นที่นอกบ้านสำหรับปาร์ตี้กับเพื่อน
“ผมเลยออกแบบเฉลียงด้านนอกที่เชื่อมต่อออกมาจากบริเวณนี้ให้กว้างหน่อยเพื่อสามารถใช้งานปาร์ตี้ปิ้งย่างได้ ต่อเนื่องไปกับสระว่ายน้ำที่มีรั้วต้นไม้คอยพรางสายตาภายนอกกับการเพิ่มผนังฟาซาดทรงโค้งกั้นมุมมองข้างบ้านไว้อีกส่วนล้อรับไปกับที่ดินทรงโค้งของโครงการ ถึงแม้พื้นที่โค้งจะทำให้ออกแบบยาก แต่สเปซในบ้านจริงๆ ไม่ได้โค้ง ง่ายต่อการตกแต่งและเลือกเฟอร์นิเจอร์มาจัดวางมากกว่า ผมแค่นำเส้นโค้งนี้มาใช้บางจุดในบ้านเท่านั้น อย่างซุ้มโค้งของโถงทางเข้าหรือตรงหิ้งพระเพื่อให้คงความรู้สึกถึงแนวโค้งของที่ดินด้านนอก ไม่อย่างนั้นเวลานั่งอยู่ในบ้านก็จะไม่รับรู้ถึงที่ดินแนวโค้งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเลย”
เพิ่มความสนุกด้วยการเล่นระดับ
นอกจากจัดสรรที่ดินราว 100 ตารางวาสำหรับใช้งานนอกบ้านแล้ว พื้นที่ภายในบ้านขนาด 400 ตารางเมตร ยังผสมผสานด้วยเทคนิคการเล่นระดับของพื้นในแต่ละมุมให้แตกต่าง สร้างบรรยากาศและเพิ่มความสนุกในการใช้งานได้ตรงกับช่วงวัยผู้เป็นเจ้าของบ้านซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นครอบครัวใหม่ของตัวเอง
“ผมออกแบบให้มีการเดินขึ้นเดินลงในแต่ละมุม ตั้งแต่ทางเข้ามาเจอกับโถงซึ่งเป็นทั้งส่วนพัก เก็บของ หิ้งพระ ที่นั่งถอดรองเท้า และเป็นที่อยู่ของน้องหมาด้วย เพื่อให้สะดวกจบในมุมเดียวนี้เลย และก็ออกแบบให้มีทางเข้าอีกด้านที่เดินเลียบข้างไปสู่โซนลิฟวิ่งได้เลยใช้สำหรับเวลารับแขกแบบไม่ต้องผ่านโถงพักตรงนี้ แต่ถ้าเข้าจากโถงหน้าบ้านก็จะมีสเต็ปเล็กๆ ให้เดินขึ้นไปที่มุมรับประทานอาหารซึ่งเป็นพื้นที่ใช้งานหลักของครอบครัว แล้วค่อยลดระดับพื้นที่ส่วนนั่งเล่นให้ต่ำลงไปในระนาบเดียวกับเฉลียงนอกบ้านเพื่อสามารถเปิดประตูกระจกบานเลื่อน 3 บานออกให้โล่งและเชื่อมเป็นพื้นที่เดียวกับเฉลียง เพิ่มสเปซได้กว้างขึ้นอีกเวลามีปาร์ตี้ แล้วก็ยังมีมุมบาร์ที่แยกไว้อีกด้านหนึ่งของบ้านซึ่งเชื่อมมาสู่สระว่ายน้ำได้ด้วย การจัดแปลนบ้านโดยแยกพื้นที่ย่อยออกจากกันแบบนี้ทำให้แต่ละมุมมีความอบอุ่น ดูไม่กว้างจนเกินไป และใช้งานได้ง่าย”
แม้จะแยกย่อยพื้นที่เป็นส่วนๆ แต่ทุกมุมก็ยังดูกลมกลืนอยู่ในบรรยากาศเดียวกัน เพราะคุมโทนสีหลักไว้ด้วยสีขาวละมุนที่สว่างตาและไม่สะท้อนความจ้ามากเกินไป ผสมกับมุมมองอันอบอุ่นจากงานไม้โทนสีโอ๊กในส่วนตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ไม้ โดยเจ้าของยังได้เพิ่มเติมการจัดวางของสะสมตามไลฟ์สไตล์ความชอบตัวเองด้วยอาร์ตทอยคอลเล็กชันต่างๆ ทั้งตัวใหญ่ที่วางตามมุมนั่งเล่น และตัวเล็กที่จัดวางอยู่เต็มตู้ไม้ในห้องรับประทานอาหาร รวมถึงภาพวาด อาร์ตทอยที่มาสร้างสีสันและความน่าสนใจให้ผนังโล่งภายในบ้าน
เปิดมุมมองสู่พื้นที่สีเขียว
เพราะอยู่ในหมู่บ้านที่ร่มรื่นด้วยธรรมชาติ สงบเงียบ และมีความปลอดภัยสูง ความสุขของการอยู่บ้านจึงไม่ได้ถูกจำกัดแค่พื้นที่ภายในเท่านั้น
“ผมให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างภายนอกกับภายในอาคารมากๆ เพื่อให้การใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านรับรู้ได้ถึงธรรมชาติภายนอกด้วย ยิ่งใส่พื้นที่สีเขียวเข้าไปมากเท่าไร Ventilation หรือการหมุนเวียนของอากาศก็จะดีขึ้นเท่านั้น โดยบ้านนี้มีสวนคอร์ตอยู่ 2 สวน ก็คือสวนตรงสระว่ายน้ำกับสวนด้านหลังบ้าน แค่วางแปลนโอบล้อมและแทรกไปกับพื้นที่สีเขียวก็สามารถเปิดช่องให้ลมเข้าออกตัวบ้านได้ดีขึ้น แล้วก็เน้นช่องเปิดจากภายในเพื่อส่งสายตาให้มองออกมาถึงสระว่ายน้ำและสวนที่เป็นเหมือนโอเอซิสสำหรับเจ้าของบ้านได้สัมผัสกับมุมมองสบายๆ นี้”
ส่วนชั้นบนเองก็ยังมีการเปิดช่องตรงทางเดินสู่ห้องนอนเป็นแนวยาว แต่เปิดในระนาบต่ำระดับข้อเท้า เพื่อรับแสงธรรมชาติเข้ามาและเป็นมุมที่คนในบ้านสามารถมองออกไปเห็นสวนสีเขียวได้ในระหว่างเดินขึ้นด้วย โดยที่คนภายนอกจะมองไม่เห็นอะไรมากนัก จากนั้นจึงไปเน้นความเป็นส่วนตัวสูงที่สุดให้กับห้องนอนซึ่งหันช่องเปิดไปทางสระว่ายน้ำซึ่งมีทั้งต้นไม้และฟาซาดกรองสายตาจากภายนอกไว้
“ที่ได้เป็นของแถมเพิ่มขึ้นมาคือวิวสวนของเพื่อนบ้าน เพราะเราเองก็ใช้ต้นไม้เป็นรั้วธรรมชาติ โดยเปลี่ยนมาใช้ต้นสนหอมแทนชาดัดหรือไทรเกาหลีแบบบ้านอื่น ให้ฟอร์มใบและโทนสีที่แตกต่าง อีกทั้งยังเข้ากันได้ดีกับต้นซิลเวอร์โอ๊กซึ่งเป็นไม้หลักของสวน เพราะต้องการเน้นพุ่มใบที่โปร่งตา มองออกไปถึงพื้นที่สีเขียวของเพื่อนบ้านได้ราวกับเชื่อมต่อเป็นสวนกว้างๆ ซึ่งโอบล้อมรอบบ้านได้เลย”
แม้ความเป็นส่วนตัวภายในบ้านจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การอยู่ในบ้านที่มีแต่ผนังปิดกั้นก็ไม่ได้ความรู้สึกสบายหรือผ่อนคลายได้เลย มุมมองที่เปิดโล่งและพื้นที่เชื่อมต่อออกมาสู่ธรรมชาติเพื่อให้ได้ออกมาอยู่กับต้นไม้ รับลม และเห็นท้องฟ้าจึงเป็นส่วนเติมเต็มความสุขให้กับเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง
สถาปนิก : Lamoonta Architects โดยคุณณัฐพนธ์ จิตต์หมวด
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ธนายุต วิลาทัน
สไตล์ : Suntreeya