รวม แบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น ธรรมชาติและความเรียบง่ายอันอบอุ่น

รวมแบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น ธรรมชาติและความเรียบง่ายอันอบอุ่น

แบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น เน้นความงดงามของธรรมชาติและความเรียบง่ายอันอบอุ่น ด้วยการจัดวางองค์ประกอบที่มีเสน่ห์ในแบบสไตล์ญี่ปุ่น เช่น ก้อนหิน ลำธาร ตะเกียงหิน และน้ำตก ท่ามกลางพรรณไม้เขตร้อนที่ให้ความรู้สึกร่มรื่นและชุ่มชื้น สร้างบรรยากาศสงบเงียบและผ่อนคลาย

ซึ่ง บ้านและสวน ได้รวบรวม แบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวาย และสร้างพื้นที่พักผ่อนที่ใกล้ชิดธรรมชาติมาฝากกัน

สวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น สดชื่น ไล่ยุง และลดฝุ่นให้แก่บ้าน

เจ้าของ : คุณศตยุ และคุณฉัตราภรณ์ ไชยสุวรรณ์

จัดสวน : อยู่กับดินทร์ โดย คุณบดินทร์ ปี่เสนาะ

สวนทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่นที่ดูร่มรื่นสบายตา ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้าน มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย องค์ประกอบครบครัน อย่าง ทางเดินที่ดูทันสมัยสวยแปลกตา ศาลาที่ต่อเนื่องกับห้องนั่งเล่นและห้องทำงาน ชิงช้าสำหรับเด็กๆ ได้นั่งเพลิดเพลิน น้ำตกและบ่อปลาที่สวยงาม ทั้งยังเพิ่มลูกเล่นด้วยม่านฝนเพิ่มความชุ่มชื้นให้ต้นไม้ ลดฝุ่นลดมลพิษ >> อ่านต่อ

แบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น
บรรยากาศร่มรื่นในสวน และการจัดวางตำแหน่งต้นไม้ใหญ่ อย่าง เสม็ดแดง และหว้า ในช่วงเช้าสามารถเปิดประตูห้องนั่งเล่นและห้องทำงานที่ต่อเนื่องกับสวน เพื่อรับแสงและลมธรรมชาติได้
แบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น
การวางหินริมขอบบ่อ จะใช้หินฟองน้ำและหินภูเขาทรงรี และหินสีดำอย่างหินแกรนิตดำ วางในระดับไม่สูงกว่าทางเดินมากนัก ตัวทางเดินจะหล่อซีเมนต์ให้หนา แล้วปูหินแกรนิตพ่นไฟบนผิวหน้า  

สวนป่าญี่ปุ่น และสวนยุโรปแบบโมเดิร์น ของคนเพื่อนเยอะ

เจ้าของ : คุณศรัญ ชูมื่นไวย์

จัดสวน : ร่มรื่นแลนด์สเคป โดยคุณอัศนัย แก่นจันทร์ และคุณกนกวรรณ ณ พัทลุง

เนื่องจากเจ้าของสวนแห่งนี้ มีญาติและเพื่อนค่อนข้างเยอะ จึงอยากได้พื้นที่ใช้สอยในสวนมากหน่อย ทางนักจัดสวนเลยได้ออกแบบวางผังให้มีจุดนั่งเล่นจุดต้อนรับกระจายอยู่ทั่วสวน ตั้งแต่หน้าบ้านไปจนถึงริมสระว่ายน้ำที่อยู่หลังบ้าน เพื่อใช้รองรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน และแบ่งเป็นสวน 2 สไตล์ ได้แก่ สวนยุโรปแบบโมเดิร์นในบริเวณหน้าบ้าน และให้มีสวนป่าญี่ปุ่นกระจายอยู่ทั่วทั้งบ้าน เพื่อให้เกิดความสวยงามกลมกลืน และไม่ปล่อยให้เป็นพื้นที่ทิ้งร้าง >> อ่านต่อ

สวนป่าญี่ปุ่น
การทำเนินในสวนทำให้พื้นด้านล่างของสวนมีลักษณะเป็นเนินมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ดินที่เราขุดออกมาจากการปลูกต้นไม้ก็ไม่ต้องขนออกนอกพื้นที่เยอะ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการถมทำเป็นเนิน อีกทั้งเนินยังช่วยสร้างมิติให้สวนเพิ่มได้ด้วยโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ
สวนป่าญี่ปุ่น แบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น
พื้นที่แคบเพียงแค่ 1.50 เมตร ที่อยู่ระหว่างบ้านแมวกับโรงจอดรถจัดเป็นสวนป่าญี่ปุ่น ปูทางเดินด้วยหินแกรนิตแผ่นกลมสีน้ำตาล ฝาบ่อพักเลือกใช้ไม้ไผ่มาปิดแทนแผ่นปูน ใช้รั้วไม้ไผ่บังคอมเพรสเซอร์แอร์ ทำให้ทุกอย่างดูกลมกลืน คงลุคของสวนญี่ปุ่นไว้

สวนป่าสไตล์ญี่ปุ่น ที่ห้อมล้อมไปด้วยลำธารและต้นไม้ใหญ่

เจ้าของ : รำไพเพ็ญศรี (Rumpai Pensri Haus) จังหวัดนครราชสีมา

จัดสวน : ร่มรื่นแลนด์สเคป โดยคุณอัศนัย แก่นจันทร์ และคุณกนกวรรณ ณ พัทลุง

พื้นที่เดิมเป็นป่ากระถินทั้งหมดครับ มีต้นไม้ใหญ่ ๆ ทั้งจามจุรี มะเดื่อ และมะขามอยู่หลายต้น จึงมีการปรับและถมดินแค่บางส่วน เพื่อรักษาต้นไม้ส่วนใหญ่ไว้ จากนั้นจึงเพิ่มบรรยากาศของการชมสวนโดยทำทางเดินในสวนที่ใช้แพทเทิร์นตามแบบสวนญี่ปุ่นดั้งเดิม และเปลี่ยนรูปแบบไม่ให้ซ้ำกัน เช่น บางบริเวณใช้หินแกรนิตสี่เหลี่ยมแผ่นใหญ่ที่เพิ่มลูกเล่นด้วยการใช้สิ่วค่อย ๆ เคาะขอบให้บิ่น หรือบางพื้นที่ใช้เป็นหินแกรนิตกลม >> อ่านต่อ

สวนป่าสไตล์ญี่ปุ่น
การสร้างลำธารให้ดูเป็นธรรมชาติต้องเก็บขอบลำธารให้ดูเนียนสวยที่สุด ไม่ให้เห็นวัสดุรองพื้นที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งอาจปิดด้วยพันธุ์ไม้ที่ไม่โตเร็วจนเกินไป เหมาะกับสภาพพื้นที่และสไตล์สวน พร้อมทั้งเว้นช่องว่างให้เห็นหินบ้าง เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด
สวนป่าสไตล์ญี่ปุ่น แบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น
พื้นเป็นคอนกรีตแสตมป์เพื่อให้ดูแลง่าย และใช้ไม้ดอกค่อนข้างมาก เนื่องจากได้รับแสงเต็มที่มีทั้งเหลืองอินเดีย รวงผึ้ง เสม็ดขาว สนเกรวิลเลีย

รีโนเวตสวนรอบบ้าน ให้เป็นสวนป่าผสานกลิ่นอายสวนญี่ปุ่น

เจ้าของ : คุณปรมาพร สุติเชวงกุล

จัดสวน : บริษัท เพอโกล่าร์ จํากัด โดยคุณปณัฐ สุมาลย์โรจน์

พื้นที่สวนเก่าอายุกว่าสิบปี ขนาดประมาณ 900 ตารางเมตรรอบบ้านที่ค่อนข้างรกครึ้ม ถูกรีโนเวตใหม่ โดยยังคงพยายามเก็บรักษาต้นไม้เดิมไว้ให้ได้มากที่สุด แต่เพิ่มเติมกลิ่นอายของความโมเดิร์นผสมผสานรูปแบบสวนญี่ปุ่น เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้ดูโล่งและสัญจรได้สะดวก เพื่อให้ทุกคนในบ้านสามารถออกมาใช้พื้นที่สวนได้อย่างลงตัว >> อ่านต่อ

แบบสวนป่าทรอปิคัลกลิ่นอายญี่ปุ่น
ประตูพระจันทร์ (moon gate) ที่นักออกแบบตั้งใจสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ โดยได้ลดทอนเส้นสายบางส่วนจากแบบดั้งเดิมลงให้ดูโปร่งสบายตามากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายพื้นที่สวนจากสวนญี่ปุ่นเข้าสู่สวนป่า Tropical Rain Forest
น้ำตกหินฟองน้ำสามารถดูดซับและรักษาความชื้นได้ดี ทำให้มีเฟินและมอสขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่ควรระวังเรื่องการก่อสร้างและคำนวณน้ำหนักให้ดี เพราะหินฟองน้ำก็มีข้อเสียที่เปราะหักง่าย

ผสานสวนเซนสไตล์ญี่ปุ่น กับสวนทรอปิคัลให้กลายเป็นหนึ่งเดียว

จัดสวน : G-up Garden Design โดยคุณศิริชัย อิ่มละออ

บนเนื้อที่กว่า 200 ตารางเมตร ออกแบบสวนให้มีกลิ่นอายของสวนเซน โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของสวนญี่ปุ่นมาใช้ มีอ่างปูนที่ดัดแปลงใช้แทนอ่างหินแบบญี่ปุ่น น้ำตกไม้ไผ่ พื้นโรยกรวด ต้นไม้ตัดเป็นพุ่มกลม ให้อารมณ์นิ่ง ๆ แบบ สวนเซนสไตล์ญี่ปุ่น แต่ดูทันสมัยมากขึ้น และเลือกใช้ต้นไม้ใหญ่มาลงเลย เพื่อให้ได้ร่มเงาและทรงต้นที่สวยจัดวางให้มีระดับสูงต่ำ ระยะตื้นลึก ดูมีรายละเอียด และมีการเล่นระดับพื้นให้แตกต่างกันในแต่ละโซน >> อ่านต่อ

สวนเซนสไตล์ญี่ปุ่น
พื้นที่สวนหน้าบ้านกว่า 70 ตารางเมตร จัดเป็นสวนญี่ปุ่นข้างลานจอดรถ เลือกปลูก พรรณไม้ที่มีความหลากหลายแทรกด้วยกลุ่มไม้พุ่มที่เล่นระดับและสีสัน ทำให้สวนดูมีมิติ
บ่อปลา
จากบริเวณหน้าบ้านที่ใช้ไม้ตัดแต่งทรงพุ่มก็ค่อย ๆ ลดปริมาณไม้ตัดแต่งลง ปล่อยให้ต้นไม้เติบโตมีรูปทรงตามธรรมชาติมากขึ้น เลือกใช้ไม้ใบ แซมด้วยไม้ดอกเพิ่มสีสัน เพื่อให้ดูร่มรื่น

สวนจิเซ็น สวนคาเระซันซุย และสวนโระจิ ความงดงามในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

เจ้าของ – ออกแบบ : Wabisabi Spirit โดยคุณภูริวัจน์ วรากิติยาวิโรจกุล

บริเวณหน้าบ้านเนื้อที่ประมาณ 160 ตารางเมตร ถูกออกแบบให้เป็นสวนโระจิ ที่มีความหมายว่า ‘สวนน้ำค้าง’ หรืออาจเรียกว่า ‘สวนธรรมชาติ’ ซึ่งเป็นสวนที่มีความชุ่มฉ่ำ ชุ่มชื่น พื้นมีมอสส์ดูเขียวสบายตา คล้ายสวนทรอปิคัลที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา ต่างกันแค่เพียงต้นไม้จะไม่แน่นทึบเท่า และมีความโปร่งโล่งมากกว่า >> อ่านต่อ

อาคารสไตล์ญี่ปุ่นที่ใช้เป็นห้องชงชารับรองแขก มีระเบียงไม้ริมบ่อน้ำขนาดใหญ่ไว้นั่งเล่นดูปลาคาร์ป บรรยากาศร่มรื่นด้วยร่มเงาต้นไม้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเจ็ดชั้น หมากเม่า จิกน้ำ พะยอม หรือชุมแสง
ทางเดินในสวนเป็นการวางหินแต่ละก้อนจะวางเส้นเป็นตัววาย (Y) มีการฆ่าเส้นไม่ให้เป็นสันตรงตัดกัน ต้องวางให้เส้นแยกซ้ายขวาสับหว่างกันเป็นสามแยก ซึ่งมาจากตัวอักษรญี่ปุ่นคำว่า คน (人) ตามตำราของญี่ปุ่น เป็นวิธีจัดวางหินมาตั้งแต่สมัยโบราณ

Tagged :