บ้านไม้ริมสระน้ำ บนพื้นที่สวนป่าปลูกเองที่พลิกฟื้นมาจากไร่เลื่อนลอยสภาพเสื่อมโทรม
บ้านไม้ริมสระน้ำ ที่สร้างขึ้นจากการรับซื้อบ้านเก่าของชาวบ้าน และไม้อีกส่วนหนึ่งได้มาจากไม้ที่ปลูกไว้ใช้สอยในพื้นที่ โดยเมื่อตัดแล้วก็จะปลูกทดแทนขึ้นใหม่ ทำให้เกิดเป็นระบบการใช้วัสดุที่ยั่งยืน ท่ามกลางบรรยากาศของสวนป่าปลูกเองที่เคยเป็นไร่เลื่อนลอยสภาพเสื่อมโทรมมาก่อน

บ้านไม้ริมสระน้ำ หลังนี้ ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมภายใน “สวนชัชนาถ” อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เต็มไปด้วยพรรณไม้ต่างๆ นานา ทั้งที่เป็นไม้พื้นคลุมดินระดับล่าง ไม้ระดับกลาง และไม้ยืนตันระดับสูง รวมถึงสัตว์ป่าอีกหลายชนิดตามที่สวนป่าธรรมชาติควรมี อย่างเช่น ผีเสื้อ กระรอก ผึ้ง ต่อ แตน แมลง และนกชนิดต่างๆ ซึ่ง ดร.ยอดหทัย และ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้เป็นเจ้าของ เล่าว่าเคยมีหมาป่าหนีการตามล่าของชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่พบร่องรอยแล้ว
อาจารย์ยอดหทัยเคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนอาจารย์ชัชนาถเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทั้งสองท่านต้องอดทนพยายามและใช้เวลาอยู่กว่าสิบปีก่อนที่ผืนดินแห่งนี้จะมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เริ่มต้นจากที่ดินขนาด 36 ไร่ซึ่งเสื่อมสภาพ เพราะเคยถูกชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นไร่เลื่อนลอย ธาตุอาหารในดินเริ่มขาดแคลนจนปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ไม้ยืนต้นที่มีอยู่ก็แคระแกร็นและเหลือน้อยจนนับจำนวนได้ บ้านไม้ริมสระน้ำ


“ตอนผมซื้อที่ดินมาใหม่ๆ คนแถวนี้หัวเราะเยาะผม เขาหาว่าผมบ้า ดันมาซื้อที่ดินหมดสภาพ ซึ่งเพาะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นแล้ว เว้นแต่หญ้าคา แต่ผมเองเห็นที่ดินตรงนี้แล้วถูกใจ และที่ดินแบบนี้จะมีราคาไม่สูงนัก เพราะคนทั่วไปเขาไม่ซื้อกัน เราไม่แคร์ว่าดินมันเสื่อมสภาพหรือเปล่า เพราะสิ่งที่ผมอยากทำนั้นไม่ใช่การขายผลผลิตทางการเกษตร แต่ต้องการปลูกป่าถวายในหลวง ผมอยากเห็นสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ ผมคิดว่ามันท้าทายดีที่จะปลูกป่าขึ้นจากพื้นที่ที่แทบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่เลย
“ช่วงแรกของการปลูกป่า ผมต้องซื้อกล้าไม้จากกรมป่าไม้นำมาปลูก ลงไปทั้งหมดเกือบ 40,000 ต้นได้ มีทั้งสน สัก ประคู่ มะค่า ชิงชัน และยางนา แต่ต้นไม้ที่ลงไปก็ตายไปเกือบครึ่งเลยนะ เพราะดินไม่มีธาตุอาหารและน้ำก็ไม่พอด้วย ช่วงหลังมีโครงการปลูกป่าฯเกิดขึ้น ก็ได้กล้าไม้มาลงเพิ่ม เมื่อต้นไม้ใหญ่เริ่มเติบโตและมีใบไม้ทับถมกันมากๆเข้าดินก็เริ่มดีขึ้น เมื่อก่อนก็ซื้อปุ๋ยมาลงให้บ้างนะ เพราะเราอยากจะเห็นป่าโตทันใจ แต่สู้ราคาไม่ไหว ผมเลยซื้อวัวมาเลี้ยงในสวน ให้มันเดินไปทั่วๆ จะได้ใช้ขี้วัวเป็นปุ๋ยบำรุงดิน”


อาจารย์ยอดหทัยอธิบายว่า การปลูกป่าและใช้ชีวิตอยู่กับป่า ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ถือเป็นประสบการณ์จริงที่หาไม่ได้ในตำราเรียน
“ผมเป็นอาจารย์ ทำงานและสอนนักศึกษาอยู่ในห้องแล็บมาหลายสิบปีแล้ว จึงอยากใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบ้าง การมาอยู่ที่นี่มันทำให้เราได้พักผ่อน และมีกิจกรรมที่บังคับให้เราได้ออกกำลังกาย เพราะต้องคอยดูแลป่าและปลูกต้นไม้ สุขภาพร่างกายก็แข็งแรง
“ธรรมชาติวิทยาของป่าจะต้องประกอบด้วยพืชพรรณหลายชนิด ผมได้รู้ว่าการปลูกป่าสักอย่างเดียวจะมีข้อเสียที่ต้นสักจะทิ้งใบในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นเวลาที่เราต้องการร่มเงา แต่พอหน้าฝน ซึ่งไม่อยากให้บ้านหรือดินมีความชื้นมากนัก ต้นสักกลับมีใบเยอะจนร่มครึ้มไปหมด ในช่วงแรกๆผมลงกล้าไม้คละกันไว้หลายชนิด แต่ปรากฏว่าต้นสนสามใบเติบโตเร็วมาก บังแดดจนไม้ต้นอื่นๆไปเกือบหมด แต่ช่วง 1-2 ปีหลัง ต้นไม้ที่ยังไม่ตายก็เริ่มสูงนำต้นสนไปอีก พอต้นสนไม่ได้แดดก็ค่อยๆตายไป เราก็ตัดไม้ไปสร้างบ้าน อย่างพื้น ผนังปีกไม้ และเก้าอี้ ส่วนไม้สักก็นำมาใช้เป็นวงกบประตู -หน้าต่าง
“ก่อนที่จะสร้างอะไรขึ้นมา หรือเลือกว่าใช้พื้นที่ตรงไหน ผมใช้วิธีสังเกตเอาจากสิ่งก่อสร้างที่ชาวบ้านเขาสร้างเอาไว้แล้ว เพราะเขาอยู่ในพื้นที่นี้มานาน จึงมั่นใจได้ว่าทำเลที่เขาเลือกนั้นจะเป็นจุดที่มีทิวทัศน์ดีหรือไม่ก็เป็นพื้นที่ที่เย็นสบายที่สุด
“การใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติไม่ต้องเปลี่ยนอะไรนัก เพราะใจมันชอบอยู่แล้ว ก็แค่ทำความเข้าใจว่าชีวิตคงไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่ในเมือง”



บ้านไม้ริมสระน้ำ ที่อยู่ในสวนชัชนาถเป็นบ้านไม้ที่ปลูกขึ้นเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวและเพื่อน ๆ มาพักในวันพักผ่อน สร้างจากการรับซื้อบ้านเก่าของชาวบ้านแถบนั้น และไม้อีกส่วนหนึ่งได้มาจากไม้ที่ปลูกไว้ใช้สอยในพื้นที่ นำมาสร้างบ้านหรือซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด เมื่อตัดแล้วก็จะปลูกทดแทนขึ้นใหม่ ทำให้เกิดเป็นระบบการใช้วัสดุที่ยั่งยืน สร้างความสมดุลในระบบนิเวศและเผื่อแผ่ไปยังชาวบ้านรอบ ๆ พื้นที่ได้ด้วย เพราะเมื่อมีป่าก็มีดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีอาหาร ชาวบ้านเข้ามาเก็บของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด และสมุนไพร ไปขายเป็นรายได้

ปัจจุบัน “สวนชัชนาถ”ยังเปิดให้บริการบ้านพัก ดูแลโดยลูกชายคนเล็ก คุณเกิ้น – อิทธิ เทพธรานนท์ โดยหวังให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนที่ต้องการอยู่อย่างสงบเงียบกับธรรมชาติ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
เจ้าของ : ครอบครัวเทพธรานนท์
เรื่อง : ปรีดา อัครสิริวงศ์
ภาพ : สังวาล, ฤทธิรงค์
นิตยสารบ้านและสวน ฉบับพฤศจิกายน 2545