คำช่าง สรรพสัตว์ในศัพท์ช่าง เมื่อสัตว์กลายเป็นคำติดปากในวงการก่อสร้าง
เราจะพาคุณไปรู้จักกับ คำช่าง ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ พร้อมอธิบายถึงที่มาและความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง แต่ละคำไม่ได้เป็นเพียงแค่คำพูดติดปากเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาของช่างไทยที่สั่งสมมายาวนาน
คำช่าง
หากคุณเคยเดินผ่านไซต์ก่อสร้างหรือได้พูดคุยกับช่างฝีมือ อาจเคยได้ยินคำศัพท์ที่ฟังดูเหมือนชื่อสัตว์ แต่กลับหมายถึงองค์ประกอบของโครงสร้างหรือเทคนิคการก่อสร้างที่เฉพาะเจาะจง ศัพท์ช่างเหล่านี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาลอย ๆ แต่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นช่างที่มีไหวพริบ เปรียบเทียบลักษณะของวัสดุและโครงสร้างกับสัตว์ที่เราคุ้นเคย ทำให้เข้าใจง่าย และสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว

เหล็กหนวดกุ้ง เรียกอีกชื่อว่าเหล็กเดือย เป็นเหล็กที่เสริมแรงยึดให้กับชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างเวลาที่เราเห็นคอนกรีตที่กำลังก่อสร้างมีเหล็กเส้น ๆ ยื่นออกมานั่นล่ะครับเรียกว่าเหล็กหนวดกุ้ง แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่เหล็กข้ออ้อยและเหล็กกลม โดยการเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับหน้าที่และความต้องการในการรับแรงของงาน

ตกท้องช้าง คือ การที่วัสดุพื้นหรือฝ้า ตกในตำแหน่งผิดปกติ แอ่น หย่อน โค้งงอ ผิดรูปหรือน้ำหนักมากเกินไป

ตะเข้สัน ตะเข้ราง คือแนวตัดของผืนหลังคาแต่ละระนาบมาบรรจบกันทำให้เกิดจุดตัดระนาบหลังคาขึ้นมา 2 แบบคือ ตะเข้สัน และตะเข้ราง มักพบกับบ้านที่มีหลังคาทรงปั้นหยา และมะนิลา

ลูกหมู เป็นศัพท์ช่างที่ใช้เรียก เครื่องเจียรไฟฟ้าขนาดเล็ก (Angle Grinder) ซึ่งเป็นเครื่องมือช่างที่ใช้สำหรับ เจียร ตัด ขัด และแต่งผิววัสดุ เช่น โลหะ ไม้ และคอนกรีต เหตุผลที่เรียกว่า “ลูกหมู”เพราะเสียงของเครื่องขณะทำงานคล้ายกับเสียงร้องของลูกหมู และขนาดของเครื่องก็กะทัดรัด คล่องตัว คล้ายลูกหมูตัวเล็ก ๆ

แมงมุมยึดกระจก หรือ Spider Fitting เป็นอุปกรณ์โลหะที่ใช้สำหรับ ยึดกระจกในงานสถาปัตยกรรมแบบกระจกเปลือย (Frameless Glass System) โดยมีลักษณะคล้ายขาของแมงมุมที่แผ่ออกไปยึดกระจกแต่ละแผ่นเข้าด้วยกัน

การเข้าไม้แบบหางเหยี่ยว (Dovetail Joint) เป็นวิธีที่แข็งแรงและทนต่อแรงดึงสูง แม้ทำได้ยากแต่ให้การยึดไม้แน่นหนาด้วยรูปร่างของข้อต่อและกาว โดยเซาะร่องปลายไม้ให้เป็นเดือยสี่เหลี่ยมคางหมูที่ล็อกกันพอดี นิยมใช้ในงานเข้ามุมเฟอร์นิเจอร์ เช่น ลิ้นชัก ที่ต้องการความแข็งแรงและความสวยงาม

อกไก่ คือ ไม้สักรูปข้าวหลามตัดที่วางตลอดแนวเรือน โดยยื่นหัวท้ายออกประมาณ 60-75 ซม. ทำหน้าที่ยึดหน้าจั่ว ดั้ง และจันทัน บนยอดหลังคา พร้อมรองรับหลังคาที่มานั่งทับ

ช่องแมวลอด เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ เรือนไทย ที่หมายถึง ช่องว่างระหว่างคานขื่อและพื้นเรือน มีลักษณะเป็นช่องเปิดใต้พื้นบ้านแบบยกสูง ช่องแมวลอด เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของเรือนไทย ที่ออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นของไทย ช่วยให้บ้านอยู่สบายขึ้นโดยอาศัยหลักธรรมชาติในการออกแบบ
- เรื่อง – Pakaho
- ภาพประกอบ – เอกรินทร์ พันธุนิล / pakaho