หน้าต่าง 6 ประเภทยอดฮิต เลือกใช้ให้เข้ากับบ้าน
การ เลือกหน้าต่าง เป็นองค์ประกอบสำคัญของบ้าน ไม่ว่าบ้านจะมีขนาดเล็ก ใหญ่ คอนโด หรือแม้แต่ห้องเช่า ต่างก็ต้องการแสงสว่างจากธรรมชาติด้วยกันทั้งสิ้น หน้าต่างมีหน้าที่มากกว่าการเป็นช่องเปิดเพื่อรับแสงและลม แต่ยังมีผลต่อบรรยากาศการอยู่อาศัยช่วยให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอก ให้ความรู้สึกของการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกไม่ได้ถูกปิดกั้นหรือขังอยู่ภายในพื้นที่ปิด ประเภทของหน้าต่างมีให้เลือกหลากหลายเพื่อตอบสนองการใช้งานได้อย่างเหมาะสมรวมไปถึงดีไซน์ วัสดุ ที่ช่วยส่งเสริมภาพรวมของบ้านให้สวยงามเข้ากันได้ดีกับสภาพแวดล้อมและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย

เรียนรู้ธรรมชาติ
ทิศทาง แดด ลม และฝน ที่เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลาของปีเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบและเลือกใช้หน้าต่างแต่ละประเภท รวมไปถึงเป็นตัวกำหนดขนาดและทิศทางการเปิดของบานหน้าต่างเพื่อความเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละห้อง
a ลมช่วงกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือพัดพาอากาศหนาวมา
b ลมช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดพาฝนและความชื้น
c แดดตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรใกล้โลกมากที่สุด
d แดดตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรอ้อมไปทางทิศเหนือมากที่สุด
e แดดตั้งแต่เดือนธันวาคม เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรอ้อมไปทางทิศใต้มากที่สุด
แสงแดด
ดวงอาทิตย์จะโคจรอ้อมไปทางทิศใต้นาน 8 เดือน คือช่วงเดือนกันยายนถึงเมษายน และอ้อมไปทางทิศเหนือเล็กน้อย 4 เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ทำให้ทิศใต้เป็นทิศที่รับแดดมากที่สุด แต่ทิศที่ร้อนที่สุดคือทิศตะวันตก เพราะรับแสงแดดโดยตรงในช่วงบ่ายนั่นเอง
ลม
ทิศทางลมเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากกับการวางตำแหน่งประตู-หน้าต่าง ลมส่วนใหญ่จะพัดมาทางทิศเหนือ – ใต้ จึงควรออกแบบช่องหน้าต่างเพื่อให้ลมพัดผ่านตัวบ้านในทิศทางที่สอดคล้องกัน จะช่วยให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนอบอ้าว และยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย
หน้าต่าง 6 ประเภทยอดนิยม

หน้าต่างบานเปิด (Casement Window)
หน้าต่างบานเปิดได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ มีทั้งบานเปิดเดี่ยว บานเปิดคู่ และบานเปิดแบบกลุ่มในชุดวงกบเดียวกัน ซึ่งตอนเปิดหน้าต่างจะกินพื้นที่นอกอาคารมากกว่าหน้าต่างแบบอื่น จึงไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่คนเดินผ่านเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ข้อแนะนำ
เหมาะสำหรับห้องที่ลมพัดผ่านด้านข้างเพื่อช่วยดักลมเข้าห้องได้มากขึ้น หรือห้องที่ต้องการเปิดหน้าต่างกว้างให้เลือกใช้แบบบานคู่ ที่เปิดออกได้กว้างโดยไม่มีเส้นของกรอบหน้าต่างมารบกวน
ข้อดี
- ดักลมเข้าบ้านได้ดี ควรเปิดในทิศทางที่ลมพัดผ่าน
- ใช้งานง่าย
- มีดีไซน์ที่หลากหลาย
ข้อเสีย
- ต้องมีพื้นที่ด้านนอกกว้างพอสำหรับตอนเปิดออก
- อาจก่อให้เกิดอันตรายถ้าใช้หน้าต่างประเภทนี้บริเวณทางเดิน
- ทำความสะอาดกระจกด้านนอกได้ยากเอื้อมไม่ถึง

ผนังเป็นหน้าต่างบานเปิดคู่และช่องแสงติดตายส่วนบนและล่าง ทำให้ห้องสว่างรับแสงธรรมชาติและมองเห็นวิวต้นไม้ได้อีกด้วย

หน้าต่างบานเปิดทางเดียวกัน ช่วยดักลมที่พัดผ่านเข้าสู่ภายในบ้านได้มากยิ่งขึ้น

หน้าต่างบานเปิดคู่ทำให้เปิดออกได้กว้างทั้งช่องหน้าต่างไม่มีสิ่งกีดขวาง

ฟาซาดบ้านออกแบบให้เป็นช่องหน้าต่างบานเปิดคู่ใช้แผ่นเหล็กฉลุเกิดเป็นลวดลายแปลกตาและช่วยลดฝนสาดเข้าบ้านได้อีกด้วย

หน้าต่างบานเลื่อน (Slide Window)
หน้าต่างบานเลื่อนเป็นหน้าต่างที่ดูเรียบไปกับผนังและไม่เสียพื้นที่รอบๆตอนเปิด โดยมีชุดล้อซ่อนอยู่ในบานกรอบ สามารถเลื่อนเปิดได้หลายรูปแบบเช่น บานเลื่อนเดี่ยว บานเลื่อนคู่ บานเลื่อนสลับซ้าย-ขวา นิยมใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อความสะดวกในการเลื่อนเปิด
ข้อแนะนำ
ควรเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น อะลูมิเนียม ไวนิล พีวีซี เพื่อความสะดวกในการเลื่อนเปิด-ปิด ไม่ตกราง และควรหมั่นบำรุงรักษาชุดล้อให้สะอาดไม่เป็นสนิม
ข้อดี
- เปิด-ปิดง่าย
- ใช้พื้นที่น้อย เหมาะกับบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด
- ทำความสะอาดได้ง่าย
ข้อเสีย
- รับลมได้น้อยกว่าบานเปิด
- เปิดได้เพียงครึ่งเดียวของความกว้างช่องหน้าต่าง เพราะต้องเลื่อนซ้อนกันฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
- ถ้าช่องระบายน้ำที่รางอุดตันอาจทำให้น้ำขังและซึมเข้าห้องได้
- อาจมีแมลงและเสียงที่เล็ดลอดผ่านช่องว่างระหว่างบานได้

หน้าต่างบานเลื่อนขนาดเล็กในห้องครัวเหนืออ่างล้างจานช่วยระบายความชื้น และได้ชมวิวระหว่างล้างจานอีกด้วย

บ้านคุหน้าต่างบานเลื่อนร่วมกับหน้าต่างบานกระทุ้งและบานติดตาย ทำให้ห้องขนาดกะทัดรัดดูโล่งขึ้นและยังควบคุมการเปิดให้ลมไหลผ่านได้ตามการใช้งาน

เลือกหน้าต่าง บานเลื่อนสีดำบริเวณที่นั่งริมหน้าต่าง มีขนาดใหญ่จรดเพดานเปิดมุมมองภายนอกได้กว้างขึ้น

หน้าต่างบานกระทุ้ง (Awning Window)
หน้าต่างที่เปิดด้วยการผลักขึ้นด้านบนและใช้บานพับที่เปิดค้างไว้ได้ ลักษณะการเปิดขึ้นจึงช่วยป้องกันฝนสาดได้ นิยมใช้เป็นหน้าต่างระบายอากาศในห้องน้ำ โดยติดตั้งในส่วนบนของผนังระดับที่พ้นสายตา
ข้อแนะนำ
สามารถออกแบบบานกระทุ้งร่วมไปกับบานหน้าต่างประเภทอื่น หรือออกแบบบานกระทุ้งหลายๆบานต่อเนื่องกันเพื่อการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ข้อดี
- ป้องกันฝนสาดได้ดีกว่าหน้าต่างประเภทอื่น
- สามารถเปิดค้างไว้ได้ ช่วยระบายอากาศและความชื้นได้ต่อเนื่อง
- ออกแบบให้เป็นช่องเปิดขนาดเล็กได้หลากหลาย
ข้อเสีย
- เมื่อเปิดจะกินพื้นที่ด้านนอกอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ที่เดินผ่านไปมา
- ทำความสะอาดด้านนอกยากถ้าติดตั้งในตำแหน่งที่สูง
- เปิดกว้างได้ในระดับหนึ่งตามกลไกของบานพับ ทำได้รับลมได้น้อย

บานกระทุ้งรูปทรงยาวกรอบอะลูมิเนียมลายไม้ดีไซน์ตีช่องลูกฟักให้น่าสนใจ ดูน่ารักเข้ากับสไตล์ของบ้าน

หน้าต่างบานกระทุ้งไม้ที่ดูเรียบง่ายเข้ากับบ้านไม้สไตล์รีสอร์ตที่ดูอบอุ่นชวนผ่อนคลาย

ออกแบบหน้าต่างบานกระทุ้งในห้องทำงานให้มีขนาดที่แตกต่างกันตามตำแหน่งการใช้งาน เพื่อความสะดวกในการควบคุมปริมาณลมได้ตามต้องการ

ประตูบานเฟี้ยมที่ดีไซน์ให้หน้าต่างบานกระทุ้งอยู่ในประตู สามารถเลือกใช้งานได้ตามช่วงเวลาของวัน

ออกแบบผนังด้วยหน้าต่างบานกระทุ้งสลับกับหน้าต่างติดตาย ได้ผนังที่มีเส้นสายน่าสนใจและปรับการเปิดรับลมได้ตามต้องการ

หน้าต่างบานเกล็ด (Louver window)
หน้าต่างบานเกล็ดเป็นหน้าต่างที่ใช้พื้นที่น้อย สามารถเปิดให้อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา วัสดุที่นิยมใช้มีทั้งกระจกใส กระจกฝ้า ช่วยลดทอนแสงสว่าง ทำจากไม้หรือไวนิลที่ช่วยบังแสงแดด มีทั้งแบบติดตายและปรับองศาได้ ทำให้สามารถควบคุมช่องเปิด-ปิดได้ตามต้องการ
ข้อแนะนำ
นิยมใช้กับห้องที่มีพื้นที่จำกัด ตำแหน่งที่อยู่สูง หรือต้องการให้อากาศถ่ายเทตลอดเวลา เช่น ห้องเก็บของ ห้องใต้หลังคา
ข้อดี
- ใช้พื้นที่น้อย
- กันแดดและน้ำฝนได้ดี
- ปรับองศาเปิด-ปิดได้ตามต้องการ
ข้อเสีย
- ทำความสะอาดได้ยาก
- กันเสียงและความร้อนได้น้อย เพราะมีรอยต่อระหว่างบานเกล็ดเยอะ
- ทำกว้างมากไม่ได้ เพราะบานจะแอ่นได้ง่าย

ห้องนอนใช้กระจกบานเกล็ดมาเสริม เพื่อเปิดช่องทางให้ลมหมุนเวียนได้ดีขึ้น ในเวลาที่ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ

หน้าต่างบานเกล็ดในห้องนอน สามารถเปิดรับลมหรือปิดทึบให้เป็นส่วนตัวได้เช่นกัน

ติดตั้งหน้าต่างบานเกล็ดเต็มทั้งผนังระหว่างห้องนั่งเล่นกับทางเดิน ทำให้อากาศไหลเวียนได้ดีและไม่กินพื้นที่ทางเดินอีกด้วย

ผนังห้องน้ำเป็นหน้าต่างบานเกล็ดไม้ที่เปิด-ปิดได้เพื่อความเป็นส่วนตัว

ผนังครึ่งล่างเป็นหน้าต่างบานเกล็ดใสที่ไม่บดบังวิวทุ่งนาและเปิดรับลมได้ตามต้องการ

หน้าต่างบานติดตาย (Fixed Pane Window)
เป็นหน้าต่างที่ไม่สามารถเปิดได้ หรือบางครั้งเรียกว่า “ช่องแสง” สามารถติดกระจกใสหรือฝ้าเพื่อให้มีแสงสว่างส่องผ่านได้เท่านั้น นิยมใช้ในพื้นที่ที่ต้องการเพิ่มแสงสว่างและเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเสียง หรือน้ำฝน
ข้อแนะนำ
นิยมใช้บานติดตายร่วมกับหน้าต่างประเภทอื่นๆ เพื่อความสวยงามและรับแสงธรรมชาติ เปิดมุมมองชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างมากขึ้น
ข้อดี
- ออกแบบรูปทรงได้หลากหลาย
- ป้องกันเสียงรบกวนและน้ำฝนได้ดี
- เพิ่มแสงธรรมชาติภายในบ้าน
ข้อเสีย
- ตำแหน่งที่อยู่สูงทำความสะอาดได้ยาก
- ไม่สามารถระบายอากาศได้
- รับความร้อนจากแสงแดดที่ส่องเข้ามา

ผนังบริเวณโถงบันไดเป็นช่องแสงติดตายเต็มผนังเพื่อเปิดมุมมองให้เห็นต้นไม้สีเขียว

ช่องแสงดีไซน์น่ารักในห้องนอนเปิดรับแสงแดดยามเช้าที่จะส่องเข้ามากระทบบริเวณผนัง

ช่องแสงแนวยาวบริเวณผนังเหนือเคาน์เตอร์ครัวทำให้ช่วงกลางวันมีแสงสว่างเพียงพอ ใช้งานได้สะดวก

ช่องแสงรูปครึ่งวงกลมบริเวณโต๊ะกินข้าวทำให้มุมนี้ดูน่ารักและมองเห็นสวนได้ตลอดเวลา

ชานพักบันไดที่เป็นโถงสูงออกแบบช่องแสงโดยใช้หน้าต่างบานกระทุ้งครึ่งล่างเพื่อให้เปิดรับลมได้ และหน้าต่างติดตายครึ่งบนเพื่อเปิดมุมมองและรับแสงสว่าง

หน้าต่างบานเฟี้ยม (Folded Window)
หน้าต่างบานเฟี้ยม คือ หน้าต่างที่นำบานหน้าต่างหลายๆ บานมาต่อกันด้วยบานพับ ยึดติดกับรางทั้งด้านบนและด้านล่าง เปิดออกด้วยการเลื่อนทบกันไปรวมด้านข้าง ทำให้เปิดช่องได้กว้างมากและรับลมเข้าสู่อาคารได้อย่างเต็มที่
ข้อแนะนำ
เหมาะสำหรับบ้านที่ต้องการเปิดโล่งเพื่อรับบรรยากาศภายนอก เช่น บ้านริมทะเล บ้านสวน นิยมใช้กับห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับระเบียง หรือใช้กั้นพื้นที่ระหว่างห้องแบบชั่วคราวได้อีกด้วย
ข้อดี
- เปิดพื้นที่ได้กว้างที่สุด
- สวยงามกินพื้นที่ไม่มากนัก
- ระบายอากาศได้ดีเยี่ยม
ข้อเสีย
- ราคาค่อนข้างสูง
- ใช้พื้นที่ด้านข้างในการเก็บบานหน้าต่างตอนเปิด
- บานพับและรางเลื่อนต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ

หน้าต่างบานเฟี้ยมบริเวณห้องนั่งเล่นเมื่อเปิดออกทั้งหมดให้ความรู้สึกต่อเนื่องกับพื้นที่ภายนอกและกลายเป็นมุมนั่งพักได้สบายๆ

ใช้หน้าต่างบานเฟี้ยมเป็นฉากกั้นพื้นที่ระหว่างห้องทำงานกับห้องน้ำ ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่กว้างขึ้นไม่อึดอัด

กั้นพื้นที่ด้วยหน้าต่างบานเฟี้ยมบริเวณเคาน์เตอรเพื่อให้มุมแพนทรี่เป็นสัดส่วนมากยิ่งขึ้น
คอลัมน์ House Ideas ก.พ. 2568
เรื่อง : jOhe
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
วิธีออกแบบบ้านให้ได้บรรยากาศ บ้านตากอากาศ ที่อยู่สบายในทุกวัน
ติดตามดูข้อมูลดีๆเพิ่มเติมได้ที่ บ้านและสวน