ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน ต้องมีพื้นที่ว่างแค่ไหนถึงจะปลอดภัยต่อโครงสร้าง?

ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้านอย่างไร? ให้ทั้งร่มรื่นและปลอดภัยต่อโครงสร้าง

ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มร่มเงาและความสวยงาม แต่ยังส่งผลต่อโครงสร้างของบ้านและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ หากไม่ได้วางแผนอย่างเหมาะสม อาจเกิดปัญหารากชอนไช ทำให้พื้นหรือกำแพงแตกร้าว รวมถึงความเสี่ยงที่ต้นไม้จะล้มในช่วงพายุหรือฝนตกหนัก

บ้านและสวน จึงมีวิธีวางแผนก่อนปลูกต้นไม้ใหญ่ในบ้าน ให้ปลอดภัยต่อโครงสร้าง ตั้งแต่การเลือกต้นไม้ที่เหมาะสม การเสริมความมั่นคงของต้นไม้ ตลอดจนการป้องกันและดูแลรักษา เพื่อให้คุณสามารถมี ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน ได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน

1. เลือกต้นไม้ที่เหมาะสม

รากของต้นไม้ใหญ่ในความเป็นจริงต่างจากที่เราคิดมากนัก รากจะมีขนาดและความลึกลงไปในดินเหมือนการแผ่กิ่งก้านด้านบน เพราะ ต้นไม้ใหญ่ที่โตแล้วจะหยุดแทงรากแก้วลึกลงดิน แต่จะแผ่เป็นรากแขนงไปด้านข้าง โดยระยะการแผ่จะเป็นครึ่งหนึ่งหรือสองเท่าของความสูงของต้น จึงควรเลือกชนิดของต้นไม้ที่รากไม่ชอนไชแรง ไม่ขยายตัวในแนวลึกมาก มีการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำลายพื้นดิน โครงสร้างบ้าน หรือกำแพงได้ เช่น หลิว จิกเศรษฐี น้ำเต้าต้น ล่ำซำ แก้วเจ้าจอม ทาวเวอร์ทรี สนฉัตร หรืออาจเลือกปลูกไม้ผลขนาดเล็กที่ปลอดภัยต่อโครงสร้าง แต่ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงต้นไม้รากลึก – รากแผ่แรง เช่น ไทร ประดู่ หูกวาง และโพธิ์ ซึ่งอาจทำให้พื้นและกำแพงแตกร้าวได้ 

ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน

2.ใช้ไม้ค้ำยัน หรือลวดสลิงยึดต้นไม้

การปลูกไม้ล้อมเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดระยะเวลาและทําให้สวนสวยมีไม้ใหญ่ได้รวดเร็วทันใจ ซึ่งสำหรับต้นไม้ล้อมขนาดใหญ่ที่ต้องการนำมาปลูก ควรมีการทำค้ำยันให้ต้นไม้ เพื่อช่วยให้รากไม่ถูกกระทบกระเทือนขยับเขยื้อน ป้องกันต้นไม้จากลมแรง หรือจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ใช้ไม้ค้ำยันหรือลวดสลิงยึดต้นไม้ไว้ เพื่อลดโอกาสโค่นล้มในช่วงที่ต้นไม้ยังไม่แข็งแรง จากนั้นทำค้ำยันให้มั่นคง ซึ่งแนะนำให้ทำค้ำยันแบบถาวร เพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่ต้นไม้ล้มทับตัวบ้าน โดยใช้เสาเข็มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ตอกลงดินลึก 2-3 เมตร จากนั้นเทปูนคอนกรีตเสริมเหล็กรัดหัวเสาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-40 เซนติเมตร โดยมีแป้นเหล็กเชื่อมด้านบนขนาด 20 x 20 เซนติเมตร ยึดด้วยเหล็กเส้นกัลวาไนซ์ที่ฐานตอม่อทำมุมเอียงรับกับลำต้น ทั้ง 4 ด้าน

ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน

3. วางตำแหน่งการปลูกให้เหมาะสม

การวางตำแหน่งการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ปลอดภัยต่อโครงสร้างบ้าน ต้องพิจารณาทิศทางของราก ทิศทางลม อย่าปลูกต้นไม้ที่มีโอกาสโค่นง่าย พิจารณาความสูงและขนาดของต้นไม้เมื่อโตเต็มที่ และระยะห่างจากตัวอาคารหรือระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ระวังอย่าให้รากลุกล้ำเข้าใกล้ท่อระบายน้ำ สายไฟ หรือฐานรากของอาคาร โดยระยะห่างที่เหมาะสมต้นไม้ขนาดเล็ก (สูงไม่เกิน 3 เมตร) ห่างจากตัวบ้านหรือกำแพงอย่างน้อย 1.5-2 เมตร ต้นไม้ขนาดกลาง (สูง 3-8 เมตร) ห่างจากตัวบ้านหรือกำแพงอย่างน้อย 3-5 เมตร ต้นไม้ขนาดใหญ่ (สูงมากกว่า 8 เมตร) ห่างจากตัวบ้านหรือกำแพงอย่างน้อย 5-10 เมตร นอกจากนี้ ควรระวังไม่ให้ต้นไม้ในบ้าน ล้ำเข้าไปในอาณาเขตของเพื่อนบ้านหลังข้างเคียงด้วย

ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน

4. ติดตั้งระบบป้องกันราก

ติดตั้งอุปกรณ์หรือวัสดุ เช่น แผ่นกันราก แผ่นคอนกรีต แผ่นพลาสติกหนา หรือแผ่น HDPE (High-Density Polyethylene) หนา 1-2 มม. ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน และมีความยืดหยุ่นสูงทนทานต่อแรงดันจากรากต้นไม้และสารเคมีในดิน มาจัดวางรอบแปลงปลูก เพื่อควบคุมทิศทางการเจริญเติบโตของราก ป้องกันไม่ให้รากของต้นไม้เติบโตไปยังพื้นที่ที่ไม่ต้องการ จำกัดการเจริญเติบโตของรากต้นไม้ให้อยู่ภายในขอบเขตที่ตั้งไว้ รวมถึงรากลุกล้ำไปยังโครงสร้างสำคัญ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างในอนาคต เช่น การทลายของพื้นผิวถนนหรือท่อน้ำ

5. ดูแลและตัดแต่งต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ

การดูแลและตัดแต่งต้นไม้อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้าน อย่าง การตัดแต่งกิ่งที่อยู่ใกล้ตัวบ้านหรือสายไฟฟ้า ควบคุมความสูงของต้นไม้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการหักล้ม และการตรวจสอบระบบรากทุก 6-12 เดือน บริเวณโคนต้นและพื้นดินรอบ ๆ เพื่อดูว่ารากขยายตัวหรือชอนไชใกล้ตัวบ้านหรือไม่ หากพบรากใหญ่ที่เริ่มลามไปยังโครงสร้าง ให้ทำการตัดแต่งราก โดยขุดรอบโคนต้นห่างประมาณ 1-1.5 เมตร แล้วตัดรากใหญ่ที่อยู่ใกล้โครงสร้าง ระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของต้นไม้ 

ต้นไม้ใหญ่ปลูกในบ้าน

6. ปลูกในกระถางขนาดใหญ่ หรือยกระดับพื้นปลูก

การปลูกต้นไม้ในกระถางขนาดใหญ่ที่มีขนาดเหมาะสม เช่น ต้นไม้ขนาดกลาง เส้นผ่านศูนย์กลางกระถาง 80-100 เซนติเมตร ลึก 60-80 เซนติเมตร หรือ หากปลูกเหมาะกับการปลูกต้นไม้หลายต้นในพื้นที่เดียวกันให้ปลูกในแปลงปลูกแบบยกระดับ สูงจากพื้นประมาณ 50-80 เซนติเมตร ซึ่งกระบะปลูกมีทั้งแบบมีก้นเป็นคอนกรีตด้านล่าง ที่ควรมีท่อระบบน้ำที่บริเวณก้นกระบะปลูกด้านล่างสุด และกระบะปลูกหล่อคอนกรีตที่ทำเป็นเพียงขอบด้านข้างเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยควบคุมระบบรากของต้นไม้ ไม่ให้ชอนไชลงสู่พื้นดิน ลดความเสี่ยงต่อโครงสร้างบ้านได้ดี

Tips หากปลูกไม้ใหญ่หรือไม้พุ่มภายในกระบะปลูกชั้นล่างเหนือท่อระบายน้ำหรือชั้นดินเดิม ควรใช้หินทั่วไปขนาด 6-12 นิ้ว รองก้นก่อน เพื่อให้รากต้นไม้ยึดเกาะกับหินด้านล่าง ลดโอกาสในการโค่นล้มได้ง่าย ส่วนชั้นกลางให้ใส่หินขนาดรองลงมาตามความเหมาะสม เพื่อสะดวกต่อการระบายน้ำ ด้านบนสุดสำหรับต้นไม้ควรใส่ดินผสมที่หนาอย่างน้อย 6-12 นิ้ว