ออกแบบบ้านอยู่ร่วมกับต้นไม้ อย่างไร? ให้สวย กลมกลืน อยู่สบาย - บ้านและสวน

ออกแบบบ้านอยู่ร่วมกับต้นไม้ ให้สวย กลมกลืน อยู่สบาย

สำหรับพื้นที่ว่างรอบบ้าน หากต้องการจะจัดสวนคงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเท่าไรนัก แต่การจะมีสวนที่เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เช่น สวนบนอาคาร หรือสวนในคอร์ตกลางบ้าน จำเป็นจะต้องมีการวางแผน ออกแบบบ้านอยู่ร่วมกับต้นไม้ อย่างรอบคอบ

ซึ่งการ ออกแบบบ้านอยู่ร่วมกับต้นไม้ ควรคำนึงถึงหลายปัจจัย ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการการออกแบบจนถึงการดูแลรักษาหลังก่อสร้างและจัดสวนเรียบร้อย เพื่อให้สวนเป็นพื้นที่ที่สวยงาม สามารถใช้งานได้จริง และดูแลรักษาง่าย เพราะหากไม่ได้วางแผนให้ดีตั้งแต่ต้น อาจนำมาซึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากในระยะยาวได้ 

ออกแบบบ้านอยู่ร่วมกับต้นไม้

1. วางแผนตั้งแต่การออกแบบบ้าน

หากตั้งใจให้มีสวนเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ควรปรึกษาสถาปนิกและวิศวกรตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เพื่อให้พื้นที่สวนมีความสวยงามกลมกลืน เหมาะสมกับโครงสร้าง และพื้นที่ใช้งานภายในบ้าน เช่น การกำหนดพื้นที่เปิดโล่งสำหรับสวนในคอร์ตให้เอื้อต่อการเติบโตของต้นไม้ หรือการออกแบบดาดฟ้าให้สามารถรองรับน้ำหนักของสวน และมีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้น้ำไหลออกจากพื้นที่ได้สะดวก รวมไปถึงการออกแบบวางแผนให้สวนอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับห้องต่าง ๆ ของบ้าน อย่าง ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร หรือชานระเบียง ซึ่งอาจเลือกใช้เป็นกระจกใสบานใหญ่เ พื่อเปิดมุมมองให้มองเห็นสวนได้อย่างชัดเจน หรือเลือกใช้ประตูบานเลื่อน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ใช้งานภายในบ้านกับพื้นที่สวน สร้างความรู้สึกเปิดโล่งและใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

2. การกำหนดและจัดสรรพื้นที่ใช้งาน

นอกจากการออกแบบที่เอื้อต่อการมีสวนเป็นส่วนหนึ่งของบ้านแล้ว ควรมีการกำหนดและจัดสรรพื้นที่ใช้งานให้มีความชัดเจน เหมาะสมกับความต้องการ จุดประสงค์ และฟังก์ชันการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน เช่น พื้นที่สวนสำหรับเป็นมุมพักผ่อน มุมปลูกผัก มุมสำหรับเด็กเล่น หรือเป็นสวนที่เน้นส่งเสริมสถาปัตยกรรมให้ดูโดดเด่น เน้นมุมมองเป็นสำคัญ เพื่อนำมาพิจารณาวางแผนและออกแบบองค์ประกอบในการจัดสวน อย่าง บ่อน้ำ ไม้ยืนต้น พืชคลุมดิน ไปจนถึงพื้นฮาร์ดสเคป ซึ่งจะมีผลต่อการเตรียมโครงสร้าง การรับน้ำหนัก และระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบระบายน้ำ และระบบไฟฟ้า

ออกแบบบ้านอยู่ร่วมกับต้นไม้

3. ความเหมาะสมของโครงสร้าง

โดยทั่วไปดิน ไม้ยืนต้น บ่อน้ำ และอุปกรณ์ตกแต่งมักจะมีน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก ทำให้โครงสร้างและระบบรองรับต้องมีการเตรียมพร้อม เช่น มีการเพิ่มความหนาของพื้นหรือคานเพื่อรองรับน้ำหนักและการใช้งานที่เพิ่มขึ้น มีการติดตั้งราวกันตกที่ขอบระเบียงและดาดฟ้าเพื่อความปลอดภัย รวมถึงมีระบบการระบายน้ำที่ดี เพื่อป้องกันการรั่วซึมเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งหากโครงสร้างอาคารไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อการจัดสวน โดยเฉพาะบริเวณบนดาดฟ้าหรือบนอาคาร อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือความเสียหายต่อบ้านได้ เช่น การแตกร้าวหรือทรุดตัว ดังนั้น ก่อนเริ่มจัดสวนจึงควรตรวจสอบโครงสร้างของอาคารให้เรียบร้อย หรือหากมีการเพิ่มน้ำหนักให้อาคารมาก ควรปรึกษาวิศวกรก่อนเพื่อความปลอดภัย

4. ระบบกันซึมและการระบายน้ำ

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการจัดการพื้นที่สวนคือเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำ หรือความชื้นที่สะสมอยู่ในวัสดุปลูก ซึ่งเมื่อนานวันมักจะทำให้โครงสร้างเสียหายเร็วขึ้น ก่อนการจัดสวนจึงต้องมีการวางออกแบบให้มีการระบายความชื้นออกได้ เช่น การทำระบบระบายน้ำให้เพียงพอในตำแหน่งที่เหมาะสม การเว้นช่องว่างระหว่างวัสดุปลูกกับผนังเพื่อให้มีอากาศพัดผ่าน การทาวัสดุกันซึมปกป้องไม่ให้ความชื้นซึมผ่านพื้นผิวได้ง่าย เพื่อป้องกันความชื้น น้ำรั่ว และน้ำขังที่อาจนำมาสู่ปัญหาเชื้อรา การรั่วซึม รอยร้าว หรือความเสียหายต่อวัสดุปูพื้นและผนัง

ออกแบบบ้านอยู่ร่วมกับต้นไม้

5. สภาพแวดล้อม: แสงแดด อากาศ และลม

ทิศทางของลมและแสงแดดที่เข้ามาในสวนแต่ละช่วงเวลา ส่งผลต่อการเลือกตำแหน่งของพื้นที่ใช้งาน ชนิดพืชพรรณที่ปลูก รวมถึงความถี่ในการดูแลรักษา เช่น สวนดาดฟ้าที่มักได้รับแสงแดดและลมมาก ควรเลือกชนิดต้นไม้ที่มีความทนทาน มีใบแข็งแรง หรือทนแห้งได้ดี เช่น กระบองเพชร เฟื่องฟ้า อีกทั้งพื้นที่บนดาดฟ้าอาจจะต้องเผชิญกับความร้อนสะสมในพื้นที่ดาดแข็งที่เปิดโล่ง ทำให้พืชคายน้ำเร็วขึ้น ส่งผลให้พืชขาดน้ำได้ง่าย จึงควรวางแผนการดูแลต้นไม้ และเพิ่มความถี่ในการรดน้ำมากขึ้น หรือหากพื้นที่จัดสวนอยู่ในมุมอับแสงหรือในที่ร่มเกินไป อาจส่งผลให้พืชไม่เจริญเติบโต หรือเติบโตช้า จึงควรเลือกชนิดต้นไม้ที่สามารถทนร่มหรือแสงรำไรได้ดี เช่น เฟิน กล้วยไม้ เดหลี หรือติดตั้งระบบแสงไฟเพิ่ม เพื่อช่วยให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ การปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้ทนแดดไว้ทางทิศตะวันออกหรือตะวันตก ยังสามารถช่วยบังแดดบางส่วนให้ตัวอาคารได้อีกด้วย

6. การเลือกพรรณไม้ที่เหมาะสม

การเลือกสไตล์สวน เช่น สวนมินิมัล สวนทรอปิคัล หรือสวนญี่ปุ่น นอกจากความชอบและสไตล์ของบ้านแล้ว ควรคำนึงถึงพื้นที่และความเหมาะสมของต้นไม้ร่วมด้วย อย่างพื้นที่ที่มีแดดจัด ควรใช้พืชทนแดด เช่น ลิ้นมังกร เข็ม ประยงค์ โกสน ทองอุไร หรือพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดเพียงครึ่งวัน เช่น กะพ้อ แก้ว จั๋งจีน จันทน์ผา โมก หมากเขียว หมากเหลือง ส่วนพื้นที่ขนาดเล็ก ควรเลือกต้นไม้ที่เจริญเติบโตช้าและรากไม่ทำลายโครงสร้าง เช่น ส้มแขก จิกเศรษฐี เกรวิลเลีย ทาวเวอร์ทรี หลีกเลี่ยงไม้ที่เติบโตเร็ว หรือผลัดใบ เพราะการปลูกพืชที่ไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่อาจทำให้พืชไม่แข็งแรง นอกจากนี้ ควรเลือกใช้จำนวนและชนิดพรรณไม้ที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป รวมถึงมีการคำนึงถึงระยะเติบโตในอนาคต เช่น ในคอร์ตยาร์ดที่มีขนาดไม่ใหญ่ ไม่แนะนำให้ปลูกไม้พุ่มร่วมกับไม้ยืนต้น เนื่องจากในอนาคตเมื่อไม้ยืนต้นเจริญเติบโตเต็มที่จะทำให้ไม้พุ่มด้านล่างได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ และอาจตายได้ในที่สุด

7. การดูแลและการบำรุงรักษา

สวนและต้นไม้ต้องการการดูแลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สวยงามคงทนยาวนาน ซึ่งหากวางแผนตั้งแต่ต้นจะช่วยให้การดูแลและการบำรุงรักษาง่ายขึ้น อย่างการเลือกใช้พืชที่ดูแลรักษาง่าย การติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ เช่น ระบบน้ำหยด ระบบพ่นหมอก หรือสปริงเกลอร์ที่ปรับทิศทางได้ เพื่อช่วยลดความยุ่งยากในการบำรุงรักษา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก แต่ถึงแม้ว่าจะมีระบบอัตโนมัติที่ช่วยผ่อนแรงในการดูแลสวนแล้ว ก็ควรวางแผนและหมั่นออกไปดูแลรักษาเป็นครั้งคราว เช่น การตัดแต่งกิ่งใบ การเปลี่ยนต้นไม้ การบำรุงดิน รวมถึงเก็บเศษใบไม้เศษดินที่อุดตันท่อน้ำและรางน้ำเป็นประจำ หรือหากไม่มีความรู้ ไม่มีเวลาเพียงพอในการดูแลสวน อาจจ้างผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลสวนก็ได้เช่นกัน

8. แมลงและสัตว์รบกวน

การมีสวนในบ้านอาจดึงดูดแมลงหรือสัตว์รบกวนต่างๆ เช่น มด หนู งู หรือแมลงศัตรูพืช อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น พื้นที่รกหรือมีดินและใบไม้แห้งสะสม มักจะเป็นที่หลบซ่อนของแมลง พื้นที่ที่มีน้ำขังอาจจะมียุงมาวางไข่ ซึ่งแมลงและสัตว์รบกวนเหล่านี้อาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อต้นไม้และผู้อยู่อาศยในบ้านได้ ดังนั้น จึงควรดูแลสวนให้สะอาดอยู่เสมอ ใช้กระถางที่มีรูระบายน้ำหรือติดตั้งระบบน้ำหมุนเวียนเพื่อป้องกันยุงวางไข่ หากพบดินหรือเศษใบไม้ที่เริ่มมีราขึ้น ให้เปลี่ยนดินหรือทำความสะอาดทันที นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีชีวภาพ เช่น การโรยปูนขาว ขี้เถ้า หรือปลูกพืชที่มีกลิ่นป้องกันแมลงตามธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม ดาวเรือง กะเพรา โหระพา หรือสะระแหน่ร่วมด้วย

9. ข้อจำกัดของพื้นที่และการเข้าถึง

ข้อจำกัดของพื้นที่และการเข้าถึงเป็นปัญหาที่สำคัญเมื่อต้องการสร้างสวนในพื้นที่ที่เข้าถึงยากหรือการก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น สวนบนดาดฟ้า สวนในคอร์ตกลางบ้าน หรือสวนในบ้านที่มีพื้นที่เล็กและทางเข้าแคบ ซึ่งหากไม่ได้วางแผนและเตรียมตัวอย่างรอบคอบ อาจเกิดความยุ่งยากในขั้นตอนการทำงานและเพิ่มค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ก่อนการจัดสวนจึงอาจเริ่มต้นจากการวางแผนตั้งแต่การก่อสร้างอาคาร เช่น การเปิดพื้นที่ทางเดินกว้างพอให้คนงานและเครื่องมือผ่านได้ง่าย ใช้รอก หรือเครน ยกต้นไม้หรือองค์ประกอบขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากผ่านทางพื้นที่เปิด เพื่อลดความยุ่งยากในการขนย้าย รวมถึงการใช้โครงสร้างสำเร็จรูป เช่น แผ่นพื้นสำเร็จสำหรับดาดฟ้า หรือกระถางแบบแยกชิ้น เพื่อให้ง่ายต่อการประกอบหน้างาน

10. งบประมาณและค่าใช้จ่ายระยะยาว

กำหนดงบประมาณทั้งในการก่อสร้างสวน เช่น การติดตั้งระบบระบายน้ำ การปรับพื้นที่ และการตกแต่ง เผื่อสำหรับการสร้างสวนที่ต้องใช้วัสดุพิเศษ เช่น ฉนวนกันน้ำ ระบบระบายน้ำ หรือการตกแต่งเฉพาะ รวมถึงงบสำหรับการบำรุงรักษาในระยะยาว เช่น ค่าดูแลพรรณไม้ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าซ่อมแซมระบบน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สวนยังคงสวยงาม และควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้บานปลาย นอกจากนี้ อาจพิจารณาเรื่องความยั่งยืนและประหยัดพลังงาน โดยการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับการใช้งานสวนในเวลากลางวัน หรือการใช้วัสดุรีไซเคิลในการตกแต่งสวน เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่ายบางส่วนในระยะยาว

ติดตาม บ้านและสวน