รีโนเวตตึกแถว อายุกว่า 30 ปี ให้เป็นบ้านสวยสไตล์ลอฟต์เรียบเท่
รีโนเวตตึกแถว อายุกว่า 30 ปี ให้ออกมาสวยน่าอยู่ โดดเด่นด้วยตัวอาคารสีขาวดีไซน์สุดเรียบง่าย แต่แอบใส่ลูกเล่นของกรอบหน้าต่างขนาดใหญ่และตะแกรงเหล็กฉีกสีดำซ้อนเข้าไปอีกชั้นเพื่อเปลี่ยนลุคให้บ้านดูเท่แบบสไตล์ลอฟต์



รีโนเวตตึกแถว ใหม่ทั้งที ก็ขอเปลี่ยนลุคให้บ้านดูเท่อย่าบอกใคร คุณป๋อ – ธรรมธัช อัศวเทพเมธา เจ้าของบ้านใจดีเริ่มพูดคุยและตอบคำถามถึงเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับการ รีโนเวตตึกแถว หลังนี้ว่า
“เริ่มแรกตึกแถวหลังนี้เปิดให้เช่าค้าขายมาเกือบ 30 ปี และคุณพ่อเห็นว่าน่าจะถึงเวลาปรับปรุงใหม่ จึงถามเราก่อนว่าอยากได้ไหม พอมาดูแล้วก็รู้สึกชอบ จึงคิดว่าน่าจะปรับปรุงเป็นบ้าน เผื่อไว้ทำออฟฟิศด้วย จากนั้นก็ออกแบบทำแปลนเองและได้สถาปนิกจากบริษัท Storage Design Studio มาช่วยดูแลให้ลงตัวมากขึ้น ทั้งหมดก็เลยได้เริ่มทำจริงๆตอนช่วงกำลังเรียนปี 5 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย และตั้งใจว่า ถ้าบ้านหลังนี้เสร็จก็จะใช้ที่นี่ไว้ทำธีซิสกับเพื่อนๆ จะได้ไม่ต้องเช่าคอนโดแถวมหาวิทยาลัย แต่การก่อสร้างก็ล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิมที่ตั้งไว้ 4-5 เดือน เพราะมาเจอปัญหาน้ำท่วมพอดี จึงไม่ทันทำธีซิส สุดท้ายกว่าจะได้เข้ามาอยู่จริงๆก็กินเวลาเกือบปีครับ”


ชั้นล่างเมื่อเข้ามาถึงจะเจอกับที่จอดรถหนึ่งคัน ก่อนแยกไปยังส่วนนั่งเล่นด้านหน้า ซึ่งทำไว้เผื่อเป็นออฟฟิศในอนาคต ส่วนห้องครัวด้านหลังก็สามารถเดินออกไปยังหลังบ้านได้ เมื่อขึ้นไปชั้น 2 จะเจอกับแพนทรี่เล็กๆ ใช้นั่งรับประทานอาหารและทำอาหารง่ายๆก่อนเข้าไปยังส่วนของห้องนั่งเล่นและห้องทำงานที่รวมกันเป็นห้องโถงใหญ่แบบดับเบิล สเปซเชื่อมพื้นที่ไปยังชั้น 3 ส่วนนี้เลือกใช้สีขาวทาผนังและฝ้าเพดานเป็นหลักเพื่อให้ดูสบายตา ถ้าสังเกตผนังหลังโต๊ะทำงานดีๆ จะเห็นว่า ไม่ใช่อิฐโชว์แนวอย่างที่คิด แต่เป็นกระเบื้องดินเผาที่สั่งทำมาจากอยุธยา โดยนำมากรุลงบนผนังแบบเว้นร่องโชว์แนวแล้วทาสีขาวทับ เช่นเดียวกับโถงบันไดที่ใช้กระเบื้องแบบเดียวกัน แต่โชว์สีมันปูเดิมและใช้เทคนิคการติดแบบชิดกันให้ได้ความรู้สึกที่ต่างออกไปอีกแบบ รีโนเวตตึกแถว
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ บ้านหลังนี้ค่อนข้างสว่างเพราะออกแบบให้มีช่องหน้าต่างอยู่ตรงหน้าบ้านและโถงบันได เปิดรับแสงสว่างให้ส่องเข้ามาได้เต็มที่ ถ้าแสงจ้าเกินไปหรือต้องการความเป็นส่วนตัว แค่ปิดม่านลงก็จะได้พื้นที่อย่างที่ต้องการแล้ว ส่วนตะแกรงเหล็กฉีกก็ช่วยบังสายตาจากคนภายนอกได้ดีเช่นกัน





ถัดมาที่ชั้น 3 มีลักษณะเหมือนกึ่งชั้นลอยและมีห้องน้ำอยู่ด้านหน้า ตอนที่ยังไม่ปรับปรุงชั้นนี้ เดิมเป็นพื้นที่โล่งๆและโครงสร้างไม้ทั้งชั้น แต่ด้วยความเก่าของตึก พื้นบางส่วนได้พังลงมา ซึ่งก็ดูสวยดีไปอีกแบบ จึงเก็บมาเป็นไอเดียในการทำพื้นแบบดับเบิลสเปซ และใช้เป็นที่นั่งเล่นนอนเล่นกับเพื่อนๆ หรือจัดปาร์ตี้ได้ หากเปิดเป็นออฟฟิศ ชั้นนี้ก็จะใช้เป็นห้องประชุม สามารถปิดม่านกั้นพื้นที่และแอร์ได้ จากมุมนี้จะมองเห็นไฟหลอดไส้ใช้ห้อยเพดานได้อย่างชัดเจน ซึ่งเข้ากันดีกับบ้านในแบบที่ไม่เหมือนใคร และยังช่วยให้เพดานที่เป็นดับเบิลสเปซไม่โล่งจนเกินไปด้วย




ส่วนชั้น 4 ที่เคยเป็นดาดฟ้า แต่มีปัญหาน้ำรั่วซึมมาก่อน ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ให้เป็นห้องนอน มีเพียงแค่ห้องน้ำที่แยกส่วนออกไป ชั้นนี้มีจุดเด่นอยู่ที่มุมแต่งตัว เจ้าของไม่ได้ใช้ตู้เสื้อผ้า แต่แขวนเสื้อผ้าไว้บนราวให้หยิบสวมใส่ได้สะดวก และให้อารมณ์เหมือนร้านขายเสื้อผ้า รวมถึงยังได้ทำโต๊ะกลางให้ใช้เก็บของได้ทั้งชั้นบนและล่าง เข้ากันดีกับพื้นไม้เอนจิเนียร์ ซึ่งต่างจากชั้น 2 และ 3 ที่ปูพื้นกระเบื้องยางลายไม้ แต่ถึงอย่างไรทุกห้องในบ้านก็ให้ความรู้สึกอบอุ่นไม่แพ้กัน ชั้นนี้ยังมีพื้นที่ระเบียงเล็กๆ กั้นด้วยตะแกรงเหล็กฉีกสำหรับนั่งเล่นชิลๆยามเย็น ถ้ามองจากมุมนี้จะเห็นมุมมองใหม่ๆอย่างภาพขบวนรถไฟวิ่งผ่านไปมาตลอดทั้งวัน โดยที่เสียงรถไฟไม่ได้สร้างความรำคาญเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของผู้อยู่อาศัยล้วนๆว่า จะอยู่อย่างไรกับบ้านที่สร้างขึ้นมาแล้วนี้ได้อย่างมีความสุข เช่นเดียวกับที่คุณป๋อพอใจและมีความสุขกับทุกวันในบ้านที่เขารัก
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณธรรมธัช อัศวเทพเมธา
เรื่อง : Gobbi Chirawat
ภาพ : นันทิยา บุษบงค์
ผู้ช่วยช่างภาพ : เอกพัฒน์ พูลธนะ, วรัชนันท์ บุญยุบล
สไตล์ : วนัสนันท์ ธีรวิทูร