รวม แบบบ้านรับลมเย็น ที่ออกแบบให้ระบายอากาศดี อยู่สบาย ไม่ร้อน
แบบบ้านรับลมเย็น เป็นบ้านที่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย บ้านทั้ง 10 หลังนี้เน้นการออกแบบตัวบ้านให้เปิดรับลม เพื่อการระบายอากาศได้ดี ทำให้รู้สึกเย็นสบาย สร้างสภาวะอยู่สบาย
ชีวิตธรรมดาในบ้านไม้ใต้ถุนสูง
- เจ้าของ : คุณสายันต์ ทิพย์แสง และคุณอารมณ์ วิรัชศิลป์
- สถาปนิก : Studio Miti โดยคุณประกิจ กัณหา
- ตกแต่งภายใน : บริษัทเอเดค อินทีเรียส์ จำกัด
แบบบ้านรับลมเย็น ที่ออกแบบเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง โดยเพิ่มหน้าต่างให้สูงจากพื้นจรดฝ้าเพดานเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้าบ้านให้มากที่สุด และยังช่วยประหยัดโครงคร่าวไปในตัว แต่จะเน้นช่องเปิดไว้ทางฝั่งทิศตะวันออกให้มากกว่าฝั่งทิศตะวันตก รวมถึงใช้การวางห้องน้ำเพื่อเป็นตัวดักความร้อนไม่ให้เข้าถึงพื้นที่พักผ่อนภายในบ้าน ส่วนกลางบ้านก็เปิดช่องให้แสงและลมได้พัดผ่านหมุนเวียนโดยทำเป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง เพราะบางส่วนยังต้องกั้นผนังเพื่อป้องกันฝนไม่ให้สาดเข้าถึงภายในได้ ชั้นบนของบ้านที่แม้จะจัดสรรเป็นส่วนนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอน แต่ก็เน้นเปิดโล่งและเชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย เพื่อให้พื้นที่ในบ้านปลอดโปร่งและมีลมหมุนเวียนได้ดี จึงดูคล้ายรูปแบบของโถงอเนกประสงค์ของบ้านไทยสมัยก่อน ซึ่งเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวของห้องนอนก็สามารถปิดผนังกั้นแยกได้เช่นกัน >> อ่านต่อ




บ้านไม้กลางทุ่งนาที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ
- เจ้าของ : คุณรวิษฎาวิมล หฤทรังสรรค์
- ออกแบบสถาปัตยกรรม : ช่างเฮ็ดแบบ โดยคุณสุริยา เขาทอง
บ้านไม้กลางทุ่งนาที่มีความเป็นอีสานผสมล้านนา โดยประยุกต์ฟังก์ชันและองค์ประกอบให้ทันสมัยขึ้น และวางผังบ้านให้เปิดรับวิวด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านที่มีวิวสวยที่สุด ด้านทิศตะวันตกซึ่งร้อนที่สุดทำเป็นโรงจอดรถ ส่วนทิศใต้เป็นห้องครัวและห้องนํ้าที่ทั้งช่วยป้องกันความร้อนเข้าบ้าน และใช้ประโยชน์จากแสงแดดสร้างสุขอนามัยที่ดีภายในห้อง ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาที่มองเห็นความสวยงามของธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล >> อ่านต่อ




บ้านมะค่าโมง บ้านไม้ใต้ถุนสูงที่มีลมโกรกตลอดทั้งปี
- เจ้าของ : คุณธีระศักดิ์-คุณชื่นประภา พรหมลา
- ออกแบบ : คุณธีระศักดิ์ พรหมลา
บ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังนี้สร้างขึ้นด้วยงบประมาณสามแสนบาทที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของอดีตบาร์เทนเดอร์และพนักงานบัญชีซึ่งหันหลังให้ชีวิตเมืองกรุงกลับสู่ภูมิลำเนาในจังหวัดนครราชสีมา โดยเลือกใช้ไม้เก่าจากการรื้อบ้านของคุณยายที่ยังคงมีร่องรอยของตะปูเดิมๆ มาประกอบใหม่ด้วยฝีมือของช่างไม้เพียงคนเดียว ใช้เวลาออกแบบก่อสร้างรวม 8 เดือน จนกลายมาเป็นบ้านขนาดพอดีสำหรับอยู่กันสองคน ซึ่งมีเพียงห้องนอน ห้องน้ำ เน้นเป็นที่นั่งเล่นกว้าง ๆ สบาย ๆ ที่อยู่ได้สบายทั้งกายและใจ >>อ่านต่อ




สมถะ-สถาน บ้านสวนล้อมแปลงผัก ดูแลง่าย ของสถาปนิก
- เจ้าของ : คุณอิทธินันท์ – คุณกนกอร ใจมั่น
- สถาปัตยกรรม : Dharmlane Studio (ทำเล่นสตูดิโอ) โดยคุณอิทธินันท์ ใจมั่น
บ้านสวนล้อมแปลงผักครึ่งปูนครึ่งไม้ ที่เป็นทั้งบ้าน สตูดิโอออกแบบ และสถานฝึกใจของสถาปนิกผู้เป็นเจ้าของบ้านเอง โดยออกแบบบ้านให้ดูแลง่าย มินิมัลด้วยรูปแบบการอยู่อาศัย และปลูกผักทำเกษตรเอง เน้นการวางอาคารตามทิศแดดและลมเป็นหลัก โดยวางตามแนว ทิศตะวันออก – ตะวันตก เพื่อให้รับลมได้ตลอดทั้งวัน >> อ่านต่อ




บ้านไม้ติดน้ำ รับลม และโอบล้อมด้วยวิวภูเขา
- เจ้าของ : คุณนิภา-คุณสุรพล ผลเพิ่ม
- สถาปนิก : Pomelo Studio โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ และคุณปรียชนัน สายสาคเรศ
บ้านสวยสวยๆ สร้างติดน้ำที่ออกแบบให้ทุกห้องมองเห็นวิวธรรมชาติสวยๆ ทั้งบ่อน้ำ ภูเขา และท้องฟ้า ตัวบ้านมีลักษณะเหมือนบ้านใต้ถุนที่สูงเกือบ 4 เมตร ผสมคาแรกเตอร์มาจากบ้านไม้ตึกแถวของจันทบุรีและระยอง โดยเน้นใช้ไม้สักทั้งพื้น ฝ้า เพดานภายใน มีผนังเป็นบานเฟี้ยมไม้ที่สามารถพับเปิดรับวิวได้กว้างเต็มที่ทั้งสองด้าน และบางส่วนเป็นบานเกล็ดไม้ที่สามารถเปิดรับลมหมุนเวียนได้แม้เวลาที่ปิดประตูบานเฟี้ยมทั้งหมด ส่วนบันไดเป็นไม้แดง ชั้นบนของบ้านที่เป็นห้องนอนเน้นผนังกระจกเปิดมุมมองให้เห็นผืนน้ำ ภูเขา และท้องฟ้า แม้แต่ในห้องน้ำก็ทำบานเกล็ดไม้ที่เปิดรับลมและชมวิวได้ด้วย >> อ่านต่อ




บ้านไม้ชั้นเดียวที่เปิดรับแสงและลมธรรมชาติ
- เจ้าของ : คุณนราวัลย์ (ราชสีห์) และคุณอภิชัย วังตระกูล Goodolddays
- ออกแบบ : คุณอภิชัย วังตระกูล และ AECStudio
บ้านไม้ชั้นเดียวรูปทรงจั่วไทยๆ ที่เรียบง่าย โดยยกสูงจากพื้นดินเล็กน้อยเพื่อให้ลมหมุนเวียนช่วยคลายความร้อนของตัวบ้าน และเผื่อให้เป็นทางน้ำไหลผ่านได้ อีกทั้งยังใช้เป็นที่เก็บของได้ด้วย เน้นการออกแบบที่เปิดช่องรับลมและชมวิว พร้อมนำกลิ่นอายของบ้านไม้แบบไทยๆ มาประยุกต์ใช้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการปูผนังไม้ การใช้ประตูไม้บานเฟี้ยมแต่เปลี่ยนหน้าบานให้เป็นกระจกใสเพื่อรับแสงธรรมชาติเข้าบ้าน การติดบานเกล็ดเพื่อรับลม การทำหน้าต่างบานกระทุ้งไว้กันแนวฝนแต่ไม่ทำให้ภายในอับทึบ การนำบานหน้าต่างและเหล็กดัดเก่ามาปรับใช้ และการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าที่สะสมผสมผสานกับของใหม่ที่รองรับการใช้งานได้อย่างสบายขึ้น >> อ่านต่อ




บ้านชั้นเดียว เปิดรับลม และธรรมชาติอย่างไร้ขอบกั้น
- เจ้าของ : คุณจีรนันท์ บุญแก้ว
- ออกแบบ : S Pace Studio
- รับเหมาก่อสร้าง : ก.กิจรุ่งเรือง จำกัด
แบบบ้านรับลมเย็น ที่เน้นการออกแบบเชื่อมโยงทั้งบรรยากาศ มุมมอง รวมไปถึงการเปิดรับธรรมชาติเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันแบบ Passive Living หรือคือการเปิดรับลมธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านในเวลาส่วนใหญ่ของการใช้ชีวิต >> อ่านต่อ




บ้านไทยร่วมสมัย อยู่สบ๊ายสบาย
- เจ้าของ : คุณภาณุพงศ์ – คุณบุษกร หริรักษ์
- สถาปัตยกรรม : คุณบัณฑิต กนิษฐคนธ์ และคุณนที ศุภวิไล
- ตกแต่งภายใน : คุณศิริรัตน์ เกตุพล
บ้านไทยร่วมสมัยอยู่สบาย ที่ใช้งบประมาณไม่มาก ออกแบบไปแบบซื่อ ๆ ตรงไปตรงมา ดูทิศทางลม แดด สังเกตระดับน้ำที่เคยท่วมแล้วนำมาเป็นข้อมูลเพื่อให้ได้บ้านที่เรียบง่าย อยู่แล้วสบายจริง ๆ อีกทั้งดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เพราะเลือกใช้วัสดุที่คงทน แข็งแรง >> อ่านต่อ




บ้านไม้ผสมปูนที่มีช่องเปิดรับลมธรรมชาติทุกฤดูกาล
- เจ้าของ-ออกแบบ : คุณกวิน ว่องวิกย์การ และคุณวิยะดา เจริญศุข ว่องวิกย์การ
บ้านหลังนี้เริ่มต้นจากความต้องการอยากได้บ้านน่าอยู่สบาย ไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา และมีพื้นที่ใช้สอยเท่าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริงๆ โดยซื้อใช้ไม้จากบ้านเก่ามาทำเป็นโครงสร้างไม้ของบ้านชั้นบน ส่วนผนังทำเป็นปูนผิวขัดมัน เพราะเป็นวัสดุหลักที่เจ้าของบ้านชอบอีกทั้งยังดูแลรักษาง่ายและทนทาน ส่วนที่ขาดไม่ได้คือชานทั้งด้านหน้าและหลังของบ้านที่ใช้งานได้ตลอดวัน เพราะเมื่อเปิดประตูหน้าหลังแล้วจะมีลมที่พัดผ่านโถงกลางบ้านสู่ชานนั่งเล่น ทำให้บ้านไม่ร้อนและระบายความชื้นของส่วนครัวและห้องน้ำได้เป็นอย่างดี >> อ่านต่อ




บ้านรับลม สงบเย็นสบายในอ้อมกอดธรรมชาติ
- เจ้าของ : คุณมัยฤทธิ์ สินทรัพย์สิริ และคุณอาภรณ์ เปี่ยมคง
- ออกแบบ : Mastertexture โดยคุณคณนาถ จันทร์เหมือน
แบบบ้านรับลมเย็น ที่ออกแบบเป็นบ้านพักตากอากาศสไตล์ไทยโมเดิร์นที่ดูเรียบง่าย ตั้งอยู่บนผืนดินที่เกือบจะเป็นเกาะกลางน้ำ มีบ่อน้ำล้อมไว้ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ความสงบเรียบง่าย สัมผัสได้ตั้งแต่แรกเห็น เหมาะสำหรับการพักผ่อนเติมพลังชีวิตได้เป็นอย่างดี โดยตัวบ้านทั้ง 2 หลัง วางต่อกันเป็นแนวยาวในทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อให้ด้านแคบรับแดด และรับลมเหนือ-ใต้ได้สบายตลอดทั้งวัน >> อ่านต่อ




เรียบเรียง : Tarnda
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน