ปลูกผักตามฤดูกาล เติบโตดี สวยงาม ดูแลง่าย - บ้านและสวน

ปลูกผักตามฤดูกาล เติบโตดี สวยงาม ดูแลง่าย

หากอยากปลูกผักให้มีรับประทานทั้งปีและดูแลได้ง่าย ควรเลือกชนิดของผักที่เติบโตได้ดีตามแต่ละช่วงที่มีสภาพอากาศที่เหมาะกับผักชนิดนั้น ๆ หรือเลือก ปลูกผักตามฤดูกาล เพื่อให้ผักเติบโตได้ดี และสวยงาม

การ ปลูกผักตามฤดูกาล มักมีต้นทุนต่ำ ไม่ต้องลงทุนมากในการสร้างโรงเรือนหรือควบคุมสภาพแวดล้อม และไม่ต้องใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโต อีกทั้งผักที่เติบโตได้ตามธรรมชาติจะมีรสชาติดี กรอบ หวาน และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า

สเต็ปต์เริ่มต้นสำหรับมือใหม่ ปลูกผักกินเอง

ผักสวนครัวและสมุนไพรปลูกง่าย

  • ฤดูร้อน 

อาจวางแผนเลือกปลูกพืชทนร้อน เช่น ผักบุ้ง โหระพา คะน้า รวมถึงผักที่เหมาะจะรับประทานในฤดูร้อนหรือพืชผักที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ตำลึง แตงกวา บวบ ฟัก มะระ ผักกาดขาว ผักกาดฮ่องเต้ กระเจี๊ยบเขียว เพื่อช่วยลดความร้อนและปรับสมดุลในร่างกาย พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการรดน้ำ และการรักษาความชื้นในดินเป็นพิเศษ ไม่ควรปล่อยให้ดินแห้งหรือขาดน้ำจนเกินไป เพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าว อาจทำให้ผักไม่สวยงามและตายได้ 

การปลูกผักในฤดูร้อนควรหมั่นรดน้ำเป็นประจำเช้า – เย็น รวมถึงหมั่นพรวนดินให้ร่วนซุยอยู่เสมอ และหากต้องการให้ดินกักเก็บน้ำหรืออุ้มน้ำได้มากยิ่งขึ้น อาจคลุมดินด้วยฟางข้าวหรือเศษหญ้า เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นภายในดิน
บวบ เป็นไม้ที่มีผลค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนัก จึงควรปลูกบนค้างหรือซุ้มที่แข็งแรง เพื่อให้ต้นเลื้อยขึ้นไป แล้วออกผลห้อยลงมาได้ทรงสวยงาม ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว
  • ฤดูฝน

ในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นสูง ดินจะมีความชุ่มชื้นมาก ทำให้ผักบางชนิดเกิดอาการเน่าและช้ำได้ง่าย ในขณะเดียวกันผักพื้นบ้านส่วนใหญ่ก็จะงามพร้อมให้เก็บเกี่ยวมารับประทาน เช่น ผักปลัง ดอกขจร ตำลึง ผักกูด โสน ขี้เหล็ก ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่ว มะเขือ พืชตระกูลขิงข่า รวมถึงผักที่ต้องการน้ำมาก เช่น ต้นหอม ส่วนผักที่ปลูกยากในช่วงฤดูฝน มักเป็นพืชกินหัวอย่างแคร์รอต หัวไชเท้า เนื่องจากมีโอกาสที่หัวในดินจะเน่าได้ง่าย 

ปลูกผักตามฤดูกาล
ผักปลังแดง ไม้เลื้อย มีหัวใต้ดิน ทุกส่วนอวบน้ำ หากปลูกให้เลื้อยบนพื้นจะเก้งก้างไม่สวยงาม จึงควรทำซุ้มแบบกระโจมเล็ก ๆ ให้ต้นได้เลื้อยขึ้นไปอย่างสวยงาม และง่ายต่อการเก็บยอดอ่อนมารับประทาน
  • ฤดูหนาว 

โดยทั่วไปแล้วพืชผักส่วนใหญ่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว ด้วยสภาพอากาศที่เย็นสบาย เช่น กุยช่าย หอมแบ่ง ผักชี ขึ้นฉ่าย และไม้ยืนต้นดอกกินได้ อย่าง กระพี้จั่น กุ่ม แคฝรั่ง ผักติ้ว ผักเสี้ยว มะรุม สะเดา อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลานาทีทองของผักเมืองหนาว หรือผักสลัด ได้แก่ ผักคอส กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก บัตเตอร์เฮด ผักกาดแก้ว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี บร็อกโคลี ผักกาดขาวปลี รวมถึงผักรับประทานหัวอย่างแคร์รอต บีตรูต แรดิช แต่ทั้งนี้ในฤดูหนาวไม่ควรปลูกผักทอดยอด เพราะจะโตช้า และควรหมั่นดูแลสังเกตการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูก เช่น อาการขาดน้ำ เพลี้ย หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ 

ปลูกผักตามฤดูกาล
แคร์รอต พืชกินรากที่มีทั้งสีขาว สีเหลือง สีม่วง แต่นิยมปลูกพันธุ์สีส้ม อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ให้ผลผลิตดีในช่วงเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ 
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เป็นช่วงที่มะเขือเทศเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง และติดผลดก

นอกจากนี้ ผักบางชนิดสามารถปลูกได้ทั้งปี ทนต่อทุกสภาพฤดูกาล โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน เช่น กวางตุ้ง ผักกาดหอม หอมแบ่ง กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ผักบุ้ง คะน้า บวบ มะระ ถั่วฝักยาว มะเขือ ข่า ตะไคร้ ใบมะกูด จึงอาจเลือกปลูกไว้ครึ่งหนึ่งร่วมกับผักตามฤดูกาล ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องวางแผนการปลูกซ้ำบ่อยครั้งเหมือนผักที่เติบโตได้ดีเฉพาะบางฤดู และทำให้มีผักสดรับประทานได้ตลอดเวลา

ปลูกผักตามฤดูกาล
โหระพา นิยมปลูกเป็นผักสวนครัว บริโภคเป็นผักสดและใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหารได้หลากหลาย ใบมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง าเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ง่าย ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ควรหมั่นตัดแต่งให้เป็นพุ่มสวยงาม ทำให้ผลิใบได้มากขึ้น และเก็บรับประทานได้ตลอดทั้งปี

Tips ผักแต่ละชนิดยังมีอายุการเพาะเมล็ด การปลูก และการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมแตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรวางแผนตั้งแต่ช่วงเวลาให้ดี ทยอยเพาะกล้าและปลูกผักห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ผลผลิตออกดอกออกผลได้ตามช่วงเวลา โดยอาจจัดทำตาราง คำนวณระยะเวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมถึงวางแผนให้ผักเก็บเกี่ยวครั้งเดียว (Single Harvest) ส่วนใหญ่เป็นผักที่ให้ผลผลิตจากต้นหรือหัว ปลูกในรอบสั้น เพื่อเก็บผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว ส่วนผักที่เก็บเกี่ยวหลายครั้ง (Multiple Harvest) ส่วนใหญ่มักเป็นผักกินใบที่สามารถแตกยอดใหม่ได้ง่าย เช่น ชะอม มะระขี้นก ตำลึง กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง ชะพลู กระถิน ผักหวานบ้าน รวมถึงผักกินผล ให้ปลูกในรอบระยะยาว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ

ติดตาม บ้านและสวน

Tagged :