รีโนเวตบ้าน 3 ชั้น ด้วยไอเดียสนุก ที่ทำให้รักบ้านมากกว่าที่เคย - บ้านและสวน
renovate-three-story-house

รีโนเวตบ้าน 3 ชั้น ให้เต็มไปด้วยความทรงจำสีสดใส

ใครที่ผ่านหัวมุมนี้เป็นครั้งแรก ก็มักหันมาเหลียวมองบ้านนี้ซ้ำสองเสมอ ด้วยสีสันสดใสที่ฉาบล้อมบ้านกะทัดรัด ครอบทับด้วยหลังคาทรงจั่วสูงซ้อนหลายชั้นของคุณตุ้น ซึ่งหลังจากการ รีโนเวตบ้าน 3 ชั้น เพื่อนๆ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “บ้านนี้ดูเป็นแกมากๆ”

บ้านหน้าจั่วที่ออกแบบโดยคุณพ่อก็ยังคงเป็นบ้านที่มีความทรงจำเดิม เพิ่มเติมด้วยฟังก์ชันที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ และความสดใสที่เป็นเหมือนคาแรคเตอร์ใหม่จากเจ้าของบ้านรุ่นลูก

บ้าน 3 ชั้น ขนาด 180 ตารางเมตร บนพื้นที่ 22 ตารางวา เดิมมีสมาชิกอาศัยอยู่ร่วมกัน 5 คน ได้แก่คุณพ่อ คุณแม่ คุณยาย คุณตุ้น และน้องชาย ผ่านช่วงเวลาการขยับขยายครอบครัว ก่อนจะแยกย้ายออกไปอยู่บ้านหลังอื่น จนกระทั่งคุณพ่อและคุณแม่ตัดสินใจจะย้ายไปอยู่เชียงใหม่ คุณตุ้น – พิชญา อาจารยางกูร ลูกสาวผู้รับช่วงต่อบ้านคนล่าสุด จึงเริ่มแผน รีโนเวตบ้าน 3 ชั้น เพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม และปรับปรุงฟังก์ชันให้ตรงกับการใช้งานของคุณตุ้นที่จะอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้มากที่สุด ในแวดล้อมของบ้านของญาติพี่น้องที่คุ้นเคยกัน

คุณตุ้นเริ่มจากการหาบริษัทรับเหมาก่อสร้างเบ็ดเสร็จ (Turnkey) และบริษัทออกแบบ โดยติดต่อพูดคุยถึงโจทย์การรีโนเวต และรูปแบบบ้านที่ต้องการผ่านภาพที่ชื่นชอบจากหนังสือหลายเล่ม และ คุณชัช – ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง Everyday Architect Design Studio ก็เป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ได้รับการแนะนำให้รู้จัก ด้วยมุมมองงานออกแบบที่ตรงกับโจทย์การทำบ้านของคุณตุ้นพอดี

ประตูบ้านเปิดเข้ามาสู่ภายในที่ใช้เป็นทั้งส่วนรับแขก รับประทานอาหาร และครัวในห้องเดียวกัน โดยรื้อฝ้าเพดานโชว์งานระบบใต้ท้องพื้น ซึ่งง่ายต่อการซ่อมแซมในอนาคต อีกทั้งยังทำให้สเปซภายในห้องดูโปร่งตามากขึ้น

“โดยส่วนตัวเรามองว่าบ้านตัวเองมีคาแรคเตอร์บางอย่างอยู่ เราอยากเน้นการดัดแปลงมากกว่าออกแบบใหม่ ตอนที่ทำบ้าน ถ้าให้เรานึกว่าเราอยากได้บ้านแบบไหน มันจะไม่มีรูปแบบของบ้านในหัวเลย ไม่อยากได้ความมินิมัล ความโคซี่ มันไม่ใช่สไตล์ แต่เป็นความชอบบางอย่างที่อยู่ในหัว แล้วเราจะบอกยังไงดี ก็เลยใช้หนังสือเป็นตัวแทนในการสื่อว่า ฉันอยากได้บ้านแบบนี้” เมื่อความชอบของเจ้าของบ้านและนักออกแบบลงล็อคกัน ไอเดียการรีโนเวตบ้านก็เริ่มพรั่งพรู โดยสถาปนิกเล่าว่า “โจทย์ของบ้านนี้มันต้องมีคาแรคเตอร์ที่เป็นตัวแทนของความทรงจำเหลืออยู่ มีการปรับของเดิมกลับมาใช้ ซึ่งรู้สึกว่าเข้ากับสไตล์การออกแบบที่เราสนใจ เรามองว่า การเก็บบรรยากาศแบบสบายๆ ไม่ดูเนี๊ยบจนเกินไป มันดูเป็นมนุษย์ดี ก็เลยลองนำเสนอไอเดียที่เรามี โดยหลักๆ 50% คือแก้ปัญหาแปลนบ้านเดิมให้มันเข้ากับฟังก์ชั่นใหม่ อีก 50% ก็เสริมด้วยไอเดียใหม่ๆ จากของที่มีอยู่เดิม”

นำของวินเทจที่คุณพ่อคุณแม่สะสมมาจัดระเบียบและตกแต่งไว้ตามมุมต่างๆ ซึ่งเมื่อแทรกอยู่กับสีสันบ้านหลังรีโนเวต ก็ดูโดดเด่นและเต็มไปด้วยเรื่องราวมากขึ้นกว่าเดิม

รีโนเวตบ้าน 3 ชั้น ให้มีตัวตนใหม่ ในกลิ่นอายบ้านเดิม

การปรับฟังก์ชันบ้านคือจุดประสงค์ใหญ่ของการรีโนเวต โดยคุณตุ้นเล่าว่า “บ้านเดิมที่พ่อแม่สร้าง เป็นบ้านสำหรับ 5-6 คน ซึ่งจะไม่มีความเป็นส่วนตัวสำหรับเราเท่าไหร่ พื้นที่ในการเก็บของไม่ได้ถูกดีไซน์ว่าจะต้องเก็บยังไง เลยทำให้พื้นที่ส่วนกลางโดยเฉพาะชั้นล่างรกไปหมดเลย ทุกคนเอาของมาวางเพิ่มตลอดเวลา พื้นที่มันก็เต็ม พอทำบ้านใหม่ เราก็ใส่โจทย์พวกนี้ลงไปเยอะ 

“เราบอกสถาปนิกไปว่าบ้านหลังนี้จะเป็นบ้านที่เราอยู่คนเดียว แต่ก็อยากให้ดีไซน์เผื่อวันหนึ่งเราขยับขยายมีครอบครัว แล้วก็เพิ่มความเป็นส่วนตัวของเราให้มากขึ้น โดยเราอยากขึ้นไปอยู่ชั้น 3 ส่วนพื้นที่ชั้นล่างก็ปรับเปลี่ยนให้ดูโปร่งโล่ง

ชั้นบนสุดของบ้านจึงปรับให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ออกแบบให้คุณตุ้นได้พักผ่อน อาบน้ำ แต่งตัว ซักรีดเสื้อผ้า รวมถึงนั่งทำงานแบบ Work from Home ได้ทั้งวัน ในเวลาที่ต้องการผ่อนคลายก็ลงมานั่งเล่นเกม ดูโทรทัศน์ที่ห้องนั่งเล่นชั้น 2 ที่ออกแบบเป็นห้องพักผ่อนเน้นพื้นที่โล่ง เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนได้เมื่อมีแขกมาเยี่ยม ส่วนชั้นล่างที่เป็นทั้งส่วนรับแขกและครัวแบบโอเพ่นแปลน ที่สถาปนิกก็คงฟังก์ชันไว้ตามเดิม แต่ปรับรายละเอียดการออกแบบให้ใช้งานได้ดีขึ้น 

ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ และห้องนอนแขก เรียงต่อกันเป็นแนวยาวขนานไปกับโถงทางเดินชั้น 2 แบ่งพื้นที่ห้องด้วยโทนสีและแนวผนังแทนการกั้นประตู ทำให้ทั้งช้นดูโล่งกว้างขึ้น
ทลายกำแพงเก่าปลายโถงบันไดที่เคยเป็นห้องซักรีด ทำเป็นมุมสงบของน้องแมวที่เปิดโล่งรับแสงแดดอุ่นๆ ยามเช้า

ความท้าทายของบ้านหลังนี้ไม่ได้อยู่ที่ความเก่า แต่อยู่ในดีไซน์บ้านที่มีความเฉพาะตัวเป็นพิเศษ เพราะบ้านที่ออกแบบก่อสร้างโดยคุณพ่อซึ่งเรียนจบสายศิลปะและมีฝีมือด้านงานช่างนั้น เต็มไปด้วยไอเดียบ้านที่แตกต่างจากขนบช่างทั่วไป เมื่อเปิดผนัง รื้อฝ้าออก ก็พบกับการออกแบบที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องปรับแบบหน้างานอยู่บ่อยครั้ง โดยส่วนที่ยังใช้ได้ดี สถาปนิกก็เลือกที่จะคงไว้ดังเดิม ส่วนใดที่มีปัญหา ก็ปรับเปลี่ยนใหม่ให้คุณตุ้นดูแลได้สะดวกในอนาคต “ตอนอยู่บ้านเดิมเรามักจะเจอว่าอยู่ดีๆ น้ำรั่วโดยที่ไม่รู้ว่ารั่วมาจากไหน ก็เลยปรับดีไซน์ให้ทุกอย่างแก้ไขได้ง่ายขึ้น อย่างการเดินสายแบบเปลือย หรือทำช่องให้เซอร์วิสได้ง่าย รู้ว่าต้องไปซ่อมตรงไหน ปรับให้มันเข้าที่เข้าทางกับเรามากกว่าเดิม“

ห้องเอนกประสงค์เตรียมไว้เผื่อวันที่มีแขกมานอนที่บ้าน กั้นห้องให้เป็นสัดส่วนด้วยบานตู้เสื้อผ้าเก่าฝีมือคุณพ่อซึ่งใหญ่พอจะเป็นประตูได้พอดี  และใช้ผืนผนังสีขาวเป็นพื้นที่โชว์ของสะสมวินเทจของคุณพ่อ
โซนแมวเรียบง่าย เน้นการระบายอากาศ และข้าวของที่แมวใช้จริง “ตอนแรกเราจินตนาการถึงการเอาคอนโดแมวมาวาง เอาของเล่นมาวาง แต่พอทดลองแล้วปรากฏว่าแมวไม่เล่น ไม่เข้าไปอยู่ กลายเป็นว่าเค้าต้องการเท่านี้“

อีกหนึ่งคาแรคเตอร์ใหม่ที่แทรกเพิ่มเข้าไปในบ้านเดิม คือสีสันสดใสที่คุณตุ้นเป็นคนเลือกเอง โดยมีสถาปนิกช่วยเกลี่ยสัดส่วนสีให้ลงตัว “เราส่งรูปไปให้สถาปนิกค่อนข้างเยอะ เพื่อให้เห็นว่าจริงๆ เราเป็นคนชอบสีสัน เราไม่ได้ติดกับการยุบยับของข้าวของแล้วก็สีสันฉูดฉาดเพราะนี่เป็นความชอบของเรา ก็เลยเสนอโทนสีที่เราอยากได้ไป แล้วสถาปนิกก็เป็นคนแมตช์ว่าสามารถเข้าคู่กับสีอะไรได้บ้าง รวมถึงแนะนำว่า ถ้าเราจะแต่งบ้าน สัดส่วนสีที่เข้ากันได้ควรจะเป็นประมาณไหน

เปลี่ยนห้องนอนเก่าเป็นห้องพักผ่อน เล่นเกม ดูโทรทัศน์ โดยรื้อฝ้าเพดานเดิมออก เพิ่มความสูงห้องให้โปร่งสบาย เติมความสดใสด้วยสีสันที่คุณตุ้นเลือก และของสะสมวินเทจจากคุณพ่อคุณแม่

“มุมนึงเราก็มีความกังวลนะ อย่างสีในบ้านเราไม่ติด เราอยู่ของเรา แต่สีนอกบ้านเราก็แอบคิดว่า มันจะได้ไหม เพราะเราก็ไม่รู้ว่าสีสุดท้ายเวลาทาออกมามันจะใช่หรือเปล่า คนจะมองว่าบ้านเราแปลกไหม แต่ที่ปรึกษาที่ดีคือพ่อกับแม่ เราเอาแบบไปให้เค้าดูทุกครั้ง แล้วเราก็ถามพ่อกับแม่ว่าโอเคไหม สีไม่เยอะไปเหรอ เค้าก็จะพูดในลักษณะของคนที่เรียนศิลปะว่ามันไม่แปลกหรอก มันเป็นสีที่ต้องอยู่คู่กัน พอพ่อกับแม่คอนเฟิร์มแบบนี้ เราก็เลยโอเค จริงๆ ตอนที่เลือกสีไม่ได้มีความรู้ด้วยนะว่าสีเข้มจะแพงกว่าสีอ่อน แต่ว่าสุดท้ายพอเราเห็นมันก็คือสิ่งที่เราชอบ โจทย์ถัดมาก็คือบริหารงบประมาณให้เพียงพอ”

คน แมว และการ รีโนเวตบ้าน 3 ชั้น

การรีโนเวตบ้านทั้งหลังใช้เวลาประมาณปีเศษ โดยครึ่งแรกของปีคือการทำแบบบ้านและเว้นระยะไปช่วงหนึ่งเพื่อหาผู้รับเหมา ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนก่อสร้างอีก 8 เดือน โดยทุกขั้นตอนของการรีโนเวตมีคุณตุ้นและสัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่ในบ้านด้วยกันตลอด

“ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ที่นี่ พอหาที่อยู่แล้ว ก็พบว่าสำหรับเรามันไม่ยาก แต่ถ้านึกถึงแมว 3 ตัวว่าจะเอาไปอยู่ที่ไหน การหาที่อยู่มันเริ่มกลายเป็นเรื่องยาก ก็เลยรู้สึกว่าไม่ต้องย้ายไปไหนหรอก เพราะสุดท้ายเราก็อยากจะกลับมาดูไซต์งานเราบ่อยๆ เราก็เลยคุยกับทั้งสถาปนิกและช่างว่า เป็นไปได้ไหมถ้าจะอยู่ที่นี่ เค้าก็บอกว่าเป็นไปได้”

ชั้น 3 ดูสูงโปร่งด้วยสเปซแบบห้องใต้หลังคาซึ่งออกแบบโดยคุณพ่อ เมื่อกั้นผนังให้เป็นส่วนตัว ปรับบรรยากาศด้วยสีสันที่ชื่นชอบ ก็กลายเป็นมุมพักผ่อนที่ดูอบอุ่นขึ้นมาก

“ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิง เราก็จะทำภารกิจให้เสร็จก่อนที่ช่างจะมาหรือไม่หลังจากช่างกลับ แต่คือช่างก็จะให้ความเป็นส่วนตัวกับเราอยู่แล้ว สมมติว่าช่างทำบ้านชั้นล่าง ถ้าเค้าจะเสียงดัง หรือจะขึ้นชั้นบน ช่างก็จะบอกเรา ช่วงนั้นชีวิตของเราก็จะอยู่ที่ชั้นใดชั้นหนึ่งเป็นหลัก แล้วก็อยู่กับแมวในนั้น ห้องน้ำเราก็ให้ช่างทำชั้น 1 ให้เสร็จก่อน เพื่อให้เราใช้งานได้ แล้วตอนกลางวันที่เราอยู่ไซต์ด้วย เราได้เห็นว่าช่างทำอะไร พอเค้าไม่แน่ใจว่าแบบเป็นยังไง เค้าก็ได้ถามเราทันที บางอย่างของหมดหน้างานฉุกละหุก หรือมีการปรับเนื้องาน  มันก็มีประโยชน์ในเรื่องของความยืดหยุ่น แต่ฝุ่นก็เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมากวาดทุกวันให้ไม่มีฝุ่น เพราะมันคือไซต์ก่อสร้าง เราก็จะอยู่ในห้องเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ออกมาข้างนอก แล้วเราก็ดีไซน์การทำงานให้เป็นขั้นตอน ก็คือเริ่มทำชั้นล่างก่อน แล้วก็ไปทำชั้น 3 พอเสร็จเราก็ย้ายจากชั้น 2 ขึ้นไปอยู่ชั้น 3 แล้วช่างก็ทำชั้น 2 เป็นชั้นสุดท้าย

ช่องหน้าต่างกว้างเปิดรับแสงแดดทางทิศตะวันออกเติมความสดชื่นในยามเช้า และในระหว่างวันก็ทำหน้าที่เป็นช่องลมระบายอากาศให้ชั้น 3 ไม่ร้อนเลย
ต่อเติมห้องน้ำชั้น 3 เพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เลือกใช้บานเลื่อนกระจกใสเพื่อไม่ให้บรรยากาศในห้องน้ำดูปิดทึบ แต่ก็ยังคงได้รับความเป็นส่วนตัวจากม่านกั้นสายตา

“ส่วนแมว ก็ถือว่าเป็นข้อดีที่เค้าไม่เป็นอะไรเลย เราคิดว่าแมวน่าจะตกใจกับเสียง เพราะช่างทั้งทุบทั้งเจาะเสียงดัง แต่เค้าอยู่ได้ เหมือนกับว่ามันไม่แปลกที่ แล้วเค้าก็เห็นเราอยู่ด้วย กลายเป็นว่าทุกอย่างมันลงตัวหมด ไม่มีปัญหา กลางวันก็มีบ้างที่แมวจะไปอยู่ข้างบ้าน พอช่างกลับ เค้าก็กลับเข้ามา ช่วงแรกมีหมาด้วยซ้ำ เป็นสัตว์เลี้ยงของพ่อกับแม่ เค้าก็อยู่ได้ แล้วเราก็รู้สึกว่าคิดถูกที่อยู่ที่นี่ เราโชคดีด้วยที่ช่างเคารพความเป็นส่วนตัวเราค่อนข้างเยอะ แล้วก็บริบทของเราที่อยู่กับเครือญาติทั้งหมดด้วย เลยทำให้ความกังวลของเราลดลง

บ้านเปลี่ยนไป คนก็เปลี่ยนตาม

ไอเดียออกแบบที่สถาปนิกปรับฟังก์ชันให้เป็นไปตามจริตเจ้าของบ้าน ทำให้คุณตุ้นใช้ชีวิตอยู่ทุกมุมบ้านอย่างไม่ขัดเขิน แม้แต่มุมที่เมื่ออยู่บ้านเติมไม่ได้ใช้งาน ก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในมุมโปรดที่ทำให้กิจวัตรประจำวันของคุณตุ้นเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว 

“จริงๆ ต้องบอกว่าชอบทั้งหมด แต่มุมที่คาดไม่ถึงเป็นจุดไม่ได้ใส่ใจตอนดีไซน์แต่ดันได้ใช้เยอะ ก็คือครัว เพราะปกติเราไม่ใช่สายทำอาหารเท่าไหร่ แต่พอปรับครัวใหม่ เราก็เริ่มทำกับข้าวกินเอง แล้วเราก็กลายเป็นคนซื้อของสดเข้ามาทำครัวไปเลย 

“ปกติเราไม่ใช่สายทำอาหารเท่าไหร่ แต่พอปรับครัวใหม่ เราก็เริ่มทำกับข้าวกินเอง แล้วเราก็กลายเป็นคนซื้อของสดเข้ามาทำครัวไปเลย”

“อีกมุมที่เซอร์ไพรส์คือระเบียงชั้น 3 เพราะจริงๆ แล้วห้องเดิมเราก็ไม่มีระเบียง แล้วก็ไม่ได้สนใจเรื่องการใช้ระเบียงเป็นหลัก แต่พอต่อเติมระเบียงชั้นสามไปเป็นส่วนเซอร์วิสเครื่องปรับอากาศ ก็กลายเป็นว่าทำให้เรากล้าเปิดประตู เพราะเปิดออกแล้วลมมันโฟลว์ ชั้น 3 จึงเป็นชั้นที่ไม่ร้อนเลย อยู่ได้สบายมาก บางทีเบื่อๆ ก็เปิดประตูรับวิวเมืองที่กว้างแบบ 180 องศา

“จริงๆ แล้วห้องเดิมเราก็ไม่มีระเบียง แล้วก็ไม่ได้สนใจเรื่องการใช้ระเบียงเป็นหลัก แต่พอต่อเติมระเบียงชั้นสามไปเป็นส่วนเซอร์วิสเครื่องปรับอากาศ ก็กลายเป็นว่าทำให้เรากล้าเปิดประตู”

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากประสบการณ์รีโนเวตบ้านอย่างใกล้ชิด ก็คือการได้ขยายขอบเขตความสามารถของตัวเองให้กว้างกว่าที่คิด “การทำบ้านทำให้ทัศนคติเราเปลี่ยน”

“คล้ายๆ กับเราเปลี่ยนมาเป็นเหมือนพ่อในสมัยก่อน ที่เวลาอยู่บ้านก็นั่งมองว่า พอฝนตกหน้าต่างตรงไหนจะรั่ว ซึ่งสมัยก่อนเราจะไม่ใช่คนแบบนั้น เราจะเป็นแค่คนมาใช้พื้นที่ในบ้าน พอเรามาทำเอง เราเหมือนดูแลทุกอย่าง กลายเป็นว่าเรารู้สึกสนุกกับการพูดคุยเรื่องบ้าน อย่างพื้นปูนนี้ถ้าอยากได้ต้องทำยังไง ซื้อของที่ไหน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมาถึงจุดนี้ เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในแวดวงทำบ้าน ไม่มีความรู้ด้วย เรื่องนี้มันทำให้ทัศนคติเปลี่ยนไป ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หรอก แค่ใช้เวลากับมันพอหรือเปล่า

อีกฝั่งหนึ่งของชั้น 3 ทำเป็น Walk-in Closet ที่รวมมุมซักรีดไว้ในห้องเดียวกัน เมื่อซักเสร็จ ก็นำผ้าออกไปผึ่งให้แห้งที่ระเบียงชั้น 3 ได้เลย
บิลท์อินไม้อัดไม่ปิดผิวก็สวยได้ โดยเลือกไม้อัดเกรด AAA มาประกอบเป็นชั้นเก็บของ เพียงทำสีเคลือบผิวไม้ป้องกันรอยเลอะเทอะ เก็บรอยต่อให้เรียบร้อย ก็ใช้งานได้อย่างแข็งแรง

เจ้าของ : คุณพิชญา อาจารยางกูร

ออกแบบสถาปัตยกรรม : Everyday Architect Design Studio


เรื่อง : ณัฐวรา ธวบุรี

ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู และสุรเชษฐ์ แปรกิ่ง

สไตล์ : Suntreeya


รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ทึบ เติมแสงแต่งสีให้บ้านมีสุขภาวะที่ดี

บ้านนี้รีโนเวตเพื่อแมว

รีโนเวตทาวน์โฮม ให้โปร่งสบายเหมือนบ้าน

ติดตามบ้านและสวน