บ้านตึกยุโรป กลางสวนอังกฤษเขียวชอุ่ม
บ้านตึกยุโรป ในกรุงเทพฯ ที่ย่อขนาดของตึกยุโรปมาไว้ในสัดส่วนที่กะทัดรัด เพื่อให้เหมาะกับพื้นที่และการใช้งาน ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าบ้างใหม่บ้าง เพื่อให้ได้ลุคที่ร่วมสมัยมากขึ้น มีสวนอังกฤษเขียวชอุ่มช่วยเบรกความหรูหราของตึกลง ให้ดูอยู่ได้ง่ายและสบายตามากขึ้น



ความรู้สึกแรกเมื่อทีมงานได้มาเยือนบ้านหลังนี้คือ ความตกตะลึง ตะลึงในภาพของ บ้านตึกยุโรป แสนสวย ตะลึงในสวนอังกฤษสีเขียวชอุ่ม และตะลึงที่ทั้งหมดนี้ซ่อนตัวอยู่ในเมืองหลวงที่ขึ้นชื่อว่าเต็มไปด้วยความเร่งรีบอย่างกรุงเทพมหานคร
“ผมเคยไปใช้ชีวิตที่ยุโรปอยู่หลายปี เห็นตึกสวยๆ ที่นั่นโดยเฉพาะบ้านชานกรุงปารีส จึงมีภาพจำและกลายเป็นความชอบส่วนตัวไปโดยปริยายครับ” คุณทันดร กรวิกเมธิน เจ้าของบ้าน บอกเล่าถึงที่มาของบ้านที่พวกเราเรียกขานกันเองว่า บ้านตึกยุโรป



“จริงๆ เริ่มต้นมาจากที่ผมไปซื้อประตู-หน้าต่างมาจากพม่า ซึ่งเป็นงานอออกแบบสไตล์โคโลเนียลที่ได้อิทธิพลมาจากยุโรปค่อนข้างมาก แล้วตัวผมเองก็ซื้อที่ดินเปล่าผืนนี้เก็บไว้ได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงเริ่มคิดที่จะสร้างบ้านของตัวเองขึ้นมา”
หากมองด้วยสายตา บ้านตึกยุโรป หลังนี้ดูกว้างขวางใหญ่โต คุณทันดรบอกว่ามีพื้นที่แค่ 127 ตารางวาเท่านั้น โดยได้ออกแบบให้ตึกมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ และวางด้านยาวชิดกับขอบที่ดินให้มากที่สุด
“ผมชอบความเป็นส่วนตัวด้วยครับ เพราะตอนที่เริ่มสร้าง รอบๆ นี้แทบไม่มีบ้านคนเลย จึงเป็นที่มาของการหันผนังตึกออกไปยังถนน ถ้าคนมาหาเดินเข้ามาแล้วค่อยเจอพื้นที่เปิดด้านในครับ”


บ้านหลังนี้ประกอบด้วยอาคารหลัก 2 หลังสร้างหันเข้าหากัน มีพื้นที่ตรงกลางเป็นสวนพร้อมสระว่ายน้ำ ตัวตึกเป็นโทนสีขาวเรียบๆ ตัดกับขอบประตู -หน้าต่างที่ทั้งสูงและกว้าง รวมถึงกระเบื้องว่าวสีเทาเข้มที่สะท้อนเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบยุโรปได้เป็นอย่างดี
“วางแปลนคร่าวๆ เรื่องพื้นที่ใช้สอยเหมือนบ้านทั่วไป เพียงแต่จะนำมาจัดอย่างไรให้เหมาะกับลักษณะตึกและพื้นที่ของเรามากที่สุด”
ดังนั้นอาคารหลังแรกในฝั่งด้านหน้าจึงมีทั้งหมด 2 ชั้นครึ่ง แบ่งเป็นส่วนออฟฟิศที่ห้องชั้นล่าง แล้วมีบันไดภายนอกอาคารนำไปสู่ชั้น 2 ที่เป็นทั้งส่วนรับแขกและห้องนอน และเก็บห้องใต้หลังคาไว้เป็นห้องรับรองแขกเหรื่อ โดยระหว่างที่สร้างอาคารหลังแรกนี้คุณทันดรก็พบว่า มีบ้านถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรมอยู่ติดกับที่ดินด้านหลัง
“ผมมองจากตึกนี้ไปตอนกลางคืนมันน่ากลัว (หัวเราะ) เอาต้นไม้ใหญ่มาบังก็ยังรู้สึกตะชิดตะขวงใจอยู่ เลยสร้างอีกตึกบังเสียเลยดีกว่า” นั่นจึงเป็นที่มาของอาคารหลังที่สองที่คุณทันดรตั้งใจให้เป็นตึกสำหรับรับรองเพื่อนฝูงเช่นกัน
“ภูมิใจตรงที่เมื่อเพื่อนมาหา มาปาร์ตี้กัน เขาเห็นแล้วสวย ก็แปลกใจว่า เอ๊ะ ชอบด้วยหรือ นึกว่าเราชอบอยู่คนเดียว (ยิ้ม) บางคนมาเห็นเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งก็ชอบ ฝากผมไปหาให้ก็มี ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ คือนำเข้าของด้วย”
เราถามคุณทันดรว่า เขาภูมิใจในการเก็บสะสมของเก่าสวยๆ เหล่านี้หรือไม่ คุณทันดรตอบกลับมาด้วยรอยยิ้มว่า
“ของบางชิ้นผมยกให้เพื่อนไป ตอนนี้มานั่งนึกย้อนดูก็คิดได้ว่า เอ้อ เราเคยมี น่าจะเอามาใช้วางตรงนั้นตรงนี้ได้นะ มีแอบเสียดายบ้างเหมือนกัน แต่ผมถือคติว่าสมบัติผลัดกันชม เราโยกย้ายถ่ายเทไปให้คนอื่นได้ชื่นชมบ้าง มันก็ดีไม่ใช่หรือครับ”
และอีกคำถามหนึ่งที่ถามว่าระหว่างความเก่ากับความใหม่ คุณทันดรชอบอะไรมากกว่ากัน
“เป็นคำถามที่ยาก เพราะที่จริงผมชอบหลายอย่าง แอนทีคก็ชอบ ในขณะที่โมเดิร์นผมก็ชอบเหมือนกัน ผมว่าความขลังของตึกโบราณหรือสถาปัตยกรรมอะไรก็ตาม ถ้ามีการผสมของโมเดิร์นเข้าไป มันก็ช่วยสร้างความน่าสนใจขึ้นได้ อีกอย่างนะครับ ของโมเดิร์นมันใช้สอยสะดวกตอบโจทย์ของฟังก์ชันได้ ก่อนหน้านี้ผมสร้างบ้านให้คุณพ่อคุณแม่ที่ต่างจังหวัดก็เป็นสไตล์คล้ายๆ อย่างนี้นะ พอมาทำบ้านของตัวเองก็ออกมาในรูปแบบนี้อีก อาจเพราะได้ไปใช้ชีวิตที่ยุโรปมาหลายปีก็เลยมีภาพจำมากกว่า เป็นความศิวิไลซ์อีกแบบที่แตกต่างจากที่เราเคยเห็น” (หัวเราะ)




สถาปัตยกรรมยุโรปมีจุดเด่นอยู่ที่รายละเอียด เช่น รูปทรงของบานหน้าต่าง ซี่ระเบียงที่กลึงมาได้รูปสวย ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้อาคารมีความสง่างางาม เช่นเดียวกับการตกแต่งภายในที่เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ มีความหรูหรา อาจเป็นโทนสีทองหรือครีม ในขณะเดียวกันเรื่องของการออกแบบแสงสว่างก็มีความสำคัญ โดยจะมีการติดตั้งไฟหลากหลายประเภทในพื้นที่เดียวกัน เพราะเป็นการใช้แสงบรรยากาศมากกว่าจะให้ประโยชน์ด้านการส่องสว่างเพียงอย่างเดียว อย่างเช่นหลังนี้ เจ้าของย่อขนาดของตึกยุโรปมาไว้ในสัดส่วนที่กะทัดรัดเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่และการใช้งาน ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าบ้างใหม่บ้าง เพื่อให้ได้ลุคที่ร่วมสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสวนเขียวชอุ่มช่วยเบรกความหรูหราของตึกลง ให้ดูอยู่ได้ง่ายและสบายตามากขึ้นด้วย
เจ้าของ : คุณทันดร กรวิกเมธิน
เรื่อง : มนตรา คิริขันธ์, นัทธมน ตั้งตรงมิตร, พชร สิงห์เรือง
ภาพ : นันทิยา บุษบงค์, ดำรง ลี้ไวโรจน์
ผู้ช่วยช่างภาพ : เอกพัฒน์ พูลธนะ, วรัชนันท์ บุญยุบล
สไตล์ : ประไพวดี โภคสวัสดิ์