บ้านและแกลเลอรี สไตล์ Eclectic ที่แสดงตัวตนของเจ้าของบ้าน- บ้านและสวน
บ้านและแกลเลอรี

Indypendent House Gallery พลิกโฉมบ้านสู่สตูดิโอศิลปะในสไตล์ Eclectic

บ้านและแกลเลอรี ที่มีความเป็นอาร์ทิสสูงเช่นเดียวกับบุคลิกเจ้าของบ้าน บ้านหลังนี้จึงไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ โดยการตกแต่งภายในเน้นผสมผสานองค์ประกอบจากหลายยุค หลายวัฒนธรรม และหลายไอเดีย หรือที่เรียกว่า Eclectic Style อย่างแท้จริง

Design Directory : ออกแบบตกแต่งภายใน : SpaceLAB Architects

บ้านและแกลเลอรี
ภายนอกบ้านคงหน้าตาของอาคารเดิมไว้ จึงมีความเรียบง่ายเหมือนบ้านทั่วไป แต่ภายในคือโลกแห่งศิลปะที่คาดไม่ถึง
บ้านและแกลเลอรี
ออกแบบพื้นที่ภายในให้มีบรรยากาศที่แตกต่างจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง ผนังด้านหนึ่งจัดให้เป็นจุดเด่นสำหรับแสดงงานศิลปะ โดยติดตั้งโครงโลหะชุบสีที่สร้างเอฟเฟ็กต์สีรุ้ง เพิ่มมิติและความน่าสนใจให้พื้นที่

บ้านและแกลเลอรี หลังนี้เป็นของ คุณอินดี้- พีรณัฐ หิรัญญะประทีป ศิลปินดิจิทัลลอาร์ตรุ่นใหม่ผู้หลงใหลในงานศิลปะหลากแขนง ที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวไว้สำหรับเป็นทั้งสตูดิโอทำงาน บ้าน และเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะ

“เราชื่นชมความเป็นศิลปินในตัวน้อง” คือจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันระหว่าง คุณอู-ธเนศ แซ่อู สถาปนิกออกแบบ-ตกแต่งภายใน จาก SpaceLAB Architects กับเจ้าของบ้าน เกิดเป็นโจทย์หลักให้มาออกแบบภายในให้ บ้านและแกลเลอรี หลังนี้ภายใต้แนวคิด “เฮาส์แกลเลอรี”  เนื่องจากเป็นส่วนต่อเติมจากบ้านเดิม อาคารภายนอกจึงได้ออกแบบไว้แล้ว สถาปนิกจึงเข้ามาช่วยจัดระเบียบและเติมสีสันให้พื้นที่ภายในเป็นหลัก เชื่อมโยงการอยู่อาศัยและศิลปะเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

บ้านและแกลเลอรี
พื้นที่แกลเลอรีที่ในบางครั้งก็ปรับเปลี่ยนกลายเป็นพื้นที่ดูหนังส่วนตัว โดยติดตั้งจอโปรเจ็กเตอร์ไว้ด้านบน
เฟอร์นิเจอร์เคลื่อนย้ายได้ เพื่อให้ใช้งานสะดวกและสามารถประกอบกันเป็นชิ้นส่วนเดียวได้ เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานตามความต้องการ
บ้านและแกลเลอรี
รางแขวนภาพติดตั้งบนโครงคร่าวเหล็ก เพื่อเพิ่มความสะดวกในการจัดแสดงและเปลี่ยนผลงานศิลปะได้อย่างยืดหยุ่น
ฝาโลหะซ่อนปลั๊กไฟ เพื่อให้พื้นที่ติดตั้งงานศิลปะดูสวยงามและเรียบร้อย จึงออกแบบฝาโลหะชุบสีมาปิดบริเวณปลั๊กไฟอย่างแนบเนียน กลมกลืนไปกับพื้นที่โดยรอบ

House Gallery เบลนด์พื้นที่อยู่อาศัยและแกลเลอรีศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน

เมื่อศิลปะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต บ้านหลังนี้จึงไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ”คือประโยคที่จำกัดความ บ้านและแกลเลอรี หลังนี้ได้เป็นอย่างดี แม้หน้าตาแรกพบเหมือนบ้านธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อย่างก้าวเข้าไปด้านในก็พบว่าเราได้หลุดไปในอีกมิติหนึ่ง อันรายล้อมไปด้วยความแปลกใหม่ ความสร้างสรรค์ ผ่านการออกแบบ-ตกแต่งภายในที่หลากสไตล์เข้าไว้ด้วยกัน เรียกได้ว่าบ้านที่พบเห็นได้ในคราวแรกได้เปลี่ยนบทบาทกลายเป็นเฮาส์แกลเลอรีหลากอารมณ์อย่างสมบูรณ์แบบ

ด้วยอาร์ตแกลเลอรีอยู่ในบริเวณชั้น 1 พื้นที่จึงต้อนรับเราด้วยฝ้าเพดานสูงโปร่ง พร้อมแสงไฟสลัว และสะท้อนสีสันจากวัสดุโลหะชุบสี อันเป็นส่วนประกอบของโครงผนังที่ไว้สำหรับติดตั้งงานศิลปะชิ้นเอกของคุณอินดี้ เจ้าของสตูดิโอ และศิลปินอิสระท่านอื่นที่ได้รับคำเชื้อเชิญมาจัดแสดงผลงาน กลางห้องแกลเลอรีมีชุดโซฟาและเฟอร์นิเจอร์โลหะที่สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้อยู่บริเวณกลางห้อง สถาปนิกอธิบายเพิ่มเติมว่า ในบางครั้งพื้นที่แกลเลอรีดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันจากห้องจัดแสดงเป็นพื้นที่รวมกลุ่มหรือคอมมูนิตี้แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างศิลปิน หรือแม้ในวันที่ไม่มีจัดแสดงงานก็ผันตัวกลายเป็นห้องนั่งเล่น ไว้สำหรับพักผ่อนตามอัธยาศัย อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ชั้นแกลเลอรีนั้นออกแบบให้ยืดหยุ่นต่อการใช้งานได้อย่างถึงที่สุด

“บ้านหลังนี้เป็นพื้นที่สำหรับรวมตัวของศิลปินและเพื่อนๆ ในแวดวงศิลปะ บางครั้งผมไลฟ์สดจากสตูดิโอทำงานและฉายลงไปที่ชั้นล่าง บางครั้งแกลเลอรีก็ปรับเปลี่ยนเป็นห้องดูหนังโดยฉายโปรเจ็กเตอร์ พื้นที่ภายในจึงออกแบบให้ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน”

เพราะศิลปะเป็นหนึ่งในวิถีชีวิต สถาปนิกจึงออกแบบให้ทั้งสองสิ่งมีความเชื่อมโยงร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ผ่านการสื่อสารออกมาในรูปแบบของพื้นที่ ด้วยการแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยและโซนแกลเลอรีด้วยขอบเขตบางๆ เท่านั้น อย่างเช่นการกั้นห้องระหว่างแกลเลอรีกับพื้นที่ครัวด้วยประตูบานเฟี้ยมกระจกที่มีความยืดหยุ่น สามารถเลือกเปิด-ปิดได้ตามต้องการ ส่วนพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวอย่างห้องนอน และห้องทำงานนั้นอยู่ด้านบนชั้น 2 โดยจัดวางตำแหน่งตามระดับความเป็นส่วนตัว ห้องทำงานจึงตั้งอยู่แนวบริเวณโถงดับเบิลสเปซ เพื่อให้มองเห็นแกลเลอรีในชั้นล่างได้ ในขณะที่ห้องนอนอยู่ด้านในสุดเพื่อความสงบและเป็นส่วนตัว

มุมมองไปยังพื้นที่ครัวและรับประทานอาหาร ซึ่งออกแบบให้มีบานเฟี้ยมกระจกกั้น เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยได้ง่าย
บ้านและแกลเลอรี
ออกแบบผนังสีดำเป็นพื้นที่สำหรับติดตั้งงานศิลปะเพิ่มเติม โดยสามารถพับเก็บแนบเนียนไปกับผนังด้านหน้าห้องน้ำ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งาน
บ้านและแกลเลอรี
พื้นที่ครัวซึ่งเชื่อมต่อกับแกลเลอรี ออกแบบในโทนสีดำและแทรกความวินเทจด้วยการกรุคิ้วบัวบริเวณหน้าบานตู้ไม้
ขาโต๊ะที่ได้ไอเดียจากสรีระของม้า เพื่อเติมแต่งสไตล์วินเทจให้พื้นที่ โดยใช้ท็อปโต๊ะกระจกใส ให้เห็นรูปทรงของขาโต๊ะได้อย่างชัดเจน
ออกแบบหน้าบานบริเวณครัวเป็นโทนสีดำโมเดิร์น แต่ภายในมีสีสันสดใส สะท้อนถึงภาษาในการออกแบบที่เน้นผสมผมสานหลากสไตล์

แต่งเติมสไตล์เฉพาะตัวให้แตกต่างในกลิ่นอาย Eclectic

ชื่อสตูดิโอ Indypendent เล่นคำมาจากชื่อของเจ้าของ Indy และสื่อความหมายของคำว่า Independent เพื่อบอกเล่าถึงความแตกต่าง ไม่เหมือนใคร และเป็นอิสระ อันสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้าน นำไปสู่แรงบันดาลใจในการตกแต่งภายในได้อย่างดี

“เราดีไซน์ให้บ้านและแกลเลอรีมีความเป็นอาร์ทิสสูงเช่นเดียวกับบุคลิกเจ้าของบ้าน การตกแต่งภายในจึงประกอบด้วยหลายองค์ประกอบทั้งความอินดัสเทรียลและวินเทจผสมผสานอย่างลงตัว”

จึงไม่แปลกที่เราจะพบเห็นวัสดุหลายสไตล์ ชวนให้สัมผัสถึงช่วงเวลาที่แตกต่าง ทั้งโมเดิร์นและวินเทจ โดยมีพระเอกคือผนังที่ใช้สำหรับติดตั้งชิ้นงานศิลปะในฝั่งหนึ่งตลอดแนว สถาปนิกตั้งใจทลายกรอบเดิมของการเป็นอาร์ตแกลเลอรีด้วยการออกแบบเป็นโครงคร่าวโลหะไว้สำหรับติดตั้งงาน แล้วเติมความสนุกลงไปอีกชั้นโดยนำโลหะดังกล่าวไปเพิ่มกิมมิกด้วยการชุบสี จนเกิดเป็นโครงสีรุ้งสะท้อนไปกับความเงาวาวของวัสดุ ให้ความรู้สึกเรียบเท่ แต่ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกความมีสีสันเอาไว้ “เราสื่อสารรูปแบบแกลเลอรีใหม่ด้วยการใช้เส้นสายและสีสันเป็นแบ็กกราวนด์แทนการเป็นผนังสีเรียบอย่างขาวและดำ”

สถาปนิกจัดวางสัดส่วนของโครงผนังไว้อย่างเรียบง่ายที่สุด โดยอ้างอิงไปกับเส้นกรอบเดิมในบ้าน เช่น ระดับพื้น ขอบหน้าต่าง เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ และแบ่งระยะโครงคร่าวในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อการติดตั้งผลงานศิลปะ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นงานศิลปะประเภทดิจิตอลอาร์ต ซึ่งเป็นประเภทของงานศิลปะที่คุณอินดี้ถนัดและชื่นชอบ

ห้องน้ำในชั้นล่างออกแบบเน้นโทนสีขาว-ดำ เรียบง่าย และกรุกระเบื้องลายไม้บริเวณโซนอาบน้ำ
ออกแบบเฟอร์นิเจอร์โดยใช้โลหะชุบสีเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้สอดคล้องไปกับการออกแบบผนังติดตั้งชิ้นงานศิลปะ
คิ้วบัวกรุขอบบานหน้าต่างเดิม เพื่อให้บานหน้าต่างเข้ากับสไตล์ของการตกแต่งมากขึ้น โดยเลือกใช้คิ้วบัวสีดำ ซึ่งช่วยเพิ่มความโดดเด่นและกลมกลืนกับดีไซน์ของภายในมากขึ้น

ผสานดีไซน์ร่วมกันระหว่างนักออกแบบและเจ้าของ

นอกจากการผสมผสานระหว่างศิลปะกับพื้นที่อยู่อาศัย และความลงตัวของสไตล์โมเดิร์นกับวินเทจแล้ว ไอเดียของสถาปนิกที่เข้ากันกับรสนิยมเฉพาะตัวของเจ้าของบ้าน ยังช่วยขับเน้นให้การตกแต่งภายในมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและเต็มไปด้วยตัวตนอย่างชัดเจน ทั้งเฉียบคมด้วยวัสดุ ทั้งอ่อนช้อยด้วยลวดลายคิ้วบัว ดังเห็นได้จากเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน ได้แก่ โต๊ะบริเวณพื้นที่แกลเลอรี  ที่เป็นได้ทั้งโต๊ะทำงานศิลปะ โต๊ะกลางห้องนั่งเล่น จึงออกแบบให้สามารถแยกชิ้นส่วน เคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างคล่องตัว และใช้ภาษาของวัสดุโลหะชุบสีมาออกแบบเช่นเดียวกันกับผนัง สร้างความไดนามิก สนุกสนานให้การเคลื่อนย้ายชิ้นเฟอร์นิเจอร์นี้ ราวกับงานศิลปะเคลื่อนที่ไปมาได้ แต่ในขณะเดียวกันการออกแบบโต๊ะรับประทานอาหารบริเวณพื้นที่ครัวกลับอ่อนช้อย วินเทจ ด้วยรูปทรงขาม้า เผยสรีระของธรรมชาติ ซึ่งเป็นไอเดียที่นำเสนอโดยเจ้าของบ้าน มาอยู่ร่วมกัน ณ พื้นที่แกลเลอรีแห่งนี้ จึงเรียกได้ว่าเป็น สไตล์การตกแต่งที่เน้นการผสมผสานองค์ประกอบจากหลายยุค หลายวัฒนธรรม กระทั่งหลายไอเดีย หรือ Eclectic Style อย่างแท้จริง

พื้นที่ในชั้น 2 ออกแบบให้เรียบง่ายมากขึ้นในโทนสีขาว-ดำ ห้องทำงานมีสเตชันไว้สำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะโดยเฉพาะ ชั้นวางต่างๆ จึงดีไซน์มาไว้ให้จัดเก็บของได้อย่างเป็นสัดส่วน จุดเด่นของพื้นที่นี้คือ ตู้โชว์กระจกซ่อนไฟ ที่ใช้ชั้นวางกระจกใสทั้งหมดและกรอบอะลูมิเนียมสีดำ ความโปร่งของชั้นวางสะท้อนแสงไฟซ่อนระหว่างชั้น ให้มิติที่ล้ำลึกและเพิ่มเสน่ห์ให้พื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ

บ้านและแกลเลอรี
มุมมองจากห้องนอนด้านในไปยังห้องทำงาน ออกแบบให้พื้นที่เชื่อมต่อถึงกัน
บ้านและแกลเลอรี
มุมทำงานออกแบบให้มีสเตชันสำหรับสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะ โดยใช้ชั้นวางเหล็กบางทำสีขาว เพื่อให้พื้นที่ดูโปร่งโล่ง ไม่ทึบตัน ทั้งยังสามารถปรับระดับชั้นวางได้ตามการใช้งาน
ตู้โชว์กระจกใสออกแบบให้ทุกชั้นเป็นกระจก พร้อมซ่อนไฟในแต่ละระดับ เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์สะท้อนคล้ายทะลุมิติ เพิ่มมิติและลูกเล่นที่น่าสนใจให้พื้นที่
บ้านและแกลเลอรี
ออกแบบชั้นวางกระจกทั้งสองห้องเพื่อสร้างความเชื่อมต่อของพื้นที่
ออกแบบพาร์ทิชั่นระหว่างห้องนอนกับห้องทำงานให้เป็นบานประตูซ้อน ตกแต่งด้วยลวดลายคิ้วบัว และทาสีต่างกันทั้งสองฝั่ง ด้านในห้องนอนใช้สีดำด้านเพื่อสร้างบรรยากาศสงบเหมาะแก่การพักผ่อน ขณะที่ฝั่งโซนทำงานเลือกใช้สีขาวเพื่อให้ความรู้สึกโปร่งโล่งและกระตุ้นสมาธิ
ผนังห้องนอนกรุด้วยลามิเนตลายไม้สีดำ เพื่อสร้างบรรยากาศสงบเหมาะแก่การพักผ่อน 
บ้านและแกลเลอรี
พื้นที่ห้องนอนกั้นโซนห้องแต่งตัวไว้ด้านในโดยใช้ผ้าม่านแทนการทำเป็นผนังทึบ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
บ้านและแกลเลอรี
ออกแบบภายในห้องแต่งตัวโดยใช้โทนสีเข้มเช่นเดียวกันกับในห้องนอน เพื่อสร้างบรรยากาศที่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างแคบ จึงออกแบบให้ฝั่งหนึ่งเป็นตู้กระจก เพื่อเพิ่มมิติและลดความอึดอัดของพื้นที่

เสน่ห์ของบ้านหลังนี้คือการจัดสรรพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่แกลเลอรีได้อย่างน่าสนใจ ผ่านวิธีการออกแบบและการใช้ประโยชน์จากดับเบิลสเปซของพื้นที่เดิม โดยเติมแต่งความสนุกสนานเข้าไปด้วยลูกเล่นของเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการประดับตกแต่งพื้นที่ภายในเข้ากับของเดิมที่มีอยู่ได้อย่างแนบเนียน นี่จึงเป็นเฮาส์แกลเลอรีที่ผสมผสานความเก่า-ใหม่ และหลากหลายสไตล์เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสมชื่อ “Indypendent Studio”

Designer’s Tips

“การทำโลหะชุบสี มีความท้าทายตรงแพตเทิร์นลวดลายที่จะเกิดขึ้น เราค้นพบว่าเทคนิคของลวดลายที่สวยงามคือการทำความสะอาดพื้นผิวของเหล็กให้สะอาดก่อน หากพื้นผิวไม่สะอาดพอ สีจะเพี้ยนจากคราบและฝุ่นที่เกาะติดพื้นผิว”

คุณธเนศ แซ่อู   สถาปนิกออกแบบบ-ตกแต่งภายใน จาก SpaceLAB Architect
                                      

เจ้าของ : คุณพีรณัฐ หิรัญญะประทีป

ออกแบบตกแต่งภายใน : SpaceLAB Architects โดยคุณธเนศ แซ่อู


เรื่อง : Nantagan

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล, พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

ผู้ช่วยช่างภาพ : ธนากรณ์  วงษ์ละคร

บ้านบรรยากาศอาร์ตแกลเลอรี ที่มีงานศิลปะช่วยสร้างความน่าอยู่

แต่งโฮมสตูดิโอ ของศิลปินวาดภาพ ให้เหมือนมีชีวิต